ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

ยอวาที


อีกทั้งการ “ ยอวาที” มักมีคนเข้าใจผิด นึกว่าเขาจัดให้มา ยกย่อง ชมเชย สรรเสริญ กันจริงๆ เขาไม่คิดว่าการ ยอวาที คือ การมาด่าทางอ้อม เพราะฉะนั้น บางงานผู้จัด จัดยอวาทีขึ้นเพื่อให้ผู้พูดมาสรรเสริญ สดุดี สถาบันของตนเอง ส่วนผู้ถูกเชิญก็เข้าใจว่าเขาให้มาพูดกระแหนะกระแหน เลยพูดกระแหนะกระแหน เหน็บแนมเสียยกใหญ่ ทางด้านผู้จัดก็ตกใจว่า เราเชิญเขาให้มาด่าเราหรือ หลังๆ ก็ไม่มีใครกล้าจัดการยอวาที พวกเราเลยหาดูการยอวาทียากขึ้น

ยอวาที 

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ 

www.drsuthichai.com

                 สำหรับการพูดเกี่ยวกับการ “ ยอวาที” มีคนเขียนเป็นหนังสือกันน้อยมากหรือแทบจะไม่มีใครเขียน ซึ่งบทความฉบับนี้ ได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับการพูดแบบ “ ยอวาที ” มาจากหนังสือ “ พลังเพิ่มพลังพูด” ของท่านอาจารย์วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ซึ่งท่านสามารถหาอ่านเพิ่มได้

                 การยอวาทีเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ.2515 (ก่อนปี พ.ศ.2515 การโต้วาทีเป็นที่นิยมมาก มีการโต้วาทีกันบ่อยมากๆ และนักโต้วาทีเป็นระดับคนที่มีชื่อเสียงของสังคมไทยหรืออยู่ในระดับแนวหน้าของสังคมไทยเช่น นายควง อภัยวงศ์(อดีตนายกรัฐมนตรี) , ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมท(อดีตนายกรัฐมนตรี) , คุณหญิงเต็มสิริ บุญยสิงห์ , คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร ฯลฯ  ซึ่งการโต้วาทีในช่วงนั้นจะออกในแนวของการสะท้อนปัญหาของบ้านเมืองและวิพากษ์วิจารณ์การปกครองบ้านเมือง ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนสมัยนั้นมาก

                 แต่การปกครองในช่วงนั้น ผู้ปกครองจะมีลักษณะเป็นเผด็จการ อีกทั้งการโต้วาทีในช่วงหลังๆ เริ่มมีลักษณะดุเดือดมีการกระทบผู้มีอำนาจบ้าง ผู้มีอำนาจในสมัยนั้นจึงเริ่มทำหนังสือเตือน มีการตักเตือนผู้โต้วาทีบางท่าน มีการตรวจสอบหัวข้อหรือญัตติของการโต้วาทีทุกครั้ง ซึ่งถ้าหากต้องการโต้วาทีต้องขออนุญาตสันติบาลในสมัยนั้นทุกครั้ง ทำให้สร้างความลำบากใจทุกครั้งเมื่อต้องการจัดการโต้วาที 

                 ทำให้การโต้วาทีในช่วงหลังๆเปลี่ยนไปใช้หัวข้อหรือญัตติที่เบาๆ จะเป็นเพราะการต้องการประชดผู้มีอำนาจก็ไม่อาจทราบได้ เช่น “ อกหักดีกว่ารักไม่เป็น”  “ รักผู้หญิง รักลิงดีกว่า ”

 “ รักผู้ชาย รักควายดีกว่า” และช่วงหลังสุดใช้ญัตติว่า “ เกิดเป็นหมาดีกว่าเกิดเป็นคน ” เมื่อโต้วาทีญัตตินี้เสร็จปรากฏว่า ฝ่ายหมาเป็นผู้ชนะ ทำให้สื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ ได้ลงข้อความหรือให้ข่าวในทางวิจารณ์แบบเสียหาย ทำนองว่าไม่มีอะไรจะพูดแล้วหรือ จึงได้พูดญัตตินี้ และคนพูดก็เป็นถึงคนที่มีชื่อเสียงเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง เป็นครูอาจารย์

                 ทำให้อาจารย์คุณหญิงเต็มสิริ บุญยสิงห์ ซึ่งท่านคงจะอึดอัดกับเรื่องดังกล่าว กล่าวคือ โต้วาทีเรื่องของบ้านเมืองการเมืองการปกครองก็โดนห้าม พอโต้วาทีในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับบ้านเมืองก็โดนด่า เมื่อพูดไม่ได้ ด่าไม่ได้ กระทบไม่ได้ ก็ชมมันเสียเลยดีกว่า เยินยอสรรเสริญ ยกยอปอปั้นให้มันสิ้นเรื่อง สิ้นราว ท่านจึงคิดรูปแบบของการ “ ยอวาที ” ขึ้นมา โดยมีการแบ่งเป็น 2 ฝ่าย เหมือนกับการโต้วาที แต่เรียกเสียใหม่ว่า “ ฝ่ายเยิน” และ “ฝ่ายยอ”  มีจำนวนผู้พูดฝ่ายละ 3-4 คน ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่ทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันยก  ช่วยกันยอ ช่วยกันเยิน ในหัวข้อหรือญัตตินั้นๆ  โดยมากการยอวาทีมักไม่ใช่การแข่งขันที่จะต้องมีการให้คะแนนแต่มักจะเป็นการโชว์มากกว่า

                 ปี 2515 การ “ ยอวาที ” จึงถือกำเนิดขึ้น ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งใช้ญัตติที่ว่า “ ประชาธิปไตยไทยดีที่สุดในโลก ” แล้วก็มีการยอวาทีต่อมีหลายเวที จนเป็นที่นิยมมากในสมัยนั้นนิยมยิ่งกว่าการโต้วาทีเสียอีก

                 การ “ ยอวาที” คือ การใช้ “ ศิลปะการกระแหนะกระแหน ” กล่าวคือการยอวาทีเป็นการพูด ประชดประชัน แดกดัน เหน็บแนม กระทบกระเทียบ ให้แสบๆ คันๆเข้าไปในรูหู  บางท่านถึงกับกล่าวว่าการยอวาทีเป็น “ศิลปะการพูดโดยการด่าคนโดยมิให้ติดคุก ” แทนที่จะด่ากันตรงๆ เปลี่ยนมาเป็นการชมซะ ยอซะ เช่น ถ้าต้องการด่าว่าขี้เกียจจนตัวเป็นขน วันๆ เอาแต่นอนไม่ทำอะไร ก็เปลี่ยนมายอหรือชมว่า “ ไอ้เนี่ยมันขยัน เวลาทำอะไรมันชอบทำแบบหักโหม คิดดูซิว่าพอเช้าขึ้นมา ถึงที่ทำงานมันก็เริ่มตั้งหน้าตั้งตานอนเลย คนอื่นเขาพักเที่ยงกันไปกินข้าวกัน แต่มันยังอดทนนอนอยู่ บางวันยังต้องไปสะกิดบอกมันว่า อย่าหักโหมเกินไปนัก ไงๆ ก็ตื่นขึ้นมาพักผ่อนบ้าง ” ครับ ทำนองนี้ เขาเรียกว่า “ ยอวาที”

                 แต่เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้การยอวาทีมีความนิยมน้อยลง เพราะเราสามารถโต้วาทีได้กันอย่างตรงๆหรือพูดจาตรงๆได้มากขึ้น แต่ถ้าหากจะจัดการยอวาที ก็สามารถเลือกประเด็นที่ผู้ฟังหรือผู้คนรู้สึกอึดอัดรำคาญใจอยากพูดอยากระบาย เช่น ปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ ก็สามารถพูดยอวาทีได้ 

                 ส่วนใหญ่การตั้งหัวข้อหรือญัตติในการยอวาที มักจะต้องมีคำว่า “ ดีที่สุด”  “ สบายที่สุด” หรืออะไรก็ได้ที่ลงท้ายด้วยคำว่า “ ที่สุด” ซึ่งควรตรงข้ามกับความจริงซึ่งอาจจะ “ เลวที่สุด ” หรือ “ ห่วยที่สุด” “ ลำบากที่สุด” เช่น – เมืองไทยน่าอยู่ที่สุด – กรุงเทพฯน่าอยู่ที่สุด       -การจราจรในกรุงเทพฯสะดวกที่สุด – รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ทำงานได้ว่องไวที่สุดในโลก – รัฐบาลนายบรรหาร ใจซื่อมือสะอาดที่สุดในโลก ฯลฯ

                 จุดเด่นของการ “ยอวาที” กล่าวคือ เป็นการใช้ศิลปะการพูดที่ต้องใช้อารมณ์ขันเพราะถ้าไม่มีอารมณ์ขันก็จะเป็นการพูดที่ดูจริงจังเกินไป อีกทั้งต้องใช้ศิลปะการพูดที่ให้ผู้ฟังเกิดความสะใจ จี้ใจ ต้องพูดในลีลาแบบ ทีเล่นทีจริง ตบหัวแล้วลูบหลัง ฯลฯ สำหรับการใช้อารมณ์ขันมักเป็นการใช้อารมณ์ขันแบบในลักษณะ “ ผิดเส้น ”  เช่น

 -                   ท่านทั้งหลายครับ ผมขอยืนยันว่าเมืองไทยนั้นน่าอยู่จริงๆ ครับ เพราะเมืองไทยเรานั้น ในน้ำก็มีปลา ในนาก็มีข้าว ในอ่าวก็มีแก๊ส ในแดดก็มีวิตามินดี ในซ่องโสเภณีก็ยังมีโรคเอดส์เลยครับ 

 -                   ผมเองก็ขอกล่าวเสริมว่าข้าราชการไทย ส่วนใหญ่ก็มักเป็นคนที่เที่ยงตรงกันเกือบทั้งนั้น ที่ว่าเป็นคนเที่ยงตรงนั้นหมายถึงว่า ถ้ายังไม่เที่ยงตรงก็ยังไม่โผล่หัวมาทำงานครับ 

 -                   ท่านผู้มีเกียรติครับ ผมขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจบ้าง เพราะโดนโจมตีหนักเหนือเกิน คนที่ไม่รู้อะไรก็อาจจะไม่ทราบว่าการเป็นตำรวจนั้น มันเหนื่อยหนักหนาสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน ขนาดเพื่อนของผม คนหนึ่งรับราชการตำรวจมาจนกระทั่งติดยศพันตำรวจโท เป็นสารวัตรแล้ว ก็ยังมาบ่นกับผมว่า เขาเบื่ออาชีพตำรวจเต็มที เขาบ่นว่าอยากจะลาออกจากอาชีพตำรวจเพื่อไปหางานสุจริตอย่างอื่นทำบ้าง 

 ครับสำหรับ เนื้อหาและลีลา การยอวาที เราอาจจะเห็นว่าบางครั้งมันหมิ่นเหม่ต่อการติดคุกติดตะรางไม่น้อยครับ 

 ด้านข้อจำกัดของการ ยอวาที   เป็นศิลปะการพูดที่ค่อนข้างยากครับ เพราะถ้ามือไม่ถึง ก็จะออกไปในทาง รุนแรง ก้าวร้าว จนกลายเป็นการตั้งวงด่ากันแบบ ตรงๆ ซึ่งจะผิดเจตนารมณ์ของการยอวาทีไป  ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะพูด “ แซววาที ” เพราะพูดง่ายกว่ายอวาทีมาก ซึ่งการแซววาทีเราสามารถใช้การยอวาทีผสมลงได้

                 อีกทั้งการ “ ยอวาที” มักมีคนเข้าใจผิด นึกว่าเขาจัดให้มา ยกย่อง ชมเชย สรรเสริญ กันจริงๆ เขาไม่คิดว่าการ ยอวาที คือ การมาด่าทางอ้อม เพราะฉะนั้น บางงานผู้จัด จัดยอวาทีขึ้นเพื่อให้ผู้พูดมาสรรเสริญ สดุดี สถาบันของตนเอง  ส่วนผู้ถูกเชิญก็เข้าใจว่าเขาให้มาพูดกระแหนะกระแหน เลยพูดกระแหนะกระแหน เหน็บแนมเสียยกใหญ่ ทางด้านผู้จัดก็ตกใจว่า เราเชิญเขาให้มาด่าเราหรือ หลังๆ ก็ไม่มีใครกล้าจัดการยอวาที พวกเราเลยหาดูการยอวาทียากขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ยอวาที
หมายเลขบันทึก: 435735เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2011 01:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท