หลักสูตรพนักงานอนามัยกับการพัฒนากฎหมายวิชาชีพสาธารณสุข


หลักสูตรพนักงานอนามัย จะก้าวไปสู่การเป็นวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้อย่างไร

ผมได้รับคำถามเกี่ยวกับเรื่องวุฒิการศึกษาของหมออนามัยในส่วนผู้ที่จบการศึกษาทางด้านประกาศนียบัตรพนักงานอนามัย เลยเกิดความคิดว่าหากเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของหลักสูตรและคิดต่อว่าเราจะร่วมมือกันหรือหาทางออกร่วมกันว่า การออกแบบกฎหมายวิชาชีพที่ทางสมาคมหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกำลังดำเนินการผลักดันอยู่นี้ควรจะเป็นไปอย่างไร และสร้างความเข้าใจให้ตรงกันและชัดเจนมากขึ้นจะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ จึงได้เขียนเรื่องนี้ขึ้น

 

ว่าไปแล้วเรื่องหลักสูตรพนักงานอนามัยเป็นเรื่องยาวอย่างยิ่ง และหากสืบค้นไปแล้วก็น่าปวดหัว เพราะมันมีวิวัฒนาการมาหลายช่วงและในแต่ละช่วงยังมีรายละเอียดปลีกย่อยหลายประการ   ผมขออธิบายให้เห็นภาพรวมกว้างๆก่อนนะครับ ก่อนที่จะตอบคำถาม และต้องขออภัยอีกประการที่เรื่องปี พ.ศ. ที่ผมจะไม่แม่นยำนัก ด้วยเพราะตอนนี้เอกสารอ้างอิงไม่มีอยู่ในมือเลยแม้แต่ชิ้นเดียว

 

วิวัฒนาการของหลักสูตรในแต่ละยุค

 

ยุคที่หนึ่ง – ช่วงเริ่มต้นการผลิตหมออนามัยอยู่ในราวปี พ.ศ. 2500 กระทรวงสาธารณสุขได้ริเริ่มผลิตหมออนามัย ภายใต้แนวคิดการผลิตกำลังคนเพื่อไปเป็นบุคลากรระดับผู้ช่วยปฏิบัติงาน (Auxiliary health personnel) โดยหวังว่าจะเป็นบุคลากที่ทำหน้าที่ให้บริการสาธารณสุขแบบเอนกประสงค์ (Multipurpose Personnel) โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล  โดยเริ่มทำการผลิตที่ศูนย์ฝึกอบรมอนามัยฯ ที่จังหวัดชลบุรี (ปัจจุบันคือ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดชลบุรี) เป็นแห่งแรก หลักสูตรที่ผลิตพนักงานอนามัย ชื่อหลักสูตร “ประกาศนียบัตรพนักงานอนามัยจัตวา” รับผู้จบ มัธยมศึกษาตอนต้น ( ผมเรียกง่ายๆอย่างนี้นะครับ เพราะ ม. ต้น บ้านเราก็เปลี่ยนมาหลายยุคแล้วเหมือนกัน) มาเข้าหลักสูตรตอนแรกเรียน 6 เดือน แล้วพัฒนาต่อมาเรียน 1 ปี ต่อจากนั้นก็มีการขยายการผลิตไปที่ศูนย์ฯ อื่นที่ ขอนแก่น ยะลา และพิษณุโลก ตามลำดับ (ข้อมูลยุคนี้ต้องค้นคว้าอีกมากครับ) สรุปง่ายๆ ว่า กลุ่มที่จบในยุคนี้เป็นประกาศนียบัตรพนักงานอนามัย

 

ยุคที่สอง เริ่มในราวปี พ.ศ. 2510 เศษๆ (ผมจำไม่ได้จริงๆ)  มีการพัฒนาหลักสูตรเป็น  “ ประกาศนียบัตรเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (พนักงานอนามัย)” การรับผู้เข้าเรียนก็เป็นผู้จบ ม. ต้นแล้วเรียน  หนึ่งปีครึ่งแล้วขยายมาเป็นสองปีในภายหลัง  ในช่วงนี้จะเป็นที่สังเกตได้ว่ามีผู้เริ่มสนใจมาเรียนหลักสูตรนี้มากขึ้น จะเห็นว่าแม้กำหนดว่ารับผู้จบ ม. ต้น แต่มีจำนวนไม่น้อยที่จบ ม. ปลายแล้วมาเรียนในหลักสูตรนี้ กลุ่มผู้ที่จบหลักสูตรนี้จะจบอยู่ในราวไม่เกิน ปี พ.ศ. 2528 เป็นส่วนใหญ่ การเทียบคุณวุฒิ ทางกระทรวงศึกษาธิการเทียบให้เท่ากับ จบ มัธยมศึกษาตอนปลาย

 

ยุคที่สาม เริ่มปี พ.ศ. 2525 เป็นปีแรกที่ประกาศใช้หลักสูตรใหม่ที่รับผู้จบ ม. ปลายเข้าศึกษาสองปี หลักสูตรในช่วงนี้ชื่อว่า “ ประกาศนียบัตรเจ้าพนักงานสาธารณสุข (พนักงานอนามัย)”  ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่พัฒนาหลักสูตรไปสู่รูปแบบตามระบบการอุดมศึกษาของประเทศ ช่วงนี้เรียกว่าเป็นยุคทองของหลักสูตรก็ว่าได้ เพราะมีการแข่งขันและผู้สนใจเข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก ทั้งการเอื้อของระบบราชการที่ใช้ระบบนักเรียนทุนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้จบการศึกษาในช่วงนี้เรียกว่าจบการศึกษาระดับเทียบเท่าอนุปริญญา ที่กล่าวเช่นนี้เพราะว่าในการเรียนระดับปริญญาตรียังต้องเรียนเพิ่มเติมให้หน่วยกิตเพียงพอกับเกณฑ์ของทบวงมหาวิทยาลัย (ในขณะนั้น) อีก

 

ยุคที่สี่ เริ่มในราว ปี พ.ศ. 2538 เป็นช่วงการพัฒนาหลักสูตรให้เทียบได้กับระบบอนุปริญญาตามมาตรฐานของทบวงมหาวิทยาลัย (ในขณะนั้น) การรับผู้จบการศึกษายังเป็นอย่างเดิมคือรับผู้จบการศึกษา ม. ปลายมาเรียน 2 ปี แต่ชื่อหลักสูตรเปลี่ยนไป เป็น “ประกาศนียบัตรสาธารณสุขศาสตร์ (สาธารณสุขชุมชน)” ช่วงนี้ถือได้ว่าเป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุขขนานใหญ่ ด้วยแรงผลักของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่พุ่งขึ้นสูงสุด ดังจะเห็นได้จากโครงการทศวรรษแห่งการพัฒนาสถานีอนามัย ( โครงการ ทสอ.) ทำให้มีการรับคนเข้าศึกษาอย่างเป็นจำนวนมาก มีกรณีเหตุการณ์ที่น่าสนใจหลายอย่างทั้งด้านบวกและด้านลบ และช่วงเดียวกันอีกไม่กี่ปีต่อมาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 เกิดการชลอตัวอย่างกระทันหัน ระบบนักเรียนทุนได้ถูกคุมกำเนิดส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนากำลังในสาขานี้

 

ยุคที่ห้า เริ่มในราวปี 2541 ใกล้เคียงกับการพัฒนาการในยุคที่สี่ แนวคิดการพัฒนาหลักสูตรก้าวไปไกลถึงขนาดเปลี่ยนหลักสูตรเป็นปริญญาตรี ภายใต้การริเริ่มของสถาบันพระบรมราชชนกกับมหาวิทยาลัยต่างๆในช่วงนั้นที่สนใจ บางแห่งได้พัฒนาหลักสูตรเป็นปริญญาตรีทางสาธารณสุขศาสตร์ บางแห่งได้พัฒนาเป็นปริญญาต่อเนื่องทางสาธารณสุขศาสตร์ ช่วงนี้นับเป็นการก้าวออกจากระบบการผลิตแบบเดิมที่เน้นการผลิตกำลังคนไว้ใช้งานเองของกระทรวงสาธารณสุขไปสู่การผลิตกำลังคนเพื่อตลาดแรงงาน แต่ตลาดแรงงานด้านนี้ยังมีพื้นที่แคบอยู่มาก ทำให้การทำงานส่วนใหญ่ยังจำกัดในระบบราชการเป็นส่วนใหญ่

 

วิจารณ์

 

ผมกล่าวมาอย่างคร่าวๆนี้ เพื่อให้ความรู้และแลกเปลี่ยนกับพวกเรา เพื่อที่จะเข้าใจและร่วมกันพัฒนาหลักสูตรพนักงานอนามัยนี้ต่อไป แต่มีคำถามมากมายที่ต้องทำ เช่น เรื่องราวที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้จะต้องมีการวิจัยและสร้างระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจนไว้เพื่อการอ้างอิง การสืบค้นอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรต่อไป ในความคิดเห็นส่วนตัวผมคิดว่า องค์กรที่น่าจะทำได้ดีที่สุดในเรื่องนี้คือหน่วยงานที่รับผิดชอบในการผลิตบุคลากรเหล่านี้ได้แก่ สถาบันพระบรมราชชนก หรือวิทยาการสาธารณสุขสิรินธรทั้งหลาย แต่เท่าที่ผ่านมา ผมยังไม่เห็นหรือไม่สามารถสืบค้นเรื่องราวเหล่านี้ได้ในตอนนี้  มาถึงตอนนี้ เรื่องที่จะต้องพิจารณาต่อไปเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรพนักงานอนามัย เท่าที่นึกได้เช่นในตอนนี้ได้แก่

 

  1. การพัฒนาหลักสูตรพนักงานอนามัยต่อไปจะก้าวไปทางใด จะเป็นอีกวิชาชีพหนึ่งของวิชาชีพด้านสุขภาพในปัจจุบัน (อย่างที่เราส่วนใหญ่อยากให้เป็น)  หรือ กลายเป็นหลักสูตรอบรมพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุขเฉพาะกิจเท่านั้น หรือสุดโต่งโดยการยุบหลักสูตรนี้ไปเลย อันนี้ความชัดเจนตรงนี้ต้องชัดเจน และต้องยืนยันออกมาให้ชัด ไม่ใช่กล่าวออกมาโดยความเห็นอย่างเดียว ต้องด้วยความรู้จริงและเป็นนโยบายที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุข
  2. เท่าที่เห็นมีความพยายามร่างกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ต้องให้มีความชัดเจนว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นไปเพื่อกลุ่มวิชาชีพสาธารณสุขในภาพกว้าง(หมายถึงไม่จำเป็นต้องทำงานในสถานีอนามัยอันหมายความรวมถึงการทำงานในหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับ) หรือเป็นไปในภาพแคบ (หมายถึงเฉพาะผู้ที่ทำงานในสถานีอนามัยหรือเฉพาะหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในชนบทเท่านั้น) อันนี้ยังมีความไม่ชัดเจน ความชัดเจนตรงนี้ หากได้มีทิศทางชัดเจนขึ้นจะทำให้การออกแบบคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้ประกอบวิชาชีพในจะปรากฎในร่างกฎหมาย เป็นไปได้ง่ายขึ้น
  3. ไม่ว่าการออกแบบในข้อ สองจะเป็นอย่างไร หนีไม่พ้นที่การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาจะต้องสอดรับกัน สถาบันการศึกษาทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในนามสถาบันพระบรมราชชนกหรือ มหาวิทยาลัย ในนามหน่วยผลิตของระบบอุดมศึกษาของประเทศ จำต้องเข้าใจและมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ด้วยเพราะหากเป็นองค์กรวิชาชีพตามกฎหมายวิชาชีพแล้ว องค์กรวิชาชีพย่อมที่จะทำหน้าที่ควบคุมมาตรฐานการประกอบอาชีพและการสงวนอาชีพตามหลักการทั่วไป  ดังนั้นความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานผลิต ทั้งความเข้าใจและบทบาทที่พึงประสงค์ของผู้ที่จะสำเร็จออกมาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพต้องเข้าใจตรงกัน ไม่อย่างนั้นจะเกิดสภาวะสูญญากาศ เช่นคนผลิต(สถาบันผู้ผลิต) ก็ก้มหน้าก้มตาผลิต คนใช้ (หน่วยงานด้านสาธารณสุข) ก็ได้คนที่ไม่ตรงตามที่ต้องการที่จะใช้  คนควบคุมมาตรฐาน (สภาวิชาชีพ) ก็ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร จะควบคุมอะไร กำหนดมาตรฐานไปเพื่ออะไร เป็นต้น
  4. การเรียกร้องให้มีกฎหมายวิชาชีพของผู้ทำหน้าที่ใดๆ ย่อมเป็นเรื่องดี นั่นแสดงว่ากลุ่มบุคคลเหล่านั้น เรียกร้องที่จะมีองค์กรอิสระของตน เพื่อควบคุมดูแลมาตรฐานการทำงานในวิชาชีพของตน นั่นหมายถึงการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพการบริการหรือการทำงานของตนเองให้ได้มาตรฐานและประชาชนได้รับความปลอดภัยในบริการของตน แต่ในทางกลับกัน การที่จะมีองค์กรวิชาชีพย่อมต้องมีกฎเกณฑ์ที่จะควบคุมกันเอง มีจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ การพัฒนา การควบคุม การลงโทษ กันเองอย่างเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า บริการที่จัดให้นั้นเป็นบริการที่มาจากผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้มาตรฐานจริงๆ นั่นย่อมหนีไม่พ้นที่ต้องมีความร่วมมือไปเสียตั้งแต่ต้นกับหน่วยงานที่ผลิต และหน่วยงานที่เป็นผู้ใช้ ว่าจะกำหนดมาตรฐานและขอบเขตความสามารถของคนกลุ่มนี้อย่างไร

 

จะเห็นได้ว่าเรื่องหลักสูตรการผลิต กับการเป็นวิชาชีพแม้ว่าไม่ใช่เรื่องเดียวกันในตอนเริ่มต้นแต่ทำไปทำมา ก็ต้องมาบรรจบกันในที่สุด เนื่องจากไม่มีใครจะสามารถดำเนินการได้โดยลำพัง สถาบันการผลิตต้องเข้ามาร่วมมือในการสร้างกฎหมายวิชาชีพ ในขณะเดียวกันสถาบันผู้ใช้คือกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยอื่นที่จะใช้กำลังคนกลุ่มนี้ต้องเข้ามาร่วมด้วย  กลุ่มคนที่เป็นผู้ทำงานในอาชีพนี้ต้องสนับสนุนและผลักดัน ไม่อย่างนั้นระบบการพัฒนาวิชาชีพที่เราอยากได้กันจะไม่เกิด หรือเกิดขึ้นมาก็จะไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้นมาแต่อย่างใด

 

นี่แค่เป็นการกล่าวถึงหลักสูตรเดียวนะครับ ยังไม่ได้กล่าวถึง ทันตาภิบาล  เจ้าพนักงานเภสัช หรือผดุงครรภ์ ที่เป็นกลุ่มกำลังคนที่เริ่มจากแนวคิดการผลิตจากระดับผู้ช่วย (Auxiliary personnel) ทั้งหลาย แล้วต่อมาจะพัฒนาไปสู่การเป็นวิชาชีพ  

 

การออกแบบที่จะเอาคนทั้งหลายหลากนี้ เข้ามาเป็นกลุ่มวิชาชีพเดียวกันไม่ง่ายเสียทีเดียว เรื่องอย่างนี้ต้องชัดเจนในการออกแบบและเข้าใจระบบวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่มีอยู่ในระบบสาธารณสุข ที่เขาเป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างชัดเจน และใช้การสื่อสารสาธารณะ การเมืองและการประสานความร่วมมืออย่างมาก

 

สรุป

 

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่มีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับกฎหมายวิชาชีพสาธารณสุขของเราว่าเราจะเอาร่างกฎหมายฉบับไหน เสนอต่อรัฐบาลและสรุปแล้วว่าเราออกแบบกันอย่างไร เป็นต้น ในกระบวนการร่างกฎหมายกว่าที่จะเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ได้จริงนั้น เป็นกระบวนการที่ยาวนานและใช้ความละเอียดและความเห็นที่หลากหลายมาก กฎหมายบางฉบับในตอนร่างมีหลายร่างมาก แต่ในตอนท้ายที่สุดก็รวมกันเป็นฉบับเดียว เรามีเวลาในการที่จะศึกษาและออกแบบที่จำกัดมาก จำเป็นต้องทำอย่างคู่ขนานไปด้วยกัน  ที่สำคัญคือยุทธศาสตร์ที่ต้องประสานและอย่าแยกเขาแยกเรา ภายใต้หลักการที่ชัดเจน อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องการความพยายามและการอดทนที่สูงมาก

 

หมายเลขบันทึก: 435880เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2011 23:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน อาจารย์สงครามชัยที่เคารพ ผมพนักงานอนามัยรุ่น 42 (วสส.ขก เดิม) ในวงการสาธารณสุขเรารู้จักดีว่าพนักงานอนามัยเป็นพนักงานเอนกประสงค์ สมัยนั้นต้องหล่อหัวส้วมเพื่อส่งอาจารย์ใช้หินขัดจนมือบางหมดถึงผ่าน

และหล่อถังเก็บนำฝน สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และอื่น ๆ ตามแต่กระทรวงสาธารณสุขอยากให้เป็นเพื่อส่งเป็นผลงานของผู้อยู่ระดับสูง ซึ่งคุณประโยชน์ตรงนั้นหรือความดี ที่พนักงานอนามัยทั่วประเทศทำ กระทรวงสาธาฯ ไม่มีการต่อยอดตรงนี้ให้เลย เพราะผู้หลักผู้ใหญ่หวงอำนาจ (ในกระทรวงสาธารณสุข) และมีหลากหลายวิชาชีพแพทย์เท่านัน้ที่ยอมรับ และพยาบาลวิชาชีพ นอกนั้นเป็นข้าราชการชั้นสองหมด พนักงานอนามัยเราก็อยู่ในส่วนนี้ พนักงานอนามัยเป็นที่รักของชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ชาวบ้านจะให้เกียรติเรียกหมอทำเป็นหมดแต่ไปอบรมเอา 1 ,2 สัดาห์เมื่อเป็นข้าราชการชั้นสอง ไม่มีการต่อยอดการศึกษา จึงขอใบประกอบวิชาชีพยากถึงยากมากเพราะถูกต่อต้านจากวิชาชีพด้านสุขภาพด้วยกัน ผมจึงอยากให้อาจารย์ที่อยู่ในวงการได้นำความดีตรงนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นในการขอวิชาชีพ คงไม่เป็นการช้าเกินไปในการดำเนินการ ได้เห็นชื่ออาจารย์เลยอยากแสดงความคิดเห็นคงไม่ว่านะอาจารย์ผมเรียนน้อย ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรงเนื่องในวันปีใหม่ไทยครับ

ผมจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการการศึกษา 2519  เข้าเรียนหลักสูตร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข(พนักงานอนามัย) เรียน 2 ปีรุ่นแรก (เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 5) ที่ศูนย์ฝึกอบรมการสาธารณสุข ภาคใต้ (ปัจจุบันวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร) จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน  2520 เรียนจบหลักสูตร วันที่ 31 ตุลาคม  2522 รับราชการวันที่ 1 พฤศจิกายน 2522 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1 สมัยนั้น หลักสูตรก่อนผมเรียนรับจบ มศ.3 เรียน ภาคทฤษฎี 6 เดือน  ฝึกงาน  1 ปี  จบแล้วบรรจุรับราชการตำแหน่ง พนักงานอนามัยจัตวา นะครับ ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท