รายการสายใย กศน. 4, 11, 18, 25 เม.ย.54


4 เม.ย.54 เรื่อง “แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง “ชุมชนเกตุไพเราะ””, 11 เม.ย.54 เรื่อง “กศน.ตำบลแสลง อำเภอเมืองจันทบุรี”, 18 เม.ย.54 เรื่อง “ศศช.ชาวไทยภูเขา“แม่ฟ้าหลวง” บ้านปาเกอะญอ”, 25 เม.ย.54 เรื่อง “เลขาธิการ กศน.พบบุคลากร”

รายการสายใย กศน. วันที่  25  เมษายน  2554


         เรื่อง “เลขาธิการ กศน.พบบุคลากร”

         นายอิทธิเดช  สุพงษ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - นายอภิชาต  จีระวุฒิ  เลาธิการ กศน.


         เมื่อวันที่ 20 เม.ย.54 ครม.แต่งตั้งให้ผมดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่วันที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม  และ รมว.ศธ.แต่งตั้งให้ผมรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.54

         ผมอยู่กับพวกเรามา 3 ปี 20 วัน การทำงานของผมอาจทำให้พวกเราเครียด ก็ขออภัย เพราะต้องทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบาย   ในส่วนที่เป็นประโยชน์ที่พวกเราพึงมีพึงได้ผมก็รีบดำเนินการให้ บางเรื่องอาจล่าช้าเพราะบุคลากรในส่วนกลาง เช่น กจ. ถูกลดจากการปฏิรูปโครงสร้างฯในอดีต เหลือครึ่งเดียว

         ถ้า พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิตมีผลเมื่อไร กศน.จะขึ้นตรงกับ รมว.ศธ. เช่นเดียวกับแท่งอื่น ๆ   ช่วงนี้ปลัดกระทรวงฯยังเป็นประธาน อ.ก.ค.ศ. สป.ศธ. รวมทั้งเป็นกรรมการ ก.ค.ศ., อ.ก.พ. และอื่น ๆ ที่จะยังติดตามดูแลสนับสนุนส่งเสริม กศน. ต่อไป รวมทั้งยังเป็นผู้สั่งบรรจุแต่งตั้งข้าราชการ/ลูกจ้างประจำ กศน.

         ท่าน รมว.ศธ. มีนโยบายตั้งใจจะทำให้ ครู กศน.ตำบล เปลี่ยนเป็นข้าราชการครู ภายใน 3 ปี ( ตำบลละ 3 คน )  เพิ่มข้าราชการครูตำแหน่งบรรณารักษ์ในห้องสมุดฯ   เมื่อวานผมก็เซ็นคำสั่งจัดข้าราชการครู สนง.กศน.จังหวัด ลงตามกรอบโครงสร้างตามความจำนงแล้ว   แต่หน่วยงานต่าง ๆ ยังมีบุคลากรไม่พอ  กำลังเสนอเพิ่มบุคลากรจำนวนมากตามกรอบโครงสร้างที่ปรับใหม่ ( 3 ปี 3 เพิ่มหมื่นกว่าคน )

         ผ่านมา 3 ปี กศน.พัฒนาจากองค์กรที่ขาดขวัญกำลังใจ เป็นองค์กรแห่งความหวัง  ผมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า กศน.ทำงานไม่เหมือนคนอื่น เราทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ คน กศน.ถนัดทำงานปิดทองหลังพระ ไม่ค่อยจะประชาสัมพันธ์ อยากให้ช่วยกันปรับปรุงเรื่องนี้ รวมทั้งการพัฒนาเว็บไซต์ให้เคลื่อนไหวอยู่เสมอ

         ผมอยู่มา 4 กรม ซาบซึ้งและผูกพันกับชาว กศน. เป็นพิเศษ   กศน.น่าจะเป็นกรมเดียวที่คนส่วนกลางและคนส่วนภูมิภาคมีความผูกพันเป็นพี่เป็นน้องกัน    ถ้าใครเข้ามาในกรุงเทพ ทั้งลูกจ้างจนถึงข้าราชการ แวะหาและคุยกับผมบ้าง  ถ้าผมไปราชการในภูมิภาคก็หวังจะได้พึ่งพิง ได้รับความคุ้นเคยจากชาว กศน.   ผมจะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ กศน. ถึงวันที่ 29 เม.ย.54 แล้วมอบหน้าที่ให้ท่านประเสริฐ  บุญเรือง    ผมมีอายุราชการเหลืออีก 4 ปี 6 เดือน  ขออำลาพวกเราไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย ซึ่งจะดูแลพวกเราได้กว้างขวางครอบคลุมและเกิดประโยชน์มากขึ้น  ขอขอบคุณหน่วยงาน กศน.ทั้งหมดที่ให้ความร่วมมือมาตลอด  ขออำนวยอวยพรให้พวกเราทุกคนประสบแต่ความสุขความสำเร็จ  ถ้ามีความทุกข์ก็ให้ผมมีส่วนช่วยเหลือแก้ไข

         “ วันนี้ผมเป็นเช่นไร  วันข้างหน้าก็จะเป็นเช่นนั้นกับชาว กศน.  รักนี้ไม่ลืม ”

 


 

รายการสายใย กศน. วันที่  18  เมษายน  2554


 

         เรื่อง “ศศช. ชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านปาเกอะญอ”

         อัญชิษฐา  บุญพรวงค์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - นางสุนันทา  การะเวก  ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอแก่งกระจาน
         - นางสาวเกล้ากนก  ฉ่ำมะนา  ครูอาสาสมัคร ปฏิบัติงานในศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านป่าเกอะญอ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
         - นางเสงี่ยม  สัมพันธารักษ์  ครูอาสาสมัคร กศน.อำเภอแก่งกระจาน /ครูนิเทศ
         - นายบุญธธรม  ชูชาติ (ฉะทู้)  ศิษย์เก่าและผู้นำชุมชน บ้านป่าเกอะญอ
         - นางสาวแสงเดือน  คะนอง (เอ๊ะยัว)  นักศึกษาปัจจุบัน

 

         บริบทของอำเภอแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นพื้นที่ภูเขา เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ  มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ที่ ต.ป่าเด็ง    มี 6 ตำบล  มี กศน.ตำบล 6 แห่ง และ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ( ศศช. )  2 แห่ง ( ศศช.บ้านปาเกอะญอ กับ ศศช.บ้านโป่งลึก  ต.ป่าเด็ง )  รวมเป็น 8 แห่ง    ครู กศน. ต้องอยู่ในชุมชนเพื่อรู้ข้อมูลมาวางแผนให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ    ชุมชนในเขตภูเขาพื้นที่สูงต้องการครู กศน. กระตือรือร้นมากกว่าคนพื้นที่ราบ

         กศน.อำเภอแก่งกระจานได้ดำเนินงานบนพื้นที่สูงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา  ด้านสุขภาพอนามัย  ด้านสิ่งแวดล้อม  ด้านอาชีพ และ ด้านส่งเสริมวัฒนธรรม  มีกิจกรรมหลัก คือ

         - ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จัดการศึกษาเพื่อสนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้แก่ ร่วมกับอำเภอแก่งกระจาน จัดการศึกษาในโครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ  ร่วมกับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโป่งลึก จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต

         - จัดกิจกรรมส่งเสริมการรู้หนังสือสำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่ในศูนย์การเรียนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง”  โดยมีนักศึกษาเฉพาะที่ ศศช.บ้านปาเกอะญอ จำนวน 50 คน  ( ศศช.บ้านปาเกอะญอ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน )

         - จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเป้าหมายผู้ใหญ่ ในศูนย์การเรียนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านปาเกอะญอ” จำนวน 35 คน  พบกลุ่มทุกวันพุธ โดยผู้ที่ต้องทำงานรับจ้างตอนกลางวันก็จะพบกลุ่มตอนเย็น   มีปัญหาชาวกะเหรี่ยงย้ายถิ่นไปมาบ่อย บางครั้งย้ายไปเป็นปีแล้วย้ายกลับมาใหม่ จึงต้องใช้เวลาเรียนหลายปี

         - กิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต  เป็นการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เช่น การทำผลิตภัณฑ์ผ้าทอกี่เอว กี่กระตุก  การตัดผมชาย  การปลูกผักสวนครัวในแปลงสาธิต  การปลูกผักสวนครัวปลอดสาเคมี  การเลี้ยงหมูหลุม  การเลี้ยงไก่พื้นเมือง  การเลี้ยงกบ  การเพาะเห็ดนางฟ้า  การปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการพังทลายของหน้าดิน  อบรมพัฒนาศักยภาพผู้นำ ไปเรียนรู้ดูงานเศรษฐกิจพอเพียงจากพื้นราบ  ค่ายเยาวชนรักษ์วัฒนธรรม  อบรมพัฒนาประชาธิปไตยเรื่องการใช้สิทธิเลือกตั้ง การกาบัตรเลือกตั้ง  อบรมเรื่องเพศศึกษาและการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  โครงการชุมชนน่าอยู่หมู่บ้านสะอาด  โครงการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านต้านยาเสพติด  โครงการเรียนรู้การเป็นพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตย  โครงการขับขี่ปลอดภัยใส่ใจกฎจราจร  อบรมเกษตรอินทรีย์และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน  โครงการจัดมุมส่งเสริมวัฒนธรรมชนเผ่า  การส่งเสริมการอ่าน

 

         บริหารจัดการโดยสร้างความตระหนักให้แก่ ครู ศศช. ให้มีอุดมการณ์ในการทำงาน  ผู้บริหารออกนิเทศเยี่ยมเยียนครู ศศช.อยู่เสมอ  สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์  สร้างความรู้ ความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของการเป็นครูบนพื้นที่สูง  บุคลากรทุกฝ่ายไปทำงานในพื้นที่ด้วยใจ ไม่มีเบี้ยเลี้ยง   จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีการสำรวจชุมชน การทำงานร่วมกับชุมชน การประสานเครือข่าย
         ใช้ชุมชนเป็นฐานจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นสภาพ ปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน มีการสำรวจข้อมูลผู้ไม่รู้หนังสือ และจัดทำฐานข้อมูลรายบุคคล   เพื่อนำมาวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ และกลุ่มเป้าหมายได้ใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้   สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

 

         ปีที่แล้ว ครูเกล้ากนก ได้รับรางวัล ครู ศศช. ดีเด่นภาคกลาง   ปีนี้ ( 2553 ) ศศช.บ้านปาเกอะญอ ได้รับรางวัล ศศช.ชาวไทยภูเขาดีเด่นภาคกลาง

 


 

รายการสายใย กศน. วันที่  11  เมษายน  2554


 

         เรื่อง “กศน.ตำบลแสลง อำเภอเมืองจันทบุรี”

         อัญชิษฐา  บุญพรวงค์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - นายสุเวช  บำรุงชีพ  ผอ. กศน. อ.เมืองจันทบุรี
         - นงนุช  เรืองรอง  ครู กศน.ต.แสลง  อ.เมืองจันทบุรี
         - พิจิตร  บุญอากาศ  อาสาสมัคร กศน. ต.แสลง


         กศน.ต.แสลง อ.เมืองจันทบุรี มีกิจกรรมต่อเนื่อง ดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย  เน้นการดำเนินงานตามนโยบายและบทบาทหน้าที่ ทำงานด้วยใจ รู้จักกันหมดกับคนในตำบล   ได้รับรางวัลระดับจังหวัด ระดับภาค  เช่นปี 51 ได้รางวัล ศรช.ดีเด่นระดับจังหวัด    จัดเวทีประชาคมต่อเนื่องมาหลายปี หน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

         ครั้งแรกเน้นการจัดการศึกษาสายสามัญทั้งสามระดับ  การศึกษาสายอชาชีพเพื่อลดรายจ่าย ( เช่นทำน้ำยาล้างจานจากด่างขี้เถ้า )    จากการจัดเวทีประชาคมครบทั้ง 10 หมู่บ้าน ชาวบ้านต้องการเรียนรู้วิชาการผูกผ้าประดับอาคารสถานที่ และการจัดดอกไม้สด  จึงจัดสอนหลักสูตรนี้ และใช้ในการเปิดตัว กศน.ตำบล
         อาสาสมัคร กศน. เป็นคนในชุมชน  เริ่มเรียนการผูกผ้าก่อน จนมีทักษะจึงเป็นวิทยากรทั้งภายในภายนอกตำบล-อำเภอ   จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รับงาน ช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในและนอกชุมชน จนมีชื่อเสียง  มีสมาชิกกลุ่มประมาณ 30 คน  แบ่งสายรับงานเป็นอาชีพเสริม   สมาชิกกลุ่มจะประชุมกันทุกวันที่ 20 มาตลอด ในแต่ละปีจะงดการประชุม 4 เดือน ( พ.ค.- ส.ค. ) ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องดูแลสวนผลไม้ ( เงาะ มังคุด ทุเรียน )  มีการพัฒนารูปแบบการผูกผ้าและการจัดดอกไม้สด

         มีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรอื่น ๆ เช่น ช่างตัดผมชาย ทำพวงหรีด ทำดอกไม้จันทน์ ทำชองชำร่วย  เป็นหลักสูตร 30 ชม.  เรียนวันละ 3 ชั่วโมง เวลา 17:00 - 20:00 น.   กลุ่มละไม่น้อยกว่า 20 คน  เมื่องบประมาณหมด ผู้เรียนจะช่วยกันออกค่าใช้จ่ายเอง

 

         กศน.อำเภอ สนับสนุนส่งเสริมบุคลากรและเครือข่าย มีการมอบเกียรติบัตร  จัดเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงานให้ เช่นจัดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คหรือตั้งโต๊ะ ให้ทุกตำบล อาศัยใช้อินเตอร์เน็ตไวร์เรสของอนามัยตำบล   กศน.ตำบลเปิดตลอด มีอาสาสมัครดูแล   ปีที่ผ่านมา กศน.ตำบลแสลง ได้รางวัล กศน.ตำบลดีเด่นระดับภาคตะวันออก

         จุดเด่นของ กศน.ต.แสลง เช่น
         - จัดอาชีพสร้างรายได้จริง
         - การประสานงานเครือข่าย
         - มีความต่อเนื่องของการดำเนินการโดยตลอด

 

         ช่วงนี้ กศน.อำเภอเมืองจันทบุรี เน้นการส่งเสริมการอ่าน จัดกระเป๋าหนังสือให้นักศึกษานำไปให้เพื่อนบ้านอ่าน, การจัดมุมหนังสือ

 

 


รายการสายใย กศน. วันที่  4  เมษายน  2554


 

         เรื่อง “แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง “ชุมชนเกตุไพเราะ””


         อัญชิษฐา  บุญพรวงค์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - ผอ.สำอางค์  สีตาล  ผอ. กศน. เขตพระโขนง
         - ชนิดาภา  เข็มทอง  ครู กศน.ตำบล
         - นายเกียรติพงค์  เกตุลอย  ภูมิปัญญาดีเด่น กศน. พ.ศ.2553


         ชุมชนเกตุไพเราะ 3-4-5  อยู่ที่ซอย 3-5 เขตพระโขนง กทม.  มีนายเกียรติพงค์  เกตุลอย เป็นประธานชุมชน  มีการดูแลกันเองภายในชุมชน ทำให้ปัญหายาเสพติดหมดไป เป็นชุมชนสีขาว  และเดิมมีปัญหาสิ่งแวดล้อม ( ขยะ ), ปัญหาปากท้อง ( การทำมาหากิน )   คณะกรรมการชุมชนได้ประชุมปรึกษาหารือจัดทำโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการกองทุนเงินล้าน ( ประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดกองทุนฉุกเฉิน, กองทุนสัจจะออมทรัพย์, กองทุนสะสมเพื่อบั้นปลายชีวิต   มีการให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการทำมาหากินได้ระดับหนึ่ง )

         การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม จากขยะที่สะสมมาเกือบ 10 ปี จนสัตว์เลื้อยคลานเดินบนขยะในคลองได้  คนในชุมชนทั้ง 3 ซอย ร่วมกันใช้เวลาเก็บขยะในคลองเกือบ 3 เดือน จึงหมด ปัจจุบันปรับสภาพน้ำได้ดี และสัญญากันว่าต่อไปจะไม่ทิ้งขยะอีก  เขียนป้ายปลูกจิตสำนึกไว้ มีป้ายเตือนสติต่าง ๆ  ปล่อยพันธุ์ปลาช่อน ปลาสลิด ปลานิล, ประดิษฐ์ถังดักไขมันใช้ทุกครัวเรือน จากถังสารเคมีที่ใช้แล้วขนาด 30 ลิตร และตะแกรงกรองเศษอาหาร + กาละมังเจาะรู  ไขมันที่ดักเก็บไว้ ใช้ทำปุ๋ยหมัก

 

         รถขยะรุ่นใหม่จะบีบอัดขยะปล่อยน้ำขยะทิ้งไว้หน้าบ้าน ครั้งแรกแก้ปัญหาโดยการลากขยะจากถังขยะใหญ่ตามข้างถนนหน้าบ้าน ไปรวมไว้ที่จุดรวมขยะ 3 วันลากทีหนึ่ง  ยังมีปัญหาเพราะขยะที่รวมมีจำนวนมาก รถขยะเก็บไม่หมด  จึงแก้ปัญหาอีกครั้งโดยทำโครงการถนนปลอดถัง  ขอถังขยะขนาด 30 ลิตรจาก กทม. มาไว้ภายในบ้านแต่ละหลัง ให้คัดแยกขยะขาย เช่นแยกเป็นขยะพิษ ขยะอินทรีย์ ( เศษอาหาร ) ขยะบางส่วนขายได้เดือนละประมาณ 50 บาท/ครัวเรือน  และลากขยะจากบ้านไปยังจุดรวมทุกวัน ( ไม่มีถังขยะริมถนน )

         ในส่วนของขยะอินทรีย์ ขอเศษผักจากตลาดด้วย นำถังไปให้ทุกร้าน นำรถไปเก็บทุกเช้า แล้วนำไปแยกเข้าเครื่องบด บางส่วนใช้เลี้ยงไส้เดือนในกล่องโฟมที่ใส่ผักใส่อาหารทะเลมา  เรียนรู้วิธีเลี้ยงจากอินเตอร์เน็ต ปัจจุบันเลี้ยง 50-60 กล่อง  ใช้มูลไส้เดือนทำปุ๋ยจำหน่ายกิโลกรัมละ 30 บาท ( ในท้องตลาดจำหน่ายกิโลกรัมละ 50 บาท )  น้ำปัสสาวะไส้เดือนก็จำหน่ายได้ ( ใช้ทำปุ๋ย )

         ขยะอินทรีย์ส่วนหนึ่งใช้เลี้ยงโคกระบือที่วัด ( โครงการไถ่ชีวิตโคกระบือ )
         ขยะอินทรีย์อีกส่วนหนึ่งทำปุ๋ยน้ำชีวภาพใช้ในชุมชน ( ใส่ห้องน้ำ, ถังดักไขมัน, ต้นไม้ ) โดยให้คนในชุมชนนำขวดมาแลกปุ๋ยน้ำชีวภาพไปใช้  ถ้าเป็นคนนอกชุมชนต้องซื้อ

         ขยะอินทรีย์ส่วนที่เน่าเสียแล้ว ใช้ทำปุ๋ยหมัก โดยให้คนในชุมชนนำเศษวัสดุมาแลกปุ๋ยหมัก

 

         นอกจากนี้มีโครงการอื่น ๆ เช่น โครงการเลี้ยงปลาใต้ถุนบ้านโดยใช้เศษอาหาร, ใช่เข่งปลูกผักสวนครัวในบ้าน แลกเปลี่ยนเกื้อกูลกัน ( เดิมใช้ยางรถยนต์ แต่ต่ำ สุนัขและแมวปัสสาวะใส่ จึงเปลี่ยนเป็นเข่ง ), ปลูกมะม่วง กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า มะกอก หว้า และต้นไม้ยืนต้นให้ร่มเงา เช่น พระยาสัตตบรรณ หูกระจง มีนกกระยาง นกพิราบ มาอาศัยอยู่มาก

 

         นายเกียรติพงค์  เกตุลอย และชุมชนเกตุไพเราะ ได้รางวัลต่าง ๆ หลายรางวัล เช่น ปี 51 ได้รางวัลอันดับ 1 ของประเทศ โครงการรักเจ้าพระยา ทั้งๆที่ชุมชนไม่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ติดคลองบ้านหลายที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

 

         จากการที่ชุมชนเข้มแข็ง คิดเป็นทำเป็นแก้ปัญหาเป็น  กศน.เขตพระโขนงจึงส่งเสริมให้ชุมชนแห่งนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นบริบทที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ  เป็นแหล่งศึกษาดูงานสำหรับนักศึกษา กศน.  และทุกชุมชนในเขตพระโขนงจะมาเรียนเรียนรู้ในชุมชนเกตุไพเราะ 3-4-5 นี้ ในวันสถาปนาเขตพระโขนง 14 พ.ย.

         และ กศน.เขตพระโขนง นำการดำเนินงานของชุมชนมาบูรณาการเป็นหลักสูตร รวมทั้งให้นักศึกษาจัดทำโครงการตลาดน้ำวิถีไทยจากน้ำใจสู่ความปรองดอง โดยจัดตลาดน้ำที่คลองบ้านหลายซึ่งมีต้นไม้ริมคลองร่มรื่น ปรับปรุงให้เป็นธรรมชาติ มีกองฟาง ศาลา ควาย  ผู้ขายต้องแต่งกายย้อนยุค  ร้านค้าต้องไม่ใช้วัสดุที่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติเช่นโฟม ถุงพลาสติค  น้ำสมุนไพรบรรจุกระบอกไม้ไผ่ขาย  ใช้กระทงไม้กลัดเป็นภาชนะ  มีผู้ขายประมาณ 30-40 ราย  ผู้มาร่วมงานเกือบ 300 คน  ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส  แต่เป็นที่ของเอกชน ( ถ้าประสานงานกับเจ้าของที่ได้ ต่อไปอาจจัดภาคเรียนละครั้ง )

 

         ที่ว่าการเขตพระโขนงให้ความสนใจจะให้คุณเกียรติพงค์ไปจัดงานให้เขตบ้าง

         นอกจากนี้ กศน.เขตพระโขนง จัดการปลูกผักบนต้นกล้วย ต้นที่ยังไม่ได้ตัดเครือเจาะรูปลูกบนต้นที่กำลังยืนต้นเลย ต้นที่ตัดเครือแล้วจะตัดต้นมาปลูก  ผักที่ปลูกบนต้นกล้วยคือผักบุ้งจีน กวางตุ้ง คะน้า ไม่ต้องลดน้ำ   20 วันเก็บเกี่ยวได้  ต้นกล้วยที่ใช้ปลูกแล้วนำไปทำปุ๋ยหมัก, โครงการต่อยอดน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ ( น้ำยาล้างจาน, น้ำยาล้างรถ )

         รางวัลที่ได้เมื่อไม่นาน คือ วันที่ 4 มี.ค.54 นายเกียรติพงค์รับรางวัลภูมิปัญญาดีเด่น กศน. พ.ศ.2553 จาก รมว.ศธ., ชุมชนได้ถ้วยรางวัลชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ที่ 3 ระดับประเทศ, รางวัลที่ 2 โครงการลดเมืองร้อนด้วยมือเรา    ช่วงนี้ทำโครงการทอดผ้าป่าขยะเป็นงานใหญ่

 

         เครือข่ายที่ดีที่สุดของ กศน. คือผู้นำในชุมชน

หมายเลขบันทึก: 434051เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2011 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มาเยี่ยมชมผลงาน และให้กำลังใจครับ

อ.เอกชัยค่ะ ช่วยแก้ไขชื่อท่านอภิชาติ ใหม่ด้วยนะคะ จากนาง เป็น นายค่ะ และขอขอบพระคุณอ.เอกชัย มากนะคะ ที่นำเสนอข่าว สาระ ดีๆ รวดเร็ว แก่ชาว กศน. ค่ะ

ขอบคุณ คุณอธิจิตมากครับ ผมแก้ไขแล้ว ( ถ้าเจอที่ผิดอีก ช่วยบอกอีกนะ ... หึหึ )

ขอความกรุณา อ.เอกชัย สรุปสายใย กศน. วันที่ 2 พ.ค 54 ให้อ่านด้วยนะค่ะ ขอขอบพระคุณ

ผมสรุป "สายใย กศน." วันที่ 2 พ.ค.54 ให้แล้วนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท