จับภาพโครงการครอบครัวเข้มแข็ง


“คนทุกคนในทีมมีฐานะเท่าเทียมกันไม่มีหัวหน้าหรือลูกน้องมีแต่เพื่อนร่วมงาน....เพียงแค่เรามีหน้าที่รับผิดชอบต่างกันเท่านั้น”

               พอทราบว่าจะได้ไปจับภาพโครงการครอบครัวเข้มแข็ง  ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของบริษัท รักลูก แฟมิลี่กรุ๊ป จำกัด   ในตอนแรกคิดว่าการ จับภาพ คือการไปสังเกตการณ์ ดูการทำงานและสถานที่ทำงาน เพื่อวิเคราะห์ว่าหน่วยงานเหล่านั้นมี KM ในการทำงานหรือไม่   ดิฉันได้หาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการครอบครัวเข้มแข็งทางอินเตอร์เนตและจากข้อมูลที่ สคส. เคยจัด workshop ให้ไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในการจับภาพ
 
             เมื่อถึงวันไปจับภาพคือวันศุกร์ที่ 4 ส.ค.49 ดิฉันออกจาก office สคส. เวลาบ่ายโมง 15 นาที นั่งแท็กซี่เพื่อไปรับน้องแขกที่ซอยอารีย์ (น้องแขกเป็นหนึ่งในทีม PR ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการไปจับภาพครั้งนี้และเป็นคนที่ดิฉันจะได้เรียนรู้วิธีการจับภาพ)  เรามุ่งหน้าไปที่ บริษัทรักลูก ซึ่งอยู่แถวประชาชื่นตรงข้าม รพ.เกษมราษฎร์    เราถึงจุดหมายโดยใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงและไปก่อนนัดถึง 1 ชั่วโมงเพราะเราไม่ชำนาญทางและกลัวไปถึงช้า (เรานัดเค้าไว้บ่าย 3 โมงตรง แต่ไปถึงตอนบ่าย 2 ) พอขึ้นไปติดต่อที่สำนักงานเราบอกว่าเรามาก่อนนัดเจ้าหน้าที่ก็ใจดีมากบอกว่าจะสอบถามให้เผื่อว่าทางนี้สะดวกจะได้คุยกันเลยไม่ต้องรอ สักครู่คุณกุ้งซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานโครงการครอบครัวเข้มแข็งก็ลงมาพบเราด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสและเชิญเราไปห้องประชุมที่อยู่ชั้นเดียวกันนั้น    
              

                ในห้องประชุมที่ใหญ่กว่าห้องประชุม สคส. ไม่มากนัก เริ่มต้นด้วยความเป็นกันเองโดย คุณจินตนา คุมพ์ประพันธ์ หรือคุณตุ๋ย แนะนำตัวเองและทีมงานอีก 2 ท่าน ด้วยชื่อเล่น คือ คุณกุ้งและ คุณหมู   เพื่อให้เราเข้าใจโครงการครอบครัวเข้มแข็งมากขึ้นคุณตุ๋ยให้เราดู CD บันทึกเวทีเรียนรู้โครงการครอบครัวเข้มแข็ง ประมาณ 20 นาที จากนั้นพวกเราก็พูดคุยซักถามแบบสบายๆ ถึงรายละเอียดการดำเนินงานของโครงการครอบครัวเข้มแข็ง 

                ซึ่งมีรายละเอียดคร่าวๆ ว่าโครงการครอบครัวเข้มแข็งมีชื่อเต็มว่า “โครงการสร้างเสริมศักยภาพการเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง” เป็นโครงการหนึ่งของสถาบันวิชาการเพื่อสร้างครอบครัวเข้มแข็ง ซึ่งอยู่ภายใต้สถาบันครอบครัวรักลูก บริษัท รักลูก แฟมิลี่กรุ๊ป จำกัด   โครงการนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ที่ว่าทำอย่างไรพ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัดจะได้มีโอกาสเรียนรู้อย่างคนในเมืองบ้าง ด้วยเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนมีความรักลูกเป็นพื้นฐานทำให้พ่อแม่ต้องการแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาปรับปรุงชีวิต แต่พ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อยขาดโอกาสในการเรียนรู้เมื่อเทียบกับคนในเมือง   ดังนั้นโครงการครอบครัวเข้มแข็งจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องครอบครัวในจังหวัดต่างๆ โดยอาศัยการร่วมมือร่วมใจกันของคนในชุมชนเป็นหลัก       โดยโครงการฯ จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและสนับสนุนงบประมาณไปยังจังหวัด  แล้วจังหวัดจะนำงบประมาณที่ได้ส่งไปยังชุมชนผ่านโครงการต่างๆ ที่ชุมชนเสนอมา  แต่ทุกโครงการที่ผ่านการอนุมัตินั้นต้องเป็นโครงการที่เกี่ยวกับครอบครัวไม่มากก็น้อยในหัวข้อต่างๆ เช่น หลักคิดคุณธรรมในครอบครัว สายสัมพันธ์ครอบครัว การเลี้ยงลูกที่เน้นพัฒนาการ หรือการพัฒนาครอบครัวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นต้น  ซึ่งในแต่ละจังหวัดนั้นจะมีแกนนำอาสาในทุกอาชีพเข้ามาช่วยเหลือโดยไม่มีเงินเดือนตอบแทน

                โครงการครอบครัวเข้มแข็งนอกจากให้การสนับสนุนการจัดเวที-กิจกรรมการเรียนรู้ที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังสนับสนุนการจัดรายการวิทยุในจังหวัด   จัดตั้งศูนย์ข้อมูล-สื่อ รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับครอบครัวที่พบในชุมชนอีกด้วย  โดยในทุกโครงการเน้นชุมชนเป็นหลักทั้งสิ้น ณ ปัจจุบันดำเนินการทั้งสิ้น 9 จังหวัดทั่วประเทศ คือ น่าน พะเยา ลำปาง สุรินทร์ กาฬสินธุ์ สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง และสงขลา

                 จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทีมงานส่วนกลางของโครงการครอบครัวเข้มแข็งมีทั้งสิ้น 16 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น งานวิจัย งานพื้นที่ งานพัฒนา งานสื่อ และงานฝึกอบรม ทีมงานทุกคนจะมีหน้าที่รับผิดชอบชัดเจนแต่จะมีการปรึกษาหารือ ช่วยกันแก้ปัญหาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันเสมอและมีประชุมทีมงานทุกสัปดาห์  คุณตุ๋ย ซึ่งเป็น ผอ. สถาบันครอบครัวรักลูก ให้ข้อคิดว่า “คนทุกคนในทีมมีฐานะเท่าเทียมกันไม่มีหัวหน้าหรือลูกน้องมีแต่เพื่อนร่วมงาน....เพียงแค่เรามีหน้าที่รับผิดชอบต่างกันเท่านั้น” 
             ในระหว่างการดำเนินงานทั้งในทีมงานส่วนกลางและในพื้นที่จะมีการทำ AAR (After Action Review) และ BAR (Before Action Review)   ซึ่งในการลงพื้นที่อาจประชุมหารือหรือทบทวนการทำงานในทุ่งนา หรือใต้ต้นไม้ ตามความสะดวกของทีมงานและแกนนำชุมชน การทำงานทั้งภายในทีมกลางเองและระหว่างผู้ทำงานในพื้นที่จะทำงานเหมือนพี่กับน้อง  คุยกันได้ทุกเรื่องไม่เฉพาะแค่เรื่องงานเท่านั้นและสามารถโทรศัพท์ติดต่อกันได้ตลอดเวลาไม่เว้นหยุดเสาร์ อาทิตย์  คุณกุ้งและคุณหมูบอกกับเราว่า “สิ่งที่ได้จากการได้ทำงานครอบครัวเข้มแข็ง คือ การทำงานเป็นทีมซึ่งคิดว่าคงไม่มีที่ไหนจะทำงานเป็นทีมได้ขนาดนี้”

           นี่เป็นการจับภาพครั้งแรกที่นอกจากดิฉันจะได้เรียนรู้การจับภาพแล้ว ยังได้เห็นมุมมองต่างๆ ในการทำงานของคนและทีมงานครอบครัวเข้มแข็ง ซึ่งเรา 2 คน แทบจะไม่ต้องถามอะไรมากมาย เพราะทั้ง 3 ท่าน มีความสุขเมื่อได้เล่าการทำงานของตน  ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เสียงหัวเราะ  และได้เห็นถึงความภูมิใจและความมุ่งมั่นในตัวของผู้เล่า    จนลืมเวลาไปเลยว่าเอ๊ะนี้เราคุยกันถึง บ่าย 4 โมงครึ่งเลยหรือนี่....................

หมายเลขบันทึก: 43179เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2006 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อาจารย์ อันธนา มงคลสินธุ์
ดิฉันจบการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านจิตวิทยา ฯ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ในโรงเรียนมัธยมศึกษา จ.กาฬสินธุ์ สนใจงานด้านครอบครัวและเยาวชนมาก ได้รับเชิญเป็นวิทยากรให้การอบรมเกี่ยวกับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน/โครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับครอบครัวและเยาวชน อยู่เสมอ ๆ ชอบงานสังคมสงเคราะห์ ไม่หวังผลตอบแทนอะไร ขอเพียงมีความสุขที่ได้ทำก็พอ จะยินดีรับดิฉันร่วมเป็นทีมงานด้วยไหมคะ
     เชื่อมต่อถึงกันครับ ที่พัทลุงกำลังขยายงานตามโครงการนี้ อ่านที่ป้าย (Tag) นี้นะครับ โครงการครอบครัวเข้มแข็ง 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท