การสร้างป่า


ป่ากับการแก้ปัญหาน้ำ

บทความเรื่อง

การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ มาเล่าสู่กันฟัง

ว่าด้วย การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เกี่ยวข้องกับการสร้างป่าไม้กับการแก้ไขปัญหาน้ำ

---------------------------------

 

หัวข้อที่จะมาเล่าสู่กันฟังเรื่องน้ำนี้ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีข้อมูลข่าวสาร หรือการศึกษาค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ต  รวมทั้งการติดตามผลการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือการเข้าค้นหาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งหัวข้อนี้เป็นเรื่องที่ 25 ของผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 16 ธันวาคม 2546 (http://www.thaigov.go.th)

โดยการนำเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ไปร่วมการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 9

ในเรื่องนี้มีผลอย่างไรต่อประเทศไทย

ผลที่เกิดขึ้นกับสภาวะแวดล้อมของโลก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อภูมิอากาศของโลก  ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง  ความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วม  ฝนกรด  ชั้นโอโซนถูกทำลาย  และการเกิดอากาศร้อนขึ้นทั่วโลกหรือภาวะเรือนกระจก  ความแห้งแล้ง  การขยายตัวของทะเลทราย  การขาดแคลนทรัพยากรน้ำ

ในการนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบนั้น เป็นเรื่องที่ได้เป็นการเร่งรัดให้ประเทศที่พัฒนาแล้วเร่งรัดดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมตามพันธกรณีที่มีอยู่ภายใต้อนุสัญญา  เน้นให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่จะช่วยให้การลดและป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ อากาศ  เสริมขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา

โดยประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของคณะผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ในการเร่งรัดให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้วสู่ประเทศกำลังพัฒนา (Expert Group on Technology Transfer : EGTT)  และคณะผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำในการพัฒนาการจัดทำรายงานแห่งชาติของประเทศกำลังพัฒนา (Consultative Group of Expert on Non-Annex I National Communication : CGE)  เป็นสมัยที่สอง  นั่นคือจุดที่จะเป็นโอกาสทองหรือเพชร  สำหรับประเทศไทยให้สามารถผลักดันให้ผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้คณะผู้เชี่ยวชาญทั้งสองชุดให้เกิดกับประเทศไทย  เราควรรีบดำเนินการก่อนที่ประเทศอื่นจะฉกโอกาสนี้ไปก่อนเรา

ผลที่เกิดขึ้น  หากมีการดำเนินการที่ต่อเนื่องจริงจัง  ประเทศไทยเราจะมีโอกาสสร้างความเจริญทางด้านเศรษฐกิจอย่างฉุดไม่อยู่  ทั้งด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม  แต่ท่านคงเข้าใจว่าจะทำอะไรต้องมีทุนก่อน  ทุนเบื้องต้นของเรื่องนี้คือปัญญาความรู้ที่จะไปนำเสนอ นำแนวคิดไปหาผลประโยชน์จากกลุ่มพัฒนาแล้ว  ทุนต่อมาคือน้ำ  น้ำที่เป็นต้นทุนของชีวิต  สรรพสิ่งในโลกจะอยู่ได้ต้องอาศัยทุนคือน้ำ  ข้อเสนอเรื่องนี้ว่ากันมาหลายครั้งแล้ว ก็ต้องพูดซ้ำอีก

ประการต่อไปที่ประชุมดังกล่าวได้พิจารณาในเรื่องกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM)  ในการกำหนดคำจำกัดความ กฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ในการดำเนินการโครงการปลูกป่า  เห็นชอบให้มีการดำเนินโครงการปลูกป่าขนาดเล็ก (Small Scale Project)   อันเป็นกระบวนการที่ง่ายต่อการดำเนินการ มีการกำหนดแนวทางการกำหนดเครดิตคาร์บอน ซึ่งจะมีการดำเนินการตามพิธีสารเกียวโต ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาผลดี ผลเสีย การดำเนินการที่ชัดเจนต่อไป  แต่ท่านจะปลูกป่าได้นั้น  ปัจจัยหลักที่ต้องมีคือทุน  และทุนที่จะพูดในที่นี้คือน้ำ นี่แหละ

จากข้อมูล มติ ค.ร.ม. ดังกล่าว  ประเทศที่เป็นตัวตั้งตัวตีที่จะช่วยเหลือมากที่สุดน่าจะเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันในการดำเนินการ CDM  และการเปลี่ยนแปลงภาวะของภูมิอากาศโลก

ย้อนมาพูดกันเรื่องสิ่งแวดล้อมของชาติดีกว่า ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง  และผลที่จะเกิดจากการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เมื่อประชากรของโลกเกิดมามากขึ้น มีมันสมอง คิดเอาแต่ตัวเอง ก็ช่วยกันคิดทำลายธรรมชาติกันอย่างไม่รู้คุณค่าของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  คนเมื่อต้องการดำรงชีวิตอยู่ ก็เบียดเบียนธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตอื่น  การแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอดก็เกิดขึ้น  ความเห็นแก่ตัวก็มากขึ้น ทำลายผู้อื่นตลอดเวลา โดยเฉพาะธรรมชาติ

ย้อนมาดูประเทศไทย  ความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจให้ประเทศก้าวหน้า นั่นก็ย่อมต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นเครื่องมือ ป่าไม้ ลดลงจนเป็นปัญหาสำคัญของชาติ  ปัญหาการใช้ที่ดินที่ขาดการวางแผน การดำเนินการเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมที่ทำลายดินจนเสื่อมสภาพ จนยากที่จะเยียวยากลับมา  รวมถึงการใช้พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรมไปสร้างเป็นที่อยู่อาศัย  การทำลายต้นน้ำลำธาร  สร้างน้ำเสียจากชุมชน  โรงงาน  หรือแม้แต่ภาคเกษตรกรรมเองก็ตาม  อากาศเป็นพิษ  ยิ่งพูดยิ่งเห็นแต่ปัญหาที่รอการแก้ไขในคนรุ่นเรานี่แหละ  จะทิ้งภาระไปให้อนาคตนั้นคงไม่ดีแน่

เมื่อพูดถึงปัญหา  ถ้ารู้ต้นเหตุก็ย่อมมีทางแก้  ถ้ารู้ว่ามันเกิดจากอะไร  ย่อมคิดทางแก้ได้  ซึ่งปัญหานี้เป็นระดับชาติและระดับโลก  ที่จะต้องช่วยกัน ช่วยอะไรเราเป็นประเทศเล็กๆ เท่านั้น  ข้อนี้คิดผิดแล้ว  ประเทศไทยเราสามารถช่วยโลกได้ในการสร้างแนวคิดและในแบบของการดำเนินการของโลก  ความเชื่อ ความศรัทธา  ถ้ามีแล้วอะไรก็ขวางไม่ได้  แต่แนวทางนั้นต้องเป็นจริง ถูกต้อง พิสูจน์ได้

ก่อนอื่นต้องมีการดำเนินการสร้างทัศนคติ  สร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนของเราให้รู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ว่ามีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขาอย่างไร  ต้องทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย  และต้องทำเรื่องง่ายให้ทุกคนรู้เรื่องง่ายๆ ขึ้น  ซึ่งไม่มีใครทำได้ดีเท่ากับรัฐบาลที่มีทรัพยากร  มีข้าราชการ  มีสื่อสารมวลชน  มีเงิน  และอื่นๆ  เรามาช่วยกันสร้างทุนทางปัญญาให้แก่ประชาชน  ทุนที่ให้เขา เข้าใจว่าการรักษาตนองนั้นต้องรักษาธรรมชาติให้ได้ด้วย  ผลจะเกิดแก่ตัวเขา ถ้าเขาทำ ได้กับได้ไม่มีเสีย  เราหาทางแก้ปัญหาให้ได้  ท่านอย่าทำเรื่องง่ายให้ยากก็แล้วกัน  ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการที่จะได้ประโยชน์  เมื่อพื้นฐานได้ผลรวม หรือ (outcomes) ก็จะได้แก่ประเทศชาติเป็นส่วนรวมแน่นอน

เมื่อเรารู้อะไรมาต้องให้ประชาชนรู้  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ส่งผลกระทบอะไรต่อประชาชนของเรา  ภาวะเรือนกระจก  การเกิดก๊าซคาร์บอนและตัวที่จะมากำจัดก๊าซคาร์บอนคืออะไร  มีอะไรเป็นสาเหตุ  การเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นเกิดจากทั้งที่มีเองตามธรรมชาติและจากฝีมือของมนุษย์  เมื่อรู้ว่าคนเป็นต้นเหตุก็มาหาทางแก้ที่เหตุ  การเผาไหม้เชื้อเพลิง  โรงงานอุตสาหกรรม  การตัดไม้ทำลายป่า เผาป่า  ซึ่งในหลักวิชาการนั้นถือว่าเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุด เพราะต้นไม้และป่าไม้มีคุณสมบัติ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนจะลอยสู่ชั้นบรรยากาศ  เมื่อป่าไม้ของโลกน้อยลง  การสกัดกั้นคาร์บอนไดออกไซด์ก็น้อยลง ก็เป็นปัญหา  ภาวะเรือนกระจก อันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก  อันนี้มีข้อมูลทางวิชาการมากมายที่ท่านจะค้นหาได้เอง

พูดมาพอควร เดี๋ยวจะไม่รู้ว่ามันมีผลอะไร ทำไมต้องไปสนใจมันกันทั่วโลกในเรื่องปัญหานี้

ในวงการวิทยาศาสตร์มีการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมากมาย เช่น ระดับน้ำทะเล

-          อุณหภูมิผิวโลกสูงขึ้น

-          มีเมฆบนท้องฟ้ามากขึ้น

-          การระเหยของน้ำในมหาสมุทร

-          หิมะน้อยลง น้ำแข็งขั้วโลกละลาย

-          ป่าไม้เปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโต

-          ระบบนิเวศชายฝั่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งต้องพูดกันเป็นเรื่องเฉพาะอีกหัวข้อหนึ่ง ซึ่งเน้นเรื่องน้ำทะเลสูงขึ้น

 

ก็ต้องคิดอย่างภูมิปัญญาชาวบ้านมาช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ว่าจะประสานสอดคล้องกับการดำเนินการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ว่าจะเข้ามามีบทบาทอย่างไร  ต้องสัมพันธ์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องร่วมมือกันสร้างเครือข่าย  การแก้ปัญหาเรื่องการลดลงของจำนวนป่าไม้ และการเพิ่มจำนวนป่าให้เป็นไปตามหลัก CDM เพื่อสร้างเครดิตคาร์บอน

เมื่อธรรมชาติถูกทำลายไปแล้ว  การจะไปหาหรือเรียกร้องให้คืนมาคงทำไม่ได้แล้ว  เพราะใหญ่แล้ว เป็นทรัพยากรที่ถูกทำลายแล้วไม่อาจกลับคืนมาได้  แต่ไม่ต้องห่วงเรื่องนี้เรามีทางแก้ให้  นั่นคือต้องหาสิ่งทดแทน  ทดแทนอะไรก็ต้องพูดกลับย้อนว่าเราต้องการอะไร  เราก็ทดแทนสิ่งนั้น  แม้สิ่งนั้นขาดหายไปคืออะไร  อะไรคือสิ่งที่ต้องการ  คำตอบ ป่าไม้เพื่อช่วยโลกแก้ไขปัญหาภาวะเรือนกระจก  แล้วป่าไม้จะมาจากไหนในเมื่อถูกทำลายไปแล้ว  ถูกแย่งพื้นที่ไปเป็นที่ทำมาหากินไปแล้ว  ย้อนไปอีก ถ้าปลูกป่าแล้วไม่มีน้ำ  ป่าก็จะตาย  ไฟป่าก็จะคุกคาม  นั่นก็เข้าประเด็นแล้วว่าน้ำคือทุนของชีวิต  เราก็ต้องมาสร้างน้ำกันก่อน  แล้วสิ่งมีชีวิตต่างๆ จะตามมา  ถ้าคิดออกอย่างนี้จะสร้างน้ำกันอย่างไร  น้ำมาจากไหน  วัฏจักรของน้ำเกิดจากอะไร มาจากไหน  บทบาทของน้ำมีเช่นไร  ถ้าไม่พูดเดี๋ยวจะไม่เข้าใจ  ต้องอธิบายพอเป็นสังเขป

น้ำนั้นมีการหมุนเวียนเป็นทรัพยากรที่ไม่สูญไปไหน  เป็นน้ำแข็ง  เป็นน้ำเหลว  เป็นไอน้ำ  น้ำนั้นมีบทบาทในการรักษาอุณหภูมิของโลกให้พอเหมาะ  และเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสิ่งทั้งหลาย

น้ำที่เราได้นั้นเกิดจากฝน  เพราะเมืองไทยไม่มียอดเขาไหนที่สูงจนมีหิมะเกาะแล้วละลายกลายเป็นธารน้ำลงมาให้เราใช้  ฝนจึงเป็นทางเดียวที่ก่อให้เกิดน้ำทั้งน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน

ฝนในประเทศไทย  เกิดจากลมมรสุม  เริ่มประมาณพฤษภาคม ตุลาคม  ข้อนี้อาจไม่เป็นจริงแล้ว  เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เดือนกุมภาพันธ์ฝนก็ตกแล้วรวมทั้งฝนหลงฤดูก็มีบ่อยขึ้น  ลุ่มน้ำของไทย 25 ลุ่มน้ำ สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 72,000 ล้านลูกบาศก์เมตร  จากปริมาณ 800,000 ล้านลูกบาศก์เมตร   หายไปจากการไหลลงทะเล  ระเหย  และอื่นๆ  ไปมากเท่าใด  เรื่องนี้เราต้องช่วยกันหาทางนำน้ำมาใช้

เหตุใดเรากักเก็บไว้ไม่ได้  พูดอีกก็ได้   ปัญหาของเราอยู่ที่ไร้แหล่งกักเก็บมากกว่าปัญหาน้ำแล้ง  จึงมีแต่ข่าวน้ำท่วม  ทำความเสียหายมาอย่างต่อเนื่องทุกปี  และเพิ่มความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ  เพราะการทำลายป่า  การทำเกษตรแบบใหม่  การทำลายหน้าดิน ฯลฯ  ทำให้เกิดปัญหาต่อแหล่งกักเก็บ

เมื่อรู้สาเหตุแล้วว่า ป่าไม้ถูกทำลาย  บ่อ คลอง สระ ลำธาร  ตื้นเขินไป  เราต้องมาแก้ไข  ถ้าจะให้ทันสมัยล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.46  มีการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ในการสืบชะตาแม่น้ำปิง  ซึ่งเราจะต้องดูผลของการดำเนินการต่อไปว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านจะช่วยกันป้องกันการทำลายและอนุรักษ์ไว้ได้เพียงใด

เมื่อเรารู้แหล่งที่มาของน้ำและปัญหาแล้ว  เราก็มาสร้างสิ่งทดแทนกันทุกบ้าน  ทุกพื้นที่ที่มีที่พื้นดินเป็นของตนเอง หรือหาที่เช่าก็มาทำแหล่งกักเก็บน้ำ  ทำบ่อจิ๋ว (Nano-Cistern)  ที่กว้าง 6 เมตร  ยาว 15  ลึก 5 เมตร  ก็เก็บน้ำได้อย่างน้อย 200 ลูกบาศก์เมตร  แล้วคิดแค่ครึ่งเดียว  คำถามว่าขุดแล้วไม่มีน้ำเป็นบ่อแห้งจะทำอย่างไร  อันก็ดีไปอีกแบบ เพราะจะรองรับน้ำเมื่อมีฝนหรือน้ำป่ามาก็จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม  ก็อีกนั่นแหละ หากเกิดคาดผิด ขุดลงไปทำบ่อจิ๋วบนทรายและลูกรังชนิดไม่ขังน้ำเลย ก็คือเป็นข้อดีอีกว่าจะเป็นแหล่งช่วยให้เกิดน้ำใต้ดินเป็นอย่างดี  เพราะทันทีที่น้ำไหลลงไปก็จะซึมลึกลงไปเป็นทุนให้น้ำใต้ดิน  ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้อีกเช่นกัน

เมื่อเห็นคุณค่าของบ่อน้ำ สระน้ำ  หรือแหล่งกักเก็บน้ำนี้แล้ว  ต้องรีบมาช่วยกัน  ใครมีเงินออกเงิน  ใครมีที่ต้องสละที่ดินเพื่อทำบ่อน้ำ โดยเฉพาะผู้นำคือรัฐต้องเริ่มเอื้ออาทรต่อบ่อน้ำจิ๋วได้แล้ว ซึ่งต้องเน้นย้ำว่าทำเพื่อตัวเองแท้ๆ  มิใช่เพื่อใคร บ่อน้ำในที่ของเราก็นำมาใช้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ โดยทำให้เพียงพอต่อการใช้ตลอดปี  รัฐบาลก็ต้องช่วยมาดูปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในหลายๆ จังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช หรือใกล้ๆ กรุงเทพฯ ก็มาดูที่จังหวัดเพชรบุรีกันบ้าง  ท่ายาง ชะอำ หรือแม้แต่ตัวจังหวัด เป็นปัญหาจากแก่งกระจานหรือเขื่อนเพชรที่ปล่อยน้ำออกมา เรื่องนี้แก้ไขได้โดยการใช้พลังงานธรรมชาติ คือแสงแดดหรือลมช่วยผันน้ำ ก็ต้องลงทุนกันหน่อยเพราะทำอะไรไม่ลงทุนก็ไม่เกิดผล  อยากให้ร่างกายสมบูรณ์ก็ต้องออกกำลังกายฉันใด เมื่อต้องการใช้น้ำป้องกันน้ำท่วมก็ต้องลงทุนฉันนั้น  ทำแอ่งน้ำหรือถังน้ำขนาดใหญ่ เช่น ถังประปาบนสันเขารอบๆ เขื่อนดูทำเลที่จะทำอ่างน้ำสูบน้ำขึ้นไปต่อท่อขนาด 1-2 เมตร  วางบนพื้นดินต่อท่อเข้ามาทางราชบุรี นครปฐม ออกปทุมธานี ส่งมาแก้ปัญหาน้ำเน่า น้ำเสียในกรุงเทพฯ ได้สบาย ปัญหาน้ำท่วม จ.เพชรบุรี ก็ไม่เกิด  ระหว่างเส้นทางส่งน้ำใครไม่มีก็ต่อท่อออกไปใช้ได้  กรุงเทพฯ ก็สะอาด  หลักการนี้ทำได้แน่นอนเชิญทำดู มีแต่คุณประโยชน์ โทษไม่มี  หากคัดค้านก็ประชาสัมพันธ์การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสัตว์ที่ต้องทรมานจากน้ำท่วม เมืองเพชรบุรี กุศลผลบุญมาแค่ไหน แค่ทางผ่านที่ดินต้องช่วยกันสร้างโลกให้เขียวก็จะช่วยโลกให้พ้นวิกฤต ปัญหาโลกร้อนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์ของโลก มีการทำมาหากินเสริมด้านการเกษตร แล้วไทยเราจะไม่รวยได้อย่างไร

คิดแล้วเสนอทางออกให้แล้วเราต้องช่วยกันรวมน้ำใจให้เป็นน้ำจริง  น้ำจะเป็นทุนของประชาชนที่รัฐต้องเป็นพื้นเพื่อทุกคน

เกือบลืมไป ฉบับหน้ามาว่ากันด้วยเรื่อง    การจัดทำบ่อจิ๋วเพื่อกุศล

  
หมายเลขบันทึก: 43369เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2006 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท