คิดเรื่องงาน (65) : ความสุขที่สร้างจากความเป็นทีม


ผมเชื่อใน “ความเป็นทีม” เชื่อว่าความเป็นทีม จะสร้าง “ความสุข” ให้กับ “สมาชิกในทีม” ได้

ในการทำงานแต่ละครั้ง  ผมเชื่อว่า ความสุข คือตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุด...
อันหมายถึง ความสุขของคนทำงาน ความสุขของคนเข้าร่วมงาน และความสุขขององค์กรภายใต้นิยามความเป็น "ทีม"

....

หลังเสร็จสิ้นเวทีการถอดบทเรียนที่กรุงเทพฯ และอุดรธานี (วันที่ ๑๗-๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔)  ผมก็รีบตรงดิ่งมาเป็นวิทยากรจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (knowledge sharing) ในโครงการ “การจัดการความรู้สู่ผู้นำนิสิต” ซึ่งมีขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๙-๒o กุมภาพันธ์  ๒๕๕๔  ณ เฮือนสวนดอนธรรม อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์   

เวทีครั้งนี้มีนิสิตและบุคลากรเข้าร่วมทั้งสิ้น ๕๘ คน  ประกอบด้วยนิสิตที่เป็นแกนนำชาวค่ายจากชมรมต่างๆ ๔๙ คน ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่จากกองกิจการนิสิต ๙ คน 

สำหรับสถานที่ตรงนี้  ถือได้ว่ามีประวัติศาสตร์กับผมและทีมงานมากเป็นพิเศษ เนื่องจากสามถึงสี่ปีคล้อยมา  ผมเคยพาทีมงานหลบมาฝังตัวอยู่ที่นี่สองถึงสามครั้ง  และทุกครั้งก็มาในวิถีกินนอนร่วมกันแบบ “พี่ๆ น้องๆ” (คนบ้านเดียวกัน) โดยมีเป้าประสงค์หลักคือการระดมความคิดสู่การบุกเบิกและนำร่องเรื่องการยกร่าง “ยุทธศาสตร์” ของหน่วยงาน

 

 Large_dsc_2789


ต้องยอมรับว่าจังหวะก้าวคราวนั้นเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเรามาก  ผมเองดูจะเป็นคนเดียวเท่านั้นที่พอจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องยุทธศาสตร์มากกว่าใครอื่น  แต่ก็เป็นการรู้แบบงูๆ ปลาๆ  ทุกอย่างจึงเป็นการมาลงแรงคิดร่วมกัน โดยมีแก่นคิดยึดโยงกันอย่างแน่นเหนียวนั่นคือ “ใจนำพา ศรัทธานำทาง”   

ด้วยเหตุนี้  กระบวนการ หรือแม้แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเสมือนการ “โยนหินถามทาง”  คู่ไปกับการ  “ตีฆ้องร้องชวน” ให้ใครๆ ได้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยแอบหวังอย่างลึกเร้นว่าการเคลื่อนตัวของพวกเราในครั้งนี้  จะกลายเป็นกระแสหลักนำพาไปสู่ความตระหนักในเรื่องของการขับเคลื่อนของ “องค์กร”  อย่างมีทิศทางและมีกระบวนยุทธกันเสียที


 

Large_dsc_0013

 

ครั้งนั้น สถานที่ตรงนี้ยังดูเรียบง่ายและสมถะเอามากๆ มีบ้านทรงอีสานๆ เพียงไม่กี่หลัง ระบบน้ำก็ยังเดินสายยังไม่ทั่วถึง  ห้องประชุมหรืออาคารสำหรับจัดประชุมก็ยังไม่สร้าง แต่ถึงกระนั้นผมและทีมงาน หรือแม้แต่นิสิตก็ยังสัญจรมาใช้บริการที่นี่อยู่บ่อยครั้ง แต่ภายหลังจาก “เฮือนสวนดอนธรรม”  กลายมาเป็นกองถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “ครูบ้านนอก”  ก็กลับกลายเป็นว่าสถานที่ดังกล่าวโด่งดังเป็นพลุแตก มีคนตบเท้าสัญจรเข้ามาใช้ประโยชน์ชนิดคิวยาวเป็นหางว่าว

สำหรับวันนี้  ทั้งผมและทีมงาน จึงมีความรู้สึกไม่ต่างกัน เพราะไม่ใช่แค่มาจัดกิจกรรมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการมาหวนรำลึกความหลังอันทรงพลังของเราด้วยเหมือนกัน

 

Large_dsc_4634

Large_dsc_0924

 

กิจกรรมในครั้งนี้  ผมมาในฐานะของ “วิทยากร” 

ครับ, ที่พูดเช่นนั้นก็ไม่มีเหตุผลใดมากไปกว่าการตั้งใจที่จะมอบหมายให้ลูกทีมได้ทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ โดยไม่จำเป็นต้องติดยึดอยู่ที่ผมเพียงคนเดียว  ซึ่งก่อนการเดินทางไปราชการนั้น  ผมก็เคยได้คุยกับทุกคนอย่างชัดเจนแล้วว่า “ให้ร่วมคิดร่วมทำ..อยากทำอะไรก็ลองคุยกันและออกแบบกิจกรรมร่วมกัน” 

 

วิธีการแบบนี้  ผมเรียกเองว่า “โยนระเบิดให้ลูกน้องได้ช่วยกันเก็บกู้ฯ"

 

Large_dsc_0057

 

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน   ผมมอบแนวคิดหรือประเด็นการทำงานไว้แบบกว้างๆ  เพื่อให้ทุกคนเทใจมาลงแรงคิดร่วมกัน 

และครั้งนี้ผมมอบงานนี้ให้กับเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่ง ด้วยหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะเป็นกระบวนการที่ขับให้เขาได้เปิดพื้นที่ทางใจทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ให้มากขึ้น  เพราะที่ผ่านมายอมรับว่าเขาเป็นคนที่เก่ง แต่ถูกวางตัวให้ทำงานในวงแคบ  รับผิดชอบงานเฉพาะทางมามากจนเกินไป  จนขาดโอกาสในการที่จะเรียนรู้งานใหม่ๆ ที่กว้างขึ้น  ซึ่งนั่นก็หมายรวมถึงแนวคิดที่เขาชอบที่จะทำงานเฉพาะที่ “เขารัก...เพราะนั่นมันคือความสุขที่เขาหลงรัก”  

กรณีดังกล่าว  ผมเคยพูดบ่อยครั้งกับทุกๆ คนว่า  “ผมยอมรับว่าความสุขคือการที่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก  แต่นั่นก็ไม่ใช่บทสรุปที่ตายตัวเสมอไป  เพราะในโลกความเป็นจริง  เราอาจต้องรักในความสุขของคนอื่นด้วย” 

ผมพูดเช่นนั้น  เพราะต้องการสื่อความหมายในทำนองว่า  เกิดเป็นคนก็ควรเรียนรู้ที่จะการทำอะไรที่มากกว่าความสุขบนหน้าตักของตัวเองบ้าง  อย่างน้อยก็ควรเรียนรู้ว่าในโลกแห่งการงานนั้น  บางทีเราก็ไม่มีสิทธิ์เลือกในสิ่งที่รักเสมอไป  แต่ควรต้องทำในสิ่งที่เราไม่รู้  และทำในสิ่งที่ไม่ชอบบ้าง เพราะนั่นคือการเรียนรู้ที่จะเติบโต  ในทำนองเดียวกันก็เป็นประหนึ่งการค้นหาตัวเอง หรือพิสูจน์ศักยภาพของตัวเองดีๆ นั่นเอง ...

 

(คนเรา มักไม่เคยชินและกลัวกับการเปลี่ยนแปลง  ทั้งๆ ที่บางทีการเปลี่ยนแปลง ก็คือตัวชี้วัดของการเรียนรู้ หรือศักยภาพของคนเรา)

 

Large_dsc_0026

Large_dsc_1053

 

ดังนั้น  งานครั้งนี้  ผมจึงกำลังใช้เป็นบททดสอบนิยามของ “ความสุข”  ในอีกสถานะหนึ่งของเจ้าหน้าที่  โดยวางประเด็นว่าการทำงานในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ หรือไม่ถนัดนั้น เป็นโจทย์การเรียนรู้ที่ท้าทาย  เพราะผมเชื่อมั่นว่า “ความเป็นทีม” จะเป็นแรงหนุนเสริมให้เกิด “การเรียนรู้” และนำพาไปสู่ “ความสุข” ได้อย่างไม่ยากเย็น

แน่นอนครับ  ผมเชื่อใน “ความเป็นทีม”
ผมเชื่อว่าความเป็นทีม จะสร้าง “ความสุข” ให้กับ “สมาชิกในทีม” ได้
 

เมื่อวางประเด็นการเรียนรู้ “ความสุขและความเป็นทีม”  เช่นนั้น  ผมจึงปล่อยวางให้เขาคิดประเด็นงานกันเองแบบอิสระ  ขณะที่ตัวเองก็เหินฟ้าลัดเมฆไปเป็นวิทยาการที่อื่น  มิหนำซ้ำยังปิดมือถือเสียสนิท เป็นการป้องกันไม่ให้พวกเขาสื่อสารกลับมาอีกครั้ง  เพราะต้องการเน้นให้รู้ว่า “พวกเขาทำกันได้” ...

 

Large_dsc_2805

Large_dsc_2834

 

ถึงกระนั้น  ก่อนการออกเดินทาง  ผมก็ทำหน้าที่ของผมอย่างชัดเจน นั่นก็คือการฝากแนวคิดในทำนองว่า... กิจกรรมครั้งนี้ขอให้ชัดเจนในวัตถุประสงค์  ชัดเจนในเรื่องเครื่องมือและผลลัพธ์ที่ต้องการ  ชัดเจนในเรื่องการมอบหมายงาน และจัดเจนในกระบวนการที่จะขับเคลื่อน ฯลฯ
 

เป็นที่น่ายินดีว่า ก่อนงานจะเริ่มขึ้นในหนึ่งหนึ่งวัน  ผู้รับผิดชอบโครงการส่งไฟล์กำหนดการมาให้ผมอ่านล่วงหน้า  ผมเปิดอ่านและพูดคุยเชิงให้กำลังใจ โดยไม่ติติง หรือปรับแก้อะไร  เพียงเพื่ออยากให้เขาได้เรียนรู้จากสิ่งที่ตัวเอง “ออกแบบ” ร่วมกัน

ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมว่า  พวกเขาสามารถหยิบเอาประเด็นหลักๆ อันเกิดจากปรากฎการณ์การทำงานของนิสิตมาสะท้อนเป็นโจทย์การเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี  แถมยังนิยามหัวข้อเหล่านั้นได้อย่างน่าติดตาม อาทิ  จากเพื่อนถึงเพื่อน, เราควรรู้อะไรเมื่อมาที่นี่,โครงการเขา โครงการเราเขียน ๑๐ ครั้ง รู้เรื่อง ๑๐ ครั้ง,  ชุมชนกับการเรียนรู้, เสร็จกิจกรรม..ควรนำอะไรกลับมา, จากกิจกรรมสู่นวัตกรรมสรุปโครงการ ฯลฯ... 

ครับแค่ฟังชื่อ  ก็ถือว่าดึงดูดความสนใจในเชิงจินตนาการค่อนข้างมาก  และผมก็ถือว่านั่นคือการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีที่เกิดขึ้นกับทีมงานของผมด้วยเช่นกัน  ซึ่งในแต่ละหัวข้อของกิจกรรมนั้น ก็ระบุชัดเจนว่าใครเป็นผู้นำกระบวนการ, รูปแบบอย่างไร, ใช้สื่อ,อุปกรณ์อะไร, สถานที่ที่ไหน, วัตถุประสงค์อย่างไร ฯลฯ 

 

Large_dsc_4670

 

ทันทีที่กิจกรรมเปิดตัวขึ้น  ผมก็เฝ้าสังเกตอยู่ห่างๆ  มองการทำงานและการเคลื่อนตัวของแต่ละคน  มองการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและการผูกโยงเรื่องราวและบรรยากาศ พร้อมๆ กับการจับประเด็นที่เกิดขึ้นในแต่ละห้วงของกิจกรรม  โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรมาก  และที่สำคัญก็คือ พยายามมองหา “ความสุขและความเป็นทีม”  ว่าเปล่งประกายกี่มากน้อย

 

กระทั่งเมื่อกิจกรรมในวันแรกเสร็จสิ้นลง   

สิ่งที่เราปฏิบัติจนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้วนั่นก็คือ การล้อมวง “โสเหล่” เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ผลการดำเนินงานในแต่ละวัน (AAR : After  Action Review)  ซึ่งเน้นการเปิดใจที่ “จริงจังและจริงใจ”  ใช้ภาษาของคนที่มีหัวใจเดียวกัน (คนบ้านเดียวกัน) และใช้นิยามของคำว่า “องค์กร” เดียวกัน (บ้านเดียวกัน) ด้วยการไม่พุ่งประเด็นไปสู่การ “วิพากษ์” หรือ “พิพากษา”  แต่เน้นการเติมเต็มและเสริมพลังให้กันและกัน...

 

Large_dsc_4700

  

มีหลายประเด็นที่เราหยิบมาโสเหล่กัน เช่น 

ปัญหาและอุปสรรคการทำงาน  โดยแต่ละคนสะท้อนมาว่า “ยังเคอะเขินกับกระบวนการและหน้าที่ของตัวเอง, งานยังไม่ลื่นไหล เพราะแต่ละคนวิตกกังวลกับสาระที่ตัวเองเตรียมตัวมา, สถานที่แคบ อากาศร้อนอบอ้าว... 

ทางออก : มีการปรับรูปแบบให้เป็น “บันเทิงเริงปัญญา” ผ่านกิจกรรมที่ผมนำร่อง โดยให้นิสิตมีส่วนร่วมเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น  มีการโยกย้ายผู้คนออกจากห้องประชุมมาโสเหล่กันใต้ร่มไม้  ทำให้เกิดความคึกคักและตื่นตัว

 

 Large_dsc_0050

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อทุกคนเห็นรูปแบบและกระบวนการที่ผมนำมาใช้  ก็เกิดความมั่นใจและผ่อนคลายขึ้น  ตลอดจนมีแรงบันดาลใจในการที่จะขับเคลื่อนในในช่วงที่เหลือให้ดูน่าสนใจ มีชีวิตชีวา ได้ทั้งบันเทิงและสาระควบคู่กันไป

และที่สำคัญที่สุดก็คือ  ทุกๆ คนลั่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “มีความสุขกับงานครั้งนี้มากเหลือเกิน”   ซึ่งแต่ละคนได้สะท้อนความสุขออกมาแบบซื่อๆ ใสๆ.. เช่น  

 

  • สุข เพราะได้รู้จักนิสิตมากขึ้น
  • สุข เพราะเห็นนิสิตมีความสุขกับการเรียนรู้
  • สุข เพราะได้กินต้มไก่
  • สุข  เพราะได้สัมผัสบรรยากาศนอกสถานที่     
  • สุข เพราะได้ทำงานกับทีมอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
  • สุข เพราะได้ทำงานกับทีมที่เป็นพี่เป็นน้อง
  • สุข เพราะได้เห็นทุกคนรับผิดชอบงานตัวเองอย่างเป็นรูปธรรม
  • สุข เพราะได้เห็นทุกคนช่วยเหลือกันแบบไม่ต้องบอก หรือร้องขอ

 

 Large_dsc_2873-1

 

ครับ, สำหรับผมแล้ว  ผมยิ่งมีความสุขอย่างมากมายก่ายกอง  สุขที่เห็นความเป็น “ทีม”  ที่แน่นหนักขึ้น  สุขที่ใครบางคนค้นพบ “ความสุข” ในอีกนิยามใหม่ที่เขาไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นได้  ...

และเป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดเวลาที่พวกเรานั่งๆ นอนๆ สรุปงานกันนั้น บรรยากาศในวงโสเหล่เต็มไปด้วยความรื่นรมย์อย่างแทบไม่น่าเชื่อ  ใครพูดอะไรก็ดูดี ดูขำไปหมด

ครับ,  มันเป็นความสุขที่ทะลักออกมาอย่างไม่อาจห้ามได้ 
เราต่างได้ค้นพบความสุขร่วมกัน 

ความสุขที่เป็นทั้งส่วนตัวและความสุขของความเป็นทีม

มันเกิดขึ้นและเกิดขึ้นแล้วจริงๆ...

...

๑๙ กุมภาพันธ์ ๕๔
เฮือนสวนดอนธรรม,กาฬสินธุ์

ปล. ภาพส่วนหนึ่ง
จากงานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ

  

หมายเลขบันทึก: 427790เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2011 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
  • ชอบการทำงานเป็นทีม
  • การสร้างทีมก็สำคัญ
  • แต่ชอบภาพนี้มากที่สุด
  • ฮ่าๆ
  • หาเหตุผลไม่ได้
  • Large_dsc_0050

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ผมก็ชอบครับ เพราะได้นั่งๆ นอนๆ "โสเหล่" ใต้ร่มไม้ เหมือนนั่งๆ นอนๆ คุยกันบนแคร่ไม้ไผ่บนลานดินหน้าบ้านนั่นแหละ..

นี่คือนิยามของการโสเหล่แบบคนบ้านเดียวกัน...

  • แวะมาทักทาย
  • ชื่นชมด้วยความสุขค่ะ

ดีจังค่ะ อีกหน่อยพอเป็นผู้ใหญ่ ได้ทำงานแล้วจะได้รู้จักทำงานเป็นทีม (อย่างมีคุณภาพ)

ไม่ต้องมาเฝ้าแต่ทะเลาะกันอย่างเช่นทุกวันนี้

คำว่า "ชัดเจน" กำลังฮิต ที่หน่วยงาน ป้าแดง เหมือนกันค่ะ 

สวัสดีค่ะ

บรรยากาศและการเล่าตั้งแต่ต้นจนจบด้วยความเป็นสุข  เพราะตัดกรอบออกไปนั่นเอง  ขอเป็นกำลังใจค่ะ  คิดถึงน้อง ๆ และหลานชายค่ะ

ชอบคะ ชอบน้องดิน ได้ไปฝึกงานกับคุณพ่อตั้งแต่เด็กๆ อิอิ

  • ความสุขที่เกิดจากการสร้างทีม
  • สร้างงาน สร้างสรรค์ออกมา
  • ยากที่จะบรรยายความรู้สึกค่ะ.

สวัสดีครับ อ.ธรรมทิพย์

จริงๆ แล้วบันทึกนี้ต้องการสื่อสารให้รู้ว่า นอกจากความสุขที่สร้างจากตัวเองแล้ว หากเปิดใจสักนิดหนึ่ง เราก็จะรู้ว่า ความสุขที่แท้จริงนั้น คนรอบข้างก็มีส่วนในการสร้างสรรค์ให้เกิดกับเราได้ ขึ้นอยู่กับว่า  เราพร้อมแค่ไหน..เปิดใจแค่ไหน...

และเหนือสิ่งอื่นใด ก็เหมือนการยืนยันเหมือนที่ผมพูดมาตลอดว่า  ผมเชื่อในหลักการของการสร้างองค์กร หรือสร้างทีมว่าต้องมาจากระบบวความผูกพันเสมือนคนบ้านเดียวกันก่อน ไม่ใช่คิดแต่เพียงว่า องค์กร คือ อู่ข้าวอู่น้ำ จนมองเป็นการฉกฉวยมากจนเกินไป หากมองว่าเราเป็นคนบ้านเดียวกัน และองค์กรเป็นบ้านของเรา อะไรๆ ก็น่าจะมองในเชิงสร้างสรรค์ หรือเชิงบวกได้มากกว่าเดิม..

สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมมุ่งมั่นในการสร้างองค์กรแบบพี่แบบน้อง...ร่วมหัวจมท้าย...เชื่อและศรัทธาในกันและกัน  มองจุดหมายปลายทาร่วมกัน...หนักเบาไม่ทิ้งกัน

นั่่นคือวิธีคิดของผม...ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ ครูนาย

ผมเห็นด้วยครับว่า ความเป็น "ผู้ใหญ่"  คือหัวใจหลักของการขับเคลื่อนชีวิตและการงานของคนเรา  ล่าสุดผมก็พูดในทำนองว่า  เราต้องโตพอที่จะรับผิดชอบอะไรๆ ที่มากกว่า "ตัวเอง"  ซึ่งนั่นก็คือการรับผิดชอบต่อสังคม หรือองค์กรที่ตนเองสังกัด

ถ้าทำงานในแบบ "วันต่อวัน" (เช้าชามเย็นชาม) ไม่ใช่เพียงแค่พอใจแบบผิดๆ ในสิ่งที่มีอยู่ แต่บางทีมันก็เหมือนการสะท้อนให้เห็นถึง "พัฒนาการ" ของชีวิตที่ย่ำอยู่กับที่ไปด้วยเหมือนกัน

งานหนัก และการการเรียนรู้ที่หลากหลาย  ย่อมสอนให้ชีวิตเติบโต และเข้าใจโลกใบนี้ได้อย่างไม่ต้องสงสัย

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับป้าแดง pa_daeng

คิดถึงกอดอุ่นๆ ที่สนามบินอุดรจังเลย...

...

แน่นอนครับ ความชัดเจน มันหมายถึงวิธีคิดอันเป็นกระบวนการ และกระบวนการ จะนำพาไปสู่ผลลัพธ์ที่เราพึงปรารถนาในสักวันหนึ่ง..

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่ครูคิม นพวรรณ

หลายคนที่ไม่สนิทกันนัก อาจมองว่าผมยึดมั่นหลักการ เรื่องมาก จุกจิก..แต่พอสัมผัสจริงๆ จะรู้ชัดเลยว่าผมเป็นคนประเภทเน้นความเข้าใจในเชิงหลักการ แต่วิธีปฏิบัติจะเป็นการทำงานแบบอิงระบบ หรือนอกกรอบเป็นส่วนใหญ่...ฃ

ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนอกกรอบมาก เพราะนั่นคือการท้าทายให้คนเราได้ค้นหาความหมาาย หรือนิยามในอีกมุมหนึ่งของเรื่องนั้นๆ และวิธีคิดเช่นนั้น ก็สอดคล้องกับแนวคิดที่เชื่อว่า "ความรู้" ไม่ใช่ "สิ่งสำเร็จรูป"  แต่จะเกิดผลสัมฤทธิ์หรือไม่ มันอยู่ที่ทักษะมุมมองของการประยุกต์ให้สัมพันธ์กับบริบท หรือกาละนั้นๆ เป็นที่ตั้งต่างหาก...

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ..ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ...
ผมเชื่อว่า เราต่างล้วนเรียนรู้จากกันและกัน และเติบโตจากกันและกันด้วยเหมือนกัน...

กรณีของแผ่นดิน ก็คงเป็นไปในทำนองนั้น กลัวก็แต่เขาจะโตเร็วเกินไป เพราะชีวิตส่วนใหญ่รายล้อมไปด้วยผู้ใหญ่  กลัวเหลือเกินว่า วัยวันของความเป็นเด็กจะเลือนหายไปจากตัวเขา  เพราะทุกวันนี้ก็เห็นได้ชัดว่า เขาพูดจาในแบบผู้ใหญ่เลยทีเดียว...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ ครูแป๋ม

สารภาพตรงนี้เลยครับว่าเขียนบันทึกนี้อย่างยากลำบาก  เพราะไม่รู้จะอธิบายยังไง...เพื่อให้ใครๆ เข้าในในสภาพการณ์ที้เกิดขึ้จริง และแจ่มชัดในภาพชีวิตที่เกิดขึ้นในห้วงนนั้นๆ มันเลยกลายเป็น "คำใดจะเอ่ยได้ดังใจ"  นั่นเอง..

กระนั้น ก็ยังอยากจะยืนยันว่า เรื่องครั้งนี้ มันคือความสุขของความเป็น "ทีม" โดยแท้จริงๆ
ขอบคุณครับ...

 

สุดยอดหัวหน้าเลยนะครับ

ให้งานสอนคน ให้คนเรียนรู้คน และให้คนเรียนรู้งานโดยไม่ต้องคอยรับคำสั่งที่บางครั้งอาจไม่ถูกใจ ถ้าหัวหน้าทีมหรือหัวหน้างานมีลักษณะของการเป็นผู้ชี้นำ คอยประคับประคอง เหมือนพี่สอนน้อง ทีมงานจะเข้มแข็งจะกล้าพอที่จะพัฒนางานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผมสังเกตว่ามหาสารคามโชคดีที่มีคนเก่ง มีภาวะความเป็นผู้นำ และมีใจกว้างหลายๆ คนมาอยู่รวมกัน ช่วยกันสร้างสรรค์ ในขณะที่มหาวิทยาลัยบางแห่งเป็นแหล่งรวมคนเก่ง แต่ขาดความใจกว้าง เรียกว่าต่างคนต่างเก่ง เลยไปไม่ถึงไหน อันนี้ไม่ได้พูดเกิยเลยความเป็นจริงแต่พูดจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสมาบางส่วนบางช่วงขณะ แต่เป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ล่อแหลมพอดี ซึ่งตรงนั้นเองที่ทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมองค์การของมหาสารคามมากขึ้น 

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่พบเห็นจากการทำงานของอาจารย์คือความทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ อีกทั้งกำลังสมองเพื่อนักศึกษาจะได้นำวิธีคิด วิธีการทำงานไปใช้ได้จริงหลังจากพ้นรั้วมหาวิทยาลัยไปแล้ว โดยไม่ได้หวังว่าเขาหรือเธอเหล่านั้นต้องกลับมาตอบแทนอะไรมากมาย ขอเพียงระลึกถึงกันเท่านั้นก็พอใช่ไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท