เที่ยวเมืองเทพา...734 ปี..ที่มีมายาวนาน


อย่างน้อยในวันนี้แค่หลานๆ ได้ตระหนักถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และความเป็นมาอันยาวนานของบ้านเมืองที่เค้าเติบใหญ่อยู่มาก็เพียงพอแล้วที่เค้าจะอนุรักษ์และศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านเมืองของพวกเค้าเอง

             วันที่  7 – 9  เมษายน  2554  ในปีนี้มีการจัดงานสมโภชครบรอบปีที่  734  ปีเมืองเทพาและงานเปลี่ยนผ้าพระสามองค์—พระคู่บ้านคู่เมืองเทพา

          ครูแอนเลยพาหลานๆ ไปเที่ยวด้วยเค้าต้องไปเรียนที่อื่นแล้วไม่ค่อยได้อยู่บ้านซักเท่าไหร่  บ่ายนี้เราเลยจัดทัวร์เล็กๆ กันเป็นทัวร์เชิงอนุรักษ์และศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านเมืองของพวกเราเอง

            เริ่มต้นด้วยการเข้าไปจุดธูปจุดเทียนนมัสการพระสามองค์ อันเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองเทพา มาตั้งแต่สมัยโบราณ อันประกอบด้วยพระสามองค์  ดังนี้ : พระแก่นจันทน์ (พระซึ่งสร้างขึ้นจากแก่นใจกลางไม้ที่ชื่อว่า “ไม้จันทน์” ) ,  พระจังหัน (พระซึ่งสร้างขึ้นจากการรวมข้าวและภัตตาหารที่ชาวบ้านนำมาถวายพระ)  และ พระเกสร (พระซึ่งสร้างขึ้นจากการรวมดอกไม้ที่ชาวบ้านนำมาถวายพระ)

            หลังจากขึ้นไปนมัสการวางพวงมาลัยถวายท่านแล้วก็ลงมาสรงน้ำพระสามองค์อันเป็นรูปจำลองซึ่งวางด้านหน้าพระอุโบสถนั่นเอง  และก็ไปกราบไหว้พระบรมรูปขนาดใหญ่ของเสด็จพ่อ ร.5 พระมหากษัตริย์ไทยผู้พระราชทานนามให้กับวัด  อันเป็นที่มาของชื่อวัดอย่างเต็มๆ ว่า “วัดเทพาไพโรจน์” 

             ท่านผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อๆ กันมาว่า เหตุเพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5  เคยเสด็จประพาสหัวเมืองเทพาในครั้งโน้นและเสด็จขึ้นฝั่งมาที่ท่าวัดแห่งนี้  และพระองค์ก็พระราชทานนามวัดให้นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  ปีนี้เลยมีการอัญเชิญพระบรมรูปของพระองค์ท่านมาประดิษฐานไว้ที่นี่เพื่อเป็นที่สักการะแก่ชาวเทพาอีกด้วยเมื่อวันที่  7  เมษายน  2554  แต่ชาวบ้านที่นี่ก็เรียกชื่อวัดแห่งนี้ติดปากว่า “ วัดพระสามองค์ ” ตามกันมายาวนานเช่นกัน

       

           ต่อมาภายหลังมีผู้ใหญ่ใจดีหลายท่านได้เข้ามาช่วยเหลือในการบูรณะวัดเทพาไพโรจน์หรือวัดพระสามองค์อีกครั้งหนึ่งโดยความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ(อำเภอเทพา)และภาคประชาชน เช่นครั้งหนึ่งคุณหมอพรทิพย์  โรจนสุนันท์  ก็เคยมาช่วยเหลือในการสร้างพระอุโบสถบูรณะวัดและยังมีนายทหารผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่ครูแอนไม่ทราบชื่อท่านอย่างแน่ชัด  ร่วมกับทางฝ่ายสงฆ์อันอยู่ในความดูแลของเจ้าคณะอำเภอ “ตาหลวงแดง” โดยการดำเนินงานของท่านไมตรี พระผู้ช่วยตาหลวงแดงที่วัดสุริยารามซึ่งเป็นหนึ่งในสองวัดในเขตเทศบาลตำบลเทพานั่นเอง  และขณะนี้ก็กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างอาคารต่างๆ ภายในวัดที่ยังกำลังก่อสร้างอยู่อีกเป็นบางส่วน

คุณครูจากโรงเรียนต่างๆ ในอ.เทพา มาช่วยงานที่วัดพระสามองค์

สรงน้ำพระสามองค์เพื่อความเป็นสิริมงคล

            หลังจากนมัสการพระสามองค์และกราบไว้พระบรมรูปเสด็จพ่อ ร.5 เสร็จแล้วพวกเราก็ไปชมการแสดงบนเวทีอีกฟากหนึ่งของพระอุโบสถ  ที่ตั้งของเวทีอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนวัดเทพาไพโรจน์ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาเล็กๆ แห่งหนึ่งที่อยู่ติดกับวัดแห่งนี้ 

เห็นบ้านที่ติดกับวัดนั่นมั๊ยคะ...เป็นบ้านคนมุสลิมเลยค่ะ

แล้วเค้าก็มาขายของข้างๆ วัดเนี่ยล่ะค่ะ

           ที่น่าแปลกกว่านั้น!! วัดนี้ตั้งขึ้นท่ามกลางหมู่บ้านของชาวไทยมุสลิม ติดกันกับวัดเป็นบ้านคนมุสลิมเลย (ครูแอนยังเคยไปขอหยิบยืมไฟแช็คจากบ้านคนมุสลิมข้างๆ วัดเพื่อมาจุดธูปเทียนไหว้พระก่อนหน้านี้เลยค่ะ)

ท่าน้ำหน้าวัดพระสามองค์...เป็นแม่น้ำเทพาสายหลักของเมืองเทพา

 

            ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าจริงๆ แล้ววัดพระสามองค์ตั้งอยู่ตรงนี้นานแล้ว  หน้าวัดก็จะมีท่าน้ำที่ขึ้นฝั่งได้  ก่อนนี้เคยมีคนนำพระสามองค์ไปทิ้งในแม่น้ำเทพา  แต่จนแล้วจนรอดในที่สุดท่านก็ลอยมาผุดตรงที่ท่าน้ำนี้เหมือนเดิมทั้งสามองค์  ก็เลยนำท่านขึ้นมาประดิษฐานที่วัดและสร้างพระอุโบสถหลังเก่าครอบไว้  แต่ที่วัดนี้ไม่มีพระภิกษุมาจำวัดเนื่องจากอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านมุสลิม (พระภิกษุที่จะมาจำวัดคงออกบิณฑบาตไม่ได้เป็นแน่) และคนมุสลิมในละแวกนี้ก็ทราบกันดีถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระสามองค์

          

          บนเวทีการแสดงมีป้ายขนาดใหญ่เขียนบอกชื่องานไว้ถึงกับทำให้หลานๆ ร้องดัง “โอ้โห! เมืองเทพาเรามีมานานตั้งกะ 734  ปีแล้วเหรอน้าแอน” (อย่างน้อยในวันนี้แค่หลานๆ ได้ตระหนักถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  และความเป็นมาอันยาวนานของบ้านเมืองที่เค้าเติบใหญ่อยู่มาก็เพียงพอแล้วสำหรับการจัดทัวร์ของเราในวันนี้)

การแสดงปัญจสีละ...ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของคนไทยมุลสลิม

           การแสดงบนเวทีที่กำลังแสดงให้ผู้ชมชมอยู่ขณะนั้น  เป็นการแสดงชุด “ปัญจสีละ”  ซึ่งเป็นการแสดงโชว์(แต่ไม่ต่อสู้จริงๆ) ศิลปะการร่ายรำของการต่อสู้ป้องกันตัวของชาวมุสลิมทางใต้  เสร็จจากการแสดงชุดนี้หลานๆ จึงขอให้ครูแอนพาไปดูท่าน้ำสายใหญ่ของเมืองเทพา “แม่น้ำเทพา” ที่เมื่อก่อนเคยเป็นท่าน้ำที่รัชกาลที่  5  เคยเสด็จขึ้นฝั่งมานั่นเอง 

            พักใหญ่ๆ พวกเราก็เดินทางกลับบ้าน  ครูแอนเลยแถมท้ายด้วยการนำหลานๆ ไปดูบริเวณที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าเป็นที่ตั้งของประตูเมืองเก่าของเมืองเทพาที่อยู่ไม่ไกลนักจากวัดพระสามองค์

ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าจุดนี้เป็น "ประตูเมืองเก่า...เมืองเทพา"

           

            ครูแอนจำได้ว่าครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้ที่เพิ่งย้ายมาที่โรงเรียนเทพาใหม่ๆ เราเคยคุยกันถึงเรื่องวัดพระสามองค์และอาจารย์ผาณิต  เพชรจำรัส  ซึ่งเป็นคุณครูอาวุโสท่านหนึ่งที่เคยสอนที่โรงเรียนเทพา (ขณะนี้ท่านย้ายไปสอนที่โรงเรียนมัธยมฯ ในกรุงเทพเพื่อไปอยู่กับครอบครัวที่โน่น) และท่านเองก็เป็นคนเทพาด้วยเคยเล่าให้ฟังว่าตัวประตูเมืองเก่าของเมืองเทพาตั้งอยู่บริเวณนี้  สังเกตได้ว่าจะมีต้นประดู่ใหญ่มากๆ สองต้นตั้งอยู่คู่กัน  แต่ในส่วนของรายละเอียดยังไม่มีรายละเอียดมากนัก 

แม่น้ำเทพา...ที่ไหลผ่านไปในตัวอำเภอเทพาและทอดยาวมาทางหมู่บ้านลำไพล

         

             และแล้วครูแอนกับหลานทั้งสองก็เสร็จสิ้นการทัวร์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองเทพาของเราตอน 5 โมงเย็นกว่าๆ นั่นเอง  ครูแอนเลยขับรถพาหลานๆ วนรอบตลาดเมืองเทพาที่มีร้านรวงตั้งขายภายใต้ร่มเงาครึ้มของต้นไม้ใหญ่ในตัวตลาดที่ร่มเย็นสบายเป็นที่สุด

หมายเลขบันทึก: 434686เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2011 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

อ่านแล้วอยากไปเที่ยวเทพา...จังเลยน้องแอน

สวัสดีค่ะพี่นก

Ico48

มาสิคะพี่นก...มาช่วง 7-9 เมษายน นี่ดีใหญ่เลยค่ะ  มีการแสดงด้วย 

แต่ปีนี้ยังไม่จัดงานใหญ่เท่า เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วที่ทางราชภัฎสงขลาหรือม.ทักษิณ เนี่ยล่ะค่ะ  เค้ามาจัดชุดการแสดงแสงสีเสียงย้อนอดีตเมืองเทพาไปแล้วค่ะพี่

เทพาเคยเป็นเมืองจัตวาเฉกเช่นเดียวกับเมืองจะนะ ในสมัยโบราณค่ะพี่

พี่นกมาสิคะ...แอนยินดีที่สุดที่จะเป็นไกด์นำเที่ยวเทพานะคะ  แต่เป็นเชิงอนุรักษ์นะคะพี่

คิดถึงจังค่ะ  ปิดเทอมนี้สนใจมาเที่ยวเทพา  เชิยเลยค่ะพี่  โทรบอกหนูหน่อยเดียว  O.K. เลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

 

สวัสดีครับ น้องครูแอน

ความงามในความต่าง

ความงามในความหลากหลาย

เชื้อชาติ ตระกูล ศาสนา ไม่เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกัน  หากเราเข้าใจถึงภาระหน้าที่ของศาสนา (ไปทมม. แวะนอนที่กุฎกับพระ ปลอดภัยมาก)

สวัสดีค่ะบังวอญ่า

Ico48

ใช่ค่ะบัง  เป็นความงดงามในความต่างกันในแง่มุมแห่งศาสนาแต่ที่เหมือนกันคือสอนให้ทำความดีเหมือนกัน  และที่สำคัญคือไม่แตกแยกในสังคมน่ะค่ะบัง

ภาพข้างบนของบังเป็นภาพที่งดงามมากเลย....อยากให้เป็นเช่นนี้จริงๆ

ลูกศิษย์ครูแอนที่เป็นเด็กไทยมุสลิมเข้าไปเยี่ยมเพื่อนที่บวชเป็นเณรน้อยที่วัดสุริยาราม...ภาพนั้นยังงดงามติดตา ตรึงใจบรรดาครูๆ ไม่จางหาย

เฉกเช่นเดียวกับภาพของบังข้างบนเลยค่ะ

ปลอดภัยจากน้ำท่วมแล้วนะคะ

ขอบคุณค่ะ

เก่าแก่ใกล้เมืองเชียงใหม่ครับ คุณครู Lioness_ann ;)...

...

...

ชอบภาพนี้ของท่าน วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

สวัสดีค่ะอาจารย์

แม้ว่าเมืองเทพาจะไม่ใช่เมืองใหญ่เท่าเชียงใหม่แต่ก่อนกาล

แต่อายุของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ก็มีมายาวนาน  ไม่แพ้กับอารยะธรรมที่ส่งต่อกันสืบกันมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันนี้ 

ภาพของบังเป็นภาพที่งดงามทางจิตใจมากๆ ค่ะ

ไม่เน้นความแตกต่างและไม่เน้นความแปลกแยกในสังคมเลยค่ะอาจารย์

บุญรักษานะคะอาจารย์....ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะครูแอน

เส้นทางนี้ ผ่านเป็นประจำ หาดใหญ่-ยะลา

ขอบคุณเรื่อราวดีๆที่นำมาฝากค่ะ

 

สวัสดีค่ะคุณหนูรี

Ico48

เป็นทางผ่านในเส้นทางประจำ หาดใหญ่-ยะลา ใช่มั๊ยคะ

แวะมาไหว้พระสามองค์สิคะ  ตรงสี่แยกพระพุทธ  เลี้ยวขวาเข้ามานิดเดียวเองค่ะ

เชิญนะคะ...หากต้องการไกด์นำทางบอกล่วงหน้านะคะ

ขอบคุณค่ะ

วันนี้ว่างไม่ได้ไปไหนเลยอ่านเรื่องเมืองเทพาจากหนูแอน เสียดายเราไม่ได้เก็บข้อมูลคนเก่าคนแก่ไว้ คุณตาคือขุนเทพาดำรงศักดิ์เป็นกำนันเมืองเทพามาก่อน คุณแม่เคยเล่าเรื่องอัดเทปไว้ให้ครูวิชัย วงศ์สุวรรณ แต่มีคนยืมแล้วทำหายเสียดายมากแต่ยังมีอีกคนที่มีเรื่องราวเมืองเทพามากมายคืออาจารย์ผสม เพชรจำรัส กำลังขอให้อัดเทปเรื่องราวไว้เล่าลูกหลานเรา

สวัสดีปีใหม่ไทยๆ ค่ะป้า

Ico48
ป้าผาณิต
  • ป้าผาณิตสบายดีนะคะ
  • คิดถึงป้าค่ะ 
  • จำได้ว่าป้าเคยเล่าไว้นานแล้ว  เลยขอยืมคำบอกเล่าจากป้ามาบันทึกไว้นะคะป้า
  • ป้าผาณิตคะ  น่าเสียดายเหมือนกันนะคะถ้าไม่มีเรื่องราวจากคนรุ่นก่อนเล่าย้อนให้คนรุ่นหลังๆ ได้ฟัง
  • ยิ่งตอนนี้มีการส่งเสริมให้เด็กๆ วิจัย/เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตัวเองด้วยอีกต่างหาก
  • ว่าแต่ป้าไม่ไปเที่ยวไหนช่วงสงกรานต์เหรอคะ
  • ยังไงๆ ก็ดูแลสุขภาพด้วยนะคะป้าผาณิต
  • ขอบคุณค่ะ...ที่ช่วยเติมเต็มบันทึกเมืองเทพาฉบับนี้ให้ดูดีขึ้นมากมาย
  • ขอบคุณค่ะป้า

อ่านความเคลื่อนไหวล่าสุดแล้ว อยากส่งกำลังใจมาให้ คิดเสียว่าเป็นอุปสรรคมาทดสอบเรา ทดสอบความสามารถ ทดสอบจิตใจ

ทำงานให้มีความสุขนะจ๊ะ (คิดถึงเธออยู่....)

ป้าแอนสู้ๆๆ ป้าแอนสู้ตาย 555

สวัสดีค่ะพี่แอน

มาชมเมืองเก่าแก่ ว้าว พอๆ กับเวียงพิงค์ และ เพิ่งเห็นข่าว ปชส. เจียงฮาย ก็จะครบ เจ็ดร้อยห้าสิบ ปีหน้าเช่นกันค่ะ

พี่แอนหายเงียบไปนานมากๆ คิดถึงค่ะ

สวัสดีค่ะ Ico48ทั้งสองท่านนะคะ

  • ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชมบันทึกแห่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนาม"เมืองเทพา" ในอดีตกาลก่อนโน้น
  • ขอบคุณ "ใครคนหนึ่ง" ที่ไม่แจ้งชื่อ แต่มีพลังแห่งกำลังใจส่งผ่านมาให้อย่างสัมผัสได้
  • ขอบคุณจริงๆ ค่ะ  ขอบคุณจากใจ

 

Ico48 หูย ท่านลุงขจิต....

เรียกซะ (ป้า) แก่งั่กเชียวนะเจ้าคะ...ไม่สนใจตังล้งตัวเลขเลยนะเนี่ย อิอิอิ

รึ...ซ้อมเรียกแทนลูกเหรอคะท่านด๊อกเตอร์  หาแม่ของลูกก่อนเนอะแล้วค่อยมาเรียกป้า  จ๊ากส์...5555.....

แต่ก็ขอบคุณสำหรับแรงเชียร์ ...(เกือบอึดไม่ขึ้นแล้วเหมือนกันแหละ)...

แต่ก็จะพยายาม....ขอบคุณค่ะ

หวัดดีค่ะน้องปู Ico48

ไม่ได้เจอกันนานเลย  แต่ไม่เคยลืมน้องที่น่ารักคนนี้ค่ะ  สบายดีนะคะ

ท่านอาจารย์วัสก็พูดเหมือนน้องปู  คงแก่พอๆ กันนะคะ

พี่เองซะอีก..ที่หายไปนานจริงๆ ด้วย  กับภาระงานที่เป็นเช่นนี้ในทุกๆ ปีการศึกษา

คิดถึงน้องเสมอค่ะ...ขอบคุณนะคะ

 

คิดถึงเทพาจังฮู

สุขกายสุขใจนะคะ

พี่แอนจ๋า มาส่งความคิดถึง และส่งกำลังใจ

ช่วงอยู่บ้านพรุ ปูนั่งรถเขียว ไปสงขลาบ่อยค่ะ

ชอบภาพประตูเมืองเก่า ควรค่าอนุรักษ์ไว้ ขอบคุณค่ะ

 

คุณแอนครับ ผมชื่อชูชีพ เป็นเพื่อนของอจ.ผาณิต อยากได้เบอร์ติดต่อครับ ของผม 085~9442743 ขอบคุณครับ

กำลังสืบค้นประวัติเมื่องเทพา เพื่อเตรียมงาม "ย้อนรอยตำนาน เล่าขานเมืองเทพา" จะจัดในช่วง มีนา 61 ค่ะ ขอบคุณข้อมูลดีๆๆ นี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท