บทความครูมืออาชีพ


ครู งานวิจัย ชุธาตุ ชุมชน พระพุทธศาสนา พัฒนา สตรี สิ่งแวดล้อม เชียงตุง พระมหาเทวีจิรประภา

บทความ

เรื่อง  “ครูมืออาชีพ ”

รุ่งทิพย์   กล้าหาญ

อาจารย์ประจำสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน

คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตเชียงใหม่

 

ครูเป็นอาชีพชั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะด้านการอบรมสั่งสอน เพื่อให้ศิษย์เกิดการเรียนรู้ มีความรู้  ความเข้าใจ มีทักษะ และมีความรู้สึกนึกคิดใหม่หรือดีขึ้น  มากขึ้น เหมาะสมขึ้น ซึ่งเป็นภาระกิจต้องใช้ความรู้ความสามารถพิเศษในการทำงาน และสังคมก็ให้การยกย่องความสำคัญของครู โดยครู(TEACHERS)  มีภาระหน้าที่ดังนี้

1.  T (Teaching)  การสอน  หมายถึง  การอบรมสั่งสอนศิษย์ให้มีความรู้ ความสามารถในวิชาการทั้งปวงและเกิดปัญญาในการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขในสังคม ซึ่งถือว่า  การสอนคืองานหลักของครู

2.E  (Ethics)  จริยธรรมหมายถึง นอกจากครูจะมีบทบาทในการอบรมส่งเสริมจริยธรรมให้

แก่นักเรียนแล้ว  ครูจะต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่เหมาะสม

            3. A (Academic)  วิชาการ  หมายถึง  ครูต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบในทางวิชาการทั้งต่อตนเองและในด้านส่งเสริมความเจริญงอกงามของศิษย์

            4.  C (Cultural  Heritage)  การสืบทอดวัฒนธรรม  หมายถึง  ครูจะต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการสืบทอดวัฒนธรรม  จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง

            5.  H (Human  Relationship)  มนุษยสัมพันธ์  หมายถึง  ครูอาจารย์ต้องทำหน้าที่เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี  ทั้งในด้านส่วนตัว และส่วนรวม  ซึ่งมนุษยสัมพันธ์ของครูประกอบด้วย มนุษยสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ,  มนุษยสัมพันธ์ระหว่างครูกับครู และ มนุษยสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้ปกครอง/ชุมชน

            6.  E (Evaluation)  การประเมินผล  หมายถึง  การประเมินผลการเรียนของนักเรียนและการสอนของครู  ซึ่งการประเมินผลสามารถทำได้หลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และเนื้อหา เพื่อนำไปพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

            7.  R (Research)  การวิจัย  หมายถึง  การที่ครูต้องเป็นนักแก้ปัญหา และศึกษาหาความรู้จากความจริงที่เชื่อถือได้  ซึ่งการที่จะแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพครูจะต้องทราบสาเหตุที่แท้จริงของการปัญหา  เหตุนี้ทำให้การวิจัยเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ครูได้ข้อมูลที่เป็นจริงและน่าเชื่อถือเพื่อนำไปใช้พัฒนากระบวนการเรียนการสอน  ซึ่งการวิจัยในเบื้องต้นสำหรับครูสามารถทำได้ โดยการตั้งปัญหา   การตั้งสมมุติฐานในการแก้ปัญหา  การรวบรวมข้อมูล  การวิเคราะห์ข้อมูลและการสรุปผล(ยนต์  ชุ่มจิต , 2530 , หน้า 20)

            8.S (Service)  การบริการ  หมายถึง  การบริการให้แก่ศิษย์  ผู้ปกครองและชุมชน

 

จากภาระหน้าที่ดังกล่าว….ครูจึงต้องระลึกถึงความรับผิดชอบงานในหน้าที่ของตนคือ  ต้องมีความสามารถทำงานตามหน้าที่  ด้วยความตั้งใจในการปฏิบัติงาน และมีความปรารถนาหาความรู้เพิ่มเติม ค้นคว้า ทำตัวให้ทันสมัยกับเหตุการณ์อยู่เป็นนิจและที่สำคัญยิ่งคือต้องมีน้ำใจรักศิษย์   อยากเห็นศิษย์มีความเจริญก้าวหน้า ช่วยอุ้มชูสั่งสอนให้ศิษย์เป็นคนดี  คนฉลาด  เป็นพลเมืองดีมีคุณภาพและประสิทธิภาพของประเทศ  ด้วยบทบาทและหน้าที่สำคัญของครูคือ การจัดกระบวนการและเนื้อหาในการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  พร้อมทั้งถ่ายทอดวัฒนธรรม และการสร้างภูมิปัญญาให้แก่สังคม   นี้เองประกอบกับภาวะปัจจุบันที่ สังคมโลกกำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงโดยการเปลี่ยนจากยุคทุนนิยมเคลื่อนเข้าสู่การเป็นสังคมแห่งความรู้(Knowledge  Society)ซึ่งประเทศต่าง ๆ กำลังแข่งขันด้านคุณภาพของมนุษย์ โดยอาศัยฐานความเข้มแข็งของปัญญาเป็นหลัก  ( ปีเตอร์  ดรัคเกอร์  อ้างในสุเรษฐ  บัวชาติ  ,  2537)  ซึ่งลักษณะของบุคคลที่เป็นต้องการในยุคโลกาภิวัฒน์คือ  คนที่มีความรับผิดชอบ เข้าใจงานของตน ว่าประกอบด้วยงานของคนอื่นอย่างไร ต้องสามารถปฏิบัติงานใหญ่ได้  โดยสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงและคนรอบข้างได้   คนในยุคใหม่จึงต้องเป็นคนมีความสามารถทำงานที่ซับซ้อน  มีความเป็นตัวของตนเอง หรือมีอิสระแห่งตน   จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายสำคัญบุคคลการทางการศึกษาโดยเฉพาะครูว่า ทำอย่างไรในระบบสังคมอนาคตเราจะทำให้เด็กของเรามีความเข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ เปราะบาง เพื่อจะสามารถต่อสู้ในระบบแข่งขัน และอยู่ได้ดี  โดยได้รับประโยชน์จากความเจริญ จากเทคโนโลยีต่าง ๆ  และจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุขและสมดุล

            การเรียนที่สมดุลและมีความสุข ต้องเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ยัดเยียด ความรู้เนื้อหาสาระให้กับผู้เรียน หากเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางโดยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยครูเป็นผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้  รับผิดชอบและวิเคราะห์การเรียนรู้   รับผิดชอบและวิเคราะห์วิธีการเรียน กระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักวิธีการเรียนรู้ทักษะทางวิชาการ ด้วยตนเอง และเรียนรู้จากกลุ่ม  จากการส่งเสริมให้ผู้เรียนสร้างความรู้เชิงความคิดและสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมและสังคม ขึ้นมาด้วยตัวเอง และเป็นผู้บอกความรู้เอง   ทั้งยังต้องเสริมสร้างทักษะทางสังคมให้ผู้เรียน มีความละเอียดอ่อนทางอารมณ์  มีสุนทรียภาพ มีความละเอียดอ่อนทางอารมณ์  พร้อมที่จะสร้างสังคมให้มีความรักในเพื่อนมนุษย์ มีรัก และความรับผิดชอบต่อครอบครัว  รักชุมชน รักธรรมชาติ ให้มีความสมดุล มีเอกภาพ เพื่อให้เกิดความสุข และสันติ เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้  ที่พร้อมจะรับและเลือกปฏิเสธข่าวสารเทคโนโลยีด้วยวิถีแห่งปัญญา(วิชัย   วงศ์ใหญ่ , 2541 , หน้า 66)

            การที่ครูจะสามารถจัดการเรียนที่มีความสุขได้นั้น ควรเริ่มต้นจากการที่ครูจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างแท้จริง เพื่อจะนำไปสู่พื้นฐานการจะเข้าใจศิษย์อย่างแท้จริง โดยปราศจากความขัดแย้งทั้งการคิดและการกระทำ เพราะจากบทบาทของครูในฐานะผู้กระตุ้น รับผิดชอบ วินิจฉัยศิษย์และกระบวนการเรียนรู้ ครูจึงเป็นนักจัดการเรียนรู้และผู้เอื้ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ซึ่งหากครูมีความเข้าใจถึงบทบาทของตนแล้วย่อมก่อให้เกิด  ความจริงใจ ความรัก และความหวังดีกับศิษย์โดยบริสุทธิ์ใจ  ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมบทเรียน การดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน การกระตุ้นผู้เรียน การเสริมแรง หรือให้กำลังใจแก่ศิษย์โดยเฉพาะการให้กำลังใจซึ่งจะเป็นพลังให้ศิษย์เกิดความเชื่อมั่นในตนเองในการกระทำหรือละเว้นจากการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่คาดหวัง  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้

            ความจริงใจที่ครูมีต่อตนและศิษย์จะช่วยให้ครูเป็นผู้รับฟังที่มีประสิทธิภาพ จากการรับฟังในสิ่งที่ศิษย์พูด คิดและทำ ด้วยความเข้าใจ และยอมรับศิษย์ในสภาพที่เขาเป็นอยู่ ในฐานะบุคคล เกิดเจตคติที่ดีในการมองศิษย์อย่างมีคุณค่า วางใจและเชื่อใจในศักยภาพของเขา ว่า ทุกคนสามารถพัฒนาได้ หากได้รับโอกาสและเวลา  ความรู้สึกจริงใจและสนใจที่ครูมีต่อศิษย์โดยคิดว่า ศิษย์คือ เพื่อน บุตร ญาติพี่น้อง จะทำให้ครูมีความเอื้ออาทรต่อศิษย์เพิ่มขึ้นและจะพยายามเข้าใจถึงปัจจัยที่ทำให้บุคคลมีความแตกต่างกันเช่น  พันธุกรรม  สิ่งแวดล้อม พฤติกรรม  วัย วุฒิภาวะ   การอบรมสั่งสอน ฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ ถิ่นกำเหนิด ศาสนา และอิทธิพลของกลุ่ม  ซึ่งเมื่อผู้สอนเข้าใจและยอมรับศิษย์ จะทำให้การสอนเป็นไปโดยราบรื่น เกิดความพยายามสร้างให้ศิษย์มีความสุข สะดวกสบายในการเรียนรู้   มีความฉลาด ปฏิภาณ ไหวพริบ รวมทั้งมีทักษะในการสื่อสารระหว่างบุคคล  และสร้างศิษย์มีคุณลักษณะที่ดีให้ติดตัวคงทนถาวร  ทั้งด้านความสามารถทางด้านความรู้   ทักษะ  สติปัญญา และความต้องการในการที่จะมุ่งมั่นพัฒนาตนเองให้มีคุณค่าในการทำงาน  ในขณะเดียวกันยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุขเพื่อการก้าวไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  และสิ่งสำคัญในการที่ครูจะสามารถประความสำเร็จในการอบรมสั่งสอนเพื่อให้ศิษย์มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์นั้น  ครูจะต้องสร้างให้ศิษย์เกิดความรักใคร่ศรัทธาในครูด้วยการให้ความรักและเป็นแบบอย่าง

            นอกจากความจริงใจแล้ว กระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดการศึกษาที่จะส่งเสริมศักยภาพของศิษย์เป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง การที่จะทำให้ศิษย์แต่ละคนได้พัฒนาศักยภาพของตนอย่างเต็มความสามารถ  วิธีการสอนที่หลากหลายที่พริ้วไปตามลีลาการเรียนรู้ของศิษย์     ซึ่งเมื่อครูเข้าใจในธรรมชาติของศิษย์จะสามารถพลิกบทบาทในกระบวนการเรียนการสอนจากการที่ครูเป็นผู้“บอกให้จด  บอกให้จำ” มาเป็นพี่เลี้ยงหรือมักคุเทศก์ ผู้คอยให้ข้อคิด และคำแนะนำ รวมทั้งยังสามารถจำลองห้องเรียน โรงเรียนและชุมชนให้เป็นสังคมที่กระตุ้นการเรียนรู้  เพื่อสร้างพื้นฐานให้ศิษย์เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้  และรู้วิธีการศึกษาตลอดชีวิต   ซึ่ง ดร. รุ่ง   แก้วแดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติได้เคยกล่าวไว้ว่า“ ครูที่สอนดีที่สุดคือ ครูที่สอนน้อยที่สุด” และต้องพยายามพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับธรรมขาติของผู้เรียนทำให้ผู้เรียนมีความรักที่จะเรียนรู้อย่างยั่งยืน 

เช่นเดียวกับคำกล่าวของนายแพทย์ประเวศ  วะสี  ที่กล่าวว่า  “ถ้าครูยังสอนแบบถ่ายทอดเนื้อหา  อีกทั้งเนื้อหาก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สลับซับซ้อนมากขึ้น ครูก็ขาดความมั่นใจ  มีความทุกข์ มีบุคลิกบีบคั้นนักเรียน  นำความทุกข์นั้นไปสู่นักเรียน  เมื่อนักเรียนต้องเรียนด้วยความทุกข์ ก็ไม่เกิดฉันทะ กลายเป็นคนเกลียดการศึกษา  ประเทศไทยจะเต็มไปด้วยคนเกลียดการศึกษา”   ด้วยเหตุนี้หากครูสามารถจัดกระบวนการเรียนการสอนที่ทำให้ศิษย์รู้ความหมาย  คุณค่าของความรู้ที่ได้รับจากการเรียนรู้และการนำไปใช้ในวิถีชีวิตภายภาคหน้า จะทำให้ศิษย์ไม่ “ส่งคืน” ความรู้แก่ครูในเวลาอันสั้นเฉกเช่นการเรียนรู้ที่ครูเป็นผู้สั่งและให้ศิษย์ปฏิบัติตาม พร้อมกันนี้จะต้องประสานแนวทางในการจัดการศึกษาร่วมกับบิดามารดา ผู้ปกครองและชุมชนให้เกิดความเข้าใจในจุดมุ่งหมายทางการศึกษาร่วมกัน เพื่อจะช่วยให้ศิษย์เกิดเรียนอย่างมีความสุข  ความสมดุล สามารถเรียนที่จะรู้ จะทำ จะอาศัยอยู่ร่วมกัน และจะเป็นตัวของตัวเองตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ที่พึงจะเป็นบุคคลที่มีคุณภาพทั้งสติปัญญา  สามารถควบคุมตนเอง เพื่อจะเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข ดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            การสร้างสรรค์การเรียนรู้สำหรับยุคโลกาภิวัฒน์นี้  มิได้ต้องการครูที่เก่งกาจเกินมนุษย์แต่อย่างใด  แต่ต้องการครูที่ตระหนักถึงภาระหน้าที่ของคำว่า “ครู (TEACHERS)” ครูที่มีสัมผัสที่ดีกับศิษย์ เข้าใจธรรมชาติของศิษย์ และทำให้ศักยภาพที่มีอยู่แล้วอย่างเต็มที่ในตัวศิษย์แต่ละคนได้ฉายแววออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งครูทุกคนทุกระดับสามารถพัฒนาตนเองเป็นครูมืออาชีพได้ หากครูมีการตื่นตัวในการพัฒนาตนและเตรียมความพร้อมเพื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลง  เปิดใจให้กว้าง มีใจเป็นกลาง  พยายามเรียนรู้อย่างเท่าทันและรอบรู้  มีมุมมองอย่างเชื่อมโยง  ในการสังเคราะห์ วิเคราะห์ ถึงความเป็นจริงในสังคม  มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล และความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้           ที่สำคัญยิ่งอีกประการสำหรับครูยุคใหม่คือจะต้องมีความอดทน เพราะผลงานของครูจะบังเกิดผลแก่ศิษย์และ งานที่ยิ่งใหญ่ของครูคือ  การสอนคนซึ่งเป็นงานเพื่อสังคมมนุษย์ ด้วยภาระที่หนักหน่วงเช่นนี้   ผู้เป็นครูจึงควรเชื่อและนับถือตนเอง เชื่อในคุณค่าของสิ่งที่ครูกำลังพยายามทำให้สำเร็จนั้น  คือ   สอนให้ผู้อื่นได้เรียนรู้เพื่อจะสามารถปฎิบัติตนได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์ทั้งหลายทั้งปวง   และพึงระลึกเสมอว่า  นอกจากการที่ผู้เรียนจะเรียนรู้หรือจดจำเนื้อหาได้มากน้อยต่างกันตามแต่บุคคลไปแล้วนั้น  สิ่งที่ผู้เรียนจะยังคงจำได้คือ  ครูและความเป็นครู  ของครูนั้นเอง  (สมศรี  ไชยศร , 2539    หน้า  2-10)       

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 435762เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2011 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบอาจารย์รุ่งทิพย์มาก สอนดีสุดๆ

ขอขอบคุณสำหรับบทความดีๆอย่างนี้ค่ะ ขอให้สร้างงานดีๆต่อไปนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท