๗๐๓. ปราชญ์ชาวบ้านยุคใหม่


               "การทำนา"เป็นอาชีพของบรรพบุรุษไทย  ที่มีวิธีการทำสืบต่อกันมา  ในการทำนาเพื่อได้ข้าวมาเลี้ยงครอบครัว  บางคนทำเพื่อจำหน่าย  ชาวนาจึงมีการเรียนรู้และพัฒนาด้วยเทคนิควิธีการใหม่  รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการผลิตเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต  รวมท้ังการรักษาความปลอดภัยในชีวิตที่ได้รับผลกรทบจากการใช้ยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้า 

 

             การนำเมล็ดพันธุ์ข้าว ๑ ชุดมาเพาะปลูกสามารถทำได้ประมาณ ๓-๔ รุ่น  หากปลูกมากกว่านี้ข้าวอาจกลายพันธุ์ได้  ชาวนาจึงประสบปัญหาการขาดเมล็ดพันธุ์  จึงต้องมาเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์โดยวิธีการทำนาดำ  และบำรุงต้นข้าวด้วยวิธีทำนาแบบกึ่งปราณีตทดแทนการทำนาหว่านที่เปลืองเมล็ดพันธุ์และได้ผลผลิตน้อย 

 

        การผลิตเมล็ดพันธุ์  จึงมีความจำเป็นในการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว  เพื่อให้ได้เมล็ดที่สมบูรณ์  จะทำให้ต้นกล้าแข็งแรง  มีความต้านทานโรคและแมลง และมีปริมาณผลผลิตดีด้วย 

 

         วิธีการคัดเมล็ดพันธุ์  สามารถทำได้โดย "คัดเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยน้ำเกลือ" ซึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์จะลอยระดับผิวน้ำ  ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์จะจมอยู่ก้นภาชนะ 

          การผลิตเมล็ดพันธุ์ทำได้ ๒ วิธีคือ การทำนาหว่านในน้ำตมและการทำนาดำ  ซึ่งมีข้อแตกต่างกันดังนี้ 

 

           "การทำนาหว่าน"  ประหยัดแรงงานรวดเร็ว  ข้อดี เหมาะกับผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์หลายครั้งต่อปี  และไม่เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว  ข้อเสีย เปลืองเมล็ดพันธุ์  มีวัชพืชปกคลุม ถูกศัตรูพืชทำลาย และได้เมล็ดข้าวดีดข้าวเด้ง มีผลผลิตดังนี้

            หว่านเมล็ดข้าวลงดิน  ๑  เมล็ดได้ผลผลิตต้นข้าว  ๔  ลำ 

            ต้นข้าว ๑ ลำให้รวงข้าว ๑ รวง ๆ ละ ๑๐๐  เมล็ด

            มีผลผลิต  ๔๐๐  เมล็ด

 

          "การทำนาดำ"  ประหยัดเมล็ดพันธุ์  แก้ปัญหาข้าวดีดเด้ง  ลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง  ลดการจัดการแปลงนาหลังปักดำง่าย เหมาะกับนาที่เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว  มีผลผลิตดังนี้

             เมล็ดพันธุ์  ๑ เมล็ดได้ต้นข้าว ๑ กอ 

             ต้นข้าว ๑ กอได้ลำข้าว  ๒๐  ลำ 

             ต้นข้าว ๑ ลำได้ข้าว ๑  รวง  แต่ละรวงให้ข้าว  ๑๒๐  เมล็ด 

             จากเมล็ดพันธุ์ ๑ เมล็ดจะได้ผลผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ ๒๔๐๐  เมล็ด

 

          ลุงสุกัน  ธนูแก้ว  ผู้นำชุมชนบ้านวังเย็น จังหวัดแพร่เล่าว่า  "เดิมทำนาเพียง ๕ ไร่ได้ผลผลิตเฉพาะนำมาเลี้ยงครอบครัว  ซึ่งครอบครัวมีนาถึง ๔๐ไร่ต้องทิ้งร้างว่างเล่า  ขาดแคลนแรงงาน  หากจะจ้างคนมาช่วยทำนามีแต่คนสูงอายุ  เพราะคนวัยหนุ่มสาวไปทำงานในเมืองกินเเงินเดือน" 

         ต่อมาได้รับการดูแลจากกรมวิชาการการเกษตร และกรมการข้าวได้นำเครื่องมือมาให้ทดลองทำนา ๔๐ ไร่ได้สำเร็จ  ลุงสุกัน ธนูแก้ว จึงได้รับการยกย่องให้เป็น "ปราชญ์ชาวบ้านยุคใหม่

       ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวเห็นความสำคัญจึงให้ความสนใจทำการทดลองดำนาด้วยเครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่  ๒๐๐  ไร่และทดลองต่อในปีที่ ๒  ผลการทดลองพบว่าเป็นการ "ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต" จริง  ชาวนาจึงหันมาใช้เครื่องทุ่นแรงและเทคโนโลยี่สมัยใหม่กัน 

 

           คุณลุงชาวนาบ้านปากโทก  พิษณุโลกท่านหนึ่งเล่าว่า "มีที่นาจำนวน ๖๐ ไร่  ทำด้วยตนเองไม่ไหวต้องจ้างคนทำนา และไม่ได้ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีแต่อย่างใด ได้ผลผลิตนับเป็นรายได้จากหักค่าใช้จ่ายแล้วเป็นเงินประมาณ ๖๐๐๐๐ - ๘๐๐๐๐ บาทต่อรอบผลผลิต" 

 

          ส่วนผลผลิต "การทำนาดำ" ที่ได้มาจากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะได้ผลผลิตไร่ละ ๙๐๐ - ๑๐๐๐  กิโลกรัม  ราคากิโลกรัมละ ๑๐ บาทเป็นเงิน ๙๐๐๐ - ๑๐๐๐๐  บาทต่อไร่  ผลผลิต ๖๐ ไร่จะได้ผลผลิตโดยประมาณ ๕๔๐๐๐ = ๖๐๐๐๐ กิโลกรัมเป็นเงิน ๕๔๐๐๐๐ - ๖๐๐๐๐๐  บาท  เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ ๒๐๐๐๐๐  บาท  จะมีรายได้สุทธิไม่ต่ำกว่า ๓๔๐๐๐๐ - ๔๐๐๐๐๐ บาทต่อรอบผลผลิต  

 

          ชาวนาที่มาเรียนรู้ครั้งนี้ส่วนมากมาจากกลุ่มสหกรณ์และกลุ่มผู้นำชุมชน  และเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์มากกว่าผลิตข้าวเพื่อจำหน่าย  และเป็นผู้อ่อนอาวุโสจำนวนมาก  ทำให้เกิดความรู้สึกที่ภูมิใจว่าอาชีพการทำนาไม่ได้ลดความสำคัญลงเหมือนที่เราเข้าใจเพียงผิวเผิน 

 

         ส่วนการเรียนรู้ของฉัน "ฉันได้รับความรู้เรื่องการทำนาดำมีผลผลิตมากกว่าการทำนาหว่าน"  ฉันจะนำความรู้เหล่านี้ไปถ่ายทอดบอกต่อ  และแนะนำชาวบ้านที่บ้านนอกต่อไป  แม้ว่าเขาจะทำนาเพื่อเลี้ยงครอบครัวก็ตาม  หากจะใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิต  ควรมีการรวมกลุ่มของผู้ผลิตและพึ่งพานักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญการเกษตรมาช่วยให้ความรู้และดูแล 

        ขอขอบคุณต้นกล้าและทีมงานเป็นอย่างมาก  ที่ให้โอกาสไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกับกลุ่มชาวนาในครั้งนี้

 

 

หมายเลขบันทึก: 428102เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011 06:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)
  • บันทึกนี้ดีจังนะคะพี่ครู

 

สวัสดีค่ะ✿อุ้มบุญ✿

ดีอย่างไร....ต้องบอกด้วยดิ

วันืี่พี่คิมไปเรียนรู้กับน้องต้นกล้าไงคะ  ต่อจากบันทึกเมื่อวานค่ะ

ขอขอบคุณน้องโอที่มาให้ดอกไม้เป็นคนแรก  ชื่นใจจังค่ะ

ทำนาดำได้ผลดีมากกว่านาหว่าน

แล้วการทำนาแบบโยนกล้า

จัดอยู่ในประเภทนาดำใช่ไหมครับครู

มีที่นาหนึ่งแปลง ๒ ไร่แม่ให้มรดก อนาคตเตรียมเป็นชาวนาครับ สวนยางเขาทำหมดแล้ว คงพออยู่พอกินหลังเกษียณนะครับพี่ สบายดีไหมช่วงนี้เนตล่มบ่อยๆ ปลายกลับจากฝึกงานเขายึดพื้นที่คืน เลยนานๆจะได้ใช้

สวัสดีค่ะอาจารย์โสภณ เปียสนิท

การทำนาดำแบบโยนกล้า  กำลังจะเล่าต่อไปในบันทึกหน้าค่ะ ผลผลิตก็ต่ำกว่านาที่เขาสาธิตในวันนั้นมากค่ะ

เพราะการโยนกล้า  ทำให้รากช้ำ และต้นกล้าแก่เกินไปด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ ผอ.พรชัย

นา ๒ ไร่ หากทำนาดำ และทำถูกวิธีที่เขาแนะนำจะได้ผลผลิตไร่ละ  ประมาณ ๑๐๐๐๐  บาท  ปีละ ๒ รอบก็ได้ ๒๐๐๐๐  บาท

เหลือกินเหลือใช้ในครอบครัวค่ะ  หวังว่าทุกคนคงสบายดีนะคะ

Yes!

มันคือ นวัตกรรมทางสังคม หรือผมให้อีกคำ

Social & Environmental Benefit

  • ขอขอบคุณข้อมูลนี้มากนะครับ
  • เป็นประโยชน์ต่อการเกษตรมากเลยครับ
  • ที่บ้านผมเป็นนาดำ
  • แต่ใช้การลงแขกกันครับ
  • พี่สบายดีนะครับ

เรียนพี่คิม เจ้าของบันทึก

ต้องขอขอบคุณพี่คิมที่สละเวลา มาเรียนรู้กับทีมงานคนหนุ่ม (อย่างพี่ว่าไว้บันทึกก่อนครับ)

ขอเพิ่มเติม

"นาดำ" เป็นศาสตร์ที่มีการศึกษา อธิบายได้ด้วยเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์ และการจัดการในเเปลงนาที่เป็นระบบ มีการพัฒนา จากรูปแบบตีตารางปลูก ในยุคที่แรงงานเหลือเฟือ มาเป็นการปักดำด้วยเครื่องปักดำ รองรับการขาดเเคลนแรงงานในการเพาะปลูก อย่างจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี - ว่า ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สุด

"นาดำ" เป็นการใช้ศักยภาพของต้นข้าว และทรัพยากรทางธรรมชาติ อย่างเข้มข้น โดยใช้เครื่องมือ ช่วยอำนวย

ต้นข้าวได้รับการอนุบาลในถาด ดูแลได้ทั่วถึง (สังเกตุพันธุ์ปน และการงอกได้ง่าย) ถัดมาเอาไป ปักดำ ในดิน(ไม่ใช่โตบนดินเหมือนนาหว่าน)  ต้นข้าว สามารถแตกกอได้ จาก 1 ต้น เป็น 20 ลำ (กำไรจากการทำนาดำ) จัดเเถวต้นข้าวตามแนว ทางขึ้นลงของตะวัน ต้นข้าวจะไม่เบียดบังแสงกันเอง ครับ (ใช้ทรัพยากรแสงเพื่อการเพิ่มผลผลิต)

ต้นข้าวจึงได้รับแสงเต็มที่ อากาศถ่ายเทได้ดี สุขภาพต้นข้าวก็แข็งแรง ต้านทานโรคเเมลง

เพิ่มขึ้นครับ

ส่วนประเด็นของอาจารย์โสภณ ขออนุญาต ตอบอย่างนี้ครับ

"นาโยนกล้า" เป็นการปลูก "แบบสุ่ม" หรือ "สะเปะสะปะ"  ไร้ระเบียบ เหมือน "นาหว่าน" ครับ ต่างกันตรงที่ จากหว่าน เมล็ด เป็นหว่านต้นกล้า เล็ก ลงไปในนาแทน

มองในแง่การจัดการ -> 

1.จัดการจำนวนต้นกล้า ความสม่ำเสมอ ระยะห่างระหว่างต้น ระหว่างกอ ไม่ได้

2.ทำให้จัดการแสงเเดดให้ทั่วถึงต้นข้าว ไม่ได้  

3.กรณีมีหญ้า ขึ้น(ดินดีหญ้าต้องขึ้นอยู่แล้ว) จัดการหญ้าในนา ด้วยเครื่องมือกล(Rotary weeder) ก็ไม่ได้  

4."นาโยนกล้า" เป็นวิธีการปลูก ที่จำกัด ทางเลือกในการจัดการโดยตัวมันเอง จึงยังต้องใช้แรงงาน  ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า และกำจัดแมลง อีกต่อไป ->ตกลงว่ามันดีกว่าเดิมอย่างไร

ผมมองการทำนา ว่าต้อง "คิดก่อนทำ" ไม่ใช่ "ทำ" แล้วไปคิดแก้ไขกันต่อในเเปลงนา มันเสียเวลา เสียสุขภาพ และก็ไม่ได้พัฒนากันจริงๆ ครับ  

การทำ "นาดำ" ถือว่าเป็นการ  "ลงทุน เพื่อลดต้นทุน" ก็ต้องคิดคำนวณ กันต่อครับ คนเดียวไม่คุ้มทุน ก็เป็นรูปแบบการจัดการภายในกลุ่มครับ    

ขอบคุณครับ

 

 

พี่คิมกลายเป็นชาวนาตั้งกะเมื่อไหร่กันนี่...แม่เจ้า

เพิ่งเติมเต็มจากบันทึกนี้แหละค่ะว่า"ผลผลิต"จากนาดำ  ได้มากกว่านาหว่าน

แต่เท่าที่เคยสังเกตเห็น  เขามักจะหว่านก่อนแล้วพอได้ต้นกล้าพอใช้ได้

ก็จะถอนมาดำกัน  บางที่ก็ใช้วิธีลงแขก บางที่ก็ใช้วิธีจ้าง แล้วแต่เจ้าของนานะคะ

มีความสุขทุกวันค่าพี่คิม...

ขอบคุณค่ะ..พี่สนใจมาก แม้ไม่เคยทำนา..จะตามอ่านต่อค่ะ..

                     โครงการแกนนำป้องกันยาเสพติด ส.ว. ๓

    รร.นวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล กรุงเทพมหานคร

       โครงการรางวัลดีเด่นจากโครงการเธอคือแรงบันดาลใจปี ๒

           http://gotoknow.org/blog/nongnarts/425508

สวัสดีค่ะพี่คิม

  • เรื่องของชาวนา เป็นที่ยิ่งใหญ่ เขียนถึงทีไร ก็ได้ใจทีนั้น
  • แน่นอนค่ะ นาดำ  ได้  ผลผลิตมากกว่านาหวานค่ะ
  • แต่เหนื่อยมากค่ะ  การดำนา  ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยค่ะพี่คิม
  • ครูอิงเคยตามแม่ไปดำนา 2 ครั้งได้กระมังคะ แค่เดินลงไปในโคลน ก็หนักแล้ว
  • หนักเท้า ก้าวย่างไม่ไหว สุดท้ายแม่บอกว่า  ไม่เอาครูอิงไปนาแล้ว ขี้เกียจหิ้วข้าวห่อไปให้กิน อิ..อิ..อิ...
  • ก็ไปเรียนหนังสือในเมืองตั้งแต่เล็ก ๆ แต่ก็ซึมซับอาชีพชาวนาได้เต็มตัวค่ะ
  • พี่คิมคะ บันทึกของพี่คิม เป็นแบบทูอินวันอีกแล้ว
  • อ่านเม้นท์ของน้องต้นกล้าแล้ว ก็เทียบเท่ากับการอ่านบันทึกอีก 1 บันทึกเลยหล่ะค่ะ

สวัสดีค่ะอ้ายต๋อง ใจ๊หัวออกแฮง

ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ  มีอะไรที่น่าเติมเต็ม  กรุณานำมาแลกเปลี่ยนกันนะคะ  พี่คิมก็จะได้เรียนรู้ไปด้วยค่ะ

ขอขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะชยพร แอคะรัจน์

อาจารย์สบายดีนะคะ  หายหน้าไปนานเลยค่ะ

เข้าไปอ่านบันทึกของอาจารย์เหมือนกันแต่ไม่มีช่องให้เม้นท์ค่ะ

เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่านำมาเผยแพร่จึงมาเขียนเล่าผ่านบันทึกค่ะ ขอขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ขจิต ฝอยทอง

สบายดีค่ะ ขอขอบคุณ

หมายความว่าบ้านอาจารย์ขจิตยังไม่ขาดแคลนแรงงานนะคะ  ตอนนี้เกษตรกรออกมายืนยันแล้วว่าการใช้รถดำนามีผลผลิตมากกว่าการดำนาปกติ

พี่คิมว่าเหมาะสำหรับการทำนาเพื่อเศรษฐกิจน่าจะดีกว่าค่ะ

สวัสดีค่ะต้นกล้า

รักษาสุขภาพไว้ให้ดีนะคะ  เพราะชาวนาไทยยังต้องการความช่วยเหลืออีกเยอะเลย  ขอขอบคุณที่มาเติมความรู้ให้กับผู้อ่าน

วันอาทิตย์เจอกันค่ะ

สวัสดีค่ะkrugui Chutima

พี่คิมก็เพิ่งจะเข้าใจค่ะ ว่าทำนาอย่างไรกัน  ไปดูเขาสาธิตแนะนำทำให้มองเห็นกระบวนการทำนาว่าแบบไหนดี แบบไหนพัฒนาค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ใหญ่นาง นงนาท สนธิสุวรรณ

น่าสนใจมากค่ะ หากมีการสอนกันแบบนี้ในโรงเรียน  ตั้งแต่ระดับประถมมาก็นับว่าเป็นเรื่องดีนะคะ

สวัสดีค่ะอิงจันทร์

พี่คิมถ่ายทอดเฉพาะที่เข้าใจค่ะ  วันอาทิตย์จะไปหาชาวนากลุ่มพัฒนาการปลูกข้าวตัวจริง  คงจะได้ความรู้มาแบ่งปันอีกเยอะเลยค่ะ

รอติดตามอ่านนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท