เกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน (Oil palm)


เกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน (Oil palm)

ผลปาล์มสดจากเกษตรกรเป็นผลปาล์มทะลาย น้ำหนักตั้งแต่ทะลายละ 5 กก. ถึงทะลายละ 20 กก. กับผลปาล์มที่เป็นผลปาล์มร่วง ผลปาล์มร่วงมีราคาสูงกว่าผลปาล์มทะลาย กก.ละประมาณ 20 สตางค์ เพราะไม่มีน้ำหนักทะลายเจือปนอยู่ด้วย

ผลปาล์มสดที่ส่งถึงโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มต้องมีลักษณะสุก สด และสมบูรณ์ หลังจากตัดจากต้นปาล์มแล้ว ควรจะต้องส่งถึงโรงงานภายใน 24 ชั่วโมง มิฉะนั้นอาจเสื่อมคุณภาพเพราะสภาพความเป็นกรดที่สูงขึ้นในผลปาล์ม

ผลปาล์มสดของเกษตรกรเมื่อถึงโรงงานสกัดน้ำมันจะถูกอบนึ่งด้วยความร้อนจาก หม้อไอน้ำ แล้วผ่านเครื่องจักรบีบคั้นออกมาเป็นน้ำมันปาล์มดิบมีชื่อเรียกว่าน้ำมันCPO (Crude Palm Oil)

ใน CPO ประกอบด้วยส่วนผสมที่สำคัญ คือไขปาล์ม เรียกว่า Palm stearin กับส่วนที่เป็นน้ำมันใสเรียกว่า Palm olein CPO ที่แยกไขแล้วเรียกว่า น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ หรือ Super CPO

Super CPO ที่ผ่านขบวนการฟอกสีและกำจัดกลิ่นแล้ว เรียกว่าน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ซึ่งใช้
เป็นน้ำมันพืชปรุงอาหาร(ปัจจุบันมีหลายสิบยี่ห้อ) ขายทั้งในรูปบรรจุขวด บรรจุถุงพลาสติก และบรรจุปี๊บ นอกนั้นนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารอื่นๆเช่น มาการีนหรือเนยเทียม เนยขาว น้ำมันปาล์มเติมไฮโดรเจน นมข้นหวาน ไอศกรีม ครีมเทียมและนมเทียม ฯลฯ เป็นต้น

ส่วนไขปาล์ม(Palm stearin)ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น ทำเทียนไขทุกขนาด ทำสบู่ ทั้งสบู่ฟอกร่างกายและสบู่ซักล้าง สบู่ฟอกร่างกายบางชนิดใช้ปาล์มสเตียรีนถึงร้อยละ 40

และน้ำมันเมล็ดในปาล์มอีกร้อยละ 10 นอกจากนี้ยังใช้ในอุตสาหกรรมสีและอื่นๆ อีกหลายสิบชนิด

ปัจจุบันประเทศไทยมีสวนปาล์มน้ำมันประมาณ 3 ล้านไร่ ประกอบด้วยต้นปาล์มแก่ที่กำลังจะหมดอายุจำนวนหนึ่ง ต้นปาล์มหนุ่ม-สาวที่กำลังให้ผลผลิตเต็มที่จำนวนหนึ่ง และต้นปาล์มอ่อนทั้งที่เป็นการปลูกใหม่และปลูกทดแทนอีกจำนวนหนึ่ง

ผลผลิตจากสวนปาล์มทั้งหมดถัวเฉลี่ยประมาณ 2.5 ตันต่อไร่ต่อปี นั่นคือ มีผลปาล์มสดทั้งสิ้นประมาณ 7.5 ล้านตันต่อปี สามารถสกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบได้ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อไร่ต่อปี และมีส่วนที่ผลิตเป็นน้ำมันพืชหรือน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ประมาณ 1.2-1.3 ล้านตันต่อปี

นอกนั้นเป็นตลาดน้ำมันพืชอื่น เช่นน้ำมันละหุ่ง รำข้าว ทานตะวัน ถั่วเหลือง และอื่นๆ

โรงงานเกี่ยวกับน้ำมันปาล์มในภาคใต้เกือบทั้งหมดเป็นโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบหรือCPO


CPO หรือน้ำมันปาล์มดิบ ที่สกัดจากจากโรงงานในภาคใต้ต้องส่งไปกลั่นยังโรงงานรีไฟร์ที่อยู่ในจังหวัด ภาคกลางเช่น จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ รวมทั้งในกรุงเทพมหานคร โดยทางเรือและโดยรถยนต์ขนส่งน้ำมัน

น้ำมันปาล์มดิบที่ส่งมาจากภาคใต้จะถูกกลั่นเป็นน้ำมันพืชออกสู่ท้องตลาดได้ รวดเร็วมากน้อยแค่ไหน หรือมีการกักตุนเพื่อเล่นราคาตามภาวะตลาดแค่ไหน ล้วนอยู่ในขบวนการในส่วนกลาง ไม่ใช่ภาคใต้

ผลผลิตปาล์มน้ำมันโดยปกติจะมีปริมาณแตกต่างกันมากในแต่ละฤดูกาล เดือนที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันน้อยที่สุดมีผลผลิตเพียงประมาณร้อยละ 10-20 ของเดือนที่มีผลผลิตมาก

วงจรการค้าจะเป็นไปได้ตามปกติต่อเมื่อในเดือนที่มีผลผลิตมาก จะต้องมีโรงกลั่นสำรอง
น้ำมันดิบไว้ใช้ในฤดูกาลที่ผลผลิตน้อย แต่ที่ผ่านมามีการสำรองน้ำมันเพียงส่วนน้อยใน
เดือนที่ผลผลิตมากเพื่อกดดัน ราคาผลปาล์มสดให้ตกต่ำ ครั้นถึงช่วงฤดูกาลที่ผลผลิตน้อยกลับอ้างความขาดแคลนขออนุญาตนำเข้าน้ำมัน ปาล์มจากต่างประเทศ

ประเทศมาเลเซีย มีกฎห้ามการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ หรือ CPO เพื่อสงวนไขปาล์มและ
กรดปาล์มไว้ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นในมาเลเซีย และเพื่อมิให้ประเทศอื่นมีปาล์มสเตียรีน
มากพอจะเป็นคู่แข่งขันกับมาเลเซีย ได้

น้ำมันปาล์มดิบ(CPO)จากมาเลเซียที่นำเข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่าโดยการลักลอบนำเข้า หรือตามโควตาที่รัฐบาลอนุมัติให้นำเข้า ล้วนเป็นน้ำมันในรูปกึ่งบริสุทธิ์ หรือ Super CPO คือน้ำมันปาล์มดิบที่แยกไขแล้วแต่ยังไม่ได้ฟอกสีและกำจัดกลิ่น เพื่อให้โรงกลั่นที่นำเข้าฟอกสีและกำจัดกลิ่นให้เป็นน้ำมันพืชบริสุทธิ์เอง

เหตุที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการนำเข้าน้ำมันปาล์มตามโควตาล่าช้า เพราะไปกำหนด
ซื้อน้ำมันปาล์มดิบหรือ CPO ที่มาเลเซียห้ามส่งออก จึงเพิ่งมาปรับแผนเป็นซื้อน้ำมัน Super CPO เมื่อการขาดแคลนในประเทศเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางไปเสียแล้ว

สาเหตุสำคัญในการขาดแคลนน้ำมันพืชบริสุทธิ์ในขณะนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำมันปาล์มที่
พอดีกับการผลิตและบริโภค ถูกดึงส่วนหนึ่งไปใช้เป็นพืชพลังงาน

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีโรงงานไบโอดีเซลภายใต้นโยบายรัฐบาลเกิดขึ้นจำนวนมาก ยิ่งมีการปรับสูตรน้ำมันดีเซลให้ใช้ส่วนผสมจากน้ำมันพืชมากขึ้นจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 3
และกำลังจะปรับเป็นร้อยละ 5 ทำให้น้ำมันปาล์มไม่น้อยกว่าปีละ 2-3แสนตัน ถูกดึงไปใช้เป็นน้ำมันพลังงาน และอาจมีบางส่วนถูกกักตุนไว้ในมือของโรงงานไบโอดีเซลบางแห่ง

โดยเฉพาะน้ำมันสำรองแสนกว่าตันที่เคยเก็บไว้เพื่อบริโภคในเดือนขาดแคลน น่าจะไปอยู่ในความครอบครองของโรงงานผลิตน้ำมันพลังงาน จึงเกิดเป็นภาวะขาดแคลนจนเป็น
ปัญหาอยู่ในขณะนี้

ภาคใต้เป็นแหล่งผลิตผลปาล์มสดและน้ำมันปาล์มดิบ แต่ขบวนการในภาคใต้แก้ไขปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำมันพืชเพื่อบริโภคไม่ได้หรอก ครับ เพราะภาคใต้ไม่ใช่แหล่งผลิตน้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เพื่อการบริโภค

(สรุปจาก -พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล-http://www.naewna.com/news.asp?ID=250424) (24ก.พ.54)

คำสำคัญ (Tags): #ชยพร#การเกษตร
หมายเลขบันทึก: 428151เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2015 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท