เรียนภาษาสันสกฤต จากชื่อเดือน


ชื่อเดือนของไทย (เดือนฝรั่งไม่เกี่ยว) ตั้งแต่มกราคม จนถึง ธันวาคม เป็นคำที่ประสมขึ้น จากศัพท์ภาษาสันสกฤตทั้งสิ้น (บางศัพท์อาจจะตรงกับภาษาบาลีด้วย)

ท่านที่ชอบดูดวง จะเข้าใจเร็วหน่อย เพราะชื่อเดือนเหล่านี้มาจากจักรราศีทั้ง 12 นั่นเอง โดยเทียบได้กับของฝรั่ง

เดือนของไทย จะมีคำลงท้าย 3 อย่าง คือ อาคม, อายน และ อาพันธ์ 

มาดูความหมายของแต่ละคำกันเลยเลย

 

อาคม (อาคะมะ) เป็นคำนาม แปลว่า การมา, การเข้ามา, การมาถึง

มาจากกริยา คมฺ แปลว่า ไป, เติมเสียง อา- ข้างหน้า ทำให้มีความหมายตรงข้าม

อาคมฺ จึง หมายถึง มา, เติมสระอะลงไป ทำให้เป็นคำนาม จากกริยา มา ก็กลายเป็น "การมา" ดังกล่าวแล้วข้างต้น

 

อายน (อายะนะ) เป็นคำนาม แปลว่า การมา, การเข้ามา, การมาถึง

มาจากกริยา ยา แปลว่า ไป, เติมเสียง อา- ข้างหน้า กลายเป็น "ไป"

แล้วก็เติมเสียง น ท้ายตามหลักไวยากรณ์ (ตรงนี้ยุ่งยากกว่าของ อาคม) กลายเป็น อายน

 

โปรดสังเกตว่า อาคม กับ อายน ความหมายไม่ต่างกัน

 

ส่วน อาพันธ์ มาจาก อาพนฺธ (อา พัน ทะ) ก็มาแนวเดิมครับ

พนฺธ เป็นคำนาม แปลว่า การผูก มาจากกริยา พธฺ ตัวนี้พิเศษหน่อย เพราะต้องแทรกเสียง นฺ ไปตรงกลาง กลายเป็น พนฺธฺ แล้วก็เติม อา ข้างหน้า  ยังแปลว่าผูกเหมือนเดิม

(การเติมเสียงข้างหน้า บางครั้งความหมายก็ไม่เปลี่ยน แต่อาจจะเน้นความหมาย)

เติมเสียงอะ ข้างหลัง กลายเป็นคำนาม เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย อาพนฺธ ก็กลายเป็น อาพันธ์ (การันต์เสียงท้าย ตามความนิยม)

 

มาถึงชื่อเดือนครับ

มกราคม        มกร + อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีมกร

(มกร เป็นสัตว์ประหลาดชนิดหนึ่ง ว่ากันว่าอยู่ในทะเล)


กุมภาพันธ์    กุมภ + อาพันธ์ แปลว่า การผูกกับราศีกุมภ์

(กุมภ แปลโดยตรงว่าหม้อ เหยือก แต่ในที่นี้หมายถึง ราศีคนแบกหม้อ, กุมภกรรณ ชื่อยักษ์ตนหนึ่ง ความหมายว่า หูเหมือนหม้อ)

 

มีนาคม        มีน + อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีมีน

(มีน หมายถึง ปลา, เช่น มีนบุรี เมืองที่มีปลา)

 

เมษายน        เมษ + อายน แปลว่า การมาถึงของราศีเมษ

(เมษ หมายถึง แกะ หรือผ้าขนแกะ ก็ได้)

 

พฤษภาคม    พฤษภ + อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีพฤษภ (พรึ สบ)

(พฤษภ แปลว่า วัว สันสกฤตใช้ว่า "วฺฤษฺภ" ภาษาบาลีว่า "อุสภ")


มิถุนายน        มิถุน + อายน แปลว่า การมาถึงของราศีคนคู่

(มิถุน แปลว่า คู่ คู่ชายหญิง หรือ คู่อะไรก็ได้ คู่แฝดก็ได้ คงจะมาจากกริยา มิถฺ ที่แปลว่า เข้าคู่, จับคู่)

 

กรกฎาคม    กรกฏ + อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีปู

(กรกฎ แปลว่า ปู ภาษาสันสกฤต ใช้ กรฺกฏ (ฏ ปฏัก) บาลีใช้ "กกฺกฏฺ" ถ้าถอดตามแบบสันสกฤตจริงๆ น่าจะเป็น กรรกฏ เพราะ รฺ (มีจุดข้างล่าง) เมื่อถอดเป็นไทย เมื่อมีสระอะข้างหน้า จะถอดเป็น รร (ร หัน)  )

 

สิงหาคม        สิงห + อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีสิงห์


(สิงห์ฺ ก็คือ สิงโต ภาษาสันสกฤตใช้ สึห (อ่านว่า สิม-หะ) บาลีใช้ สีห ใช้เีรียกบุคคลที่ยิ่งใหญ่ กล้าหาญ ก็ได้)

 

กันยายน  กันยา + อายน แปลว่า การมาถึงของราศีกันย์

(กันยา แปลว่า หญิงสาว หรือหญิงพรหมจารี บาลีใช้ กญฺญา)

 

ตุลาคม        ตุล + อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีตุล

(ตุล คือ ราศีตุล มาจากคำว่า ตุลา แปลว่า ตาชั่ง ซึ่งก็มาจากกริยา ตุลฺ หมายถึง ชั่ง หรือ เทียบ นั่นเอง คำว่า ตุล เป็น คำนามเพศชาย แต่ ตุลา เป็นคำนามเพศหญิงนะครับ)

 

พฤศจิกายน    พฤศจิก + อายน แปลว่า การมาถึงของราศีพฤศจิก

(พฤศจิก หมายถึง แมงป่อง สันสกฤตใช้ วฺฤศฺจิก บาลีว่า วิจฺฉิก)

 

ธันวาคม        ธนุ + อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีธนู

(ธนุ ปกติหมายถึง คันธนู หรือ คันชักของเครื่องดนตรี, สันสกฤตใช้ ธนุ ก็มี ธนุสฺ ก็มี,  บาลีใช้ ธนุ)

 

ชื่อเดือนทั้ง 12 เดือนนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงผูกขึ้นจากคำสันสกฤต ในสมัยรัชกาลที่ 5 (http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=1105497&month=06-2007&date=26&group=2&gblog=49)

หมายเลขบันทึก: 429146เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2011 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

สวัสดีค่ะ

อ่านแ้ล้วได้เข้าใจรากศัพท์ของคำลงท้ายเดือน

แต่ก็สงสัยเล็กน้อยค่ะ

เมื่อ อาคม กับ อายน มีความหมายไม่ต่างกัน

ส่วน อาพันธ์ มาจาก อาพนฺธ หมายถึง การผูก

แล้วมีเหตุผลอีกไหมคะี่ที่ต้องใช้ คม ยน หรือ พันธ์

ใช้คำเดียวกันไม่ได้หรือคะ

(^__^)

สวัสดีครับ คุณ Ico48 คนไม่มีราก

คงไม่มีความเชื่อมโยงพิเศษจากความหมายของคำศัพท์ท้ายชื่อเดือนครับ

แต่สันนิษฐาน (แปลว่า เดา นั่นเอง) ว่าสมัยนั้นเพิ่งใช้เดือนแบบฝรั่ง

ท่านคงเกรงว่าคนทั่วไปจะจำไม่ได้ว่าเดือนไหนมีกี่วัน

จึงใช้ อาคม อายน อาพันธ์ กำกับครับ

ขอบคุณสำหรับคำตอบค่ะ

สันนิษฐานเล่น ๆ (คล้ายการเดา) ว่า อาจเป็นเพราะการเลือกคำลงท้ายให้เหมาะกับเสียงของชื่อเดือนนั้น ๆ หรือเปล่าคะ

ลอง ใช้ว่า มกรายน กันยาคม ...ฟังแล้วเหมือนเสียงไม่ค่อยสละสลวยนะคะ

(^__^)

สวัสดีครับ

คงจะเลือกยากนะครับ เพราะชื่อเดือนถูกกำกับด้วยชื่อราศีเป็นอันดับแรก

มกร มีน พฤษภ กรกฎ สิงห ตุลา ธนู (กลุ่มเดียวกัน

เมษ มิถุน กันยา พฤศจิกา (กลุ่มเดียวกัน)

ส่วนที่เสียงไพเราะสละสลวยหรือไม่ แต่ละคนคงจะคิดไม่เหมือนกันครับ

 

อาคม น่าจะเป็นคำที่คุ้นเคยมากกว่า ผู้ตั้งชื่อจึงน่าจะคิดถึงคำนี้ก่อน

เราไม่ทราบขั้นตอนการตั้งชื่อ ในตอนแรกท่านอาจจะตั้ง

มกราคม กุมภาคม มีนาคม เมษาคม หมดเลยก็ได้ แล้วปรับเปลี่ยนเพื่อให้

ตรงกับจำนวนวันภายหลัง คำ อายน จึงตามมา

ผมก็ได้แต่เดาๆ ครับ ถ้าหากมีเวลาได้้ค้นคว้า หรือสอบถามผู้รู้รุ่นเก่าๆ

อาจจะได้เบาะแสก็ได้ครับ

 

สวัสดีค่ะ

เลยได้ความรู้เรื่องกลุ่มดาวในราศีต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก

หากได้เบาะแสใหม่ ๆ จะตามมาอ่านอีกค่ะ

ขอบคุณค่ะ

บันทึกนี้ชอบค่ะ ได้รู้รากศัพท์ด้วย การฝึกภาษาต้องฝึกด้วยรากศัพท์ค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณธ.วัชชัย

อ่านแล้วได้ความรู้..สงสัยต่อนะค่ะว่า ทำไม มกร ต้องบวกด้วยอาคม... มกร บวกด้วยอาพันธ์ได้หรือไม่ หรือกันยา ทำไมบวกกับอายน

เรื่องภาษามีอะไรชวนติดตามมากมายแล้วจะเข้ามาอ่านบ่อยๆค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์ Ico48 ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์

พอเรียนรู้ภาษาบาลีสันสกฤต ทำให้วิเคราะห์คำศัพท์ภาษาไทยได้ง่ายขึ้น

จะเขียนแนวๆ นี้อีกครับ

ขอบคุณครับ ;)

 

สวัสดีครับ คุณIco48 noktalay

อันที่จริง มกร บวก อาพันธ์ ก็ได้นะครับ

แต่ท่านต้องการเอาท้ายคำเป็นเครื่องกำหนดจำนวนวัน

ก็เลยใช้แตกต่างกันตามที่ปรากฏในปัจจุบันครับ

 

อาคม อาพันธ์ และอายน เป็นการกำหนดเพื่อแยกความแตกต่างเท่านั้นเองครับ

นี้เป็นเจตนาของผู้คิดคำ ซึ่งไม่เกี่ยวกับความหมายเดิมในภาษาสันสกฤต

เช่นเดียวกับคำสมาสอื่นๆ ในภาษาไทย บางทีก็ไม่มีเหตุผลว่าทำไมจึงแปลอย่างนั้น

นอกจากอธิบายว่า เพราะผู้คิดคำนั้นต้องการให้หมายถึงอย่างนั้น ;) (จริงๆ นะ)

 

 

 

สวัสดีค่ะ

      แวะมาเพิ่มเติมความรู้ ชอบๆๆค่ะ

สวัสดีค่ะ สงสัยเรื่องความสัมพันธ์ของชื่อเดือนไทยกับสัญลักษณ์จักรราศีของตะวันตกมานานแล้ว ขอบคุณมากค่ะสำหรับความรู้ดีๆแบบนี้

ขอเพิ่มเติมข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องอาคม อายน และอาพันธ์ดังนี้ นอกจากความหมายว่าการมาถึง,การผูก(พันธ์)แล้ว ผู้ผูกชื่อเดือนยังได้กำหนดให้ชื่อเดือนที่ลงท้ายว่าคม มีจำนวน 31 วัน เดือนที่ลงท้ายด้วยยน มีจำนวน 30 วัน ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งมี 28 วัน(หรือ 29 วันในปีที่4) ท่านจึงหาศัพท์อื่นเพื่อให้แตกต่างจากเดือนที่ลงท้ายด้วยคมและยน ในที่สุดจึงลงท้ายด้วย (อา)พันธ์

การกำหนดว่าเดือนไหนจะสนธิกับ อาคม,อายน,หรือ อาพันธ์ ก็ต้องจัดกลุ่มคำดังกล่าวออกเป็น 3 กลุ่มตามเดือนปฎิทิน ซึ่งเดือนที่มี 31วัน มีอยู่ 7เดือน เดือนที่มี30วัน มี 4 เดือน เดือนที่มี 28 วัน(หรือ29วันในปีที่4) มี 1 เดือน  เมื่อจัดกลุ่มเดือนเรียบร้อยแล้ว (คือได้ 3 กลุ่มเช่นเดียวกับกลุ่มคำที่ใช้สนธิ) ขั้นต่อไป ก็ผูกเดือน (ตามราศีที่ดาวจันทร์โคจรผ่าน) จะเห็นได้ว่าราศีกุมภ์ มีอักษร ภ ซึ่งออกเสียงเหมือนกับ "พ" ดังนั้นเดือนนี้จึงสนธิกับอาพันธ์ เป็นเดือนกุมภาพันธุ์ ซึ่งจะได้ความไพเราะของเสียงยิ่งกว่า จะใช้ว่าเดือน กุมภาคม หรือ กุมภายน ส่วนกลุ่มเดือนที่เหลืออีก 2 กลุ่ม  ราศีที่เป็นตัวตัดสิน คือ ราศีกันย์ ซึ่งมี "ย" อยู่ท้ายคำ เสียงก็จะไปพ้องกับ อายน เดือนนี้จึงเป็น กันยายน เดือนอื่นๆในกลุ่มนี้(30วัน)จึงลงท้้ายด้วย"ยน"เช่นเดียวกัน  สุดท้ายคือกลุ่มเดือน ที่มี 31 วัน เป็นเืดือนที่สนธิกับอาคม  ครับผม

เข้าใจว่าน่าจะมีประเทศไทยเป็นประเทศเดียว ที่กําหนดคําลงท้ายของเดือนตามจํานวนวันครับ

โห เพิ่งรู้ที่มากับความหมายของคำว่า
คม ยน พันธ์ เป็นครั้งแรก
ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณสำหรับคำอธิบายมาก ๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท