ปราสาทพนมรุ้ง


 บทนำ 

                พุทธศตวรรษที่ 12  - 18 เป็นช่วงระยะเวลาที่บ้านเมืองหรือชุมชนโบราณในเขตประเทศไทยมีการติดต่อ สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับอาณาจักรเขมรโบราณ ส่งผลให้อิทธิพลวัฒนธรรมเขมรโบราณแพร่ขยายเข้ามาบนแผ่นดินไทย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนโบราณที่ ตั้งอยู่บนแผ่นดินไทยอย่างมากคือ ทางด้านการปกครอง สังคม คติ ความเชื่อศาสนา รูปแบบศิลปะ ตัวอักษร ภาษา การตั้งถิ่นฐาน การจัดการบ้านเมือง การพัฒนาแหล่งน้ำ

ความหมายของปราสาทหิน 

                ปราสาท หมายถึง  อาคารที่มีส่วนกลางเป็นห้องเรียกว่า “ห้องครรภคฤหะ” หรือ “เรือนธาตุ” และมีหลังคาเป็นชั้นซ้อนกันหลายชั้นในรูปสัญลักษณ์แทนความหมาย ของเรือนฐานันดรสูง อันเป็นที่สถิตของเหล่าเทพเทวดา ปราสาทจึงหมายถึงอาคาร ที่เป็นศาสนสถานเพื่อประดิษฐานรูปเคารพ และการทำพิธีกรรมทางศาสนาประกอบ พิธีกรรมทางศาสนา ทั้งในศาสนาพราหมณ์  และพุทธศาสนานิกายมหายาน         ปราสาทสร้างด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรงประเภทอิฐหรือ หิน จึงเรียกปราสาทหิน ส่วนพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระมหากษัตริย์ สร้างด้วยไม้ทั้งสิ้น

               ปราสาทเขมรในประเทศไทย  หมายถึง อาคารทรงปราสาทที่พบในดินแดนไทยในปัจจุบัน ซึ่งได้รับอิทธิพลทางศาสนาและงานศิลปกรรมของชนชาติเขมรในระหว่างพุทธศตวรรษ ที่ 12 – 18 เรียกรูปแบบทางศิลปกรรมปราสาทเขมรในประเทศไทยว่า “ศิลปะร่วมแบบเขมร (ขอม) ในประเทศไทย”  

ภูมิหลัง  

             อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่ ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ

 

 

             คำว่า พนมรุ้ง นั้น มาจากภาษาเขมรปรากฏในศิลาจารึกที่พบในปราสาทพนมรุ้งหลักที่ 2 หลักที่ 4 และ K10900 ว่า  วนํรุง แปลว่า ภูเขาใหญ่ เป็นชื่อเทวสถาน ที่มีขอบเขตกว้างขวาง มีที่ดิน หมู่บ้าน เมือง

            ปราสาทพนมรุ้งเป็นปราสาทประจำราชกาล จึงมีขนาดใหญ่โตสวยงาม

            ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามคติพราหมณ์ มีแผนผังเป็นแบบทางเดินทอดยาววิ่งเข้าหาปราสาทประธาน

Large_phnum23

            ปราสาทหินพนมรุ้ง มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 จารึกต่าง ๆ ที่นักวิชาการได้อ่านและแปลพอจะสรุปได้ว่า พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 3 กษัตริย์แห่งเมืองพระนคร ได้สถาปนาเทวาลัยถวายพระอิศวรที่เขาพนมรุ้ง ซึ่งในสมัยแรก ๆ คงยังไม่ใหญ่โตนัก ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ได้ทรงอุทิศที่ดินและข้าทาสถวายแด่เทวสถานพนมรุ้ง ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 นเรนทราทิตย์ เจ้านายแห่งราชวงศ์มหิทรปุระที่ปกครองดินแดนแถบนี้ (เกี่ยวพันกับตระกูลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัดและพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างปราสาทบายน) ได้สร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นและได้ทรงบำเพ็ญพรตเป็นโยคี ณ ปราสาทพนมรุ้ง ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรเขมร พระองค์ทรงนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน โปรดให้สร้าง บรรณาลัย พลับพลา และสร้างอโรคยาศาลในบริเวณใกล้เคียงคือ กุฏิฤาษีเมืองต่ำ และกุฏิฤาษีหนองบัวลาย และ ปราสาทบ้านบุ ซึ่งเป็นธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทาง

Large_phnum2

            ปราสาทแห่งนี้รู้จักตามที่มีเอกสารที่มีการกล่าวถึงปราสาทพนมรุ้งเป็นครั้งแรกคือ บันทึก ของนายเอเตียน เอมอนิเยร์ ชาวฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2428 ตีพิมพ์เป็นบทความใน พ.ศ. 2445

            ปี พ.ศ. 2449 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาที่ปราสาทพนมรุ้ง คราวเสด็จมณฑลอีสานและเสด็จอีกครั้งในปี พ.ศ. 2472

การบูรณะ การขึ้นทะเบียน 

            กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพนมรุ้งเป็นโบราณสถานของชาติประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และปี พ.ศ. 2503-2504 ได้ดำเนินการสำรวจปราสาทพนมรุ้งอีกครั้ง ต่อมาใน พ.ศ. 2514 ได้เริ่มดำเนินการบูรณะปราสาทพนมรุ้งด้วยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) เปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน อีกทั้งยังทรงศึกษาจารึกที่พบในพนมรุ้ง ในรูปของวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร

ศาสนา 

            ปราสาทแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยที่ประทับของพระศิวะพระองค์ที่ประทับอยู่บนยอดเขาไกรลาส ดังนั้น การที่ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นบนยอดเขาพนมรุ้ง จึงเป็นการสะท้อนถึงการนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายได้เป็นอย่างดี และให้ความสำคัญในการบำเพ็ญพรต จึงเป็นลัทธิไศวนิกายแบบปาศุปัต

ชีวประวัติของนเรนทราทิตย์ 

            นเรนทราทิตย์เป็นโอรสของพระนางภูปตีนทรลักษมี ได้เข้าร่วมรบกับกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในการรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น จากศึกสงครามนเรนทราทิตย์คงได้รับความดีความชอบเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองเมือง ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของราชวงศ์มหิธรปุระ ทรงได้ดำเนินการสร้างปราสาทหลังใหญ่ขึ้นประดิษฐานรูปเคารพสร้างงานศิลปกรรมปรากฏเป็นงานจำหลักตามส่วนต่าง ๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง ที่ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่า มีความประสงค์ที่จะสร้างเทวสถานแห่งนี้เป็นเทวาลัยของพระศิวะ มีศิวลึงค์เป็นองค์ประธาน และยังมีการนับถือเทพองค์อื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ข้อความที่ปรากฏในจารึกยังแสดงให้เห็นว่า นเรนทราทิตย์ ได้สร้างปราสาทแห่งนี้ เพื่อประดิษฐานรูปของตนเองหลังจากสิ้นพระชนม์ ความเลื่อมใสศรัทธาอันแรงกล้าต่อศาสนา ทำให้ท่านทรงออกบรรพชาถือองค์เป็นนักพรตจวบจนวาระสุดท้าย โอรสของนเรนทราทิตย์ คือ หิรัณยะ เป็นผู้ที่ให้จารึกเรื่องราวเพื่อสรรเสริญเกียรติคุณของพระบิดาได้ให้ช่างหล่อรูปของนเรนทราทิตย์ด้วยทองคำประดิศฐาน ณ ปราสาทแห่งนี้

Large_phnum3

 

สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม 

            ปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้มีองค์ประกอบและแผนผังในแนวแกนที่เน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง คือ ปราสาทเป็นจุดศุนย์กลางของจักรวาล แผนผังของปราสาทประกอบด้วย อาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่เรียงตัวกันในแนวยาวตามแนวลาดชันของเขาพนมรุ้ง และสร้างในคติภูมิจักรวาล สิ่งก่อสร้างที่สำคัญเช่น

พลับพลาเปลื้องเครื่อง หรือโรงช้างเผือก 

Large_phnum4 

             อยู่ทางทิศเหนือของชาลากากบาท เป็นอาคารโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลงมีหินทรายประกอบบางส่วน   อาคารนี้หันหน้าไปทางทิศใต้มีทางเข้าออกอยู่ทางทิศตะวันออกและอยู่ทางทิศตะวันตกของอาคาร  สันนิษฐานว่าเป็นที่พักจัดเตรียมพระองค์ เช่น เปลื้องเครื่องทรงที่แสดงยศศักดิ์ และจัดกระบวนเสด็จของกษัตริย์ยาเสด็จมาสักการะเทพเจ้า หรือประกอบพิธีกรรม ณ ศาสนสถานแห่งนี้ แต่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า โรงช้างเผือก ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าปราสาทบนยอดเขาคือ พระราชวังของกษัตริย์แต่โบราณ ซึ่งมักจะมีโรงช้าง โรงม้าอยู่ข้างหน้า และที่เรียกกันว่าโรงช้างเผือก เพราะกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ย่อมจะมีช้างเผือกคู่บารมีอยู่ด้วย

 ทางเดิน เสานางเรียง สะพานนาคราช

ภาพจำหลักดอกบัว บันไดทางเดิน ตระพัก 5 ชั้น 

 Large_phnum5

             เป็นทางเดินเท้าที่ต่อมาจากบันไดชาลากากบาท ระหว่างทางขนาบด้วยเสาข้างละ 35 ต้น เรียกว่าเสานางเรียง หรือเสานางจรัล สันนิษฐานว่าใช้เป็นที่วางเทียนในยามค่ำคืน และเป็นสัญลักษณ์ของเส้นทางขึ้นไปสู่สวรรค์ 

            สะพานนาคราชชั้นที่ 1 ก่อด้วยหินทราย ผังเป็นรูปกากบาท ยกพื้นสูงจากถนน 1.50 เมตร ด้านหน้าและด้านข้างลดชั้น มีบันไดเป็นอัฒจันทร์รูปปีกกาเป็นทางขึ้น ส่วนด้านหลังเป็นชานกว้างเชื่อมต่อกับบันไดขึ้นปราสาท เสาและขอบสะพานสลักลวดลายงดงาม ราวสะพานทำเป็นลำตัวของพญานาค 5 เศียร เป็นลักษณะศิลปกรรม แบบนครวัดซึ่งมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 17  สะพานนาคราชนี้ ตามความเชื่อเป็นทางที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า อีกทั้ง นาคยังเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำ จึงหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วย

Large_phnum6

            ตรงกลางสะพานมีลายดอกบัวบาน 8 กลีบ จำหลักลงในเนื้อหินล้อมรอบด้วยยันต์ขีดเป็นเส้นคู่ขนานกันไปกับราวสะพาน หัวยันต์ขมวดเป็นรูปกลีบดอกบัว อาจหมายถึงเทพประจำทิศทั้งแปดในศาสนาพราหมณ์หรืออาจเป็นยันต์สำหรับบวงสรวงและประกอบพิธีกรรม หรืออาจจะเป็นจุดกำหนดที่ผู้มาทำการบูชาเทพเจ้า ตั้งจิตอธิษฐานขอความคุ้มครองจากเทพเจ้าหรือขอพรอันศักดิ์สิทธิ์

            ต่อจาก สะพานนาคราชชั้นที่ 1 เป็นทางเดินขึ้นไปยังลานบนยอดเขา มี 5 ขั้น จำนวน 52 ชั้น มีชานพัก 5 ชั้น ทั้ง 2 ข้าง ของชานพักมีเสาหินทราย เจาะรูตรงกลาง สันนิษฐานว่าใช้สำหรับปักเสาธงในเวลาที่มีเทศกาลในพิธีกรรมต่าง ๆ หรืออาจเป็นเสาโคมไฟ

 โคปุระ ระเบียงคด 

Large_phnum7 

            ก่อนจะถึงปราสาทประธานมีระเบียงคดก่อเป็นห้องยาว แต่ไม่สามารถเดินทะลุถึงกันได้โดยตลอดเพราะทำผนังกั้นเป็นช่วง ๆ มุงหลังคาเหลื่อมเข้าหากันเป็นรูปโค้งคล้ายประทุนเรือ สลักด้านบนเลียบแบบหลังคากระเบื้องประดับสันหลังคาด้วยบราสี  ระเบียงคดทั้ง 4 ด้าน มีซุ้มประตู (โคปุระ) โคปุระตรงกลางทิศตะวันออกที่หน้าบัน มีภาพจำหลักรูปฤๅษีซึงหมายถึงพระศิวะในปางที่เป็นผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอาจรวมหมายถึง นเรนทราทิตย์ ผู้ก่อสร้างปราสาทประธานแห่งนี้ด้วย

Large_phnum8

ปราสาทอิฐ 2 หลัง 

 Large_phnum9

            ปราสาทอิฐ   2 หลัง เหลือแต่กองอิฐและเสาประดับกรอบประตูที่ทำด้วยหินทราย ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลปะได้ศึกษาพบว่า  น่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15  และพบประติมากรรมหินทราย 2 รูป มีลักษณะศิลปะที่มีอายุใกล้เคียงกันจึงกล่าวได้ว่าปราสาทอิฐคงจะสร้างขึ้นในช่วงนั้น  คือ  ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 นับเป็นสถาปัตยกรรมที่มีอายุเก่าที่สุดที่เหลืออยู่ปราสาทพนมรุ้ง

ปรางค์น้อย 

  Large_phnum10

            ตั้งอยู่ใกล้กับปราสาทประธานด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นปราสาทสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ส่วนยอดชำรุดเข้าใจว่าเมื่อมีการก่อสร้างในสมัยหลังได้รื้อเอาหินส่วนยอดปรางค์องค์นี้ซึ่งขณะนั้นอาจอยู่ในสภาพที่ผังลงมาบ้างแล้วไปใช้ในที่อื่น ปราสาทองค์นี้มีประตูเข้าได้ทั้งเดียวคือ ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้า  ส่วนด้านอื่น ๆ ทำเป็นประตูหลอก ที่หน้าบันด้านทิศตะวันออกจำหลัก พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะในเรื่อง กฤษณาวตาร

บรรณาลัย 

Large_phnum11

              ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลัง  มีประตูเข้าออก ด้านเดี่ยว ภายในไม่มีรูปเคารพเรียกว่า บรรณาลัย หมายถึง   ที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาซึ่งเป็นที่นิยมสร้างในสมัยบายนพุทธศตวรรษที่  18  ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 

 ปราสาทประธาน  ห้องครรภคฤหะ ท่อโสมสูตร 

Large_phnum12 

            ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มณฑปคือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง มีรูปสลักโคนอนหมอบหันหน้าเข้าสู่ห้องครรภคฤหะ  หมายถึงโคนนทิสัตว์พาหนะของพระศิวะ

Large_phnum13

               ในปรางค์ประธาน เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุน ก่อด้วยหินทรายสีชมพู ด้านหน้าทำเป็นมณฑปโดยมีอันตราละหรือฉนวนเชื่อมปราสาทประธานนี้ เชื่อว่า สร้างโดย นเรนทราทิตย์ ซึ่งเป็นผู้นำปกครองชุมชนที่มีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง ราว พุทธศตวรรษที่ 17

Large_phnum14

            ภายในเรือนธาตุตรงกึ่งกลาง เรียกว่าห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุด เหนือประตูด้านในมีทับหลังเป็นรูปฤๅษี 5 ตน นั่งในท่าโยคะอาสนะประครองอัญชลี ซึ่งบ่งบอกถึงลัทธิไศวนิกายแบบปาศุปัตของศาสนสถานแห่งนี้ กลางห้องประดิษฐานศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์พระศิวะ  และมีท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวลึงค์ออกไปยังด้านหลังทางทิศใต้ของปราสาทปราธานเพื่อให้ผู้คนนำน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปใช้ต่อไป

Large_phnum15

Large_phnum16

สิ่งที่น่าสนใจ 

หน้าบันศิวะนาฎราช 

 Large_phnum17

              อยู่ที่บริเวณหน้าบันด้านทิศตะวันออกของมณฑปปราสาทประธานเป็น ภาพจำหลักพระศิวะฟ้อนรำ  เป็นภาพพระศิวะเศียรเดียว  สิบกร  อยู่ในท่าฟ้อนรำ แวดล้อมด้วย พระคเณศ  พระวิษณุ  พระพรหม    และเทวสตรี  2  องค์ ตามความเชื่อในศาสนาฮินดูจังหวะการ่ายรำของพระศิวะ  อาจะบันดาลให้เกิดผลดีและผลร้ายแก่โลกได้  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสวดอ้อนวอนให้พระองค์ฟ้อนรำในจังหวะที่พอดี  โลกจึงจะสงบหากพระองค์โกรธกริ้วฟ้อนรำในจังหวะที่รุนแรง  จะนำมาซึ่งภัยพิบัติต่าง ๆ

ทับหลังวิษณุอานันตศายิน  ปัทมนาภะ

Large_phnum18

            อยู่ที่ทับหลังของมณฑปด้านทิศตะวันออกปราสาทประธาน โดยพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวา เหนือพระยาอนันตนาคราช ซึ่งทอดตัวอยู่เหนือมังกรอีกต่อหนึ่งท่ามกลางเกษียรสมุทร มีก้านดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภีของพระองค์  มีพระพรหมประอยู่เหนือดอก การบรรทมสินธุ์ของพระนารายณ์แต่ละครั้งนั้น   จะเกี่ยวกับยุคเวลาในแต่ละกัลป์ เมื่อสิ้นกัลป์พระพรหมจะบังเกิดบนดอกบัวที่ออกมาจากพระนาภีของพระนารายณ์  พระพรหมทรงเป็นผู้สร้างมนุษย์ และสิ่งต่าง ๆ ต่อไป

            ในช่วงระหว่างปี  พ.ศ.  2504 - 2508  ได้มีการโจรกรรมทับหลังนารายบรรทมสินธุ์  ที่แตกหักเป็น  2  ชิ้นนี้ไปจากปราสาทพนมรุ้ง  ในปี  พ.ศ.  2508  กรมศิลปากรได้ยืดเอาทับนารายณ์บรรทมสินธุ์  ที่แตกออกโดยได้ยืดเอาทับหลังชิ้นเล็กจากร้านขายของเก่า แถบราชประสงค์ กรุงเทพฯ  ส่วนทับหลังชิ้นใหญ่นั้น  ในปี  พ.ศ.  2515    ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ  ดิศกุลได้พบทับหลังชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะแห่งชิคาโกประเทศสหรัฐอเมริกา  จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่สถาบันฯ  ทราบ  และมีการร่วมมือจากภาครัฐ ประชาชนชาวไทยทั้งในอเมริกาและในไทยเพื่อขอคืน โดยมีการทำหนังสือโดยตรงถึงผู้อำนวยการสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก  ทางสถาบันได้ยืนยันว่า  ได้รับทับหลังชิ้นนี้มาอย่างถูกต้องแต่พร้อมที่จะแก้ปัญหา โดยเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางศิลปะเท่าเทียมกัน  ฝ่ายไทยได้มีมติเรื่องนี้ว่า จะไม่ดำเนินการแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติเป็นอันขาด 

            การประชุมเพื่อขอคืนทับหลังมีต่อมาอีกหลายครั้ง มีผู้ที่ให้การสนับสนุนฝ่ายไทยเป็นจำนวนมาก  ทั้งที่เป็นกรรมการกรณีทับหลัง  หรือบุคคลภายนอกที่เป็นทั้งชาวต่างชาติ  รวมทั้งชาวอเมริกกัน   และจากสื่อมวลชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ  ด้วยแรงกดดันต่าง  ๆ  เหล่านี้ทางสถาบันศิลปะแห่งชิคาโกสหรัฐอเมริกา จึงได้ส่งมอบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืนให้แก่  รัฐบาลไทยในวันที่  10  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2531  และได้นำเอาทับหลังชิ้นนี้กลับไปติดตั้งยังที่เดิม ณ องค์ปราสาทประะานพนมรุ้ง  ในวันที่  7  ธันวาคม  ปีเดียวกัน

ภาพจำหลักพิธีเบิกพรหมจรรย์ ?

Large_phnum19 

               บนหน้าบันชั้นลดทิศตะวันออก ด้านทิศใต้ของมณฑปปราสาท เป็นภาพสลักกลุ่มบุคคลจำนวน 6 คน กำลังประกอบพิธีกรรมบางอย่าง โดยจำหลักภาพบุคคลซึ่งแตกชำรุดกำลังนั่งงอขาและเอนกายมาทางเบื้องหลังเล็กน้อย โดยใช้แขนยันพื้นไว้และมีรูปบุรุษนั่งประกอบทางด้านหลังสองคน เบื้องหน้าของบุคคลดังกล่าวประกอบด้วยบุคคลสามคน ซึ่งคนแรกเป็นสตรีกำลังยืน และอีกสองคนเป็นบุรุษ โดยคนหนึ่งใช้มือซ้ายจับเท้าของบุคคลที่นั่งงอขา ส่วนในมือขวากำลังถือวัตถุทรงกระบอก  โดยมีบุรุษคนที่สองกำลังยืนจ้องมองด้วยความสนใจหากเป็นไปได้แล้วพิธีกรรมที่แสดงบนภาพสลักรูปนี้อาจจะหมายถึง พิธีเบิกพรหมจรรย์ของสาวพรหมจารี โดยมีนักบวชเป็นผู้ประกอบพิธีก็ได้ ซึ่งเป็นพิธีของลัทธิฮินดูตันตระ  และยังสอดคล้องกับบันทึกของโจตากวน ทูตชาวจีนที่เข้าไปในเมืองพระนครในพุทธศตวรรษที่ 18 ได้กล่าวถึงพิธีเบิกพรหมจรรย์เช่นกัน มีผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่า อาจเป็นภาพการรักษาพิษงูโดยนเรนทราทิตย์ เพราะจารึกที่พบในพนมรุ้งได้กล่าวถึงความสามารถในการรักษาโรคต่าง ๆ ของนเรทราทิตย์ด้วย

 ภาพเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของนักบวช 

Large_phnum20

             ที่ปราสาทพนมรุ้งนี้มีการจำหลักภาพฤษี  หรือ  นักบวช  ประดับตามส่วนต่าง ๆ  เป็นจำนวน โดยมีอิริยาบถที่หลากหลายแสดงถึงการให้ความสำคัญกับฤๅษีเป็นพิเศษ   เช่นภาพสลักฤๅษีท่าโยคะอาสนะประครองอัญชลี  บุคคลถวายสิ่งของแก่ฤๅษี  การศึกษาคัมภีร์บนหน้าชั้น

ภาพราคะศิลป์ 

Large_phnum21 

            ช่างพนมรุ้งนับว่ามีอารมณ์ขัน  และแสดงถึงการไม่เคร่งครัดของผู้ควบคุม และไม่เคร่งครัดแบบในเขมร  ช่างผู้ทำการสลักภาพได้สร้างงานแบบที่เรียกว่า  ราคะศิลป์  ขึ้น เช่นภาพลิงและนกสังวาสเป็นต้น

ปรากฏการณ์พระอาทิตย์ส่องทะลุประตู 15 บาน 

Large_phnum22

              ในวันที่ 3-5 เมษายน และ 8-10 กันยายน ของทุกปี ดวงอาทิตย์ขึ้น ส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บาน และในวันที่ 6-8 มีนาคม และ 6-8 ตุลาคม ของทุกปี ดวงอาทิตย์ก็ตก ส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บาน เช่นกัน

 เส้นทางการเดินทาง 

              ปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่บ้านตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เวลาทำการ 06.00 น. – 18.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท

การเดินทาง  

             จากอำเภอนางรอง ใช้ทางหลวงหมายเลข 24 ประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงสามแยกโรงเรียนบ้านตะโกเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ตรงไปราว 6 กิโลเมตร ถึงบ้านตาเป๊ก แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2221 อีก 6 กิโลเมตร

รถประจำทาง 

             รถโดยสารจากกรุงเทพฯ – เขาพนมรุ้ง ลงที่เชิงเขาแล้วต่อรถสองแถวขึ้นปราสาท

            รถสายบุรีรัมย์ – นางรอง ลงสถานีนางรองแล้วต่อรถสองแถว

 

เรียบเรียง : วาทิน ศานติ์ สันติ

อ้างอิง

หนังสืออ้างอิง 

หนังสือ

คู่มือมัคคุเทศก์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2551. ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์, วิไรรัตน์ ยังรอด. คู่มือท่องเที่ยว-เรียนรู้ : ปราสาทหิน พิมาย พนมรุ้ง เมืองต่ำ ตาเมือง เขาพระวิหาร. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส. 2550. พิริยะ ไกรฤกษ์, รศ.ดร.. ราคเหง้าแห่งศิลปะไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ริเวอร์บุคส์ จำกัด. 2553. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนไทย ความเป็นมาและข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : มติชน. 2548. ศิลปากร, กรม. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ. พิมพ์ครั้งที่ 4. บุรีรัมย์ : โรงพิมพ์วินัย. 2551. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. ศ.ดร.มรว.. ทับหลังในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ. 2531. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. ศ.ดร.มรว. ปราสาทเขาพนมรุ้ง (ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย). พิมพ์ครั้งที่ 5. สมุทรปราการ : สำนักพิมพ์เรืองบุญ. 2549. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. ศ.ดร.มรว. ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ. 2531. อุดม เชยกีวงศ์. วัฒนธรรมขอมกับความสัมพันธ์ไทยกัมพูชา. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา. 2552.

บทความ 

เกียรติ ขจร ไชยเธียร. “มาตรวัดระยะและสัดส่วนในสถาปัตยกรรมฮินดู : กรณีศึกษา “ปราสาทนครวัด”.” วรสาร สยำกุก. ฉบับที่ 1 ฉบับที่ 2. (กันยายน – ตุลาคม). 2546.

บทโทรทัศน์

 

พิเศษ  เจียจันทร์พงษ์   วิทยากร, ศุภรัตน์ ตี่คะกุล เขียน. เรื่อง ปราสาทหิน, ปราสาทพิมาย. บทโทรทัศน์ จดหมายเหตุกรุงศรีฯ. ออกอากาศโทรทัศน์กองทัพบกช่องเจ็ด.

คำสำคัญ (Tags): #พนมุร้ง
หมายเลขบันทึก: 427577เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2011 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นสิ่งที่ควรรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาหาความรู้เป็นอย่างยิ่ง  

กว่าจะอัพเดทได้ใช่เวลาเป็นชั่วโมง เหนื่อยครับ

มีโอกาสไปเยือนบ่อยๆ แต่ได้อ่านจริงจังก็คราวนี้ ดีครับได้รู้มากขึ้น

ถ้าจะมาเที่ยวปราสาทหินพนมรุ้ง ตอนนี้มีที่พักดีๆให้พักแล้วนะครับ  ผมไปพักมาแล้วประทับใจมากๆครับ ชื่อว่า โรงแรมพนมรุ้งปุรี  อยู่ที่อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โรงแรมนี้สร้างใหม่หรูที่สุดในนางรองหรือในบุรีรัมย์เลยก็ว่าได้ มีห้องพักน่าจะเยอะอยู่ มีห้องอาหาร ห้องประชุม สระว่ายน้ำ และที่สำคัญโรงแรมนี้ออกแบบได้สวยงามมากๆครับชอบตรงที่ออกแบบคล้ายๆกับปราสาทหินเขาพนมรุ้งแต่ดูทันสมัย ไม่น่ากลัวครับ  ลองไปดูข้อมูลที่ http://www.phanomrungpuri.co.th ก็ได้นะครับ 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท