การเขียนเพื่อบล๊อก


บันทึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความ "การใช้ระบบบล็อก GotoKnow.org เพื่อการจัดการความรู้ เขียนจากประสบการณ์ของผู้พัฒนาและดูแลระบบ" โดย ดร.จันทวรรณ น้อยวัน และ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตีพิมพ์ลงหนังสือนานาเรื่องราวการจัดการความรู้ 


การ “ให้” ความรู้และประสบการณ์ผ่านทางระบบบล็อกซึ่งจะนำสู่ผู้อ่านนับล้านคนนั้นจะต้องคำนึงถึงหลักจริยธรรมในการเขียนอย่างจริงจังและเคร่งครัด หลักการเบื้องต้นก็เช่นเดียวกับการเขียนเพื่องานสื่อสารมวลชนทั่วไป คือ เขียนบันทึกบนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่เขียนอ้างอิงถึงข้อพิพาทความไม่ลงรอยใดๆ ที่เป็นการส่วนตัวของผู้เขียนกับผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างที่สำคัญในธรรมเนียมปฎิบัติของการเขียนเพื่อบล๊อกกับจริยธรรมการเขียนเพื่องานสื่อสารมวลชนคือ การเขียนเพื่อบล๊อกนั้นผู้เขียนสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยอาจคำนึงถึงการแสดงความสมดุลของความคิดเห็นทั้งในแง่บวกและแง่ลบ (Balance of Opinions) น้อยกว่าการเขียนเพื่องานสื่อสารมวลชน แต่การคำนึงถึงความสมดุลของความคิดเห็น ซึ่งเป็นมาตราฐานของสื่อสารมวลชนนั้น ไม่ได้ประพฤติปฎิบัติอย่างเคร่งครัดโดยสื่อสารมวลชนบางกลุ่ม ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้ที่ทำความรู้จักกับบล๊อกไม่สามารถเข้าใจความแตกต่างของรูปแบบการเขียนสองประเภทที่ต่างกันได้


การเน้นคุณภาพงานเขียนของทุกบันทึกก็เป็นส่วนสำคัญ เช่น ตรวจสอบการสะกดคำก่อนตีพิมพ์บันทึกนั้นลงในบล็อก ส่วนหลักอื่นๆ ก็เช่น เมื่อมีการใช้ข้อความ รูปภาพ หรือสื่อต่างๆ จากแหล่งอื่นจะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาและลิงค์ที่อยู่อย่างชัดเจน ส่วนในเรื่องการแสดงความคิดเห็นนั้น หากผู้เขียนบล็อกไม่เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นที่ผู้อ่านเสนอมาในบล็อก เจ้าของบล็อกก็ควรแสดงข้อคิดเห็นตอบกลับโดยความเคารพในข้อคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยไม่นำมาเป็นเรื่องส่วนตัว แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรลบข้อคิดเห็นของผู้อ่านอย่างไม่มีเหตุผล ยกเว้นเป็นข้อคิดเห็นที่สร้างความปั่นป่วนต่อผู้เขียนบล็อกและผู้อ่านท่านอื่น


เนื่องจากบล็อกเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ประเทศไทย ทีมงานพบว่าผู้เขียนบล็อกหลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าบล็อกเป็นเสมือนเว็บบอร์ดที่มีผู้ดูแลระบบเป็นผู้จัดการทุกๆ อย่าง จึงทำให้ผู้เขียนบล็อกละเลยการดูแลความน่าอ่านความสะอาดตาของบล็อก (Look-and-Feel) ของตนเอง เช่น การไม่ลบทิ้งบันทึกที่ไม่ใช้งาน หรือ การไม่ลบทิ้งข้อคิดเห็นที่สร้างขึ้นมาเพื่อทดสอบ
อันที่จริงแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า บล็อกคือเว็บไซต์อันเป็นแหล่งความรู้ที่ผู้เขียนบล็อกสร้างขึ้นเองและพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้นี้สู่ผู้อื่น ดังนั้น ผู้เขียนบล็อกจึงมีสิทธิเต็มที่ในการบริหารบล็อกเองตามเห็นสมควร ซึ่ง GotoKnow.org ได้ให้บริการเครื่องมือในการบริหารบล็อกสำหรับผู้เขียนบล็อกแต่ละบล็อกอยู่อย่างพร้อมเพียง แต่อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาใดๆ ในการใช้บริการ GotoKnow.org ผู้เขียนบล็อกสามารถติดต่อผู้ดูแลระบบที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ใช้และพัฒนาและดูแลระบบโดยรวมได้ตลอดเวลาที่ http://gotoknow.org/contact

คำสำคัญ (Tags): #บล็อก
หมายเลขบันทึก: 4288เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2005 12:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2015 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ได้อ่านข้อบทความนี้ แล้วในส่วนที่ ดร.จันทวรรณ ส่งมาให้ผม เพื่อนำบทความลงตีพิมพ์ในหนังสือ

"นานเรื่องราวการจัดการความรู้"

ซึ่งผมคิดบทความ ที่นำมาลงบล็อคนี้ ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความเข้าใจกับผู้ใช้บล็อคได้เป็นอย่างดี ผมว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บล็อคหลายๆคนนะครับ

ปล.ผมอ่านบทความที่ ดร.จันทวรรณ ส่งมาให้อ่านแล้ว ผมว่าเขียนดีมากเลยครับ.

ขอบคุณคะคุณแขก

ผมจะใช้เป็นคู่มือในการเขียนต่อไปครับ ขอบพระคุณครับ
เข้ามาอ่าน เผื่อจะได้ความรู้เกี่ยวกับเว็บบล็อกบ้าง  ทดลองใช้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท