ราชวัตถ์..ไม่ใช่ราชวัตร


ผ้าทอเกาะยอที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดแห่งลายผ้าทอ ที่เป็นราชาลวดลายผ้าทอของภาคใต้คือผ้าทอลาย "ยกดอกก้านแย่ง" หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าลาย "หลังนกเขา"

     เมื่อปี ๒๕๔๐ ครั้งที่ครู'ฑูรย์ ทำงานอยู่ที่ศูนย์พัฒนาอาชีพจังหวัดสงขลาที่อาคาร "ศรีเกียรติพัฒน์" ซึ่งเป็นนามพระราชทาน สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับ สวท.สงขลา และปัจจุบันได้กลายเป็นอาคารของ อบจ.โดยการยกที่ดินมอบให้ของ ผอ.กศน.จังหวัด ยุคหนึ่ง ได้มีโอกาสทำงานพัฒนาผ้าทอเกาะยอ โดยการมอบหมายภารกิจจากท่านคุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ซึ่งเป็นอธิบดี กศน.ขณะนั้น

  ในปี ๒๕๔๑ ได้ร่วมทำเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ"แลอนาคตเกาะยอ"กับทีมบางกอกฟอรั่ม โดย อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ เป็นการทำเวทีที่แปลกใหม่ เป็นการใช้เทคนิคค้นหาอนาคต(Future SearcH Conference)ในการจัดประชุม เป็นกระบวนการจัดประชุมรูปแบบการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมประชุมที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างทั่วถึง  โดย นาย Marvin  Weis Board  ชาวอเมริกัน ได้คิดและทดลองใช้ทฤษฎีนี้เป็นเวลาถึง ๕๐ ปี โดยเริ่มจากในการทำสงครามของฝ่ายพันธมิตร ซึ่งทหารจะมาจากหลายๆประเทศ การสื่อสารไม่ค่อยเข้าใจกันเมื่อคนหนึ่งขาดไป คนที่มาทำงานทดแทนไม่มี จึงได้ดำเนินการทำทฤษฎีนี้ขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ปรากฏว่าทุกสามารถทำงานทดแทนกันได้เมื่อคนหนึ่งคนใดตายหรือขาดหายไป จนทฤษฎีนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายในประเทศแถบยุโรป ต่อมาจึงนิยมนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างวิสัยทัศน์ของบริษัทและหน่วยงานต่างๆ*อาจารย์ชัยวัฒน์  ถิระพันธุ์ แห่งบางกออกฟอรั่ม ได้นำเทคนิคนี้มาใช้ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพการทำงานของบุคลากรในองค์กรต่างๆในประเทศไทยเมื่อ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา และประสบผลสำเร็จอยู่ในระดับดีเป็นที่น่าพอใจ มักนำมาใช้ในการระดมความคิดเพื่อพัฒนาพื้นที่ พัฒนาชุมชน และพัฒนาองค์กรแบบมีส่วนร่วม  เป็นการประชุมที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกคนที่เข้าประชุม  ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย  มีเทคนิคการกระตุ้นให้เกิดจินตนาการในเชิงสร้างสรรค์  เพิ่มความคิดในเชิงบวก   ไม่ให้ความสนใจความคิดในด้านลบ  ไม่มีการโต้เถียงขัดแย้งกัน  มีเทคนิคในการสร้างวิสัยทัศน์อย่างอิสระ  สามารถนำไปสร้างเป็นเป้าหมายและแผนปฏิบัติงานจริงได้ ด้วยความราบรื่นร่วมกันซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงานของทุกฝ่าย

     เป็นความรู้เรื่องเทคนิคการประชุมเชิงสร้างสรรค์ที่ครู'ฑูรย์ได้รับครั้งกระนั้น และยังคงใช้กับชาวบ้านอยู่ทุกวันนี้แต่เป็นกระบวนการฉบับย่อเนื่องจากเงื่อนไขเรื่องงบประมาณ สถานที่ และเวลา 

     แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้คือได้รู้จักเรื่องราวอดีต-ปัจจุบัน ของชุมชนเกาะยอ รู้จักผู้คน รู้จักวิถีชีวิต รู้จักวัฒนธรรมของชาวเกาะยอ ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจและสามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหา และพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของชุมชน

     ปัญหาแรกของเวที "ค้นหาอนาคตเกาะยอ" คือปัญหาเรื่องผ้าทอของเกาะยอที่มีชื่อเสียงแต่พัฒนากันมาโดยคนหลายรุ่น หลายหน่วยงาน ตั้งกลุ่มหลายครั้ง ล้มกันหลายหน เมื่อได้ข้อมูลจากเวทีนี้คณะเราพร้อมกับชาวชุมชนขับเคลื่อนเรื่องผ้าทอเกาะยอเป็นเรื่องแรก โดยประสานเชิญผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์เรื่องผ้า อาทิ คุณวิภา ฟู จาก ๑๒ นักษัตริย์ เมืองคอน ป้าปู อ.อัมพร ศรประสิทธิ์ ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มอ.หาดใหญ่ ลุงกริ้ม สินธุรัตน์ ครูสอนทอผ้าชาวเกาะยอ และพวกเราชาว "ศูนย์ศรีเกียรพัฒน์" จนสามารถตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นสำเร็จ ชื่อ "กลุ่มราชวัตถ์" และยังคงดำเนินกิจกรรมกลุ่มด้วยการหนุนเสริมของหลายองค์มาถึงทุกวันนี้

    พูดกล่าวถึงคำว่า "ราชวัตร-ราชวัตถ์" ที่ปรากฏขึ้นบนเกาะยอ คำ ๒ คำนี้มีความหมายต่างกันแบบมีที่มาที่ไป

    "ราชวัตร" คำแรกเป็นชื่อลายผ้าที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติเมืองสงขลาเมื่อปี ๒๔๗๕ ชาวเกาะยอซึ่งเป็นชุมชนที่ทอผ้ามานาน คู่กับชุมชนทุ่งหวัง และชุมชนน้ำน้อย ของสงขลา ได้คัดเลือกสุดยอดของลายผ้าที่ถือว่ามีลวดลายที่สวยที่สุดระดับราชาแห่งผ้าของเมืองใต้(ตามคำบอกเล่าของครูกริ้ม สินธุรัตน์) ถวายแด่ในหลวง ร.๗ ในหลวงตรัสถามว่าผ้าลายอะไรสวยงามนัก ผู้ถวาย(เป็นใครไม่ทราบได้)ได้ทูลว่า เป็นผ้า "ลายยกดอกก้านแย่ง" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ลายคอนกเขา" เนื่องจากว่ามีลายคล้ายลายขนคอนกเขา ซึ่งชาวบ้านสมัยนั้นที่เป็นผู้นิยมใช้เคียนอกอยู่กับบ้าน ผู้ชายใช้พาดบ่าเวลาไปวัด ในหลวง ร.๗ รับทราบข้อมูลแล้วดั่งนั้นจึงพระราชทานนามว่า ราด-ชะ-วัด ซึ่งกลายมาเป็นชื่อลวดลายผ้าของเกาะยอที่เขียนว่า "ราชวัตร" ต่อมาเมื่อครู'ฑูรย์(ผู้เขียน)ได้มาทำการพัฒนากลุ่มทอผ้าคิดหาคำตั้งชื่อกลุ่มเสนอในการประชุมสมาชิกกลุ่ม คำว่า "ราด-ชะ-วัด" เป็นชื่อหนึ่งที่ถูกเสนอและเป็นที่ยอมรับต่อมา และเขียนว่า"ราชวัตถ์" ซึ่งแปลว่า "ราชาแห่งผ้า" ราช=ราชา ,วัตถ์=ผ้า ส่วนคำว่า ราชวัตร ที่เป็นชื่อลายผ้าลายหนึ่งของเกาะยอ น่าจะเขียนผิดแบบไม่เข้าใจความหมายมาแต่ต้น(ครู'ฑูรย์) เพราะ ราช=ราชา , วัตร=กิจ/การกระทำ แปลตรงๆ หมายถึงผ้าที่พระราชาทอ ไม่ได้หมายถึงราชาแห่งผ้า คำนี้น่าจะเขียนผิดมานาน จนไม่มีใครคัดค้าน ครู'ฑูรย์ จึงเสนอกระทู้ค้านให้ปรับเปลี่ยนชื่อใหม่ให้ตรงประเด็น

หมายเลขบันทึก: 429136เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2011 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

กำลังสงสัยเรื่องลายผ้า กับชื่อกลุ่มอยู่พอดีเลยค่ะ ดังนั้น ถ้าเราจะเขียน ลายผ้าราชวัตถ์ อันนี้คงไม่ผิด นะค่ะ หนูอยากทราบจริงๆ ค่ะ เพราะกำลังทำวิทยานิพธ์อยู่ แล้วโดนที่ประชุม ตั้งคำถามมานะค่ะ ถ้าครูฑูรย์จะกรุณา ให้คำยืนยันอีกสักครั้ง จะเป็นพระคุณอย่างสูงค่ะ 

 

เรื่องชื่อลายผ้า "ราชวัตร" ยังหาต้นตอคนจด จารึก ชื่อลายผ้า ว่าราชวัตรไม่เจอว่าเป็นใคร แต่ครั้งครู'ฑูรย์และคณะทำงาน ศูนย์พัฒนาอาชีพ จังหวัดสงขลา "ศรีเกียรตพัฒน์" ได้เป็นกลุ่มคนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาผ้าทอภาคใต้ร่วมกับ กลุ่ม ๑๒ นักษัตร,ศูนย์ส่งเสริมศิลปฯมอ.หาดใหญ่ เมื่อปี ๒๕๔๑ โดยกลุ่มฯของครูฑูรย์รับผิดชอบผ้าทอเกาะยอ ศูนย์ฯมอ.รับผิดชอบผ้านาหมื่นศรี นาโยง ตรัง และ ๑๒ นักษัตร รับผิดชอบผ้ายกเมืองคอน(กลุ่มม่วงปลายแขน ของป้าช้อย) ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่ ๓ ในการฟื้นฟู และพัฒนาผ้าทอเกาะยอ หลังจากมีปัญหาหลายเรื่อง จึงมาจัดกระบวนการร่วมกันกับชุมชน,อบต. สภาวัฒนธรรม ,สื่อมวลชน ฯลฯ จึงเกิดกลุ่มทอผ้า นั่งหารือเรื่องชื่อกลุ่ม หลายๆชื่อแต่มาลงเอยที่ชื่อ กลุ่มราชวัตถ์ ที่มีความหมายว่า เป็นราชาแห่งผ้า เพราะ ราช หรือราชา = ผู้เป็นใหญ่ , พระเจ้าแผ่นดิน วัตถ์ = ผ้า สองคำนี้นำมาสมาธ เข้าด้วยกัน แปลว่า หรือ หมายถึง ราชาแห่งผ้า ดังคำบอกเล่าของครูกริ้ม สินธุรัตน์ ที่เป็นครูสอนลายผ้ามานาน ๖๐ กว่า ปี ครูฑูรย์เองยังเป็นลูกศิษย์ในการเรียนผูกเขาค้นลายผ้า(แต่ได้แค่ ๒ เขา)เพื่อการเรียนรู้ และพอทอผ้าเป็น ครูกริ้มเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการได้มาซึ่งชื่อลายผ้าพระราชทานว่า "ราชวัตร" แต่ไม่ปรากฎหลักฐานการออกหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร

ตอนนี้ผมกำลังค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งชื่อผ้าลายนี้และรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับชื่อผ้าและประวัติครับถ้าจะกรุณาและไม่เป็นการรบกวนช่วยส่งข้อมูลและรายละเอียดที่จารย์มีให้ผมด้วยได้ไหมครับ ตามอีเมลที่แจ้งไว้ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

ด้วยความยินดีครับเท่าที่รู้

น่าจะเป็นราชวัตรมากกว่า เพราะลายเหมือนตารางของรั้วราชวัตร เป็นชื่อลายไทยที่มีอยู่แล้ว เช่นผ้าลายโบราณจากอินเดีย ปัจจุบันยังเห็นขายอยู่ (เป็นผ้าคลุมเตียง มีบ้างใช้ตัดเสื้อ). ลายรั้วเหล็กหล่อจากยุโรปสีแดงของวัดเบญจมบพิตรก็ชื่อว่าลาย “รั้วราชวัตร”

สุรชาติ เจษฎานนท์

จากหนังสือเกาะยอปริทรรศน์ เขียนว่า พ.ศ.2442พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่5) ได้เสด็จประพาสเกาะยอเป็นครั้งที่2 เจ้าเมืองสงขลาสมัยนั้นคือ พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ได้ใช้ท่าเรือบริเวณที่ตั้งโรงอ่าง บ้านสวนทุเรียน หมู่ที่4 เป็นสถานที่รับเสด็จ โดยสร้างพลับพลาให้เป็นที่ประทับชั่วคราว ณ ที่นี้คุณทวดก่ำ ภัทรชนม์ ช่างทอผ้าบ้านสวนทุเรียนได้ทอผ้ายกดอกนำขึ้นทูลเกล้าถวาย พระองค์ทรงโปรดและได้พระราชทานนามลายผ้านั้นว่า "ลายราชวัตถ์" แปลว่าผ้าของพระราชา หรือราชาแห่งลายผ้าเกาะยอ(อนึ่งผ้าลายราชวัตถ์เขียนเป็นผ้าลายราชวัสตร์ก็ได้)

ขอวิธีเหยีบลายนนี้ได้ใหมคะอยากลองค่ะลายสวยมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท