พระมหาเทวีจิรประภา


ครู งานวิจัย ชุธาตุ ชุมชน พระพุทธศาสนา พัฒนา สตรี สิ่งแวดล้อม เชียงตุง พระมหาเทวีจิรประภา

พระมหาเทวีจิรประภา

 

ระยะเวลาครองราชย์

          "พระมหาเทวีจิรประภา " หรือ "พระเปนเจ้ามหาจิรประภา"      ทรงเป็นกษัตรีองค์แรกของอาณาจักรล้านนา  ที่ครองราชย์ระหว่างปี  พ.ศ. 2088 - 2089  เป็นกษัตรีลำดับที่  16 .แห่งราชวงค์มังราย   โดยทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพญาเกส หรือ เกสเชษฐา หรือ พระเมืองเกส

 

พระประวัติ

          จากการสืบค้นประวัติของ"พระมหาเทวีจิรประภา " หรือ "พระเปนเจ้ามหาจิรประภา" ยังไม่หลักฐานที่บ่งชี้ถึง วันเดือนปีเกิด  สถานที่เกิดและพระบิดาพระมารดาของพระองค์   หากแต่จากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และศิลาจารึกวัดพระธาตุเมืองหลวงพระบาง  รวมทั้งตำนานชินกาลมาลีปกรณ์  สามารถประมวลโดยสรุปได้ว่า

            "พระมหาเทวีจิรประภา" ทรงเป็นพระมเหสีของพระเกส กษัตริย์ลำดับที่ 14 แห่งราชวงค์มังราย ซึ่งขึ้นครองราชสองสมัยคือ  สมัยแรกระหว่างปี พ.ศ. 2069 - 2081  และสมัยที่สอง ระหว่างปี พ.ศ. 2086 - 2088   และเป็นพระมารดาของท้าวชาย  กษัตริย์ลำดับที่.16 ของราชวงค์มังราย  ซึ่งครองราชย์ในระหว่างปี พ.ศ. 2082- 2085

            สันนิฐานว่า พระมหาเทวีจิรประภา  น่าจะทรงเป็นหญิงที่มาจากตระกูลสูงศักดิ์และมีอำนาจทางการเมือง  ดังจะปรากฎจากขึ้นครองราชย์เป็น "กษัตรี " ที่มีอำนาจสิทธิ์ขาดเพียงผู้เดียว ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในการระบบการปกครองของล้านนาที่ล้วนแต่มี "กษัตริย์"

 

บทบาททางการเมือง

            สวัสวดี อ๋องสกุล (2547)  ได้เสนอพระราชประวัติของพระมหาเทวีจิรประภา กล่าวโดยสรุปดังนี้

            ในช่วงปลายราชวงศ์มังราย  อาณาจักรล้านนามีความอ่อนแอ  เนื่องการแย่งชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์และขุนนาง   และขุนนางในสมัยนั้นมีอำนาจสูงมาก  สามารถแต่งตั้งหรือปลดกษัตริย์ออกได้ตามความพึงพอใจ  ทั้งนี้เป็นผลเนื่องจากปัญหาโครงสร้างของรัฐที่มีการกระจายการปกครองไปตามการตั้งถิ่นฐาน  ประกอบกับลักษณะทางกายภาพให้เอื้อให้เมืองต่าง ๆ มีความสามารถในการพึงพาตนเอง  มีความสามารถในการคุมกำลังคน  และมีอำนาจทางเศรษฐกิจจากการเก็บส่วย ทำให้เมืองต่าง ๆ  มีความเป็นอิสระค่อนข้างสูง   ซึ่งที่ผ่านมานับตั้งแต่ช่วงตอนต้นและตอนกลางของราชวงศ์มังราย  มีการจัดการควบคุมระบบเมืองขึ้นอย่างได้ผล  หากแต่ก็เริ่มอ่อนแอลงตามลำดับ

             ดังจะปรากฏในสมัยที่พญาเกส  ขึ้นครองราชย์ครั้งที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2077 ที่เริ่มเกิดความขัดแย้งระหว่างพญาเกสกับขุนนาง  โดยมีกลุ่มขุนนางลำปางเป็นแกนนำ  และมีความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น ในที่สุด ปี พ.ศ. 2581  กลุ่มขุนนางได้ปลดพญาเกสออกและส่งไปอยู่เมืองน้อยจากนั้นจึงเชิญท้าวชาย  ซึ่งเป็นโอรสของพญาเกส  ขึ้นปกครองในระหว่างปี พ.ศ. 2081- 2086

            ต่อมาท้าวชายได้ถูกขุนนางฆ่าตายในคุ้มพร้อมครอบครัว และกลุ่มขุนนางได้ไปเชิญพญาเกสให้กลับมาครองราชย์ครั้งที่สอง  ในระหว่างปี  พ.ศ. 2086 -  2088  และได้ถูกแสนคราวหรือแสนดาว ขุนนางใหญ่ ปลงพระชนม์   ช่วงระยะเวลาดังกล่าวจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งแตกแยกทางการเมือง  เนื่องจากจารีตล้านนาที่เชื่อว่า กษัตริย์ต้องสืบเชื้อสายกษัตริย์    ดังนั้น ขุนนางแม้ว่าจะปลดกษัตริย์ได้แต่ก็ไม่สามารถครองราชย์ได้  นำสู่สงครามกลางเมืองและการชักนำกำลังจากภายนอกเข้าช่วย  ทั้งนี้กลุ่มขุนนางที่มีบทบาทสำคัญมี  3  กลุ่มคือ

            กลุ่มแสนคราวหรือแสนดาว  เป็นกลุ่มที่ปลงพระชนม์พญาเกส  และเชิญเจ้านายเมืองเชียงตุง  ซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์มังราย  ให้มาครองเมืองเชียงใหม่  แต่เจ้านายเมืองเชียงตุงไม่มา  จึงไปเชิญเจ้าเมืองนาย

            กลุ่มหมื่นหัวเคียน  เป็นกลุ่มที่สู้รบกับกลุ่มแสนคราว  และพ่ายแพ้จึงหนีไปลำพูน และไปแจ้งให้กรุงศรีอยุธยายกทัพขึ้นมายึดเมืองเชียงใหม่ และเป็นเหตุให้พระไชยราชา กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ในเวลาต่อมา

            กลุ่มเชียงแสน  เป็นกลุ่มของพระมหาเทวีจิรประภา  ประกอบด้วยเจ้าเมืองเชียงแสน  เจ้าเมืองเชียงราย  เจ้าเมืองลำปาง และเจ้าเมืองพาน  กลุ่มนี้สามารถกวาดล้างกลุ่มแสนคราวสำเร็จและอัญเชิญพระไชยเชษฐาจากล้านช้าง  เพื่อมาปกครองเมืองเชียงใหม่  

            พระไชยเชษฐาเป็นโอรสของพระโพธิสาลราช กษัตริย์แห่งล้านช้างและพระนางยอดคำ  ธิดาของพญาเกสและพระมหาเทวีจิรประภา   ทั้งนี้ระหว่างที่รอการเสด็จมาของพระไชยเชษฐา  บรรดาขุนนางได้อัญเชิญพระมหาเทวีจิรประภาขึ้นครองราชย์  ระหว่างปี 2088 - 2089  ซึ่งคาดว่าน่าจะทรงมีอายุประมาณ  45 - 46  ปี และแม้ว่าจะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในการครองราชย์ หากแต่พระมหาเทวีจิรประภาก็ได้ช่วยให้บ้านเมืองพ้นวิกฤตจากสงครามระหว่างเชียงใหม่และกรุงศรีอยุธยา

            วันพุธ  ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 7 พระไชยราชานำกองทัพจากกรุงศรีอยุธา  มาถึงเชียงใหม่ในวันอาทิตย์  แรม  14 ค่ำ เดือน  7  ซึ่งขณะนั้นพระมหาเทวีจิรประภา  เพิ่งขึ้นครองราชย์และเชียงใหม่ยังไม่พร้อมที่จะทำสงคราม   จึงทรงเลือกใช้ยุทธวิธีทางการฑูต    โดยการแต่งบรรณการไปถวายพระไชยราชา พร้อมทั้งเชิญพระไชยราชาให้ไปประทับที่เวียงเจ็ดลิน และเชิญพระไชยราชาร่วมทำบุญอุทิศให้พญาเกส  ณ วัดโลกโมลี ซึ่งในครั้งนั้นพระไชยราชาได้ร่วมบริจาคเงินสมทบสร้างกู่บรรจุอัฐิพญาเกส พร้อมทั้งรางวัลแก่เจ้านายและขุนนางที่ไปต้อนรับ  จากนั้นจึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา

            ยุทธวิธีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความปรีชาสามารถของพระมหาเทวีจิรประภา ในการเจรจาหว่านล้อมชักชวนให้พระไชยราชายกทัพกลับไป  โดยใช้เวลาประทับเชียงใหม่ไม่นาน และยังไม่ได้เสด็จเข้าเมืองเชียงใหม่  เพราะเวียงเจ็ดลินอยู่ห่างจากกำแพงเมือง  3  กิโลเมตร  เช่นเดียวกับวัดโลกโมลี ซึ่งอยู่นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านเหนือ  ทั้งนี้การให้เกียรติอย่างสูงสุดของกษัตริย์ควรหมายถึงการอัญเชิญเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่  โดยผ่านประตูช้างเผือกด้านหัวเวียง          ดังนั้นนัยนี้ความจริงในครั้งนี้  จึงเป็นการแฝงถึงแนวคิดในการไม่ยอมรับอำนาจของกรุงศรีอยุธยา

            ในปีเดียวกันนี้เอง  หลังจากที่กองทัพกรุงศรีอยุธยายกกลับไป  กองทัพ"เงี้ยว" จากเมืองนายและเมืองยองห้วย  จากรัฐฉาน  ยกทัพมาล้อมเมืองเชียงใหม่  แม้ว่าขณะนั้นเชียงใหม่กำลังประสบปัญหาความยุ่งยากจากภัยธรรมชาติจากแผ่นดินไหว  จนเป็นเหตุให้เจดีย์หลวง  เจดีย์วัดพระสิงห์ หักพังลงมา  แต่กระนั้นพระมหาเทวีจิรประภาก็ได้ทำสงครามกับกองทัพ "เงี้ยว" จนได้รับชัยชนะ 

            และเหตุจากการที่เมืองเชียงใหม่มีศึกมาติดพันอยู่ตลอด  พระมหาเทวีจิรประภาจึงได้ขอกำลังจากอาณาจักรล้านช้าง  ซึ่งเป็นเมืองของพระโพธิสาลราชและพระนางยอดคำ ซึ่งเป็นพระธิดาของพระองค์มาช่วยป้องกันเมืองเชียงใหม่  สร้างความไม่พอใจแก่พระไชยราชา แห่งกรุงศรีอยุธยาเพราะเกรงการแทรกแซงอำนาจจากล้านช้าง  จึงได้ยกทัพขึ้นมาปราบเชียงใหม่ โดยหวังจะตีเชียงใหม่ให้แตก จากการยกทัพใหญ่มีทหารและอาวุธจำนวนมากทำให้ได้เปรียบกว่าเมืองเชียงใหม่

            หากแต่ในคราวนี้พระมหาเทวีจิรประภาทรงต่อสู้ศึก  โดยมีกองทัพจากล้านช้างมาช่วยเหลือทำให้สามารถต้านทัพกรุงศรีอยุธยาและตีกองทัพกรุงศรีอยุธยาแตก  ประกอบกับพระไชยราชาทรงพระประชวรมาก  จึงถอยทัพกลับและสวรรคตในเวลาต่อมา

            หลังจากสงครามได้สร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างล้านนาและล้านช้าง ดังนั้นในปี พศ. 2089 พระโพธสาลราชและพระนางยอดคำ  ได้แต่งขบวนเกียรติยศให้พระไชยเชษฐามาครองล้านนา ขณะที่มีอายุ 12 ปี  ดังนั้นจึงยังเป็นยุวกษัตริย์ ที่พระมหาเทวีจริประภาย่อมให้คำแนะนำดูแลอยู่เบื้องหลังระหว่างการครองราชย์ใน ปี พ.ศ. 2089 -2090 และได้เสด็จกลับไปครองราชย์ที่ล้านช้างต่อจากพระโพธิสาลราชซึ่งสวรรคต

            ในการนี้พระมหาเทวีจิรประภา  ได้เสด็จไปล้านช้างพร้อมกับพระไชยเชษฐา  และไม่ประสงค์จะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองล้านนา  แต่อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานว่า พระมหาเทวีประทับล้านช้างตลอดพระชนม์ชีพหรือเสด็จกลับมาประทับเชียงใหม่ยามชราภาพและไม่ทราบว่า สิ้นพระชนม์ลงเมื่อใด

หมายเลขบันทึก: 435764เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2011 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท