การเรียนรู้สุขภาวะชุมชนในเมืองมหานคร : ๑.คือคนร่วมสร้างสุขภาวะให้แก่ชุมชนและสังคมเมือง


...นายเถื่อนกับนายเมืองใช่เพียงแต่เป็นเพื่อนกัน ทว่า เป็นสองด้านของชีวิตเดียวกัน อีกทั้งเป็นองค์ประกอบร่วมสร้างสุขภาวะให้แก่กันและกัน ..

ผมเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนโดยรอบศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ซึ่งดำเนินการโดยคณะทำงานของบางกอกฟอรั่มกับเครือข่ายชุมชน ๓ แห่ง คือ ชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู และบ้านเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) และพื้นที่ในบริเวณที่ตั้งของ ๓ ชุมชนดังกล่าวนี้ ก็จะเป็นที่ตั้งสำนักงานศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะของ สสส ในอนาคตอีกด้วย  

คณะทำงานของบางกอกฟอรั่มเป็นกลุ่มคนหนุ่มคนสาวที่รวมตัวกันทำโครงการนี้ในลักษณะเป็นโครงการวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคม พวกเขาจบการศึกษาทั้งปริญญาโท ปริญญาตรี และบางส่วนกำลังศึกษาต่อทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาเอกในต่างประเทศ รวมทั้งบางส่วนเป็นนักเรียนเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยที่หมุนเวียนเข้ามาอาสาทำงานลงชุมชนกับพี่ๆและหาประสบการณ์ในการทำงานสังคมในกรุงเทพมหานคร คณะที่ปรึกษาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้มีประสบการณ์ในการทำงานแนวนี้ในประเทศไทยจากหลายแหล่ง เช่น จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิสิกขาเอเชีย กลุ่มประชาคมตลาดสามชุก สถาบันพัฒนาการเรียนรู้และประชาสังคม (Civicnet)

จุดหมายของโครงการคือการหาความเป็นจริงของการสร้างสุขภาวะชุมชน บนเงื่อนไขแวดล้อมของสังคมเมืองระดับมหานครดังเช่นกรุงเทพฯ ของชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ๓ ชุมชนที่สะท้อนอยู่ในมิติต่างๆของชีวิต ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคม และกิจกรรมที่ดำเนินการขึ้นในชุมชนว่าเป็นอย่างไร นำมาเรียนรู้และยกระดับการจัดการด้วยการพึ่งตนเองเป็นหลักได้อย่างไรหรือไม่ ด้วยรูปแบบใด กลวิธีและมาตรการเชิงยุทธศาสตรร์ระดับต่างๆที่สำคัญคืออะไร เชื่อมโยงกับสุขภาวะของส่วนรวมและมีปฏิสัมพันธ์กับสภาวการณ์ของสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและสังคมวงกว้างอยู่อย่างไร ก่อเกิดบทเรียน พัฒนาระเบียบวิธี และสร้างองค์ความรู้เพื่อการทำงานเชิงสังคมของชุมชนเมืองในบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปดังปัจจุบันอย่างไร

 

                     

ชุมชนที่ทำงานร่วมกับบางกอกฟอรั่มในโครงการนี้ เป็นชุมชนที่ขยายตัวขึ้นเป็นสังคมเมืองอย่างรวดเร็วและส่วนหนึ่งเกิดจากการเคลื่อนย้ายของประชาชนจากชนบทเข้ามาหางานทำและตั้งถิ่นฐานก่อเกิดขึ้นเป็นชุมชนใหม่ซึ่งมีลักษณะเฉพาะเหมือนกับชุมชนที่ก่อเกิดในลักษณะในเมืองใหญ่และเมืองอุตสาหกรรรมของหลายประเทศในโลก คือ มีความผสมผสานของกลุ่มประชาชนจากหลายวัฒนธรรมย่อย ขาดการมีพื้นฐานร่วมกัน เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานและเลี้ยงชีพจากรายได้ที่ไม่มั่นคงนัก ชุมชนขาดเครือข่ายปฏิสัมพันธ์และแรงยึดเหนี่ยวทางสังคมที่เพียงพอ ซึ่งก็จะทำให้พลังการจัดการภายในตนเองแทบทุกด้านมีความอ่อนแอ ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน สตรี มีความเสี่ยงต่อปัญหาทางสังคมและตกอยู่ในภาวะคุกคามจากสภาพแวดล้อมโดยรอบได้ง่าย

ชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่ในลักษณะดังกล่าวนี้ มักมีความสัมพันธ์กับการขยายตัวของเมืองอุตสาหกรรม การขยายตัวของเมืองหลวง เมื่องมหานคร และเมืองที่เป็นขั้วความเจริญในภูมิภาคต่างๆ ที่มีความเหลื่อมล้ำกับภาคชนบท

ขณะเดียวกัน ก็สัมพันธ์กับกระแสหลักของการพัฒนาที่ก่อให้เกิดความล่มสลายของภาคชนบท เกิดแรงดูดซับกำลังคนและทรัพยากรเข้าสู่เมืองไหลบ่าไปยังชนบท ทำให้การอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนจากชนบทเกิดขึ้นเหมือนคลื่นที่ถาโถมเข้าสู่สังคมเมือง ทรรศนะในอดีตต่อสภาพชุมชนดังกล่าวนี้จึงมักเห็นเพียงด้านที่เป็นปัญหา เป็นสลัม เป็นชุมชนแออัด เป็นความไม่ศิวิไลซ์อันไม่เป็นที่ปรารถนาของเมือง

ทว่า ในปัจจุบัน สังคมมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น อีกทั้งตระหนักได้ในความเป็นจริงซึ่งทำให้ทรรศนะดังกล่าวเปลี่ยนไปว่า ความล่มสลายของชนบทกับการพัฒนาและการเจริญเติบโตอย่างเอกเทศของสังคมเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร รวมทั้งภาคชนบทกับภาคเมืองในมหานครต่างๆของโลกนั้น ต่างเป็นองค์ประกอบสภาวการณ์และเป็นปัจจัยร่วมสร้างความเป็นไปต่างๆให้กัน

“...ในชุมชน มีแรงงานและคนทำงานรับจ้างแทบทุกชนิดที่คนในเมืองทำใม่ได้และไม่ต้องการทำ มีคนขับมอเตอร์ไซค์ รถตุ๊กๆ และรถแท๊กซี่ รับส่งคนทำงานซึ่งทำให้วงจรเศรษฐกิจสังคมในแต่ะวันดำเนินไปได้ มีรถเข็นขายของจิปาถะ ขายสิ่งอุปโภคและบริโภค ที่กลุ่มคนมีรายได้น้อย รวมทั้งคนทำงานทั้งในกลางวันและกลางคืน สามารถเข้าถึงได้อย่างเหมาะสมกับเศรษฐกิจและรายได้ของตน.....”

“....สุขภาวะของสังคมเมืองในเมืองมหานครจึงเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีชุมชนอย่างนี้อยู่ สังคมเมืองจะเดินหน้าไม่ได้ ชุมชนจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการสร้างสรรค์สุขภาวะของเมือง และความมีสุขภาวะของเมือง ก็ต้องไม่ได้หมายถึงสุขภาวะของคนมีเงิน คนที่มั่งคั่งร่ำรวย แต่เพียงด้านเดียว แต่ต้องเป็นสุขภาวะที่ครอบคลุมถึงคนที่ดำเนินชีวิตและอยู่อาศัยในชุมชนอย่างนี้ด้วย...”  

แง่มุมเหล่านี้ เป็นการสะท้อนทรรศนะอันเกิดจากการเรียนรู้ตนเอง และการนำเอาประสบการณ์ตรงมาเรียนรู้สภาวการณ์ทางด้านต่างๆของสังคมด้วยกัน ทั้งของชุมชน คณะทำงานของบางกอกฟอรั่ม คณะกรรมการบริหารแผนงานของ สสส และคณะที่ปรึกษา ที่สะท้อนความแจ่มชัดต่อวิธีคิดในการทำงานแนวทางใหม่ๆ

บางกอกฟอรั่มออกแบบกระบวนการให้เป็นการทำงานเชิงปฏิบัติการและเคลื่อนไหวกิจกรรมทุกอย่างที่มีอยู่ในชุมชนของทุกกลุ่มประชากร โดยทำงานผ่านกระบวนการเรียนรู้สร้างสุขภาวะและเสริมสร้างศักยภาพให้กับปัจเจกจิตอาสาและกลุ่มการรวมตัวที่มีอยู่แต่เดิมของชุมชน เพื่อพัฒนาเครือข่ายพึ่งการจัดการตนเองและพัฒนาวิธีรวมกลุ่มจัดการกิจกรรมชุมชน ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่ต้องการริเริ่มขึ้นใหม่ ให้เป็นการสร้างเครือข่ายความเคลื่อนไหวสังคมของชุมชน ในอันที่จะเป็นพลังก่อเกิดความตื่นตัว ร่วมแรงร่วมใจ ริเริ่มและพึ่งตนเองในการสร้างสรรค์สุขภาวะชุมชนทุกระดับจากหลายมิติ ทั้งการจัดการที่อยู่อาศัย การจัดการชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชน การจัดการสหกรณ์  กองทุน  การออมทรัพย์  การมีงานทำ  การสร้างอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม  การพัฒนาปฏิสัมพันธ์และการสร้างความสัมพันธ์ทั้งภายในชุมชนและระหว่างต่างชุมชน

ทีมงานของบางกอกฟอรั่มผสมผสานการเรียนรู้ไปกับชุมชนหลายวิธี ทั้งการสำรวจเพื่อทำข้อมูลพื้นฐาน การเข้าไปสังเกตอย่างมีส่วนร่วม และการเรียนรู้ผ่านการนำเอาประสบการณ์จากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนมาวิเคราะห์ด้วยทรรศนะของคนในชุมชนและผู้ปฏิบัติ เพื่อได้ความคิดที่แยบคายกว่าเดิมและสะท้อนกลับไปสู่วงจรชีวิตของชุมชนต่อไป

ชุมชนจะได้เครือข่ายคนทำงานวิชาการพาหาประสบการณ์ต่อตนเองอย่างเป็นระบบ เพื่อได้วิธีคิดต่อการสร้างสุขภาวะ ได้เครือข่ายประสานความร่วมมือและวิธีพึ่งตนเองในการจัดการปัจจัยชุมชนที่มีความสำคัญต่อสุขภาวะของส่วนรวมดังที่พึงประสงค์ดังกล่าวให้บรรลุจุดหมายด้วยตนเอง, สสส ได้ดำเนินโครงการที่มีส่วนร่วมต่อการรับผิดชอบสังคม จัดความสัมพันธ์กับแหล่งอันจะเป็นที่ตั้งสำนักงานด้วยการลงทุนทางสังคม สร้างคน สร้างชุมชน และสนับสนุนให้เป็นโอกาสเรียนรู้ทางสังคมด้วยกันอย่างกว้างขวาง, ส่วนบางกอกฟอรั่มกับเครือข่ายที่ปรึกษาวิชาการ ก็ได้พัฒนาการเรียนรู้วิธีทำงานเชิงสังคม ได้สร้างความรู้ พัฒนาเครื่องมือและวิธีทำงานชุมชนในกรุงเทพมหานครซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ๑ ใน ๒๐ มหานครขนาดใหญ่และขยายตัวอย่างซับซ้อนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จึงจะก่อให้เกิดบทเรียนที่มีคุณูปการมากทั้งต่อการเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาวะชุมชนและต่อวงวิชาการทางด้านการวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมทั้งในและต่างประเทศ นับว่าเป็นการร่วมมือกันเรียนรู้ไปกับการปฏิบัติเพื่อสร้างสุขภาวะสาธารณะ พร้อมไปกับที่ต่างก็สามารถบรรลุวัตถุประสงค์สำคัญหลากหลายเพื่อนำไปใช้ทำงานด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ๆในอนาคตได้เป็นอย่างดี

ผู้เขียนเองนั้น นอกจากร่วมเป็นที่ปรึกษาและร่วมเรียนรู้ไปด้วยตลอดกระบวนการต่างๆแล้ว ก็ช่วยจัดกระบวนการถอดบทเรียนโดยมุ่งติดตามดูให้ว่า ผู้คนที่เชื่อมโยงถึงกันได้และสิ่งต่างๆที่ทั้ง ๓ ชุมชนริเริ่มทำขึ้นมาเพื่อสร้างสุขภาวะในวิธีของตนได้นั้น จะนำประสบการณ์มาเรียนรู้เพื่อเสริมพลังสะท้อนกลับสู่วงจรปฏิบัติและสร้างความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งดีๆต่อสุขภาวะชุมชนมากยิ่งๆขึ้นด้วยการพึ่งตนเองให้ดีที่สุดได้อย่างไร ซึ่งก็จัดว่าเป็นวิถีชุมชนเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่งที่เดินเข้ามาทำด้วยกันจากกลุ่มคนหลากหลาย  

จากนั้น ก็ได้พากันเดินสร้างประสบการณ์ต่อสังคม ทำให้สังคมเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าถึงความเป็นจริงของสังคมในวิถีใหม่ๆด้วยการค่อยเรียนรู้และริเริ่มทำให้เกิดขึ้นไปด้วยกัน ใช้เวลาดำเนินการ ๑๓ เดือนและหลังจากเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ นี้ก็จะเหลือเวลาอีกประมาณ ๓-๔ เดือน จึงนำเอาบทเรียนทั้งหมดมาช่วยกันเรียนรู้เพื่อใช้เวลาที่เหลือดำเนินการต่างๆที่ส่งเสริมชุมชนให้ได้เรียนรู้ตนเองและพึ่งการจัดการตนเองได้อย่างดีที่สุด ต่อไป.

หมายเลขบันทึก: 431819เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2011 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นมัสการกราบขอบพระคุณดอกไม้
จากท่านพระอาจารย์มหาแลครับ

ขอขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับดอกไม้
จากอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

*ขอบคุณค่ะ..ดีใจที่ได้เห็นที่สถาบันการศึกษาและ สสส.เข้าไปมีบทบาทเช่นนี้ในชุมชนเมือง..

*ครั้งหนึ่งเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว พี่ใหญ่ได้มีโอกาสไปร่วมงานกับหน่วยงานพัฒนาชุมชนเมืองของการเคหะแห่งชาติ มีคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้จัดการของหน่วยงานนี้ พิจารณาให้ความสนับสนุนด้านพัฒนาอาชีพและที่อยู่อาศัย ทั้งในรูปสินเชื่อและการให้คำปรึกษา ซึ่งต่อมาหน่วยงานนี้ ได้ยกระดับเป็นสถาบันที่มีกฏหมายเฉพาะรองรับการดำเนินงาน..

*เราพบว่า ชุมชนเมืองมีความเข้มแข็งมาก มีคณะกรรมการของแต่ละชุมชนดูแลทุกข์สุขและเป็นฐานให้การรับรองสถานะของสมาชิก..หนี้เสียจากการกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำ..ความมีวินัยและการเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งความมีเกียรติภูมิสูงกว่าความคาดหมายของคนทั่วไป..และเป็นที่คาดหวังของความสำเร็จในการขับเคลื่อนชุมชนเมืองสู่ความเสมอภาคกับผู้คนที่อยู่ในระบบ..

*พี่ใหญ่จะได้รออ่านการถอดบทเรียนเหล่านี้ด้วยความสนใจอย่างยิ่งค่ะ..

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
น้องๆที่ทำงานในโครงการนี้ได้พูดถึงความสนใจในเรื่องนี้กับผมอยู่เหมือนกันครับ
ผมก็เห็นด้วย หากได้ถอดบทเรียนให้หลากหลายมิติ คนทำงานในรุ่นต่อๆไป
ก็จะมีแนวในการเดินที่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก
เดี๋ยวนี้คนทำงานเข้าหาชุมชนได้ยากทั้งในเขตเมืองและชนบทครับ
จึงต้องการบทเรียน มุมมองใหม่ๆ และตัวอย่างการปฏิบัติใหม่ๆอยู่เสมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท