ประวัติเมืองสงขลา (2) น้ำเซาะทราย


พรายน้ำ ไม่ใช่ผีพราย ผีทะเลอะไรที่ไหน แต่เป็นจุดสว่างสีฟ้าจางๆ บนหาดทรายที่โน่นที่นี่ อธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ ว่าเกิดจากการเรืองแสงของฟอสฟอรัส

เงือกทองอยู่คู่หาดสมิหลามาสี่สิบกว่าปีแล้ว แต่ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งคงเพิ่งเกิดไม่นานมานี้ หลักฐานที่เห็นได้ชัดคือ ต้นสนริมหาดที่ทยอยล้มลง จนทางเทศบาลต้องติดป้ายเตือนนักท่องเที่ยวให้ระวังต้นไม้ล้ม

มันกัดเซาะเข้ามาด้วยอัตราเร็วอย่างเห็นได้ชัด เร็วจนน่ากลัว ในที่สุดการเล่นกีฬาชายหาดก็ต้องยุติไป ชายหาดโดนกัดเซาะเข้ามาถึงถนนชลาทัศน์

ถนนสายนี้มีอายุไม่นานเท่าไหร่ เลียบริมหาด เชื่อมเขาเก้าเส้งกับแหลมสมิหลาเข้าด้วยกัน ก่อนหน้านั้น คนสงขลาเมื่อสามสิบปีก่อนหากจะเดินทางจากตัวตลาดสงขลาไปเที่ยวเขาเก้าเส้ง ก็ต้องอาศัยถนนไทรบุรี ถนนเก่าแก่ประจำเมืองสงขลาที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4

ก่อนถึงโรงพยาบาลประสาทและสามแยกสำโรง ก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเก้าแสน ตรงเข้าไปไม่ถึงกิโลก็จะถึงชุมชนเก้าเส้ง แถวนี้แหละชายหาดมีลักษณะโค้ง และโดนคลื่นกัดเซาะอย่างรุนแรง แม้ทางเทศบาลจะนำก้อนหินขนาดใหญ่มาวางกันไว้ แต่เลยเขตก้อนหินเหล่านี้ไป ชาดหาดก็ยังคงค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ

ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ เวลาออกจากบ้านแถวถนนทะเลหลวง ที่เรียกกันว่าย่านวชิรา เพื่อไปเล่นน้ำทะเลตอนเย็น ถนนทะเลหลวงจะผ่านหน้าโรงเรียนวชิรานุกูล แล้วไปสิ้นสุดที่หน้าสถานีทหารเรือสงขลา (ฐานทัพเรือสงขลาในปัจจุบัน) จากนั้นจะบังคับเลี้ยวซ้ายไปตามถนนราชดำเนินนอก จึงไม่มีถนนตรงไป ต้องเดินลุยทรายไปอีกราวครึ่งกิโลเมตรจึงจะถึงริมทะเล ด้านซ้ายมือเป็นรั้วของศาลเด็ก ส่วนขวามือก็เป็นรั้วสถานีทหารเรือ

ตกค่ำวันหนึ่ง พี่ชายกับเพื่อนๆ ชวนกันเดินออกไปที่ชายหาดพร้อมถังน้ำสังกะสีมีหูหิ้วและไฟฉาย ส่วนผมก็ติดสอยห้อยตามไปด้วย ไม่มีโอกาสอย่างนี้บ่อยนัก ชายหาดกลางคืนน่ากลัวเกินไปที่จะออกไปเดินคนเดียว

จับปูหินนั่นเอง เข้าใจผิดเรียกปูลมอยู่นาน ปูวิ่งออกมาจากรูเต็มชายหาดตอนกลางคืน ต้องอาศัยความไววิ่งให้เร็วกว่าปู และจับให้ได้ก่อนหนีลงรู ผมจับได้สองตัว โดนปูหนีบมือทั้งสองครั้ง เลยเลิก คอยทำหน้าที่ส่องไฟฉายอย่างเดียว

ไม่นานก็ได้ปูเต็มถังน้ำ พร้อมกับเดินถึงโค้งเขาเก้าเส้งโดยแทบไม่รู้ตัว รวมไปกลับห้ากิโล ปูที่ได้เอากลับมาชุบแป้งลงกระทะน้ำมันร้อนๆ กลางดึก อร่อย แม้ปูหินจะเป็นปูเนื้อน้อยไปนิด

อีกอย่างที่เป็นภาพแปลกตาของการเดินชายหาดสมิหลาในยามค่ำคืน คือพรายน้ำ

ไม่ใช่ผีพราย ผีทะเลอะไรที่ไหน แต่เป็นจุดสว่างสีฟ้าจางๆ บนหาดทรายที่โน่นที่นี่ อธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ ว่าเกิดจากการเรืองแสงของฟอสฟอรัส ชาวบ้านบอกว่าเกิดจากซากสัตว์ทะเลที่ขึ้นมาตายเน่าเปื่อยอยู่ริมหาดทราย แต่พอเอานิ้วจิ้มควักทรายที่เรืองแสงอยู่ขึ้นมา แสงเรืองๆ ก็หายวับไปจากสายตา ไม่เคยเอากลับมาดูต่อที่บ้านได้สำเร็จ

ภาพเหล่านี้อาจจะไม่หวนกลับคืนมาได้อีก ถ้าหาดสมิหลาและหาดทรายหลายๆ แห่งของภาคใต้ยังถูกคลื่นกัดเซาะหายไปเรื่อยๆ

ยังไม่มีใครให้คำอธิบายได้ชัดเจนว่าเหตุใดปัญหาคลื่นกัดเซาะจึงเกิดขึ้น และเกิดรุนแรงอยู่ในขณะนี้ บ้างก็ว่าเป็นเพราะการก่อสร้างตามแนวชายฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึก เขื่อนกั้นทราย

บ้างก็เกาะกระแส โยนความผิดให้ภาวะโลกร้อน ทำให้ภูมิอากาศแปรปรวน คลื่นลมแรงผิดปกติ

ความพยายามเอาชนะความผันแปรของธรรมชาติเริ่มเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระสอบทรายชั่วคราวหรือแบบฝังลงไปใต้ดินแล้วเอาทรายกลบ ซึ่งต่อมาก็มีสาหร่าย ตะไคร่น้ำมาเกาะเป็นสีเขียว ทำลายทัศนียภาพ

และอีกโครงการที่เป็นความหวังในขณะนี้คือการทำปะการังเทียมเพื่อสกัดคลื่นกระทบฝั่ง...น้ำเซาะทราย

หมายเลขบันทึก: 428556เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2011 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

นึกว่าจะได้ฟังเพลง น้ำเซาะทราย ที่คนแก่ๆชอบ  หุ  หุ

ตอนนี้meepoleก็ยังเรียกว่า ปูลม อยู่ค่ะ แต่ตอนนี้จับไม่ทันแล้ว สามสิบปีก่อนยังพอไหวค่ะ

ไม่แน่ใจว่าที่เห็นคือเรืองแสงหรือสะท้อนแสง เพราะถ้าสะท้อนแสงบนหาดทรายจะเป็น silica ค่ะ

ได้อารมณ์ ความรู้สึก ในอีกบรรยากาศหนึ่ง ที่อาจารย์เล่ามา เสน่ห์สงขลา มีมากมายหลายซอกมุม ชวนอาจารย์ไปเอาสมบัติที่เก้าแสนที่นี้ครับ   http://gotoknow.org/blog/bangheem/264804

ขอบพระคุณอาจารย์ meepole มากครับ ผมคิดว่าที่เคยเห็นในวัยเด็ก คงเป็นการเรืองแสงแบบ phosphorescent กระมังครับ สีออกฟ้า ๆ เย็น ๆ ไม่ได้แวววาวแบบซิลิกา

จำได้ว่าบางครั้ง ถ้าลงไปในทะเลตอนมืด ๆ พอเอามือลงไปแกว่ง ๆ ในน้ำก็เห็นเป็นแสงสว่างออกมาเลยครับ 

เรื่องการเรืองแสงทางชีวภาพนี้น่าสนใจมาก เขาว่าตามส้วมหลุมบางทีก็มีกลุ่มก๊าซเรืองแสงออกมาด้วย ทำให้เข้าใจว่าเป็นผีกระสือ ชอบกินของเน่า แต่ก็ไม่เคยเห็นของจริงด้วยตาสักที

ดีใจมากที่ท่านวอญ่าติดตามอ่านมาหลาย ๆ บันทึกครับ ไปขุดหาสมบัติที่หัวนายแรงกันไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท