ทฤษฎีปัญญาสังคมของ Bandura กับการสอนภาษาไทย


การเป็นตัวแบบของครูคือการเปิดประตูการเรียนรู้ของผู้เรียน

  

ทฤษฎีปัญญาสังคมของ Bandura กับการสอนภาษาไทย

“มาร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทย ให้มีหลักการ มีทฤษฎีและมีชีวิต” 

 

เฉลิมลาภ ทองอาจ

 

          เรามักจะได้ยินท่านผู้ใหญ่หลายท่าน เวลาที่ท่านตักเตือนเมื่อเราทำผิดว่า  “ทำไมไม่เอาอย่างคนนั้นบ้าง”หรือ “เธอควรทำอย่างที่คนนี้ทำ”  คำที่ท่านมักจะยกมาให้เราคิดไตร่ตรองในลักษณะเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว ท่านผู้ใหญ่เองก็ให้ความสำคัญของการเป็นตัวแบบ (model) ของบุคคล  และเชื่อว่า หากเราสามารถที่จะ “เลียน” ตัวแบบนั้นได้ เราก็ย่อมจะเจริญงอกงามและพัฒนาได้เช่นกัน ซึ่งถ้าจะใช้ศัพท์ด้านหลักสูตรและการสอนก็คือ  เราจะเกิดการเรียนรู้  (learning) นั่นเอง  น่าสนใจว่าแนวคิดที่เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากเพียงแค่การเลียนแบบตัวแบบนั้น  Albert Bandura  นักจิตวิทยาชาวสหรัฐอเมริกา              ได้พัฒนาขึ้นและสร้างเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ที่สำคัญ ซึ่งสามารถใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ได้เรียกว่า ทฤษฎีปัญญาสังคม (social cognitive theory)  ทฤษฎีดังกล่าวมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการพัฒนา     การเรียนรู้ของมนุษย์ 

 

          Bandura  เป็นนักจิตวิทยาที่มีความเห็นแตกต่างจากนักจิตวิทยากลุ่ม Skinnerians เพราะเขามองว่า พฤติกรรมของบุคคลคงจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามผล (consequences)  ที่ตามหลังพฤติกรรมนั้นแต่อย่างเดียว กล่าวให้ง่ายขึ้นก็คือ  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลไม่ได้เกิดจากการวางเงื่อนไขหรือการจัดสภาพ แวดล้อมด้วยการเสริมแรงเท่านั้น แต่ภายในของบุคคลแต่ละคนมีเชาว์ปัญญา (cognition) อารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อม  และมีผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้งสิ้น  ด้วยเหตุนี้  Bandura  จึงเสนอแนวคิดว่า การเรียนรู้เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบเชาว์ปัญญาของบุคคล (personal cognition)  ซึ่งเป็นปัจจัยภายในกับสิ่งแวดล้อม (environment) ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก  แนวคิดดังกล่าวได้พัฒนาขึ้นเป็นทฤษฎีหรือสมมติฐานที่เชื่อว่า  การเรียนรู้เกิดจากการสังเกต (observational learning) หรือการเลียนแบบตัวแบบ  (imitation/modeling) กล่าวคือ  บุคคลสามารถที่จะเรียนรู้จาก   การสังเกตและเลียนแบบพฤติกรรมของบุคคลอื่นๆ ด้วยการซึมซับแบบแผนพฤติกรรม  การทดลองปฏิบัติตามและการสร้างเป็นชุดพฤติกรรมของตนเอง และการเรียนรู้จากการเลียนแบบนี้ สามารถที่จะเรียนรู้พฤติกรรมของผู้อื่น  ทั้งที่มีลักษณะเป็นทักษะ  ความคิด อารมณ์หรือค่านิยมอีกด้วย  (Santrock, 2010: 31)

 

          แนวคิดของ Bandura ดังกล่าวมีประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนหลายประการ กล่าวคือ ทำให้เราเข้าใจว่า เราจำเป็นจะต้องจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนหรือในสถานศึกษาให้เป็นตัวแบบแก่ ผู้เรียน  ซึ่งการสร้างตัวแบบในระดับการจัดการเรียนการสอนนั้น  ตัวแบบที่สำคัญที่สุดก็คือตัวครูภาษาไทยนั่นเอง  ถ้าเราเชื่อทฤษฎีของ Bandura  ดังที่ได้กล่าวมา  ผู้เรียนของเราย่อมเกิดการเรียนรู้หรือเกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพียงแค่เราในฐานะที่เป็นครูผู้สอนแสดงพฤติกรรมนั้นออกมาเช่นกัน  สอดคล้องกับวาทกรรมเกี่ยวกับการสอนแต่โบราณว่า  “จะสอนอะไร ครูต้องทำสิ่งนั้นได้ก่อน”  การเป็นตัวแบบของครูจึงต้องเป็นตัวแบบแก่ผู้เรียน      ทั้งในด้านของทักษะปฏิบัติและตัวแบบของกระบวนการคิด  ตัวอย่างเช่น  หากครูจะสอนให้ผู้เรียนเกิดความสามารถในการวิเคราะห์ประโยคประเภทต่างๆ (knowledge+skill) ครูก็จะต้องสามารถวิเคราะห์ประโยคได้อย่างช่ำชอง รวมทั้งต้องแสดงให้เห็นกระบวนการหรือวิธีคิด  ที่ใช้วิเคราะห์ประโยคด้วยการอธิบายให้ผู้เรียนฟัง  เป็นต้น  หรือหากครูจะสอนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถวิจารณ์วรรณกรรมได้ ครูก็จะต้องแสดงให้วิธีการวิจารณ์วรรณกรรมเพื่อเป็นตัวแบบให้ผู้เรียนได้ สังเกตก่อน  การสาธิตและการทำให้ชมในฐานะที่เป็นตัวแบบนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก  หลายครั้งที่ครูภาษาไทยมักจะพบปัญหาในการสอนว่า  ผู้เรียนของเราขาดความสามารถในการอ่านจับใจความ  ไม่สามารถอ่านเชิงวิเคราะห์   ไม่สามารถตีความสารหรือแก่นเรื่องได้  ทั้งนี้หากตอบโดยใช้ทฤษฎีปัญญาสังคม ก็อาจจะตอบได้ว่า ในฐานะที่เป็นครูซึ่งเป็นตัวแบบที่ดีที่สุดในชั้นเรียน  ในสถานการณ์การสอนจริง  เราอาจจะมิได้แสดงแบบหรือตัวอย่างในการจับใจความ  วิเคราะห์หรือตีความ   สิ่งที่อ่านของตัวเราเองให้ผู้เรียนพิจารณาก็เป็นได้  แน่นอนว่าเมื่อครูทำไม่ได้  ผู้เรียนก็ย่อมทำไม่ได้ด้วย 

 

          ตัวแบบอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือ เพื่อนในชั้นเรียน  ครูจะต้องสนับสนุนให้ผู้เรียนที่มีศักยภาพหรือมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ แสดงบทบาทในการเป็นตัวแบบให้เพื่อนๆ ปฏิบัติตาม แต่มิใช่การที่ครูไปยกย่องและบอกแต่ว่า ให้ผู้เรียนคนอื่นเอาอย่างเพื่อนคนนั้น โดยครูไม่อธิบายอะไร  การให้เพื่อนเป็นตัวแบบทำได้โดยการให้ผู้เรียนคนอื่นๆ ที่ยังต้องพัฒนาการเรียนรู้ได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้จากเพื่อนด้วยการช่วยกัน ทำงานหรือการใช้ระบบเพื่อนช่วยสอน (peer tutoring) ในการที่ให้เพื่อนที่มีศักยภาพช่วยอธิบายหรือเสริมความเข้าใจให้แก่เพื่อน ที่ยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม  เช่นนี้ เมื่อผู้เรียนได้เห็นการปฏิบัติงานและวิธีคิดของเพื่อนที่เป็นตัวแบบ  ผู้เรียนกลุ่มนี้ก็จะค่อยๆ เกิดพฤติกรรมเลียนแบบและเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองเพื่อเอาเยี่ยง อย่างเพื่อนที่มีศักยภาพบ้าง 

 

          เป็นที่น่าสนใจว่า  เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของการสอนภาษาไทยก็คือ การพัฒนาให้เยาวชนสามารถใช้ภาษาสื่อสารได้อย่างมีคุณภาพและเกิดประสิทธิผล  ไม่ว่าจะเป็นในด้านการอ่าน การพูด การฟังและการเขียน  แต่หลังจากที่เราเข้าใจทฤษฎีปัญญาสังคม  เราในฐานะครูภาษาไทยคงจะต้องฉุกคิดสักนิดว่า  สังคมทั้งในระดับโรงเรียนและในระดับชาติ ได้ให้  “ตัวแบบ” ของการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร “ที่ดี”         แก่เยาวชนเพียงใด  ผู้เรียนของเราคงจะไม่พัฒนาความสามารถในการอ่าน  หากเห็นว่าในห้องสมุดโรงเรียนไม่มีครูภาษาไทยหรือครูอื่นๆ สักคนเข้าไปอ่านหนังสือหรือค้นคว้าข้อมูล  ผู้เรียนของเราคงจะพูดไม่ดี พูดไม่เก่ง เพราะไม่เคยเห็นว่าครูภาษาไทยของตนเองจะแสดงให้เห็นวาทศิลป์ในการพูดอย่าง ไร  ผู้เรียนของเราคงจะไม่สามารถเรียบเรียงความเรียงได้แม้สักย่อหน้า เพราะไม่เคยเห็นเช่นกันว่า ครูภาษาไทยของตัวเองจะได้มีผลงานการเขียนสักชิ้นในวารสารหรือในเอกสารอื่น ใด  และยิ่งไปกว่านั้น  ผู้เรียนของเราคงไม่ตระหนักและซาบซึ้งถึงสุนทรียรสในวรรณคดีไทย เพราะไม่เห็นภาพความดื่มด่ำและการนำตนเองเข้าไปสัมผัสอารมณ์และเรื่องราวใน วรรณคดีของครู ตัวอย่างเช่น  หากครูสอนวรรณคดีเรื่อง “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์”  ด้วยการให้อ่านบทวิเคราะห์ในหนังสือเรียนแล้วกำหนดคำถามถามตอบกันระหว่างนัก เรียน  การจัดกระบวนการเรียนการสอนเช่นนี้  แท้จริงแล้วคือการสอนการอ่านจับใจความ ซึ่งหากพิจารณาในมุมมองของทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญาสังคม ครูผู้สอนควรที่จะได้มีการแสดงแบบอย่างในการจับใจความของตนเองให้ผู้เรียน พิจารณาก่อนว่า        ครูมีหลักการจับใจความอย่างไร  เก็บข้อมูลอะไรบ้าง เขียนหรือทำบันทึกสรุปใจความสำคัญอย่างไร  เช่นนี้ นักเรียนจะสามารถพัฒนาทักษะกระบวนการอ่านไปด้วย อย่างไรก็ตาม การสอนเช่นนี้อาจทำให้แก่นเรื่องถูกลบเลือนไปได้  เพราะที่จริงแล้วเป้าหมายในการสอนวรรณคดีเรื่องแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ก็คือทำให้ผู้เรียนเกิดค่านิยม (value) และความตระหนัก (awareness) ในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพที่ต้องมีคุณธรรมนำความรู้  ทั้งนี้ครูจะต้องแสดงให้เห็นตั้งแต่คาบแรก เพื่อที่จะเชื่อมโยงกับประสบการณ์และความรู้เดิมของผู้เรียนเกี่ยวกับความ สำคัญของจรรยาบรรณและมาตรฐานในวิชาชีพ เช่น ครูอาจยกตัวอย่างข่าวหรือเรื่องราวของแพทย์ที่ปฏิบัติตนไม่ถูกต้องตาม จรรยาบรรณ แล้วแสดงความคิดเห็น มุมมองหรือประเด็นของตนเองออกมาให้ผู้เรียนฟัง จากนั้นใช้คำถามเพื่อนำการสนทนาเพื่อให้ผู้เรียนได้กระจ่างค่านิยม (clarifying  value) ว่าหลังจากที่ได้ฟังมุมมองความคิดของครูเป็นตัวแบบแล้ว  เขามีมุมมองต่อประเด็นนี้อย่างไร การตอบสนองและการสะท้อนความคิดของตนเองกับครูและเพื่อน  จะนำนักเรียนไปสู่การอ่านวรรณคดีเรื่องแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์  และจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดการวิจารณ์วรรณกรรมตามมาตรฐานการเรียน รู้ได้อย่างแท้จริง 

 

          การพัฒนาการเรียนรู้ด้วยการให้ผู้เรียนศึกษาและปฏิบัติตามตัวแบบนั้น  ถ้าจะสรุปให้เข้าใจได้ง่าย     ก็คือ  “การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง”  เสียก่อน  ด้วยเหตุนี้  การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในโรงเรียนเพื่อให้ผู้ เรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้นมาได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ครูและบุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนจะต้องสร้างตัวแบบที่ถูก ต้องให้แก่ผู้เรียนให้เห็นชัดเจนให้จงได้

______________________________________

รายการอ้างอิง

Santrock, J.W. (2010). Children.  11th ed.  New York: McGraw-Hill.

การนำส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความนี้ไปเผยแพร่หรือดำเนินการใดๆ ก็ตาม 

ควรดำเนินการตามหลักวิชาการ จรรยาบรรณและความเป็นมนุษย์

 

หมายเลขบันทึก: 431052เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2011 02:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

One learning mode 'monkeys see, monkeys do' has shown to work well. Then comes 'innovation' fads where more emphasis is on 'mixing' up ideas and facts (knowledge) for use (for 'profit'). It is also working well for 'a few people (and global companies)'.

Forgive me for not being another example in using Thai properly. Thai language is very beautiful poetically but awkward technologically. Sigh!

ขอขอบพระคุณที่เข้ามาช่วยกันสร้างประชาคมการสอนภาษาไทยนะครับ สำหรับความเห็นที่ได้ยกตัวอย่างสำนวนภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึง การลอกเลียนหรือการทำตามโดยไม่คิดนั้น  โดยส่วนตัวผมเห็นว่าต่างจากทฤษฎีเรียนรู้จากการสังเกตของ Bandura นะครับ เพราะได้อธิบายแล้วว่า  การสร้างชุดพฤติกรรมของคนนั้นเกิดจากการที่เขาสังเกตพฤติกรรมของบุคคลอื่นๆ ในสิ่งแวดล้อม ไตร่ตรอง ทดลองและสร้างชุดพฤติกรรมของตนเอง  ดังนั้น การไตร่ตรอง (reflection)  ก็คือกระบวนการคิด ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว  คือบุคคลได้มีการประมวลผลแล้วว่า เมื่อได้สังเกตผู้อื่นแล้ว  ก็คงต้องประเมินตนเองว่าสิ่งใดที่ตนเองทำได้ ไม่ได้ และสิ่งที่ทำไม่ได้นั้นจะทำอย่างไรให้ทำได้  ในชีวิตของคนเราทุกคน ก็เรียนรู้หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้จากการสังเกตคนอื่นดังทีว่ามานี่ใช่ไหมครับ  ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการเรียนหรือพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน หากเราสามารถนำความจริงข้อนี้มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนดังเช่นที่ผมได้ใช้กับนักเรียนสาธิตจุฬาฯ ซึ่งหลายคนก็ซนเป็น "ลิง" แต่พวกเขาก็มีทักษะการสังเกตเพื่อที่จะเรียนรู้กระบวนการคิดของผมระหว่างการเรียนการสอนไมว่าจะเป็นการใช้ภาษาหรือในการวิพากษ์วรรณกรรม  ผลก็คือนักเรียนของผมก็กลายเป็นลิงน้อยน่ารัก  ที่มีกระบวนการคิดที่ดีกว่าผมซึ่งเป็นคน เมื่อเทียบกับตัวผมเองในวัยเดียวกับพวกเขา   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท