ยุทธศาสตร์การสอนสำหรับพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณในวิชาภาษาไทย


สอนภาษาต้องพัฒนากระบวนการคิด

มาร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทย ให้มีหลักการ มีทฤษฎีและมีชีวิต

 

เฉลิมลาภ  ทองอาจ

 

                ภาษามีความสัมพันธ์กับความคิด และขณะเดียวกันความคิดก็มีความสัมพันธ์กับภาษา  จากหลักการนี้ทำให้เราได้หลักการเกี่ยวกับการสอนภาษาว่า  ต้องมุ่งเน้นผู้เรียนใช้กระบวนการคิดเพื่อการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ  ปัญหาที่เรามักพบเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาไทยก็คือ  ครูภาษาไทยมุ่งสอนเนื้อหาโดยลืมไปว่า  เนื้อหาหรือสาระการเรียนรู้คือมโนทัศน์ (concepts) ข้อเท็จจริง  (facts)  หลักการ (principles)  ที่ได้มีผู้สังเคราะห์และกำหนดไว้แล้ว  แต่ผู้เรียนหาได้เป็นผู้สร้างความหมายต่อสิ่งเหล่านี้ (construct meaning)          ด้วยตนเองไม่  การสร้างความหมายที่กล่าวถึงนี้ ก็คือการเชื่อมโยงข้อมูลใหม่ เข้ากับประสบการณ์เดิมของตนเองได้  คำถามที่สำคัญคือ เราจะสามารถทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ภาษาและเกิดกระบวนการคิดระดับสูง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความหมายไปพร้อมๆ  กันได้อย่างไร  และจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์เดิมของตนเอง กับความรู้และประสบการณ์ของผู้อื่น  คำตอบของคำถามเหล่านี้ก็คือกลยุทธ์       การสอน  (teaching strategies)  ที่สำคัญ  ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยแล้วว่า สามารถที่จะพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ได้แก่  การใช้คำถามหรือปัญหา  การอภิปรายและการเรียนรู้ร่วมกัน  ซี่งแต่ละกลยุทธ์      มีรายละเอียดดังนี้ 

                                1.  การใช้คำถามเชิงวิจารณญาณ (critical questioning techniques)  คำถามที่ดีย่อมส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้ความคิดไตร่ตรอง วิเคราะห์ ประเมินและสังเคราะห์วิธีการในการดำเนินการสิ่งต่างๆ  ซึ่งการเรียน   การสอนในชั้นเรียนภาษาไทยส่วนใหญ่  มุ่งเสนอเนื้อหาความรู้มากกว่าการใช้คำถามเพื่อให้ผู้เรียนสร้างความรู้  ด้วยเหตุนี้ การคิดเกี่ยวกับประเภทของคำถามและวิธีการใช้คำถามจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิด  ครูควรใช้เทคนิคการใช้คำถามเชิงวิจารณญาณเพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของผู้เรียน  ซึ่งคำถามดังกล่าวมีลักษณะเป็นคำถามปลายเปิด  (open end questions)   เพื่อให้ผู้เรียนได้ระดมความคิดอย่างเป็นอิสระและมีความหลากหลาย  ตัวอย่าง เช่น                 1)  นักเรียนมีความคิดในเรื่องหรือประเด็นนี้อย่างไร  เหตุใดนักเรียนจึงความคิดเช่นนั้น  2)  นักเรียนใช้ความรู้ หลักการหรือแนวคิดอะไรในการคิด/ตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้     3)  นักเรียนคิดว่าเรื่องนี้มีนัยสำคัญที่สื่อถึงอะไร เพราะเหตุใด  4)  นักเรียนมีมุมมองหรือความคิดเห็นต่อเรื่องหรือประเด็นนี้อย่างไร และจากประเด็นเดียวกันนี้ นักเรียนสามารถพิจารณาโดยใช้มุมมองอื่นๆ ได้หรือไม่  อย่างไร  (Brown และ Kelley, 1986 อ้างถึงใน  Snyder และ Snyder, 2008: 95)  นอกจากคำถามที่ครูตั้งขึ้นแล้ว  นักเรียนเองก็ควรได้รับโอกาสให้เป็นผู้ที่ตั้งคำถาม    เพื่อเป็นข้อสังเกตหรือข้อโต้แย้งต่อประเด็นหรือข้ออ้างต่างๆ  ด้วยตนเอง  ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงประเด็นที่กำลังพิจารณากับปัจจัยต่างๆ ที่มีความเป็นไปได้ว่ามีความเกี่ยวข้อง หรือส่งผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างไร 

                                2.  การใช้ปัญหาที่มีโครงสร้างไม่สมบูรณ์ (ill-structured  problems)       เป็นการกำหนดสภาพปัญหา ประเด็นหรือหัวข้อที่ยังคงมีความคลุมเครือ ซึ่งเปิดกว้างให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นต่อไปในหลากหลายแง่มุมได้  ดังนั้นครูสามารถกระตุ้นหรือส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความคิดอย่างมีวิจารณญาณได้จากการให้ผู้เรียนได้เผชิญประเด็นปัญหา  ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของคำถาม  กรณีศึกษา เรื่องราวหรือเหตุการณ์สมมติ    ซึ่งต้องมีโครงสร้างที่ไม่สมบูรณ์  กล่าวคือ เป็นประเด็นปัญหาที่ยังไม่มีวิธีการแก้ไขหรือยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน      และปัญหานั้นจะต้องมีประเด็นที่จะนำไปสู่การถกเถียง โต้แย้ง หรือทำให้ใช้ความคิดไตร่ตรองด้วยเหตุและผล  คำตอบที่ผู้เรียนได้กลั่นกรองขึ้นจะไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด แต่ในการพิจารณาความเป็นไปได้ของคำตอบ  จะต้องคำนึงถึงเหตุผลและหลักฐานต่างๆ ที่นำมาประกอบหรือมารองรับเป็นสำคัญ  (Snyder และ Snyder, 2008: 94)  ตัวอย่างเช่น ในการเรียนการสอนวรรณคดี  ผู้เรียนอาจจะหยิบยกประเด็นหรือเหตุการณ์ในวรรณคดีเพื่อนำมาให้ผู้เรียนได้อภิปรายถกเถียงกัน โดยใช้คำถามในข้อ 1 เข้ามาช่วยเสริมให้ผู้เรียนใช้กระบวนการคิด  ตัวอย่างเช่น  ประเด็นเหตุการณ์ที่สมิงพระรามละทิ้งภรรยาและบุตรหนีกลับไปหงสาวดี เพียงเพราะ               พระเจ้ามณเฑียรทองผิดสัญญาที่เรียกว่า  “เชลย” หรือประเด็นที่พระยาลิไท นำเสนอโลกอุดมคติของคนใน   อุตรกุรุทวีปนั้น แท้ที่จริงต้องการแต่เพียง “นำเสนอ”  หรือมีวัตถุประสงค์เบื้องหลังอย่างไรกันแน่  ประเด็นเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเด็นที่จะทำให้ผู้เรียนตอบสนอง (response) กับวรรณคดี  ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดในเชิงวิพากษ์ และมีวิจารณญาณต่อประเด็นต่างๆ มากยิ่งขึ้น    

                                3.  การใช้วิธีการสอนแบบอภิปราย  (discussion)  เมื่อศึกษาเกี่ยวกับการสอนเชิงประวัติ  (history of teaching)  จะพบว่า  การสอนแบบอภิปรายมาจากวิธีสอนที่   Socrates  นักปรัชญากรีกใช้ในการสอนสานุศิษย์  เขามีความเชื่อว่า  ผู้เรียนจะสร้างคำตอบที่ดีหรือคำตอบที่มีเหตุมีผล  ก็ต่อเมื่อผู้สอนใช้คำถามที่เหมาะสม  ซึ่งได้แก่  คำถามที่สามารถนำความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียนแต่ละคนออกมา  ลักษณะของคำถามจึงเป็นคำถามที่มีลักษณะการโต้แย้ง หรือการสนทนาในเชิงวิพากษ์  (dialectic) เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้มุมมองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น  การพยายามตอบคำถามของผู้เรียน  จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมอง  ความเชื่อหรือความคิดที่มีต่อประเด็นที่กำลังอภิปราย  ด้วยเหตุนี้  วิธีสอนนี้จึงมีเป้าหมายที่สำคัญคือ  การพัฒนาความคิดอย่างมีวิจารณญาณของผู้เรียน  การใช้วิธีสอนแบบอภิปราย  ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้และเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เรียนอย่างลุ่มลึกยิ่งขึ้น  อีกทั้งยังเกิดคุณลักษณะในด้านการมีใจเปิดกว้าง  การมีค่านิยมต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง  ด้วยการที่ครูจัดสภาพบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย  และให้เวลาที่เพียงพอแก่ผู้เรียน เพื่อใช้ในการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม หรือระหว่างครูกับผู้เรียน    ทั้งนี้  การใช้วิธีสอนแบบอภิปรายจะต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุม  กล่าวคือ จะต้องมีการจัดเตรียมสถานการณ์ที่จะนำมาซึ่งประเด็นการอภิปราย ในรูปแบบต่างๆ  และมีการใช้ชุดของคำถามปลายเปิดหรือคำถามเชิงวิจารณญาณ            ซึ่งสนับสนุนให้ผู้เรียนเแสดงความคิดเห็นของตนเองออกมา

                                4.  การใช้วิธีการเรียนรู้ร่วมกัน  (collaborative  learning) การเรียนรู้ร่วมกันเป็นวิธีสอน        วิธีหนึ่ง  ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญคือ การให้ผู้เรียนที่มีระดับความสามารถแตกต่างกันมาทำงานร่วมกัน ในลักษณะเป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเล็ก  ผู้เรียนจะต้องมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการเรียนรู้ของตนเอง  และรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม เนื่องจากความสำเร็จของสมาชิกในกลุ่มยอมหมายถึงความสำเร็จของสมาชิกทุกๆ คน  การสอนวิธีนี้มีผลการวิจัยยืนยันว่า สามารถพัฒนาความสามารถในการคิดระดับสูงและทำให้ผู้เรียนเกิดความคงทนในการเรียนรู้เนื้อหาต่างๆ มากกว่าผู้เรียนที่เรียนรู้ตามลำพัง  ทฤษฎีซึ่งเป็นพื้นฐานของวิธีการสอนนี้คือ ทฤษฎีการเรียนรู้การสร้างความรู้เชิงสังคม (social constructivist learning of theory)  ของ Vysotsky (1978)  ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ผู้เรียนจะพัฒนาความสามารถในการคิดระดับสูงจากการทำงานร่วมกับผู้เรียนคนอื่นๆ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน  ในการทำงานกลุ่ม  ผู้เรียนจะได้ใช้ทักษะทางปัญญา  เช่น  การวิเคราะห์ข้อมูลหรือข้ออ้างต่างๆ   การสร้างความกระจ่างในประเด็นที่พิจารณา  การสังเคราะห์หรือการสร้างข้อสรุปและการประเมินความคิดของตนเองและผู้อื่น  เป็นต้น  กิจกรรมเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ  ซึ่งบทบาทของครูตามวิธีการเรียนรู้ร่วมกันคือ        ครูจะต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มเกิดการอภิปรายและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในการทำงานให้มากที่สุด 

                                5.  การใช้วิธีสืบสอบ   (inquiry  methods) วิธีการสืบสอบเป็นวิธีการสอนที่มีหลักการที่   สำคัญคือ ผู้เรียนต้องสร้างและทดสอบสมติฐานเกี่ยวกับปัญหาที่พิจารณาจากการใช้คำถามอย่างต่อเนื่อง         จากหลักการดังกล่าว  ผู้เรียนจะต้องใช้ทักษะการสังเกต การสรุปอ้างอิง การทำนาย  การจำแนกและการสื่อสาร โดยกิจกรรมสำคัญจะเริ่มจากการที่ครูนำเสนอประเด็นที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความขัดแย้งทางปัญญา (intellectual  conflict)  หรือทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจใคร่รู้  จากนั้นผู้เรียนตั้งคำถามต่อประเด็นหรือหัวข้อที่ตนเองสงสัย  แล้วใช้วิธีการต่างๆ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อมากำหนดสมติฐานเบื้องต้น และตั้งคำถามเพื่อทดสอบสมมติฐานต่อไป กระทั่งสามารถสรุปหรือสร้างคำตอบได้ด้วยตนเอง  ในระหว่างขั้นตอนของการสืบสอบนี้ นักเรียนจะได้พัฒนาทักษะทางปัญญาและทักษะกระบวนการคิดระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหา (problem solving)  และการตัดสินใจ (decision making)   เกี่ยวกับการสร้างข้อสรุปหรือการสร้างความหมายต่อตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการคิดที่เป็นพื้นฐานของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

                ครูภาษาไทยที่จะนำกลยุทธ์การสอนข้างต้นไปใช้ จะต้องคำนึงว่า กลยุทธ์ต่างๆ มิได้ใช้แยกกัน แต่จะต้องใช้อย่างประสาน เพื่อสนับสนุนกันและกัน ตัวอย่างเช่น ครูสามารถให้ผู้เรียนเข้ากลุ่มเพื่อที่จะร่วมกันสืบสอบปัญหาหรือประเด็นใดประเด็นหนึ่งในเนื้อหาของวิชาภาษาไทย โดยครูจะใช้เครื่องมือสำคัญเพื่อให้เกิดการอภิปรายก็คือ การใช้คำถามหรือปัญหา เป็นต้น  ทั้งนี้จะต้องถือหลักที่สำคัญเสมอว่า การสอนภาษาไทยเพื่อพัฒนากระบวนการคิด จะต้องสามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการสร้างหรือสังเคราะห์ความรู้ โดยอาศัยความรู้และ    ประสบการณ์ของตน ผสมผสานกับความรู้และประสบการณ์ของผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ เราสามารถที่จะสรุปได้ว่า  การเรียนการสอนที่ปราศจากการใช้คำถามหรือปัญหา  และไม่มีการให้ผู้เรียนอภิปราย ถกเถียงหรือโต้แย้งทางความคิด ย่อมเป็นการเรียนการสอนที่ไม่อาจอาจพัฒนากระบวนการคิดระดับสูงของผู้เรียนได้ 

 

__________________________________

รายการอ้างอิง

Snyder, L. G. and Snyder, M. J. 2008. Teaching critical thinking and problem solving skills. Delta Pi         Epsilon Journal. (50)2: 90-99.

 

“การนำข้อความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความข้างต้นไปเผยแพร่หรือใช้เพื่อการใดๆ            ควรปฏิบัติตามหลักวิชาการ หลักกฎหมายและหลักความเป็นมนุษย์”

 

หมายเลขบันทึก: 426914เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2011 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจค่ะ ขอบคุณที่แบ่งปันความรู้ค่ะ ^^ ดีใจที่เด็กสาธิตจุฬารุ่นหลังๆก็ยังมีอจ.ที่มีความสามารถค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท