ทีมประสานร่วมแจมการประชุมคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการ ต.กะหรอ(ปรับเปลี่ยนระเบียบสวัสดิการ)


“การเป็นนักวิจัยที่ดีนั้นต้องเริ่มจากความอยากรู้ และพยายามหาคำตอบจะได้สนุกกับงานที่ทำ”

หลังจากเสร็จงานอันมงคลยิ่งของหนูเคเอ็มคนโตในวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๙ ถือเป็นการจัดการชีวิตอีกเรื่องหนึ่งนะคะหลังจากวางแผนกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็ขออวยพรให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่มุ่งหวังไว้นะคะ (มีเจ้าตัวน้อยเร็ว ๆ คะ อิอิ....)

ส่วนวันเสาร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๙ หลังจากตื่นนอนทำภารกิจลุล่วงแล้ว ติ๊ด ติ๊ด เสียงเจ้าตัวน้อยที่พกพาไปไหน มาไหนตลอด {เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้การติดต่อประสานงาน (เรื่องงาน) การสานสัมพันธ์ทุกรูปแบบ (ครอบครัว เพื่อน ฯ)ทำได้รวดเร็วทุกที่ ทุกสถานการณ์} ดังขึ้น โชว์เบอร์ เป็นเบอร์ที่ทำงาน ใช่คะพี่ภีมนั้นเองโทรมาประสานเรื่องการลงพื้นที่ร่วมประชุมกับคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการของต.กะหรอนั้นเองคะ เริ่ม ๑๓.๐๐ – ๑๗.๓๐น. ณ ที่ทำการเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน ต.กะหรอ บรรยากาศร้อนอบอ้าวมากคะ ถึงแม้จะเปิดพัดลมหลายตัวแล้วก็ตาม.....

เมื่อครบองค์ประชุมก็เริ่มดำเนินการตามวาระดังนี้

๑)  การเขียนโครงการของงบสนับสนุนจาก อบต. และ พอช.

๒)  ระเบียบสัจจะวันละ ๑ บาท กะหรอ

๓)  สถานภาพของกลุ่มกอบงทุนหมู่บ้าน ๑-๙ (วาระของทีมประสานคะ)

๔)  เรื่องการปิดโครงการ

ข้ามขั้นไปนิดหนึ่งนะคะผู้เข้าร่วมประชุมวันนี้ (๕ สิงหาคม ๒๕๔๙) มีพี่พัช จากหมู่ที่ ๘ ไสรักษ์ ประสิทธิ์ ส้มแป้น หมู่ ๕ บ้านหัวทุ่ง ลุงเปี้ยน หมู่ ๒ บ้านตลาดจันทร์ พี่เสาวภาและ พี่บงกช หมู่ ๖ บ้านอู่ทอง พี่วาสนาคณะกรรมการหน้าใหม่เพิ่งจะเข้ามาคลุกคลีเรื่องเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชน จากหมู่ ๓ บ้านท่าหว้า คุณสมมาตร หมู่ ๖ บ้านอู่ทอง พี่สานนท์ หมู่ ๗ บ้านวัดโท น้าชูสิน หมู่ ๒บ้านตลาดจันทร์ พี่แม๊ค หมู่ ๙ บ้านคองตูล และพี่รักษ์ ประธานกองทุนสวัสดิการสัจจะลดรายจ่ายฯ (เรียงลำดับการนั่งในห้องประชุมอาจจะข้ามหมู่ไปหน่อยแต่บันทึกแบบนี้และนึกภาพไปด้วยว่าใครนั่งตรงไหนจำดีที่หนึ่งเลยคะ)

วาระที่ 1 เรื่องของการเขียนโครงการของบสนับสนุนจาก อบต.และ พอช.นั้นก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการแจ้งให้ทราบว่าจะดำเนินการเขียนอย่างเร่งด่วนและไม่น่าจะเป็นปัญหาแต่อย่างใดเนื่องจากเรื่องนี้ได้คุยกับหน่วยงานที่จะขอสนับสนุนงบประมาณแล้วให้จัดสรรไว้ให้โดยเฉพาะของ อบต.ส่วนของ พอช.เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท นั้นก็ต้องเร่งสรุป และรวบรวมหลักฐานเพื่อจะได้ดำเนินการขั้นต่อไป

วาระที่ 2 เรื่องของระเบียบสัจจะวันละ ๑ บาทของกะหรอ เป็นผลพวงของคณะกรรมการหลายท่านที่กลับไปนั่งทบทวนดูรายละเอียด และผนวกกับสถานภาพทางการเงินของกองทุนสวัสดิการ ณ ปัจจุบัน แล้วเล็งเห็นว่าระเบียบที่นำเอาของพ่อชบ ยอดแก้ว มาใช้นั้นต้องปรับเปลี่ยนในบางเรื่องเพื่อให้เหมาะสมกับบริบท และความเป็นจริงของหมู่บ้านและตำบลของตนเอง จึงเป็นที่มาและที่ไปที่นำมาหารือกันในวันนี้ ประเด็นนี้ก็ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะหาข้อสรุปได้ในแต่ละข้อ เพราะว่าหยิบบกเอาระเบียบฉบับของพ่อชบ มากางแผ่ แล้ววิเคราะห์กันไปแต่ละประเด็น อันนี้เห็นแล้วว่าบรรยากาศก็ครึกครื้นดี ทุกคนก็แสดงความคิด ข้อเสนอแนะกันจนได้ข้อสรุปร่วม

๑)  สวัสดิการเรื่องการเกิดยังคงเดิม

๒)  สวัสดิการเรื่องการเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล ยังคงเดิมเช่นกัน (๒ ประเด็นนี้ไม่ขอกล่าวรายละเอียดนะคะเพราะบันทึกลงบล็อคในหลายกรณีแล้วคะเรื่องระเบียบสวัสดิการของพ่อชบ)

๓)  ตาย ปรับเปลี่ยนกันยกใหญ่คะ เพราะคณะกรรมการคิดคาดเดา เหตุการณ์ อีก 2-3 ปีข้างหน้าหากเรายังยึดของพ่อชบไว้กองทุนสวัสดิการจะไปไม่รอดแน่นอน จึงได้ปรับเปลี่ยนระเบียบเรื่องของการจ่ายสวัสดิการเรื่องการตายไว้ โดยจะรายงานระเบียบเป็นรายปี พิจารณาจากความเหมาะสมของสถานทางการเงินในปีนั้น ๆ ด้วย รายละเอียดดังนี้คะ เมื่อจ่ายสวัสดิการครบ ๑๘๐ วัน เสียชีวิตจะได้รับเงิน ๒,๕๐๐ บาทยังคงเดิม ปรับเปลี่ยนในช่วงของการทำสัจจะครบ ๓๖๕ วันจากเดิม ๕,๐๐๐ ลดเหลือ ๔,๐๐๐ บาทมติที่ประชุมเห็นด้วยโดยระเบียบนี้กำหนดใช้ตั้งแต่ ๒๕ ก.ย.๒๕๔๙ สิ้นสุด ๒๖ ก.ย.๒๕๕๐ จะประกาศเป็นรายปีคะ

๔)  สวัสดิการเรื่องของการศึกษาและพัฒนาอาชีพมีการกำหนดกติกาที่ชัดเจน ลองดูรายละเอียดดังนี้

-  เงินเพื่อพัฒนาอาชีพและทุนการศึกษา เป็นการให้ยืมโดยไม่มีดอกเบี้ย

-  สมาชิกที่จะยืมเงินต้องเป็นสมาชิกสัจจะวันละ ๑ บาทและเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า ๓๖๕ วัน

-  สมาชิกที่ยืมเงินไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่จะต้องมายืมเงินด้วยตนเอง ๑ คน ต่อ ๑ ชื่อ

-  สมาชิกที่ยืมเงินไปแล้วจะต้องนำเงินดังกล่าวไปใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้ตอนยืมเงิน

-  การส่งเงินคืนกลุ่มให้สมาชิกมาส่งหรือฝากบุคคลอื่นมาส่งคืนกลุ่มก็ได้

-  วิสหากิจหรือธุรกิจชุมชนให้สมาชิกยืมคนละ ๑,๕๐๐บาทโดยคิดค่าบำรุง ๒๐ บาท/ครั้ง

-  สมาชิกที่ยืมเงินไปทำธุรกิจหรือวิสาหกิจชุมชนจะส่งคืนเงินกลุ่มครั้งละไม่น้อยกว่า ๑๕๐ บาท/เดือน ภายในระยะเวลา ๑๐ เดือน

-  การยืมเงินไปทำธุรกิจหรือวิสาหกิจชุมชนจะต้องไม่เอาเปรียบสังคม ไม่ทำลายสิงแวดล้อม และช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต และเปิดโอกาสให้คณะกรรมการกลุ่มสัจจะวันละ ๑ บาท เพื่อทำสวัสดิการภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำด้วย

-  ทุนการศึกษาให้ยืมเฉพาะเด็กที่กำลังศึกษาอยู่(ที่มีฐานะยากจน)และให้เด็กมายืมด้วยตนเอง โดยให้ผู้ปกครองเป็นผู้รับรอง ทุนการศึกษาระดับ ป.๑ – ป.๖ ให้ยืมคนละ ๕๐๐ บาท โดยให้ชำระไม่ต่ำกว่า ๕๐ บาท/เดือนภายในระยะเวลา ๑๐ เดือน ระดับ ม.๑ – ม.๓ ให้ยืมคนละ ๑,๐๐๐ บาทโดยให้ชำระไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ บาท/เดือนภายในระยเวลา ๑๐ เดือน ระดับ ม.๔-ม.๖ ให้ยืมคนละ ๑,๕๐๐ บาท โดยให้ชำระไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ บาท/เดือน ภายในระยะเวลา ๑๐ เดือน

๕)  สวัสดิการให้คนด้อยโอกาสนั้นขึ้นอยู่กับในแต่ละหมู่จะจัดการดำเนินการช่วยเหลืออย่างไรก็ให้อิสระ

๖– ๙) ตัดออกคะ

วาระที่ ๓ ข้อมูลสถานภาพของกองทุนหมู่บ้าน ๑-๙ เป็นประเด็นนี้เป็นเรื่องของข้อมูลโครงการที่ยังขาดไปเพราะเราต้องการทราบว่าหลังจากนำ Input กิจกรรมต่างๆ ลงไปในกะหรอแล้วนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ซึ่งในส่วนนี้เราต้องมีข้อมูล ณ ปัจจุบันของกองทุนทุกกองทุน ซึ่งก่อนหน้าที่เราจะดำเนินโครงการก็มีข้อมูลนี้อยู่แล้ว เพื่อให้ทราบและสามารถเปรียบเทียบให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะจัดเก็บข้อมูลนี้อีกครั้ง ฟังดูว่าง่ายนะคะคณะกรรมการบอกว่าก็ขอให้บอกโจทย์มาว่าต้องการอะไรบ้างแล้วให้ทำคล้ายเป็นแบบสอบถามให้กรอกรายละเอียด ในกรณีนี้เห็นว่าอาจจะเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงอยู่บ้าง ก็เลยอยากจะพูดคุย สัมภาษณ์รายละเอียดด้วย โดยมีข้อมูลที่เป็นเอกสารหลักฐานของแต่ละหมู่บ้านมาประกอบด้วยนั้นแหละคะใช่ว่าจะละเลย ก็เป็นอันว่าคณะกรรมการเข้าใจตรงจุดนี้และนัดวันกันไว้เป็นวันพุธที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๙ จะมีตัวแทนคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านทุกหมู่ ๆละ ๓-๔ คน สถานที่คือที่ทำการเคือข่ายของกะหรอ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๕.๐๐ น. โดยทีมประสานจะหารือกับนักวิจัย(อ.หญิง อ.บัว อ.โรจน์และ ผช.วิจัย รัตน์) ให้ดำเนินการเรื่องนี้ด้วย

วาระที่ ๔ เรื่องของการปิดโครงการโดนละเลยไว้ในวาระต่อไปเนื่องจากได้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ ที่ต้องแยกย้ายกันปฏิบัติภาระกิจอื่นต่อคะ

ส่วนทีมประสานก็คุยกันต่อนิดหน่อยกับแกนที่คุ้นเคยได้เวลาก็แยกย้ายกันกลับ

ระยะเวลาบนรถขณะเดินทางกลับ ม.วลัยลักษณ์ หนูเอ็มก็ได้คุยกับพี่ภีมติดใจประโยคที่ว่า “การเป็นนักวิจัยที่ดีนั้นต้องเริ่มจากความอยากรู้ และพยายามหาคำตอบจะได้สนุกกับงานที่ทำ” และยิ่งได้เกาะติดแบบคลุกคลีตีโมงในพื้นที่ที่เราทำการศึกษาวิจัยด้วยแล้วยิ่งสนุกมากขึ้นยิ่งฟังแล้วก็ยิ่งฮึด อยากเป็นนักวิจัยบ้างจัง ทำอย่างไรดีนะคะ ที่แน่ๆ ต้องเริ่มพัฒนาตัวเองโดยการฝึกเป็นผู้สนใจใฝ่รู้ (เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วยนะคะ ตั้งคำถามและหาคำตอบ) ขยันอ่าน ขยันเขียน และทดลองปฏิบัติจริง Case ดีน่าจะเป็น Case Km เมื่องนครที่จะเจาะลึกใน ๓ ตำบล ๓ อำเภอ ที่ร่วมมือกับศูนย์คุณธรรม หวังไว้เป็นเช่นนั้นคะ

คำสำคัญ (Tags): #ทรงพระเจริญ
หมายเลขบันทึก: 42974เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2006 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีข้อมูลเพิ่มเติมล่าสุดจาก  ศตจ ปชช ชาติ เรื่องการปรับเปลี่ยนการสนับสนุนงบประมาณในประเด็นสวัสดิการชุมชนจากเดิมสนับสนุนกองทุนตำบลละ 100000 บาทเป็นสนับสนุนเป็นยอดรวมจังหวัดละ 700000บาทแล้วให้แต่ละจังหวัดมาพิจารณาเฉลี่ยตามจำนวนกองทุนตำบลที่มีการเสนอเพื่อดำเนินการ ส่วนรายละเอียดสอบถามได้ที่พอช.สำนักงานภาคใต้ค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท