คําถามที่มักถามกันอยู่เสมอว่า เพราะเหตุใดการปฏิรูปการศึกษาของไทยจึงไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่ทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อจัดการศึกษา หากเทียบกับบางประเทศ คำถามนี้เกิดจากการมองไปที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนเป็นลำดับแรก และตามด้วยการสรุปว่า ระบบการศึกษาของไทยยังไม่อาจทำให้เด็กคิดเป็นแก้ปัญหาได้
คำตอบที่มักตอบคือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยต้องพัฒนาที่ครูเป็นลำดับแรกสุด แสดงให้เห็นว่าผู้คนส่วนหนึ่งกำลังโยนภาระผิดบาปไปให้ครูที่มัวก้มหน้าก้มตาสอนอยู่ทั่วสารทิศ ทั้งในชนบทที่ห่างไกลและตามโรงเรียนชายแดน
ส่วนคนที่ชี้นิ้วบอกว่าการศึกษาล้มเหลวเพราะครูขาดคุณภาพ ต่างนั่งอยู่ในห้องแอร์ บางคนอาจไม่เคยออกมาเหยียบเยือนโรงเรียนในชนบทที่ห่างไกลแสนทุรกันดารด้วยซ้ำ หรือไม่เคยออกมาเห็นวิถีชีวิตผู้คนในโรงเรียนต่างๆ
การเห็นว่าอุปสรรคของการปฏิรูปการศึกษาอยู่ที่ครู จึงทำให้ภาครัฐเร่งระดมทั้งงบประมาณ สรรพกำลังจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาคุณภาพครู ทั้งการอบรม Master Teacher โดยมอบหมายให้สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศจัดอบรม ทฤษฎีความรู้ที่บางเรื่องรู้แล้ว บางเรื่องเหมาะกับการเรียนในมหาวิทยาลัยเพื่อใช้สอบเอาคะแนน แต่ไม่อาจนำไปใช้ปฏิบัติจริงในห้องเรียนได้มากนัก หรือเป็นเรื่องพื้นๆ ทั่วไป
นอกจากนี้ยังอบรมครูอีกส่วนหนึ่งในโครงการอีเทรนนิ่ง ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขนานใหญ่ ที่ครูหลายแสนคนต้องอบรมผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งทำให้ครูเครียดทั้งระบบแล้ว ยังไม่เกิดผลต่อการพัฒนาครูเท่ากับงบประมาณที่ลงทุนไปสำหรับการจัดการในระบบนี้
แม้ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบพัฒนาครูจะพยายามแสดงตัวเลขแห่งความสำเร็จ ว่ามีครูผ่านการอบรมคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขนี้ไม่ได้ชี้วัดการพัฒนาคุณภาพครูแน่ๆ เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่าการอบรมในระบบนี้ก่อความยุ่งยากให้แก่ครูเพียงใด จนต้องทำอย่างไรก็ได้ให้การอบรมแล้วๆ กันไป โดยไม่หวังคุณภาพมากนัก
การอบรมเพื่อพัฒนาคุณภาพครูยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเปิดโลกทรรศน์ความคิดของครูให้ทันสมัย ทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูจากโรงเรียนต่างๆ แต่คงไม่ใช่การอบรมแบบเหมารวมทำพร้อมกันทั้งประเทศ โดยไม่แยกว่าใครควรได้รับการพัฒนาในเรื่องใด และต้องไม่ทำอย่างเร่งรีบเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพอย่างที่ผ่านมา ทั้งที่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล แต่ขาดการวางแผนระยะยาวว่าจะทำอะไร ตอนไหน อย่างไร
ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่เกี่ยวกับครู ยังเกิดจากการที่รัฐปล่อยให้ทั่วประเทศขาดแคลนครูกว่า 60,000 คน เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน การขาดแคลนครูมากขนาดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความล้มเหลวของการปฏิรูปศึกษา ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบไม่ใช่ครู เพราะปล่อยให้ขาดครูมากขนาดนี้ได้อย่างไร?
ครูต่างต้องแบกภาระสอนมากเกินเหตุ ซึ่งไม่อาจพิจารณาแค่จำนวนชั่วโมงที่สอนได้เพียงอย่างเดียว ต้องดูภาระงานอื่นๆ ของครูแต่ละวิชาประกอบด้วย อีกทั้งบางโรงเรียนภาพรวมครูไม่ขาด แต่ขาดบางรายวิชา หากจะนำครูวิชาที่เกินมาช่วยสอนวิชาที่ขาด บางครั้งไม่อาจทำได้ เนื่องจากความเชี่ยวชาญของครูแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น ครูวิชาการงานคงไม่อาจสอนแทนครูวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ได้
การปล่อยให้ขาดครูมากเช่นนี้เป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน โดยไม่ได้แก้ไขให้ปัญหาเบาบางลง แต่ปล่อยให้เป็นชะตากรรมของครูและโรงเรียนต้องรับภาระ และแก้ไขไปตามมีตามเกิด โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับสูงไม่เคยถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องผลักดัน เรียกร้อง ต่อสู้ เพื่อให้ได้ครูทดแทนอัตราที่ขาดแคลนแต่อย่างใดแล้ว
เมื่อการศึกษาล้มเหลวคงไม่อาจชี้นิ้ว (ชี้) มาที่ครูได้ว่าเป็นส่วนที่ทำให้การศึกษาล้มเหลว เพราะยังคงมีนิ้วอีกตั้ง 3 นิ้ว ชี้มายังตัวท่านว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษาไม่ประสบความสำเร็จ
นอกจากปัญหาการขาดแคลนครูแล้ว ปัญหาอีกส่วนหนึ่งคือ ภาระงานของครูในยุคปัจจุบันมีมากมาย แม้จะมีโครงการคืนครูให้โรงเรียนด้วยการจ้างเจ้าหน้าที่มาทำงานธุรการแทนครู แต่ยังไม่สามารถลดภาระงานของครู เพราะงานบางอย่างเจ้าหน้าที่ธุรการไม่สามารถทำงานแทนครูได้ อีกทั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษา หรือโรงเรียนขนาดเล็กเจ้าหน้าที่ธุรการหนึ่งคนต้องทำงานสองโรงเรียน
อีกทั้งงานที่โรงเรียนได้รับมอบหมายให้ต้องทำมีมากมาย จนโรงเรียนเปลี้ย ดังนั้นจึงควรปลดปล่อยพันธนาการให้โรงเรียนได้คิดอ่านพัฒนาการศึกษาอย่างมีอิสระ และมีเวลาเพียงพอสำหรับการจัดการเรียนการสอน มุ่งสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ครู ที่ให้ความสำคัญกับการสอน มากกว่าให้ความสำคัญกับครูที่ตอบสนองนโยบายด้านอื่นๆ ของทั้งกระทรวง และผู้บริหารโรงเรียนโดยละเลยหน้าที่สอนของตนเอง
ระบบการศึกษาไทยให้ความสำคัญกับตัวเลข จนละเลยมิติด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นการประเมินโรงเรียน มาตรฐานที่เกี่ยวกับผู้เรียนก็ล้วนสนใจว่าเด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับใด มากกว่าที่จะสนใจว่าเด็กคิดเป็นมากน้อยหรือไม่
การให้ความสำคัญกับตัวเลข จึงทำให้กระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนต่างมุ่งเน้นที่การสอบ คือ เรียนแล้วสอบด้วยการทำข้อสอบ การสอบก็มีทั้งสอบเก็บคะแนน สอบกลางเทอม ปลายเทอม สอบโอเน็ต เอเน็ต สอบลาส สอบโควต้า สอบเข้ามหาวิทยาลัย การสอบอีกสารพัดจะสอบ จึงทำให้การเรียนการสอนในโรงเรียนต้องผูกติดกับการเรียนโดยเน้นเนื้อหาวิชาความรู้ จนไม่สามารถใช้เวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้
เวลาสำหรับช่วงชีวิตในโรงเรียนหมดไปกับการเรียนเพื่อสอบ ดังนั้นนอกจากเรียนตามตารางสอนแล้ว โรงเรียนยังต้องจัดติวเพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบ หลังเลิกเรียนเด็กยังต้องไปเรียนพิเศษ แม้ว่าระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ใช้ในปัจจุบันได้นำผลการเรียนในโรงเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งสำหรับคัดคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพราะไม่ต้องการให้นักเรียนไปเรียนกวดวิชา
แต่ในที่สุดแล้วระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีนี้ ยิ่งนำนักเรียนไปสู่วังวนของการเรียนกวดวิชามากยิ่งขึ้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการเองก็ส่งเสริมการเรียนกวดวิชา ด้วยการริเริ่มโครงการติวเตอร์ชาแนล ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อย
ขณะที่ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่จัดสอบโดยสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ก็ออกได้มหัศจรรย์จนนักเรียนที่เรียนเฉพาะในโรงเรียนไม่อาจทำข้อสอบได้ ผลักดันให้ต้องขนขวายไปเรียนกวดวิชา รวมทั้งเมื่อคะแนนเฉลี่ยต่ำ แทนที่จะมองไปที่ความมหัศจรรย์ของข้อสอบบ้าง กลับมองแค่เด็กมีคุณภาพต่ำลง ครูสอนไม่ดี เป็นต้น ทั้งที่เป็นไปได้? ที่สอนไม่ดีกันทั้งประเทศ
วังวนชีวิตวัยเรียนของเด็กจึงผูกติดอยู่กับห้องเรียนทั้งในโรงเรียนปกติ และโรงเรียนกวดวิชา จนมิอาจกระดิกกระเดี้ยไปทำกิจกรรมใดๆ ได้มากนัก ทั้งที่มีกิจกรรมในโลกกว้าง ในชุมชนท้องถิ่นให้เด็กได้เรียนรู้อีกหลากหลาย
คุณภาพของเด็กที่เราพูดถึงจึงมักวัดกันที่ตัวเลข โดยเฉพาะตัวเลขผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผลของคะแนนสอบ ปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกัน มีทั้งสภาพของครอบครัว สภาพแวดล้อมในสังคมที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กก็ต่างกัน การที่จะหวังให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีเหมือนๆ กัน จึงเป็นไปได้ยาก
ขณะเดียวกันการมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง อาจไม่ได้สอดคล้องกับการคิดเป็นแก้ปัญหาเป็นของเด็กแต่อย่างใด อีกทั้งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัด หรือสอดคล้องกับความมีคุณธรรมจริยธรรมของเด็ก ดังนั้นการมุ่งให้เด็กได้คะแนนสูงๆ อาจไม่ใช่ทิศทางพัฒนาการศึกษาแต่อย่างใด
การเรียนการสอนของไทยมีเนื้อหาที่เรียนมาก กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา เพราะจะทำให้เด็กต้องจมปลักอยู่ในห้องเรียนเหมือนติดหล่ม และจมปลักอยู่กับวังวนของโรงเรียนกวดวิชาจนมิอาจดิ้นหลุด ยิ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเด็กที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมากขึ้น และปล่อยให้โรงเรียนกวดวิชาสามารถทำมาหากิน สร้างความร่ำรวยมหาศาล โดยแต่ละครอบครัวต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการศึกษาจึงไม่อาจลดช่องว่างของฐานะทางเศรษฐกิจลงได้
นอกจากนี้ การเรียนเพื่อมุ่งสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย การเรียนเพื่อมุ่งหมายคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงๆ ได้ทำให้เด็กเรียนรู้แต่ในตำราเรียน หรือเรียนเพื่อทำข้อสอบให้ได้มากที่สุด คิดให้ลัดที่สุด ตามสไตล์ของโรงเรียนกวดวิชา ได้ชักนำให้ระบบการศึกษาไทย นำเด็กๆ ละทิ้งชุมชนท้องถิ่น ลืมรากเหง้าความเป็นมาของตนเอง ว่าเป็นใครมาจากไหน และแต่ละคนควรมีภาระอะไรต่อชุมชนท้องถิ่นของตนเองบ้าง
ระบบการศึกษาไทยล้มเหลว เพราะมุ่งผลิตคนเก่งแต่ในตำรา วัดคนที่ข้อสอบ ซึ่งการฝึกให้เด็กคิดเป็นแก้ปัญหาเป็น ไม่อาจฝึกได้เฉพาะในห้องเรียน โดยวัดที่ข้อสอบเพียงอย่างเดียว แต่ขาดการทำกิจกรรม ขาดการฝึกประสบการณ์ด้วยการปฏิบัติจริงได้
ขณะเดียวกัน การมุ่งผลผลิตที่เด็กว่ามีคุณภาพหรือไม่ โดยวัดที่คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นสำคัญแล้ว การผลิตครูพันธุ์ใหม่ที่บางมหาวิทยาลัยตื่นเต้นว่ามีเด็กที่มีผลการเรียนสูงๆ มาสมัครเรียนครูจำนวนมาก ทำเหมือนว่าการปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จลุล่วง เพราะมีครูที่เรียนหนังสือเก่ง
แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาก็ตาม แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรจึงจะได้ทั้งคนเก่งและคนดี มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะมาเป็นครู ในขณะที่สภาพสังคมของเด็กวัยรุ่นในปัจจุบันที่เข้าสู่วังวนของระบบการศึกษามีความฉาบฉวย เด็กมีความอดทนน้อย มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก
ทำอย่างไรระบบการคัดคนไปเรียนครู จึงจะได้ทั้งคนเก่งและคนดีไปเป็นครู หรืออาจไม่ต้องเก่งมาก แต่เป็นคนดีมีความเสียสละน่าจะมีคุณสมบัติการเป็นครูได้ดีกว่าคนเก่งอย่างเดียว เพราะในประเทศของเราคนเก่งๆ มีมากมายแทบจะเหยียบกันตาย ซึ่งบางคนเรียนเก่ง แต่ทำอะไรไม่เป็นก็เยอะ แถมหากขาดความเป็นคนดีด้วยแล้ว เก่งอย่างไรก็คงไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
ดังนั้นปัญหาหนักของการปฏิรูปการศึกษาในส่วนของการผลิตครูคือ จะมีวิธีการอย่างไรที่สามารถคัดคนดีๆ มาเป็นครูได้ นี่คืออีกปมปัญหาของการวางรากฐานการปฏิรูปการศึกษาไทยในอนาคต ที่ผู้มีอำนาจต้องคิดหาวิธีการ
การศึกษาไทยจะไปทางไหนคงมิอาจวัดกันที่ตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมุ่งเน้นการคิดเป็นแก้ปัญหาเป็น โดยผ่านกระบวนการวางแผนอย่างรอบคอบ การทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลเพียงอย่างเดียว โดยขาดการวางแผนระยะยาว ว่าจะทำอะไร ตอนไหน อย่างไร การใช้คนที่มีความรู้ความสามารถให้ถูกทางแล้ว การปฏิรูปการศึกษาจะค่อยๆ พัฒนาไปได้ แม้มิอาจพลิกแผ่นดินก็ตาม
คัดลอกจาก มติชนรายวัน 15 เมษายน 2554
ไม่มีความเห็น