แค่กลัว "หญ้า" ถึงกับทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า


เพียงเพราะเรามองว่า ธรรมชาติ เป็น “ความรก” เป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แบบเดิมๆ

ตั้งแต่ผมเรียนวิชาเกษตรสมัยปริญญาตรี สิ่งแรกที่ผมได้รับรู้ ก็คือ การทำลาย

ในสมัยนั้นและก่อนหน้านั้น เรายังยกย่องว่า การทำลายคือการสร้าง

ใครที่ทำลายธรรมชาติมากเท่าไหร่ เป็นคนเก่ง สมควรแก่การยกย่องมากเท่านั้น

โดยการใช้คำว่า “หักร้าง ถางพง” สร้างบ้านแปงเมือง

พยายามสอนให้คนทั่วไปเชื่อว่า ธรรมชาติ เป็นสิ่งเลวร้าย เช่น มองว่า

  • ป่าเถื่อน
  • ขาดความเจริญ
  • ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้
  • ขาดการพัฒนา

แม้แต่เพลงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ยังใช้คำว่า “....เหล่าพี่ชายของเราสร้างมา ฝ่าฟันพงพี....”

ที่สะท้อนถึงวิธีคิดแบบเดิมๆ ว่าธรรมชาติ เป็นสิ่งเลวร้าย ต้องกำจัดให้หมด

แม้แต่ในกฎหมายการถือครองที่ดินยัง “บีบบังคับ” ทางอ้อม ให้คนทำลายป่าเสียก่อน จึงจะมีสิทธิ์ครอบครองที่ดินได้ โดยใช้คำว่า “จัดสรรที่ป่าเสื่อมโทรมให้เป็นที่ทำกินของราษฎร” ที่ทำให้คนที่อยากได้ที่ทำกิน ต้องทำลายป่าให้ “เสื่อมโทรม” เสียก่อน

ความคิดแนวนี้ได้ฝังลึกมาในความคิดของคนในระดับชาวบ้าน ประกอบกับเรามีนักกฎหมายและนักวางแผนการใช้ที่ดินที่แทบไม่เข้าใจความเป็นจริงของสังคมและธรรมชาติ จึงทำให้เกิดการทำลายป่าไม้และทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง ที่เป็นผลเชิงประจักษ์ในระยะกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

แม้วันนี้ เราแทบไม่มีป่าเหลือ แม้ต้นไม้ในไร่นาก็แทบไม่เหลือ เราก็ยังใช้หลักการเดิมที่เคยใช้มาตั้งแต่สมัยธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ คือ

  • ถางป่า ตัดฟันเผา
  • ฉีดยา พ่นสารพิษ
  • ไถ

 

ที่ทำให้เกิดผลในการ

  • ทำลายป่า
  • ทำลายพืช
  • ทำลายสัตว์
  • ทำลายดิน
  • ทำลายน้ำ แหล่งน้ำ
  • ทำลายแหล่งอาหาร
  • ทำลายระบบนิเวศ จนกระทั่งผลที่เกิดกลับมาย้อน
  • ทำลายชีวิตของตนเอง

เพียงเพราะเรามองว่า

ธรรมชาติ เป็น “ความรก” เป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แบบเดิมๆ

ทั้งๆที่ธรรมชาติมีระบบที่พยายามรักษาตัวเอง และช่วยฟื้นฟูสิ่งที่เสื่อมโทรมในทุกมิติ

  • ดินที่เสื่อมโทรม ก็ต้องมีพืชที่เก่งกล้ามากๆ มาช่วยดูแล เรากลับตั้งชื่อเขาว่า “วัชพืชร้ายแรง”
  • 
  • พื้นที่ที่มีพืชเชิงเดี่ยวหรือชนิดเดียวมากๆ ที่จะทำลายระบบนิเวศ หรือระบบนิเวศจะเสียสมดุล ก็จะมีสัตว์ต่างๆ เข้ามาจัดการสร้างสมดุลเสียใหม่ เราก็เรียกเขาว่า “ศัตรูพืชร้ายแรง”

แล้วเราก็พยายามผลิต “สารพิษร้ายแรง เครื่องมือ เครื่องจักรกลขนาดใหญ่” เพื่อมาทำลายล้างระบบกู้ภัยของธรรมชาติ

  • แค่เห็นหญ้าไม่กี่ต้น ก็คิดถึงแต่การพ่นสารพิษ หรือแม้กระทั่งรถไถสารพัดขนาด
  • แค่เห็นแมลง หอย ปู ก็คิดถึงแต่การพ่นสารพิษ
  • ที่ไปเข้าทางของการทำกำไรของนักธุรกิจเกษตร

จนระบบธรรมชาติถูกทำลายอย่างรุนแรงในทุกมิติ

แต่ธรรมชาติก็ไม่เคยยอมแพ้

จะค่อยๆปล่อย “หน่วยกู้ภัย” ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ก็ลองดูซิว่า “ใครจะตายก่อนกัน”

นี่คือสิ่งที่ผมมองเห็นมาตลอดระยะกว่า ๕๐ ปีที่ผ่านมา

ผมจึงกลับมาทำนาแบบไม่ไถ ไม่ใช้สารพิษใดๆ

และวันนี้ผมก็อยู่กับธรรมชาติแบบพึ่งพาอาศัยกัน

ไม่ต้องลงทุนกำจัดระบบของธรรมชาติ ยกเว้นค่าจ้างเกี่ยวข้าว

ผมพยายามทำให้ดู แบบ “คนไม่กลัวหญ้า” เพื่อเราจะได้มีทางเลือกที่จะอยู่ร่วมกันแบบไม่ทำลาย

แต่อยู่อย่างเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

ที่น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าครับ

หมายเลขบันทึก: 428323เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2011 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

แหม  ท่านอาจารย์ครับได้กลิ่นควันจากการเผาเศษไม้ใบหญ้าเข้ามาในห้องคุมสอบเลยครับ

คนงานภารโรงกำลังเผาอยู่หน้าอาคารเรียนนี่เอง

แล้วกัน

เรียนท่านอาจารย์แสวงที่เคารพ

      ฟังแล้วโดนใจวัยรุ่นจริงๆครับผม แต่ความจริงชีวิตมันก็เศร้าสลดใจ  สังคมเราทำให้ "ตัณหาและความบ้าออนไลน์ในใจ"  แล้วบ้านเมือง ประเทศชาติจะเหลืออะไรครับผม ก็ทำลายไปเรื่อยๆ จนจะทำลายไม่ได้ หรือตายก่อนที่จะได้ทำลายหมดเกลี้ยงมั้งครับผม

ด้วยความเคารพครับผม

 นิสิต

 

  • เบื่อก่อน-บุกเบิก
  • ปัจจุบัน-บุกรุก
  • ขอบคุณครับอาจารย์

เห็นด้วยค่ะ  แต่ดิฉันคิดไม่ถึง  คนส่วนใหญ่มักจะทำอะไรแบบตาม ๆ กันไป  มีน้อยคนมากที่กล้าคิดกล้าลองวิธีใหม่ ๆ  สมัยดิฉันเป็นเด็กมีพ่อของเพื่อนคนหนึ่งเก่งมาก  สามารถหาวิธีทำให้สะตอของแกออกฝักนอกฤดูกาลได้  แถมฝักยาวและเมล็ดถี่อีกด้วย  ขายได้ราคาดี  เสียดายลูก ๆ ของแกไม่มีใครเป็นเกษตรกร  เป็นหมอ เป็นนายอำเภอ ฯลฯ

เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แล้วจะมีทุกข์น้อยลงครับ

สวัสดีค่ะ ดร.แสวง รวยสูงเนิน..หากเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติจริงๆ...การเรียนรู้ความเป็นธรรมชาติเวลานี้ได้ถูกทำลาย(ด้วยตัวตน)โดยสิ้นเชิง...เมื่อไม่มีตัวตน..ความทุกข์จึง..สุดสิ้นลง...ยายธีคิดอย่างนั้น...เจ้าค่ะ...

เห็นการเผา..แล้วสะท้อนใจทุกทีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท