พัฒนาคุณภาพ สว. เขต 3 (2) รู้จักโรคปริทันต์กันไหม


 

ชั่วโมงนี้ คุณหมอเอ ทพญ.อัสวินี พิมพ์แสง จากโรงพยาบาลพนัสนิคม เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปริทันตวิทยา ค่ะ มาเล่าให้ฟังเรื่อง การควบคุมคราบจุลินทรีย์ในช่องปากผู้สูงอายุ

เรื่องของ Microbial Biofilm

Dental Plaque หรือหลังๆ มักเรียกว่า Microbial Biofilm ซึ่งเราคุ้นเคยกับคำว่า คราบจุลินทรีย์ เป็นคำเดิมที่ใช้ แต่จะเพิ่มความรู้เรื่องเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น

ที่ผิวฟัน ... เมื่อสัมผัสน้ำลาย จะมีคราบผิวบางๆ เรียก pellicle จะเป็นเมือก ลักษณะเป็นโปรตีนมาเกาะ จะเกิดไม่กี่นาทีหลังจากที่เราทำความสะอาดผิวฟัน ชั้น pellicle หรือชั้นเมือกที่มาเกาะที่ตัวฟัน จะเป็นที่ยึดเกาะของแบคทีเรีย แบคทีเรียที่มาเกาะตอนแรกๆ จะเป็นแบคทีเรียตัวกลม ลักษณะสะอาดมาเกาะ บางส่วนจะมีชั้น epithelial cell คือ cell ผิวหนัง เม็ดเลือดขาวมาเกาะด้วย

ขั้นตอนแรกที่มาเกาะกัน จะเกาะอย่างหลวมๆ พออยู่ไปนานๆ ก็จะเกาะแบบแน่น แข็งขึ้น เราจะกำจัดออกยากขึ้น เรียกเป็นระยะ irreversible คือ แปรงฟันธรรมดาไม่ค่อยออกแล้ว ... ส่งผลกับการเกิดเหงือกอักเสบ คราบพวกนี้ ธรรมดาเราจะมองไม่เห็น แต่จะเห็นตอนที่ย้อมคราบสี สีที่ย้อมจะไปเกาะกับตัวฟัน อาจใช้สีผสมอาหารก็ได้ สีจะไปเกาะที่คราบจุลินทรีย์

การยึดเกาะของเชื้อ bacteria พวก pellicle หรือชั้นเมือกที่เกาะที่ตัวฟัน ตอนแรกจะเป็นเชื้อกลมๆ แต่ตอนหลังจะเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงมากขึ้น เป็น gm negative หรือ มีแบคทีเรียที่ตายแล้วมาเกาะรวมด้วย และมีการสร้างสาร polymer หรือสารคาร์โบไฮเดรทมาเกาะ จะเหมือนกาวเหนียวๆ ทำให้เกิดการยึดติดของคราบ plaque หรือ biofilm แน่นขึ้น

คุณสมบัติของ dental plaque หรือ biofilm จะประกอบด้วยเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งเชื้อนี้จะต่อกันด้วยโครงสร้างแกนหลัก คล้ายไขกระดูกของเรา เป็นตัว polysaccharide หรือ carbohydrate และพวกนี้ แบคทีเรียแต่ละตัวจะสื่อภาษากันได้ จะสื่อสารกัน ตัวนี้จะโต ตัวนี้จะหยุด เขาเรียกว่า forum sending

การยึดเกาะของแบคทีเรียแต่ละตัว จะมี carbohydrate มายึดเกาะกัน นานๆ ก็จะเหนียวขึ้น ซึ่งลักษณะที่เหนียว การเกาะกัน จะทำให้เกิด antibiotic resistant พวกนี้จะดื้อยา เวลาเรากินยาอะไรไป ถ้าเป็นเชื้อที่มี plaque มาเกาะเหนียวๆ ยาที่เรากินก็จะไม่เข้าไปอยู่ข้างใน ก็จะไม่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยิ่งเกาะเป็นกลุ่มใหญ่เท่าไร ปริมาณยาที่เราให้ ก็ต้องเพิ่มขึ้น ... และคราบเหนียว ก็จะแปรงออกยากด้วย

เรื่องหินน้ำลาย หรือหินปูน

ศัพท์เทคนิคจะเรียกหินน้ำลาย สำหรับเราทั่วไปเรียกหินปูน เหมือนหิน มีส่วนประกอบของสารอินทรีย์ และสารอนินทรีย์ สารอนินทรีย์ เป็นของแข็งๆ ประมาณ 70-90% ที่เหลือจะเป็นโปรตีน คาร์โบไฮเดรท

การเกิดของหินน้ำลาย เกิดจาก dental plaque หรือ biofilm เกิดการตกตะกอนของแร่ธาตุ อยู่ๆ จะเริ่มแข็งขึ้น เกิด mineralization เกิดหลังการสร้าง plaque หรือการสะสม plaque ที่เกิด pellicle หรือ คราบเมือกตอนแรก ในช่วง 1-14 วัน ซึ่งการเกิดหินน้ำลายไม่จำเป็นต้องมีเชื้อโรค เกิดได้เอง อาจจะเป็นหินน้ำลายลักษณะสะอาดก็ได้

บทบาทของ plaque หรือคราบจุลินทรีย์ ต่อโรคปริทันต์

plaque เป็นสาเหตุหลักของโรคปริทันต์อักเสบ โดยคราบ plaque ภาษาชาวบ้านเรียกว่า คราบขี้ฟัน เวลาเอามือไปขูดที่ตัวฟัน จะเห็นเป็นคราบเมือกเหนียวๆ ติดออกมา ขนาด 1 มก. จะมีเชื้อมากกว่าหนึ่งร้อยล้านตัว และมีเชื้อมากกว่า 300 ชนิด ซึ่งเชื้อพวกนี้ จะมีความดุในตัวมันเอง ทำให้ปฏิกิริยาตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย เชื้อไปกระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบ และร่างกายจะทำลายตัวเอง ทำให้เกิดการละลายตัวของกระดูกรอบรากฟัน

หินน้ำลาย เป็นตัวเสริมการเกิดโรคเหงือก หรือปริทันต์อักเสบ หินน้ำลายจะมีผลเอื้อต่อการเกาะติดของคราบ plaque ทำให้กำจัด plaque ได้ยากขึ้น เป็นตัวเก็บ plaque อีกอย่างหนึ่ง หินน้ำลายจะทำให้เกิดการระคายเคืองของเหงือกได้

คราบ plaque เป็น multi-factorial disease ทำให้เกิดทั้งฟันผุ และโรคปริทันต์ คือ รวมกันมีหลายปัจจัย ไม่ใช่ plaque อย่างเดียว แต่หลักคือ คราบ plaque

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคปริทันต์

การเกิดโรคปริทันต์ จะมี 4 อย่างรวมกัน คือ เหงือก กระดูกเบ้าฟัน เอ็นยึดปริทันต์ และผิวรากฟัน และมีข้อสำคัญหนึ่งคือ การละลายตัวของกระดูกรอบๆ ฟัน

โรคปริทันต์อักเสบ สาเหตุหลักก็คือ คราบจุลินทรีย์ ที่เสริมคือ หินปูน หรือ การสบฟันผิดปกติ ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ คือ คนที่สูบบุหรี่ เบาหวาน ผู้ป่วย HIV จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์มากขึ้น

เทคนิคการตรวจฟันคนไข้

เวลาที่หมอตรวจฟัน เวลามองคนไข้ จะมองที่

  • เขามาด้วยโรคอะไร
  • เคยรักษาโรคเหงือกไหม เคยขูดหินปูนทำความสะอาดฟันไหม เคยไปขัดฟันไหม
  • แปรงฟันด้วยยาสีฟันอะไร แปรงด้วยยาสีฟันประเภทไหน แปรงฟันวันละกี่ครั้ง มีอุปกรณ์ทำความสะอาดอะไรบ้าง
  • สูบบุหรี่หรือไม่ วันละกี่ครั้ง
  • มีการนอนกัดฟันไหม
  • มี habit Tongue trust ร่วมด้วยหรือไม่
  • มีการกัดแก้ม กัดลิ้น หรือเปล่า
  • มีโรคประจำตัวอะไร
  • มีการรับประทานอาหารแบบไหน
  • มักพิจารณาตัวเสริมอื่นๆ คือ มีหินปูนที่ตัวฟันหรือไม่ มีคราบ plaque ที่ตัวฟันหรือไม่ มีอาหารติดบริเวณซอกฟันหรือไม่ มีฟันผุที่เป็นการผุที่ทำให้เกิดการทำความสะอาดฟันได้ยากหรือไม่ เพราะบางทีฟันผุ ถ้าไม่เรียบ จะเป็นตัวที่ทำให้เกิด plaque ต้องแก้การเกิดของ plaque โดยการอุดฟันให้เรียบร้อยก่อน มี embrasure ที่สูงไม่เท่ากันหรือเปล่า ที่ขอบฟันไม่เสมอกัน วัสดุอุดดีหรือเปล่า เป็นต้น
  • มี high frenum attachment ไหม เพราะว่า frenum จะเหมือนเนื้อยึดในปาก

อาการแสดงของโรคปริทันต์

  • เหงือกบวม เหงือกมีเลือดออก มีการละลายตัวของกระดูก มีหนอง ฟันโยก สุดท้าย เป็นการสูญเสียฟัน
  • เมื่อมีคราบหินปูน จะทำให้กระดูกที่อยู่รอบเหงือกค่อยๆ ละลายตัวลงไป สุดท้ายก็จะมีรากฟันโผล่ เป็นจุดที่ทำความสะอาดได้ยาก จะเกิดโรคเหงือก ซึ่งพวกนี้รักษาไม่หาย เป็นแล้วจะเหมือนเบาหวาน เป็นแล้วต้องมาหาหมอเรื่อยๆ

การรักษาโรคปริทันต์

  • ขูดหินปูน เป็นการทำความสะอาดคร่าวๆ สำหรับหินปูนที่อยู่เหนือเหงือก สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นโรคปริทันต์
  • ในคนที่เป็นโรคปริทันต์ เราจะต้องเกลารากฟัน
  • ถ้ายังไม่ดีขึ้น ระยะต่อไป อาจต้องทำศัลย์ปริทันต์ คือ การผ่าตัดเหงือกร่วมด้วย
  • ถ้าเจอ ควรแนะนำให้รักษาเลย เพราะถ้าปล่อยไว้ จะมีการละลายตัวของกระดูกมากขึ้น
  • หลังจากรักษาแล้ว จะไม่เหมือนเดิม ต้องบูรณะกันต่อไป เช่น คนไข้ที่รักษาแล้ว จะมีเหงือกเป็นช่องๆ เวลาบ้วนน้ำ น้ำก็จะออกมาตามช่องๆ บางทีก็ช่วยได้ด้วยการใส่เหงือกเทียมให้ คนไข้ที่มีช่องเล็กหน่อย ก็อุดฟันปิดช่องว่างให้ได้

รวมเรื่อง พัฒนาคุณภาพ สว. เขต 3

 

หมายเลขบันทึก: 434916เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2011 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท