เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน : การพัฒนาสู่ระบบงานในชุมชนและองค์กรท้องถิ่น


เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน[คลิ๊กอ่านจากบทความก่อนหน้านี้] มิใช่สิ่งที่ชุมชนโดยทั่วไปไม่เคยมีอยู่ ทว่า เป็นสิ่งที่มีบทบาทสอดแทรกและผสมผสานอยู่ในกิจกรรมชีวิตและเป็นองค์ประกอบความเป็นชุมชนในท้องถิ่นต่างๆมากน้อยแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ไม่ได้จัดหมวดหมู่และจำแนกจัดระบบให้สามารถกล่าวถึงได้อย่างเจาะจงและดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ขาดโอกาสเลือกสรรพัฒนาการทางวิทยาการและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นและไหล่บ่าเข้าสู่วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนอย่างรวดเร็ว มาดำเนินการต่างๆให้เอื้อต่อการพัฒนาและจัดการความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้ดังที่ควรจะเป็น ซึ่งในอนาคตก็จะยิ่งเกิดแรงกดดันต่อวิถีชีวิตทางด้านต่างๆมากยิ่งๆขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ขาดระบบจัดการที่เหมาะสมเพื่อนำเอาประสบการณ์ทางสังคมและทุนทางปัญญาที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมาเป็นพื้นฐานสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนในการพัฒนาตนเอง

ความจำเป็นที่เกิดขึ้นพร้อมกันไปทั้งสองด้านดังกล่าว หากชุมชน ตลอดจนประชาชนพลเมือง มีระบบดำเนินการเพื่อบูรณาการพื้นฐานเดิมของชุมชนกับสภาพแวดล้อมสมัยใหม่ของสังคมให้อยู่ในความสามารถเรียนรู้และพัฒนาวิธีจัดการต่างๆไปตามความเหมาะสมอยู่เสมอ ประชาชนและชุมชนก็จะมีระบบพัฒนาการเรียนรู้เพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลงตนเองบนฐานการเรียนรู้และสามารถบูรณาการระบบภูมิปัญญาต่างๆ รวมทั้งสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ สร้างการจัดการระบบภูมิปัญญาที่ดี และพอเพียงกับความเป็นตัวของตัวเอง เข้าไปดำเนินการสิ่งที่ต้องการต่างๆได้อย่างเหมาะสม

แนวทางการพัฒนาระบบงานทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชนดังต่อไปนี้ จึงนำเสนอพอเป็นแนวทางสำหรับพัฒนาระบบจัดการตนเองของชุมชนให้สอดคล้องกับความจำเป็น รวมทั้งจะเป็นอีกมิติหนึ่งของการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการด้านการเรียนรู้ของชุมชน ให้สามารถสนองตอบต่อกับความจำเป็นต่างๆได้ดีขึ้น [ดูตัวอย่างจาก เวทีคนหนองบัว][คลิ๊กบนข้อความ]

  สภาพที่มีอยู่เป็นทุนเดิมของชุมชนและท้องถิ่น

การสร้างและสั่งสมภูมิปัญญาในระบบสังคมไทยที่นอกเหนือจากระบบการศึกษาสมัยใหม่นั้น เป็นกระบวนการที่ผสมผสานอยู่ในวิถีชีวิตและในกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรม ตลอดจนอยู่ในบริบทอันแตกต่างหลากหลายไปตามลักษณะท้องถิ่นของภูมิภาคต่างๆ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญและเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชนให้มีความต่อยอด เสริมความเข้มแข็ง และสืบทอดการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับชุมชนตามท้องถิ่นต่างๆได้เป็นอย่างดี โดยสภาพที่เป็นทุนเดิมของชุมชนและท้องถิ่นต่างๆ ที่สามารถนำมาพิจารณาดำเนินการดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี ก็คือ :

๑) การสืบทอดด้วยการพูดบอกเล่าและวัฒนธรรมมุขปาฐะ
     พื้นฐานการสร้างและสั่งสมภูมิปัญญาทางด้านต่างๆของสังคมไทยนั้น อยู่ในวัฒนธรรมมุขปาฐะมาก่อน ก่อนที่จะมีพัฒนาการเข้าสู่สังคมหนังสือ การอ่าน และการศึกษาเรียนรู้อย่างเป็นทางการสมัยใหม่ กิจกรรมที่เรียกว่าหัวใจนักปราชญ์ อันได้แก่ การพูด คิด ฟัง ลิขิต หรือ สุ จิ ปุ ลิ นั้น มีการพัฒนาอย่างหลากหลายเฟื่องฟูและเจริญก้าวหน้าไม่น้อยไปกว่าสังคมใดในโลก ทำให้เกิดวัฒนธรรมการเล่านิทาน การบอกกล่าวตำนาน การร้องรำทำเพลง ซึ่งวัฒนธรรมมุขปาฐะที่มีพัฒนาการไปอย่างละเอียดประณีตนั้น ก็จะเห็นว่ามีความงดงามลึกซึ้งและสืบทอดระบบคิด ตลอดจนเก็บรักษาระบบภูมิปัญญาต่างๆเพื่อการดำเนินชีวิตและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆของสังคมอย่างมีพลวัตร ทั้งสืบทอดสิ่งที่เป็นความดั้งเดิมของสังคมและบูรณาการร่องรอยของยุคสมัยต่างๆไปด้วยอยู่ตลอดเวลา เช่น วัฒนธรรมเพลงแหล่เพื่อสืบทอดระบบค่านิยมของสังคมทั้งจากศาสนาและการสร้างขึ้นของสังคมในยุคสมัยต่างๆ การทำขวัญนาค หมอลำ ลิเก หนังตะลุง ค่าวซอ รวมไปจนถึงการเทศน์และการสวดพระปาติโมกข์ซึ่งก็เป็นการท่องจำและสืบทอดกันด้วยปากเปล่า แต่ก็สามารถเก็บรักษาความรู้ทั้งหมดในพุทธศาสนาไว้ได้อย่างต่อเนื่องยาวนานและเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้มรดกทางพระศาสนาที่สืบทอดกันไว้กว่าสองพันห้าร้อยปีได้รับความเชื่อถือมากที่สุดในโลก ความเป็นชุมชนจึงเป็นหน่วยความทรงจำทางปัญญาซึ่งมีกระบวนการจัดการภายในตนเองที่วิธีสมัยใหม่ก็ยากที่จะสามารถทดแทนได้ทั้งหมด

ส่วนทางด้านลิขิตและขีดเขียนนั้น ก็มีการพัฒนาสอดคล้องไปกับวัฒนธรรมแบบมุขปาฐะ โดยมีความโดดเด่นในการพัฒนาภาษาภาพนับแต่การเขียนภาพในถ้ำ การเขียนภาพในงานสถาปัตยกรรมและสิ่งของเครื่องใช้ การสร้างสิ่งของที่สื่อสะท้อนรหัสนัยทางปัญญาและโลกทัศน์ชีวทัศน์ สามารถเก็บรักษาองค์ความรู้และภูมิปัญญาต่างๆของสังคมให้มีชีวิตอยู่ในระบบสังคม เป็นทุนทางสังคมวัฒนธรรมที่ติดอยู่ในตัวคนและอยู่ในวิถีชีวิตชุมชนอย่างแนบแน่น พื้นฐานดังกล่าวนี้ หากได้รับการส่งเสริมฟื้นฟูให้มีชีวิตชีวาอยางเป็นระบบในระดับชุมชน ก็จะเป็นพลังเคลื่อนไหวตนเองของชุมชนต่างๆที่มีความหมายต่ออนาคตมากที่สุดอย่างหนึ่ง

๒) ศิลปะ งานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม และการสื่อสารเรียนรู้ทางสังคม
     วิถีชีวิตชาวบ้านและสังคมมุขปาฐะ พัฒนากิจกรรมชีวิตของชุมชนและทองถิ่นต่างๆ ให้เกิดการสร้างสรรค์ทางศิลปะ วัฒนธรรม และการสื่อสารเรียนรู้ทางสังคมอย่างมีความหมาย เช่น การเขียนภาพพุทธประวัติของชาวบ้านตามศาลาวัด หรือการทำธรรมมาสน์ ตลอดจนการออกแบบเชิงพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย และการจัดวางองค์ประกอบต่างๆทางกายภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัยในชุมชน ล้วนมีความหมายต่อการเข้ารหัสทางความรู้และบันทึกจดจารระบบคิดและระบบภูมิปัญญาที่ผสมผสานอยู่กับวัฒนธรรมการท่องจำและสืบทอดด้วยการพูดบอกเล่า เป็นแหล่งประสบการณ์ทางสังคมและแหล่งบันทึกความคิดสร้างสรรค์ของชุมชน ที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง แต่ต้องนำมาสืบสานและพัฒนาระบบจัดการให้ดีบนพื้นฐานความเข้าใจ เห็นคุณค่าและความหมายอย่างแท้จริงของชุมชน

๓) กิจกรรมประเพณีเพื่อเคลื่อนไหวชีวิตสังคมและการผลิตอย่างบูรณาการ
    ในทุกชุมชนจะมีกิจกรรมประเพณีซึ่งมีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวชีวิตสังคมและวิถีการผลิตของชุมชน มั่งคั่งหลากหลายไปตามลักษณะของท้องถิ่น เช่น การทำบุญสารทซึ่งเป็นการประดิษฐ์กิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันทรัพยากรและผลผลิตกันภายในชุมชน การลงแขกและเอาแรงกันเพื่อทำนา ทำบ้าน สร้างสาธารณสมบัติ กระบวนการทางวัฒนธรรมประเพณีเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นพื้นฐานในชุมชนอยู่เป็นจำนวนมาก มีความเป็นธรรมชาติและเป็นโอกาสสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของชุมชน อีกทั้งมีพื้นฐานของการนำเอาเทคโนโลยีสื่อหลากหลายชนิด ตลอดจนกระบวนการสื่อสารและสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้ทางสังคมเป็นจำนวนมากเข้าไปมีส่วนจัดการองค์ประกอบต่าวงๆของกิจกรรม แต่มักขาดระบบจัดการที่ดีขององค์กรท้องถิ่นและชุมชนที่ช่วยเพิ่มพูนความเป็นกระบวนการเรียนรู้และสามารถสืบทอดความเป็นชีวิตชุมชนให้เป็นทุนทางสังคมวัฒนธรรมและสร้างโอกาสการบรรลุจุดหมายความมีสุขภาวะของชุมชนด้วยการพึ่งทุนทางสังคมของชุมชน ได้ดียิ่งๆขึ้น อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะจัดการด้วยแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจสังคมที่ขาดความสมดุล เช่น การจัดงานประเพณีต่างๆในชีวิตของชาวบ้านและชุมชน ตลอดจนการจัดแหล่งประสบการณ์ในชุมชนให้เป็นแหล่งเศรษฐกิจการท่องเที่ยว มักมุ่งให้เกิดความหรูหราฟุ่มเฟือย มุ่งกำไรและผลประโยชน์ระยะสั้น ขาดความประณีต ไร้รสนิยม ทำให้ครอบครัวและชุมชนอ่อนแอ แต่มีความจำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมซึ่งองค์กรท้องถิ่นและชุมชนต่างๆสามารถริเริ่มพัฒนาการดำเนินการต่างๆให้เป็นระบบที่ดีได้

๔) แหล่งสาธารณะและระบบนิเวศน์ทางสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมชุมชน
    ในชุมชนและท้องถิ่นต่างๆ จะมีฐานทรัพยากรและปัจจัยพื้นฐานเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นจำนวนมาก  เช่น แหล่งพบปะและแลกเปลี่ยนความเป็นชีวิตกันในโอกาสหลากหลายของชุมชนตามตลาด ร้านค้าในชุมชน ศาลาวัด โบสถ์ มัสยิด ศาสนสถานของศาสนาต่างๆอันเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนและชุมชน แหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ป่าไม้ สวนป่า แม่น้ำ คู คลอง พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ ตลอดจนสิ่งที่เป็นสาธารณสมบัติสำหรับการใช้ประโยชน์ร่วมกันในชุมชน ตลอดจนแหล่งประวัติศาสตร์และแหล่งภูมิปัญญาอันเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันทั้งของชุมชนและสังคมภายนอก เหล่านี้ เป็นภสาพแวดล้อมการเรียนรู้ชีวิต อีกทั้งเป็นแหล่งประสบการณ์ทางสังคมซึงมีความหลากหลายและขยายตัวขึ้นอย่างซับซ้อน มีความสำคัญและจำเป็นต้องพัฒนาระบบจัดการให้ได้รับการเอาใจใส่ดูแลที่ดี ซึ่งองค์ประกอบทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน เป็นมิติหนึ่งที่ชุมชนและท้องถิ่นต่างๆต้องพัฒนาความรู้และวิธีจัดการที่ดีให้มีบทบาทต่อการสร้างความเป็นชุมชนและก่อเกิดสุขภาวะร่วมกันดังที่พึงประสงค์ สอดคลอ้งกับสภาพความเป็นจริงของสังคมทั้งปัจจุบันและในอนาคตมากยิ่งๆขึ้น

๕) นวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ของปัจเจก ครอบครัว ชุมชน และองค์กรภาคประชาสังคม
    ปัจจุบันชุมชนต่างๆทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้ริเริ่มและพัฒนาสิ่งที่จะช่วยพัฒนาสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆที่ตนเองต้องการแต่ระบบสังคมในกระแสหลักไม่สามารถสนองตอบได้อย่างสอดคล้องกับเงื่อนไขและความจำเป็นในชีวิต จึงทำให้เกิดนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ที่ดำเนินการขึ้นเอง และเพิ่มพูนความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับ หากขาดการพัฒนาระบบจัดการและอำนวยความสะดวกให้เหมาะสม ก็จะทำให้สังคมเสียโอกาสการพัฒนาตนเองและสร้างแรงกดดันให้เกิดวิกฤติปัญหาต่างๆขึ้นได้ เช่น บ้านเรียนหรือ Home School  การจัดเวทีเรียนรู้ชุมชน เวทีประชาคม เครือข่ายภูมิปัญญาชุมชน การจัดตลาดนัด การจัดกิจกรรมแสดงออกในแหล่งสาธารณะของกลุ่มปัจเจก Social Media  และ Social Networks การสื่อสารและเรียนรู้ออนไลน์ที่ปัจเจกและชุมชนสามารถสื่อสารกับทั่วโลกได้ด้วยตนเอง การรวมกลุ่มทำงานความรู้และจัดกระบวนการเรียนรู้โดยอาสาสมัคร

๖) สื่อ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และเศรษฐกิจสังคมที่ขยายตัวขึ้นจากพัฒนาการทางด้านที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน เช่น ระบบหนังสือ ร้านค้าหนังสือในชุมชน ที่อ่านหนังสือ แหล่งเผยแพร่ความรู้และข้อมูลข่าวสารในชุมชน กิจกรรมความรู้และวัฒนธรรมการอ่าน ธุรกิจบันเทิงและกิจกรรมเศรษฐกิจสังคม การร้องคาราโอเกะซึ่งทำให้เกิดร้านค้าและการประยุกต์กิจกรรมที่สืบเนื่องกับการใช้สอยคอมพิวเตอร์ให้เกิดกิจกรรมสังคมในโอกาสต่างๆของชุมชนและภาคประชาชน ระบบไอที เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารแบบไร้สาย ระบบเสียงตามสาย วิทยุชุมชน ระบบสื่อโฆษณาและการติดตั้งแผ่นป้ายเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ออแกไนเซอร์เพื่อจัดงานเทศกาลและประเพณีต่างๆ และวิธีสื่อสารแบบต่างๆของชุมชน ตลอดจนทรัพยากรบุคคลและผู้มีความสามารถอันเป็นที่ยอมรับในความเป็นผู้นำอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นอาทิ

                       

Creatives Economy ของสิงคโปร์ เป็นการผสมผสานงานศิลปะและการท่องเที่ยวเชิงศึกษาเรื่องราวและการเรียนรู้ (Learning and Study Tourism) จัดวางองค์ประกอบชายหาดซึ่งมีอยู่แคบๆ ไม่สวย และไม่น่ามีสิ่งจูงใจสำหรับการไปเยือนท่องเที่ยว แต่การนำเอางานสร้างสรรค์ข้อมูล เทคโนโลยีสื่อ และวิธีการศิลปะ มาจัดวางทะเล ชายหาด และอาณาบริเวณโดยรอบ มาทำให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเรียนรู้เรื่องราว ใน Theme : Song of the Sea : Singapore Images ทุกอย่างก็กลายเป็นสิ่งดึงดูดผู้คนให้หลั่งไหลไปอยู่ในบรรยากาศที่ให้ประสบการณ์และความประทับใจได้อย่างผสมผสาน เนืองแน่นทุกรอบ ทั้งจากชาวต่างประเทศและคนท้องถิ่น รูปแบบดังกล่าวนี้ หากพัฒนาและจัดการให้สมดุลกับความเป็นหน่วยปฏิบัติการสร้างการเรียนรู้ทางสังคมอย่างมีความหมาย สมเหตุผลกับการสร้างภาพพจน์และสร้างธุรกิจเพื่อพึ่งการจัดการตนเอง มากกว่ามุ่งเน้นการดึงดูดคนให้ท่องเที่ยวใช้จ่ายและลดต้นทุนเพื่อทำกำไรโดยลดความสำคัญมิติคุณค่าทางจิตใจและด้านการพัฒนาสังคมชุมชนที่ยั่งยืน ก็จะทำชุมชนเป็นจำนวนมากของประเทศสามารถเป็นหน่วยการเรียนรู้และให้ประสบการณ์ที่มีคุณค่าต่อชีวิตอย่างไม่เคยมีมาก่อน

  เงื่อนไขและความจำเป็นของปัจจุบันและในอนาคต 

สิ่งที่ได้กล่าวมาโดยลำดับเหล่านี้ จัดว่าเป็นกิจกรรมชีวิตและเป็นองค์ประกอบความเป็นชุมชนที่มีอยู่อย่างมากมายในชุมชนตามท้องถิ่นต่างๆ ทั้งในสังคมเมืองและชนบท ซึ่งเพิ่มพูนความหลากหลายและขยายความซับซ้อนมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ อีกทั้งเป็นทั้งโอกาสและสามารถก่อเกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นส่วนรวม สวัสดิภาพและคุณภาพแห่งชีวิตของประชาชนและชุมชนทุกระดับ ซึ่งการขาดความริเริ่มเพื่อพัฒนาระบบจัดการให้สอดคล้องกับความเป็นจริงใหม่ๆที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากทำให้ชุมชนและสังคมส่วนรวมสูญเสียโอกาสการพัฒนาตนเองที่วางอยู่บนพื้นฐานความเข้มแข็งในระบบภูมิปัญญาของตนเองเป็นจำนวนมากแล้ว ก็ก่อให้เกิดวิกฤติปัญหาและผลกระทบต่อการอยู่ร่วมกันของชุมชนทั้งในชนบทและในชุมชนเขตเมืองด้วยภาวะที่ไร้ระบบระเบียบมากยิ่งๆขึ้น

ตัวอย่างเช่น เด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปขาดระบบพัฒนาทักษะชีวิตเพื่อเตรียมตนเองในการเลือกสรรวิถีบริโภคเทคโนโลยีและสร้างชีวิตแห่งการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดเวลา การเกิดอาชญากรรมและความรุนแรงที่สืบเนื่องกับการใช้เทคโนโลยีสื่อ เสียง ภาพ ในชุมชน โดยขาดความตระหนักต่อสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปของการอยู่ร่วมกันและขาดระบบดูแลที่เหมาะสมเพื่อสุขภาวะของชุมชนในบริบทใหม่ๆ ขาดกระบวนการสร้างสรรค์ความเป็นพลเมืองให้สามารถบูรณาการชีวิตและสังคมในสื่อกับวิถีปฏิสัมพันธ์เพื่อการอยู่ร่วมกันในโลกความเป็นจริง ให้มีความสอดคล้องกลมกลืนและเกื้อหนุนส่งเสริมกัน

สภาพการณ์ดังที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างนี้ สื่อสะท้อนว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชนมีความใกล้ชิดและสร้างผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อวิถีชีวิตชุมชนและปัจเจกทุกคน จึงเป็นเงื่อนไขความจำเป็นต่อสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของส่วนรวมที่ชุมชนต้องเรียนรู้เพื่อจัดการได้อย่างเหมาะสม

  การพัฒนาสู่ระบบงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน 

จากที่กล่าวมาโดยลำดับ จะเห็นได้ว่ากิจกรรมชีวิตสมัยใหม่และกระบวนการเศรษฐกิจสังคม ตลอดจนความเป็นชุมชนทางด้านการสื่อสารเรียนรู้ การบริโภคและใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเรียนรู้ ที่ขยายตัวขึ้นอย่างหลากหลายซับซ้อนเป็นจำนวนมากทั้งจากการสั่งสมมาจากสังคมในอดีตและจากพัฒนาทางวิทยาการและเทคโนโลยีของสังคมไทยและสังคมโลก  ทำให้จัดได้ว่ามีความเป็น 'ความเป็นส่วนรวม' และเป็นอีกมิติหนึ่งของ 'ความเป็นชุมชน' ที่ก่อเกิดขึ้นในบริบทใหม่ๆของสังคม ซึ่งองค์กรสาธารณะของท้องถิ่นและชุมชนต่างๆ เป็นจำนวนมากยังไม่รู้จักและไม่สามารถพัฒนาตนเองเพื่อจัดการได้อย่างเป็นระบบ  เช่น ไม่รู้วิธีบริหารจัดการทรัพยากรทางความรู้และระบบภูมิปัญญาในท้องถิ่น ไม่รู้วิธีดำเนินการพิพิธภัณฑ์และแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่ในชุมชน ไม่รู้วิธีพัฒนากิจกรรมทางวัฒนธรรมและระบบสื่อสารในชุมชนที่เหมาะสม เป็นอาทิ ทำให้ระบบสังคมขาดพลังการจัดการที่เพียงพอ  จึงจำเป็นต้องนำมาพิจารณาและจัดการตนเองให้มีความเหมาะสม อยู่ในระดับความสามารถที่ประชาชนและชุมชนตามท้องถิ่นต่างๆจะริเริ่มและพัฒนาขึ้นเองด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เหมาะสมจากเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ในขอบเขตที่สำคัญดังนี้

  • สร้างและกำกับกติกาชุมชนในมิติใหม่ที่ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง : ระบบการดูแลแนวนโยบาย กรอบดำเนินการ และกรอบปฏิบัติที่ยืดหยุ่นหลากหลายไปตามสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และทุนศักยภาพต่างๆของชุมชน ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน ครอบคลุมทุกมิติที่สำคัญทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน ประกอบด้วย เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารความรู้ซึ่งเป็นระบบของชุมชนและการเข้าถึงด้วยตนเองของประชาชน ระบบสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ ถ่ายทอดและนำเสนอองค์ความรู้ของชุมชน สื่อและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สื่อกิจกรรมเพื่อธุรกิจและการบันเทิงในชุมชน สื่อและระบบเทคโนโลยีเพื่อจัดกิจกรรมที่กระทบต่อส่วนรวมในชุมชน ระบบเทคโนโลยีและการจัดการความรู้เพื่อสืบทอดและสร้างความเข้มแข็งแก่ภูมิปัญญาท้องถิ่น การเลือกสรรสื่อการเรียนรู้เข้าสู่ชุมชนและสู่ครอบครัว ตลอดจนแนวนโยบายเพื่อเคลื่อนไหวการปฏิรูปการเรียนรู้และยุทธศาสตร์ทางปัญญาของสังคมไทย เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและเรียนรู้ตนเองของชุมชน การปฏิบัติการสังคมในชุมชนเพื่อพัฒนาพลังการบริโภคสื่อและความฉลาดทางเทคโนโลยีการสื่อสารเรียนรู้ เหล่านี้เป็นต้น
  • พัฒนาพลเมืองประชากรเพื่อความจำเป็นใหม่ : ระบบการพัฒนาความรู้ การสื่อสาร และให้การเรียนรู้แก่ประชาชนและพลเมืองทุกกลุ่มเพื่อการอยู่ร่วมกันที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมและองค์ประกอบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน
  • พัฒนาทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐาน : ระบบการจัดหา ดูแล และบำรุงรักษาระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชนทั้งขององค์กรท้องถิ่นและภาคสาธารณะของชุมชน ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในชุมชน ซึ่งในอนาคตจะมีความจำเป็นและเป็นปัจจัยความรู้ที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของประชาชนมากยิ่งๆขึ้น
  • พัฒนาการศึกษาอบรมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา : ระบบพัฒนาการศึกษาอบรมและพัฒนาการเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชนเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพ คุณภาพชีวิต และความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
  • ผลิต บริการ และปฏิบัติการแบบพึ่งตนเองเพื่อเพิ่มศักยภาพทุกด้านของชุมชน : ระบบการผลิตและบริการทางด้านต่างๆอย่างเป็นระบบด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการในเชิงปฏิรูปการจัดการตนเองของชุมชนและท้องถิ่นต่างๆ และสามารถเป็นนวัตกรรมการจัดการทางความสร้างสรรค์ของชุมชนที่นำไปสู่การเพิ่มพูนศักยภาพการจัดการทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน เช่น เป็นระบบและกลไกพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน พัฒนาสื่อและการจัดการความรู้เพื่อสื่อสารเผยแพร่เชิงการตลาดเพื่อการผลิตความสร้างสรรค์ต่างๆของชุมชน เหล่านี้เป็นต้น
  • เครือข่ายความร่วมมือกับสื่อมวลชนของภูมิภาคและของประเทศ : เข้าถึงและพัฒนาแหล่งประสบการณ์และการสร้างความเป็นจริงในชุมชนในวิถีทางใหม่ๆ ที่เป็นความริเริ่มสร้างสรรค์ของชุมชน รวมทั้งมิติสังคมสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่น่าสนใจของสังคมในวงกว้างและเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนแต่ไม่มีเครือข่ายเพียงพอที่จะเข้าถึงและทำหน้าที่สื่อสารให้กับได้อย่างทั่วถึง หากชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศมีความสามารถจัดการตนเองในมิติดังกล่าวนี้ด้วย ก็จะทำให้สามารถร่วมมือสร้างพลังสังคมกับสื่อมวลชนโดยเป็นเครือข่ายเข้าถึงแหล่งข้อมูลและป้อนวัตถุดิบการสื่อสารที่ดีให้กับสื่อมวลชน ระบบสื่อสารเรียนรู้ทางสื่อมวลชนของประเทศมีประสิทธิภาพอย่างสมบูรณ์มากยิ่งๆขึ้น ทั้งท้องถิ่นและสังคมโดยรวมต่างก็ได้ประโยชน์
  • การสื่อสารกับโลกกว้างและสร้างคลังความรู้ท้องถิ่นออนไลน์ด้วยเทคโนโลยีสื่อมัลติมีเดียด้วยตนเอง : ด้วยการพัฒนาวิธีจัดการตนเองทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชนที่ดี เป็นระบบ และสอดคล้องกับความจำเป็นทางการปฏิบัติของชุมชน ในขณะที่วิทยาการและเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารก็มีความก้าวหน้า สามารถเข้าถึงประชาชนและอำนวยความสะดวกเพื่อการใช้ด้วยตนเองของทุกคนได้อย่างง่ายดายจนแทบจะไม่มีอุปสรรคให้ต้องอาศัยความรู้ที่ซับซ้อนจากผู้อื่นต่อไปมากยิ่งๆขึ้นโดยลำดับ เหล่านี้ ก็จะทำให้ชุมชนเป็นหน่วยปฏิบัติการและจัดการความรู้ จัดการระบบการสื่อสารเรียนรู้ ด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้ามข้อจำกัดที่เคยมีและสามารถนำการเปลี่ยนแปลงด้วยพลังความรู้จากการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมผ่านปฏิบัติการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน
  • หน่วยจัดการธุรกิจเรียนรู้เพื่อเคลื่อนไหวชุมชน : การจัดการเชิงธุรกิจเพื่อการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาสังคม เช่น การจัดเทศกาลแสงเสียงเพื่อการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้ชุมชน การจัดแหล่งสื่อสารและถ่ายทอดอัตลักษณ์ความเป็นชุมชน การออกแบบและจัดการทั้งชุมชนให้เป็นชุมชนแห่งการสื่อสารเรียนรู้ โดยทำวิจัยท้องถิ่นและจัดการความรู้เพื่อสื่อสารและสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่งดงามและมีความเหมาะสม

แนวดำเนินการดังกล่าวนี้ เป็นภาพกว้างๆ ที่จะแสดงรายละเอียดในมิติต่างๆต่อไป ซึ่งจะทำให้กิจกรรมและสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมในชุมชนตามท้องถิ่นต่างๆ ทั้งในภาคที่เป็นทางการ ภาคธุรกิจเอกชน และในภาคประชาสังคม เกิดการยกระดับและเป็นระบบการจัดการตนเองของความเป็นชีวิตชุมชนในอีกองค์ประกอบหนึ่ง ที่จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งทางการจัดการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาระบบความรู้และกระบวนการเรียนรู้ สามารถครอบคลุมความจำเป็นในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาได้มากยิ่งๆขึ้น

  ผลดีต่อชุมชนและสังคมส่วนรวม 

  • ชุมชนเข้มแข็งขึ้นอีกมิติหนึ่ง :  ชุมชนและท้องถิ่นต่างๆ สามารถพัฒนาระบบจัดการตนเอง ให้กิจกรรมและสิ่งต่างๆที่พัฒนาการขยายตัวขึ้นในชุมชนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน มีบทบาทและร่วมสร้างสรรค์ความเป็นชุมชน ตลอดจนเป็นองค์ประกอบเพื่อสุขภาวะชุมชน สร้างสรรค์สวัสดิภาพและพัฒนาคุณภาพแห่งชีวิตในวิถีชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งๆขึ้น
  • เพิ่มโอกาสการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา :  มีระบบที่ดีในการเลือกสรร ดูแล และจัดการชุมชน ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน ซึ่งมีความใกล้ชิดกับสังคมในยุคความรู้และข้อมูลข่าวสารของประชาชนทุกคนในชุมชน สอดคล้องกับความจำเป็นในปัจจุบัน
  • ร่วมสร้างความเป็นพลเมืองเพื่อปฏิรูประบบสังคมจากฐานราก :  เป็นเครื่องมือและนวัตกรรมการจัดการการสื่อสารเรียนรู้ ตลอดจนพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ในขอบเขตที่กว้าง เพื่อสร้างพลังการมีส่วนร่วมต่อกิจการสาธารณะของชุมชน สร้างความเป็นพลเมืองและบริหารจัดการความเป็นชุมนนิติใหม่ๆได้อย่างทัดเทียมกับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมทางข่าวสารและความรู้ของปัจจุบันและในอนาคต ที่ชุมชนและภาคประชาชนจะสามารถริเริ่มและทำด้วยตนเองเป็นอย่างดี
  • จัดการทรัพยากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ : ในอนาคต ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาจะแพร่หลายเหมือนกับสื่อมัลติมีเดียในโทรศัพท์มือถือซึ่งเข้าถึงชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างทั่วถึง
  • สร้างงาน ตำแหน่งงาน และเครือข่ายการจัดการ : คนท้องถิ่นสามารถยกระดับการมีส่วนร่วม มีงานทำและอยู่อาศัยในท้องถิ่นด้วยวิถีชีวิตที่พอเพียง ลูกหลานของชุมชนที่สามารถทำงานกับคอมพิวเตอร์ ระบบไอที ระบบปฏิบัติการสื่อ งานผลิตและสร้างสรรค์สื่อทัศนศิลป์และสื่อโสตทัศน์ด้วยเทคโนโลยีผสมผสาน สื่อพื้นบ้าน ตลอดจน อสม และโฆษกและสื่อท้องถิ่นต่างๆ สามารถสร้างระบบจัดการและดำเนินชีวิตอยู่ในชุมชนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งกลุ่มคนที่มีศักยภาพและมีบทบาทอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว เช่น คนนำกิจกรรมชุมชน มัคนายก โฆษกวัด กลุ่มกิจกรรมสื่อวัฒนธรรมพื้นบ้าน ซึ่งทักษะเหล่านี้โดยมากมักเป็นความรู้จำเพาะและมีอยู่ในประสบการณ์ของชุมชน แต่ยังขาดระบบชุมชนและวิธีจัดการตนเองที่จะรองรับการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความเป็นส่วนรวมอย่างเหมาะสม
  • ชุมชนแห่งการเรียนรู้เข้มแข็ง : พลังการเรียนรู้และกระบวนการทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนจะเข้มแข็งและมีชีวิตชีวามากขึ้น
  • ประเด็นการปฏิรูปการศึกษาและระบบสังคมที่ต้องดำเนินการระดับท้องถิ่นมีความเป็นไปได้มากขึ้น : เช่น การสร้างคลังความรู้และจัดการระบบสื่อการเรียนรู้ในชุมชน การพัฒนาทรัพยากรความรู้และปัจจัยแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น การพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ริเริ่มออกจากความเป็นชุมชน การสื่อสารขยายผลบทเรียนและความริเริ่มของชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคมโลกด้วยตนเอง เหล่านี้เป็นต้น

การพัฒนาระบบจัดการตนเองของชุมชนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน จะเป็นเครื่องมือและวิธีบริการจัดการความเป็นชุมชนและความเป็นสาธารณะของชุมชนที่สอดคล้องกับความจำเป็นของสังคมสมัยใหม่ที่จะทำให้ชาวบ้านและชุมชนในท้องถิ่นต่างๆมีความสามารถพึ่งตนเองทางการจัดการได้มากยิ่งๆขึ้น สามารถสืบสานประสบการณ์อันเป็นมรดกทางสังคมและสิ่งที่เป็นทุนเดิมให้บูรณาการกับเงื่อนไขของโลกภายนอกด้วยการจัดการที่ดี

รวมทั้งสามารถบริหารจัดการให้ความเป็นชุมชนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ซึ่งจะเป็นพลังการริเริ่มสร้างสรรค์และนำไปสู่ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงออกจากพื้นฐานความเข้มแข็งในตนเองของชุมชนดังที่พึงประสงค์ได้อีกอย่างหลากหลาย  ปัจเจกและชุมชนสามารถริเริ่มการมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะสาธารณะของสังคมในโลกที่แวดล้อมด้วยความรู้และข้อมูลข่าวสารได้มากยิ่งๆขึ้น.

.............................................................................................................................................................

หมายเหตุ  กรณีตัวอย่างนวัตกรรมการศึกษาชุมชนและการบูรณการเทคโนโลยีการศึกษาชุมชน เพื่อออกแบบ พัฒนาระบบการให้ประสบการณ์ทางเรียนรู้ และบริหารจัดการสถานการณ์การเรียนรู้ ในแนวทางใหม่ๆที่สะท้อนการผสมผสานโอกาสการพัฒนาและความทันสมัยที่พอเพียง โดยมีพื้นฐานทางภูมิปัญญาและเทคโนโลยีของชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง

๑) ศูนย์การเรียนรู้วิถีชีวิต ระบบสังคมวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของสังคมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือพระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง จังหวัดขอนแก่น ใน ภาวะสุขสงบฉับพลัน ผ่านศิลปะและพระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์

๒) ศูนย์บูรณาการการเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนา : โรงมหรสพทางจิตวิญญาณ วัดสวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ใน โรงมหรสพทางจิตวิญญาณ สวนโมกข์ : อีกวิธีสู่ความเบิกบานทางจิตวิญญาณ โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์

๓) การผสมผสานวิถีชุมชน การมีส่วนร่วมของปัจเจก และเครือข่ายสังคมออนไลน์ในระดับท้องถิ่นและเครือข่ายทั่วโลกเวทีคนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ใน  เวทีคนหนองบัว

หมายเลขบันทึก: 427141เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2011 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

งานชุมชนนี้ทุกคนจะกล่าวคล้ายๆกันว่ากำลังหาเจ้าภาพอยู่ ช่างแสนหายากเสียจริงๆ หายากเหมือนหาคนค้ำประกันผู้ต้องหาที่กระทำผิดเลย
ถ้าหาใครไม่ได้จริงๆ เดี่ยวจะไปฟ้อง UN เอ้ยไม่ใช่ ไปเชิญ UN มาเป็นเจ้าภาพแทนซะดีมั้ง(รู้สึกคุ้นๆ)
เจริญพร

 

สวัสดีค่ะ

มารับความรู้ค่ะ  ขอขอบพระคุณค่ะ

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
หมายถึงชุมชนภูมิซร็อลอย่างนั้นหรือเปล่าครับ

สวัสดีครับพี่คิมครับ
เป็นอีกด้านหนึ่งที่จะค่อยๆตกผลึกและเขียนออกมา เอาไว้ใช้เป็นแนวคิดเพื่อถอดบทเรียนและยกระดับการทำงานด้านนี้ให้กับองค์กรท้องถิ่นและเครือข่ายที่ทำงานพัฒนาระบบความรู้ของท้องถิ่นเมื่อมีโอกาสน่ะครับ อีกทั้งคนทำงานกับชุมชนก็คงจะเห็นมิติใหม่ๆสำหรับริเริ่มเครือข่ายการทำงานเชิงพื้นที่ต่างๆน่ะครับ

มาขอรับความรู้ และ ข้อคิดในการทำงานในชุมชนค่ะ เพราะเป็นมือใหม่ในการทำงานร่วมกับชุมชนภาคเครือข่าย และ องค์กรในท้องถิ่นค่ะ

สวัสดีครับคุณครูเชาวรัชครับ
ขอให้มีความสำเร็จเสมอ เป็นคนสร้างการเรียนรู้ให้กับชุมชน
และเป็นกำลังความรู้ให้กับคนในชุมชนที่ได้ทำงาน นานๆนะครับ
ขอบคุณที่มาเยือนและได้สนทนากันครับ

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

ในปัจจุบันคงหยุดไม่ได้แล้วกับการก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ของเทคโนโลยีและ Social network ยกเว้นบางประเทศใช่มั้ยคะ

ในสถานศึกษาก็จะมีวิธีการจัดการกับ Social network ต่าง ๆ ไม่กี่รูปแบบ เช่น

  • blog ซะให้หมดเลย
  • ฺblog บางเว็บที่คิด (ไปเองหรือสรุปจากสื่อ) ว่าเด็กชอบเข้าใช้ ไร้สาระและเป็นอันตราย
  • ฺblog ด้วยคำบางคำ แต่กลับไปมีผลพลอยเสียกับเว็บไซต์ทั่วไปที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า

ซึ่งแทนที่ใช้วิธีการปลูกฝังและสร้างความตระหนักในด้านคุณธรรม จริยธรรมของเด็ก
ในการใช้ Social network อย่างฉลาด เข้าใจและรู้เท่าทัน
แต่กลับมาใช้วิธีตัดไฟแต่ต้นลม (มั้งคะ)

เคยถามเด็กนักเรียนว่าทำไมต้องโดดเรียนไปแอบเล่นเกมที่ร้านเกม
เค้าตอบว่าที่โรงเรียนเล่นเกมไม่ได้ chat ก็ไม่ได้

อาจารย์มีความเห็นอย่างไรคะ

หากครูแอ้จะหยิบเรื่องนี้ไปทำงานวิจัย
เพื่อหาคำตอบไปเปลี่ยนใจครูที่ชอบ blog (ซะให้หมด)
แถมมักชวนผู้บริหารให้เข้าใจว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้องแล้วและควรทำมากที่สุด

สวัสดีครับครูแอ้ครับ

ผมนั้นมองว่าคนที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี ควรมีบทบาทในการช่วยกันพัฒนาการเรียนรู้ของสังคมและพาคนอื่นเขาทำน่ะครับ เราปฏิเสธความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสังคม สิ่งแวดล้อม สื่อและเทคโนโลยีต่างๆไม่ได้ ก็น่าจะต้องเรียนรู้ที่จะใช้และเลือกสรรด้านที่ส่งเสริมพื้นฐานสังคมตนเองได้ดีที่สุด ต้องเรียนรู้ที่จะเป็นนายเทคโนโลยี หรืออย่างน้อยก็นำมาใช้อย่างเหมาะสม คุ้มค่า มีความหมายที่สุด

แต่ปัญหาส่วนใหญ่ทั้งในสังคมไทยและทั่วไปเลยก็คือ นักเทคโนโลยีบางส่วนเองบางทีก็เหมือนกับผู้คนทั่วไปในสังคม โดยก็มักเพียงเรียนรู้ที่จะใช้หรือพยายามนำเทคโนโลยีแปลกๆใหม่ๆมาใช้เท่านั้นน่ะสิครับ พอเจอของใหม่กว่าก็ไล่ตามไปอีกเหมือนเป็นแฟชั่นเฉยๆ

อย่างในเรื่องการนำมาใช้เพื่อการศึกษาเรียนรู้ ก็ไม่ได้พัฒนาขึ้นจากการรักที่จะเรียนรู้และการเห็นคุณค่าของความรู้ในชีวิตประจำวัน แล้วจึงเรียนรู้ที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่กลับเริ่มที่อยากได้ความสะดวก อยากทันแฟชั่น ตามโลก หรือใช้เป็นเครื่องหมายแสดงรูปแบบและสถานะทางสังคมที่ผิวเผิน หากเป็นอย่างนี้ ก็ต้องหาวิธีพัฒนาวิธีคิด ให้คนเห็นนัยสำคัญของแง่นี้ไปด้วย แต่เรื่องจะทำวิจัยนี่ เอามาเล่าสู่กันฟังจะดีกว่าไหมครับ

อาจารย์ขา blog ในที่นี้คือ การปิดการเข้าถึงเว็บไซต์ต่าง ๆ นะคะ 
ไม่ได้หมายถึงการเขียน blog นะคะเพราะครูแอ้เองก็ชอบ weblog
สงสารเด็ก ๆ ที่ไม่สามารถใช้ internet ได้อย่างสมบูรณ์น่ะค่ะ

น่าจะถูกต้องแล้วนะครับครูแอ้ครับ การ blocked ไม่ให้ได้เด็กๆ เข้าถึง weblog หรือ internet ของคุณครู หรือการ blocked ของภาครัฐเพื่อปิดกั้นประชาชนให้เข้าถึงการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมและการส่งต่อๆกันทางเทคโนโลยีไอที เป็นวิถีปฏิบัติแบบสังคมใช้อำนาจและการกดทับผู้อื่นตามอำเภอใจ ที่นำมาใช้กับเทคโนโลยีทางความรู้และสังคมข้อมูลข่าวสารซึ่งต้องการวัฒนธรรมการเรียนรู้แะใช้วิถีปัญญา วิถีแห่งเหตุผล ซึ่งก็อย่างที่ครูแอ้กล่าวถึงว่ามันจะไม่มีทางปิดกั้นได้

อีกทั้งนอกจากไม่น่าจะเป็นการถูกต้องที่คนที่มีโอกาสเข้าถึงจะถือเอาเหตุผลและวิธีคิดของตนเองไปปิดกั้นเด็กๆและคนอื่นแล้ว โลกก็เคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงเร็วจนคนที่ปิดกั้น คิดและทำแทนผู้คนไปตามเกณฑ์ของตน ก็ยากที่จะรับผิดชอบชีวิตคนอื่นได้ทั่วถึงและเพียงพอ การปิดกั้นจึงก็เป็นการทำร้ายสังคมเสียมากกว่า เมื่อทำอย่างนี้ก็ไม่น่าจะดีและทำไม่ไหว หนทางที่น่าจะเป็นก็คือการพัฒนาการเรียนรู้ให้กับเด็กๆและสังคม

weblog, social network และการใช้ internet ในแง่มุมต่างๆ เป็นการพัฒนาวิธีใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ จะมีความหมายและเกิดประโยชน์จากการใช้สอยไปอย่างไรก็ขึ้นต่อกระบวนการเรียนรู้และพัฒนากระบวนการทางการปฏิบัติของสังคมที่จะมีต่อเทคโนโลยีไอทีเหล่านี้ หากวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของผู้คนไม่ไปกับสังคมความรู้ แต่นำเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันในนามของเครื่องมือสื่อสารและจัดการทางความรู้ มันก็เป็นเพียงได้ความทันสมัยทางรูปแบบ แต่คนที่ใช้ไม่ได้พัฒนาวัฒนธรรมความรู้ไปด้วยน่ะครับ

การส่งเสริมการใช้และได้พัฒนาการเรียนรู้ไปตามเงื่อนไขตนเอง จึงเป็นทางหนึ่งของการแก้ปัญหาวัฒนธรรมเชิงอำนาจอย่างการปิดกั้นและ blocked โอกาสการเข้าถึงของเด็กๆ รวมไปจนถึงคนอื่นๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท