เศรษฐกิจชุมชนสู่การค้าโลกาภิวัตน์ภายใต้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง


"ชุมชน"เป็นปัจจัยแรกที่ดิฉันเห็นว่าควรนำเป็นวัตถุในการเขียนงานครั้งนี้ เนื่องจาก"ชุมชน"มีพื้นฐานและโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่รากฐานอย่างเดียวกัน พึ่งพาอาศัยกันอย่างเครือญาติและภายใต้กฎจารีตประเพณีเดียวกัน ดังนั้นชุมชนจึงอาจเป็นฐานในการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจจากระดับจุลภาคไปสู่ระดับมหภาคได้อย่างยั่งยืนเพราะฐานทางสังคมแข็งแกร่ง โดยนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานในการจัดระเบียบการค้าไปพร้อมๆกับการพัฒนา มาสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยชุมชน ในการรับมือกับการเปิดการค้าเสรีที่เริ่มครอบงำเศรษฐกิจภายในประเทศและเป็นตัวกำหนดทิศทางทางการค้าของภาครัฐและเอกชน ส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชนที่ผลิตเพื่อความพออยู่พอกินให้มุ่งไปที่การผลิตเพื่อการค้ามากขึ้น โดยไม่คำนึงถึงความสอดคล้องกับความต้องการและความเข้าใจของชุมชน

     ในโลกปัจจุบันเราไม่อาจปฏิเสธกระแสแห่งโลกาภิวัตน์ได้เลย โดยตัดช่องน้อยแต่พอตัวเพื่อประกาศโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจอย่างสังคมนิยมโดยแท้(ตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมคือการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของจีนแผ่นดินใหญ่ทีใช้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ แต่หันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีมากขึ้นและเปิดประเทศเพื่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในที่สุด) เนื่องมาจากอิทธิพลอันยิ่งใหญ่และทรงพลังของคำว่า"ทุนนิยม" ซึ่งเป็นกระแสสังคมที่ถาโถมเข้ามากระทบกับรากฐานความคิดและระบบเศรษฐกิจในทุกๆ ภูมิภาค ทำให้แต่ละประเทศต่างหามาตรการและช่องทางเพื่อสร้างศักยภาพของตนในการแข่งขันทางการค้า การลงทุน การเงินและการพัฒนาเพื่อช่วงชิงคำว่า"มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ" ที่จะนำไปสู่อำนาจในการครอบงำเศรษฐกิจโลกทั้งระบบ จึงอาจกล่าวได้ว่า การค้าระหว่างประเทศเปรียบเสมือนสงครามโลกครั้งที่สาม ที่มีเงื่อนไขเพื่อการแย่งชิง"ผลประโยชน์" ไร้ความเมตตา และไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรทางการค้าในยุคการค้าไร้พรมแดน

     การค้าระหว่างประเทศเป็นอีกปัจจัยที่เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแข่งขันทางเศรษฐกิจโลก เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศต่างๆมีรายได้จากการส่งออกสินค้า และการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศก็ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อภาคการผลิตและการบริโภค ตลอดจนผลประโยชน์ทางอ้อมในการเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้กับทักษะทางด้านเทคโนโลยีประการหนึ่ง และการเรียนรู้กับทักษะด้านการจัดการหรือการบริหาร  โดยอาศัยคำว่า"เงินตรา"เป็นจุดเกาะเกี่ยวในการเร่งเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศอย่างไม่ลืมหูลืมตาว่าประชาชนในประเทศนั้นพร้อมที่จะรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหรือไม่ โดยเฉพาะชุมชนซึ่งมีระบบเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเฉพาะตัวที่สืบสานกันมาเป็นเวลานมนาน

     การค้าระหว่างประเทศคืออะไร?

     -ความหมายในทางเศรษฐศาสตร์

การค้าระหว่างประเทศในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง การส่งสินค้าของประเทศหนึ่งผ่านพรมแดนไปชายให้กับประเทศอื่นๆ ที่ต้องการสินค้าของประเทศนั้น เรียกการค้าในส่วนนี้ว่า"การส่งออก(Export : X)" อีกด้านหนึ่งคือการซื้อสินค้าจากประเทศอื่นๆ ผ่านเขตแดนเข้าในประเทศ เรียกการค้าในส่วนนี้ว่า"การนำเข้า(Import : X)" และเรียกผลต่างระหว่างการส่งออกและการนำเข้านี้ว่า "การส่งออกสุทธิ(Net Export : X-M)" ผลต่างระหว่างการส่งออกและนำเข้าดังกล่าวหมายถึงผลต่างระหว่างมูลค่าการส่งออกกับมูลค่าการนำเข้าและผลต่างนี้เองที่เป็นตัวแสดงถึงดุลการค้า(Balance of Trade) โดยถ้ามูลค่าการส่งออกมากกว่ามูลค่าการนำเข้าเรียกว่า "เกินดุลการค้า" ถ้ามูลค่าการส่งออกน้อยกว่ามูลค่าการนำเข้า เรียกว่า"ขาดดุลการค้า" และถ้ามูลค่าการส่งออกเท่ากับมูลค่าการนำเข้า เรียกว่า"ดุลการค้าสมดุล"คือไม่ขาดดุลและไม่ขาดดุล แต่ในกรณีหลังไม่ค่อยปรากฏเนื่องจากแต่ละประเทศไม่เกินดุลก็ขาดดุลการค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง(http://www.tangnamo.com/people/wk13.htm

     - ความหมายในทางกฎหมาย

       ในมุมมองกฎหมายระหว่างประเทศ

หมายถึง กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ หมายถึง กฎหมายที่มีทางปฏิบัติและการยอมรับกันอย่างแพร่หลายในทางระหว่างประเทศ เป็นนิติสัมพันธ์ที่มีองค์ประกอบต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ รัฐกับเอกชน หรือเอกชนกับเอกชน ต้องอยู่ภายให้ประเพณีทางการค้าหรือกฎเกณฑ์อย่างเดียวกันนั่นกคือกฎหมายการค้าระหว่างประเทศซึ่งประกอบด้วย การซื้อขายระหว่างประเทศ การชำระเงินระหว่างประเทศ เลตเตอร์ออฟเครดิต ตั๋วแลกเงิน ทรัสต์รีซีท การขนส่งระหว่างประเทศ ประกันภัยเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ

(พันทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร,รศ.ดร.หนังสือรวมคำบรรยายภาคหนึ่ง สมัยที่ 59 ปีการศึกษา 2549 เล่มที่ 3 (เนติบัณฑิต)วิชากฎหมายการค้าระหว่างประเทศ วันที่ 1 มิถุนายน 2549. สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา หน้า 187)

       ในมุมมองกฎหมายภายใน

หมายถึง การกำหนดมาตรการทางกฎหมายในของแต่ละประเทศ เพื่อรองรับธุรกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศในฐานะกฎหมายภายในการกำกับดูแลกรผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นจากการค้าระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการบัญญัติกฎหมายในลักษณะให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ และการลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน  ได้แก่ กฎหมายภายในเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการค้า (เช่น พรบ.ส่งเสริมสินค้าขาออก พ.ศ.2503  พรบ.การส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 เป็นต้น) การคุ้มครองการค้า (เช่น พรบ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เป็นต้น ) การควบคุม เช่น เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม(เช่น พรบ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542  )  เป็นต้น ซึ่งกฎหมายภายในมีบทบาทที่สำคัญในการกำหนดลักษณะนิติสัมพันธ์และความเกี่ยวข้องกับกฎหมายต่างประเทศ(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรบ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย  พ.ศ. 2481 )ว่าประเทศใช้คู่ค้าจะใช้กฎหมายของประเทศใด

     ทำไมจึงต้องมีการค้าขายระหว่างประเทศ?

ประการที่หนึ่ง  เนื่องจากแต่ละประเทศมีทรัพยากรอันเป็นปัจจัยการผลิตที่แตกต่างกัน ทำให้ผลผลิตของแต่ละประเทศแตกต่างกันไปด้วย เช่น ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายหนึ่งที่สำคัญของโลก เพราะมีภูมิประเทศที่เหมาะแก่การเพาะปลูก แต่ก็ต้องให้เครื่องจักรและยานพาหนะที่ต้องขับเคลื่อนโดยน้ำมัน ประเทศไทยมีน้ำมันไม่เพียงพอแก่การบริโภคภายประเทศจึงต้องนำเข้าน้ำมันจากประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เป็นต้น เช่นนี้ย่อมเป็นสาเหตุให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ 

ประการต่อมา  เนื่องจากเป็นกรณีที่แม้ว่าทรัพยากรของแต่ละประเทศจะไม่แตกต่างกัน แต่ศักยภาพและคุณภาพด้านการผลิตแตกต่างกัน โดยเทคโนโลยีหรือความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่ต่างกัน เช่น ประเทศไทยไม่มีความรู้และความสามารถในการผลิตเครื่องบินเนื่องจากไม่มีความรู้หรือความชำนาญด้านเทคโนโลยีการผลิตในเรื่องดังกล่าว จึงต้องนำเข้าเครื่องบินจากต่างประเทศ(จากฝรั่งเศส หรืออเมริกา)เป็นต้น เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ 

     เศรษฐกิจชุมชนคืออะไร?

     เศรษฐกิจชุมชน หมายถึง การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ว่าด้วยการผลิต การบริโภค และการกระจายในกลุ่มบุคคลที่อยู่บริเวณเดียวและมีผลประโยชน์ร่วมกันอันเนื่องมาจากภูมิหลังทางวัฒนธรรม ค่านิยมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน 

     ระบบเศรษฐกิจของไทยมีลักษณะอย่างไร?

เศรษฐกิจไทยประกอบด้วย เศรษฐกิจ 2 ระบบคือ

1. ระบบเศรษฐกิจชุมชน คือระบบทางเศรษฐกิจที่มุ่งความสำคัญไปยังครอบครัวและชุมชนเป็นหน่วยการผลิต เป้าหมายของการผลิตคือ ให้สามารถเลี้ยงตนเองได้การผลิตมีลักษณะเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน ส่วนการผลิตเพื่อการค้าจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีผลผลิตส่วนเกิน แต่ก็เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิตและเลี้ยงตนเองและครอบครัวตามปัจจัยสี่ มากกว่าการขยายการผลิตเพื่อการค้าที่หวังความร่ำรวยและผลกำไร ครัวเรือนแม้จะเป็นหน่วยทางเศรษฐกิจที่เล็กแต่ก็มีอิสระในการผลิต ขายสินค้ามิใช่แรงงาน ส่วนปัจจัยการผลิตด้านแรงงาน ก็ใช้แรงงานจากสมาชิกในครัวเรือน แม้ว่าต่อมาเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งภายในและทางระหว่างประเทศ และการเพิ่มจำนวนของประชากร  และทรัพยากรจำกัดอย่างจำกัด ส่งผลให้จำนวนคนต่อที่ดินมีเพิ่มขึ้น ก็ผันใช้แรงงานของครอบครัวในการเพาะปลูกที่ใช้เนื้อที่น้อยลงแต่ใช้แรงงานมากขึ้น เช่น การเพาะปลูกผักและผลไม้ หรือเลี้ยงสัตว์ หรือทำกิจกรรมการค้าและบริการย่อย หรือการขายแรงงานก็เพื่อเป็นการหารายได้อย่างหนึ่งเพื่อจนเจือครอบครัวในชนบท แต่ก็ไม่ใช่เปลี่ยนอาชีพโดยถาวร

2. ระบบเศรษฐกิจทุน  เป็นระบบการผลิตขนาดใหญ่ ใช้ทุนการผลิตสูง และใช้แรงงานคนน้อย แต่หันไปใช้เทคโนโลยี เช่น เครื่องจักรขนาดใหญ่แทนแรงงานคน ทำให้ได้ผลผลิตต่อวันจำนวนมาก และแรงงานก็เป็นแรงงานรับจ้าง(เป็นอาชีพ)

(อรสุดา เจริญรัถ,ดร.เศรษฐกิจพอเพียงภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย.พิมพ์ครั้งที่ 1: 2546 บริษัทพิมพ์ดี จำกัด หน้า(8)-(9) )

     เศรษฐกิจชุมชนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไทยอย่างไร?

     อันเนื่องมาจากการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในช่วงแรกๆ (แผนฯ 1-7) เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม คือเน้นการส่งเสริมการค้าและการลงทุนภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาและการเกษตรบางชนิดเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมแทนที่การทำการเกษตรตามความถนัดของท้องถิ่น กล่าวอีกนัยหนึ่งว่ารัฐมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานราคาถูก  โดยมิได้พิจารณาว่าเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง

      ต่อมาเนื่องจากภาครัฐเริ่มเห็นความสำคัญของคำว่า"มนุษย์" จึงนำไปสู่การเริ่มต้นในการพัฒนามนุษย์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯฉบับที่ 8(พ.ศ. 2540-2544)เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม

     อย่างไรก็ตามจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวจะเริ่มให้ความสำคัญกับมนุษย์มากขึ้น เนื่องจากระบบราชการที่ล่าช้าและการบริหารที่ขาดความยืดหยุ่น การทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นปัญหาที่ฝังลึกมานานและการบริโภคนิยมตามกระแสวัตถุนิยมจากตะวันตกของคนไทยซึ่งขยายจากสังคมเมืองไปสู่ชนบทโดย จึงทำให้การแปลงแผนจากแนวคิดมาเป็นทางปฏิบัติเกิดขึ้นอย่างล่าช้า

     ดังนั้นเศรษฐกิจชุมชนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไทยในแง่ที่ว่า ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เพราะเรามิอาจปฏิเสธได้ว่ามนุษย์มีความอ่อนแอทางด้านร่างกายและจิตใจ จึงต้องอาศัยรวมตัวอยู่ในรูปของกลุ่มชนที่มีผลประโยชน์ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นในลักษณะเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิตและทรัพยสิน สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม เรียกง่ายๆว่า ต้องอาศัยชุมชนนั่นเองเป็นองค์กรเริ่มต้นในการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มิใช่การค้าเพื่อเงินตราตามกระแสทุนนิยมแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากชุมชนมีจุดแข็งที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จุดแข็งของชุมชนที่นำไปสู่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ :

-ความมีจิตสำนึกร่วมกันและความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน อันเนื่องมาจากมีภูมิหลังทางวัฒนธรรมและประเพณีร่วมกัน

-ความช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกันของคนในชุมชน

-ความสัมพันธ์ภายในชุมชนและการแสดงออกต่อกันเป็นไปอย่างสมัครใจ มิใช่ระบบบังคับบัญชาหรือสั่งการ

-พื้นที่มีขนาดเล็กเนื่องจากคนในชุมชนหนึ่งมีจำนวนไม่มาก การจัดการระบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจจึงเป็นไปได้โดยง่าย เมื่อพัฒนาสำเร็จแล้วก็แพร่กระจายแนวคิดและวิธีการก่อให้เกิดการพัฒนาในลักษณะเดียวกันได้ง่ายและขยายเป็นวงกว้าง

     เศรษฐกิจชุมชนจึงเป็นการดำเนินธุรกรรมด้านการผลิต การบริโภค และการกระจาย(ซึ่งหมายถึงการแลกเปลี่ยนซื้อขาย) โดยเฉพาะทางด้านการค้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาพื้นฐานในทางเศรษฐกิจอิสระในการตัดสินใจในการผลิต(โดยเริ่มจาก)ภายในชุมชนว่า ชุมชนจะผลิตอะไร? ผลิตอย่างไร? และจัดสรรผลประโยชน์ที่ได้มาจากการผลิตอย่างไร? บนความสามารถและความชำนาญที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษมาเป็นทุนของชุมชน ซึ่งได้แก่

1.สินค้าทุน ได้แก่ เครื่องมือ  เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิตต่างๆ ที่มีอยู่หรือสามารถจัดหาได้ตามศักยภาพ

2.ทุนทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ(ที่ดิน แหล่งน้ำ สภาพภูมิประเทศ)และระบบสาธารณูประโภค(ไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง)

3.ทุนทางสังคม ได้แก่ วิถีทางผลิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์กรทางชุมชนที่มีหน้าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในชุมชน(วัด หรือศาสนสถานอื่น โรงเรียน)

     รวมทั้งการกำหนดความร่วมมือในชุมชนเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาในท้องถิ่น  ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับรองสิทธิชุมชนไว้ใน มาตรา 46  วางหลักเกี่ยวกับสิทธิชุมว่าต้องว่าชุมชนมีสิทธิและสามารถใช้สิทธิได้ภายใต้กฎหมายบัญญัติ ได้แก่ การใช้สิทธิชุมชนในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

     การค้าระหว่างประเทศในมุมมองของเศรษฐกิจชุมชนเป็นอย่างไร?

     ชุมชนเปรียบเสมือนเวทีการค้าแห่งแรกของประเทศ(ชุมชนหมู่บ้านเป็นลักษณะพิเศษของสังคมไทย) เป็นเวทีแห่งเรียนรู้ในลักษณะร้านค้าชุมชน(ร้านขายของชำ) ขยายไปสู่ตลาดนัดชุมชน ทั้งศักยภาพในด้านภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตามลักษณะทางภูมิประเทศของแต่ละท้องที่ หากได้รับการพัฒนาศักยภาพโดยภาครัฐสนับสนุน ส่งเสริม คุ้มครอง และสร้างสภาพบังคับโดยบัญญัติเป็นกฎหมาย  ก็นำไปสู่การค้าที่ขยายตลาดไปสู่ตลาดโลกได้

     แต่มีเงื่อนไขว่าต้องอยู่ภายใต้ความรู้ความชำนาญที่เกิดจากภูมิปัญญาของชุมชนและความต้องการของชุมชนโดยภาครัฐหรือเอกชนต้องไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชุมชน แต่รัฐก็มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุน คุ้มครองทางภูมปัญญา(กฎหมายทรัพย์ทางปัญญา)  การพัฒนาตลาดให้กับชุมชน ด้วยการสร้างเครือข่ายชุมชนผู้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันเชื่อมโยงผู้ผลิตไปสู่ตลาดปลายทาง โดยให้การรวมตัวของชุมชนผู้ผลิตมีอำนาจดำเนินความสัมพันธ์ได้โดยตรงในระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค หรือผู้ผลิตกับภาคอุตสาหกรรมที่ทำหน้าที่แปรรูป  ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพของในสิ่งที่ผลิตได้จากชุมให้มีเอกลักษณ์และคุณภาพที่ได้มาตรฐาน เพราะสินค้าที่ดีภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชุมชนนี้ไม่จำเป็นต้องผลิตได้เป็นจำนวนมากเพื่อป้อนตลาดโลก แต่ใช้คำว่า"เอกลักษณ์และคุณภาพ" มาเป็นจุดขาย เช่น เมื่อเราอยากดื่มไวน์ ต้องนึกที่จะซื้อไวน์จากฝรั่งเศสฉันใด ข้าวหอมมะลิชั้นดีที่ปลูกได้รสชาติ คุณภาพเยี่ยมและกลิ่นหอมหวนชวนรับประทานได้เฉพาะในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ฉันนั้น นี่ที่เรียกว่ามีคุณภาพและมีเอกลักษณ์ มิใช่ว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะลงทุนเพื่อเพาะปลูกข้าวดังกล่าวทั่วประเทศ เพราะเน้นเชิงปริมาณกับเงินตราที่จะได้รับแต่เพียงอย่างเดียว สินค้าไม่ต้องตาตลาดโลกทำให้ราคาข้าวตกต่ำ ดังนั้นการสร้างและการรักษาเอกลักษณ์และคุณภาพการผลิตในชุมชนต้องควบคู่ไปกับพื้นฐานความพอเพียงคือพออยู่พอกินและรู้จักพึ่งตนเองเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจก็ยังดำรงอยู่ได้  สิ่งนี้ที่เป็นอำนาจต่อรองทางการค้าของชุมชนไม่ว่าจะเป็นตลาดภายในหรือตลาดโลก

     เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจชุมชนซึ่งสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น แม้จะไม่มีคำว่า"มูลค่าหรือเงินตรา"มาเป็นตัวล่อก็ตาม ก็สาสามารถมีอยู่มีกินได้จากเศรษฐกิจเพื่อยังชีพตามภูมิปัญญาท้องถิ่นภายในชุมชน ไม่ต้องรอการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จึงเป็นรากฐานที่มั่นคงในสมรภูมิการค้าเสรีตามทฤษฏีทุนนิยมใหม่อันดุเดือด ซึ่งเป็นอาวุธที่สมศักดิ์ศรีและสมเกียรติของประเทศไทยท่ามกลางภาวะที่แก่งแย่งตลาดและปัจจัยการผลิตต่างๆ(แรงงานราคาถูก ทรัพยากรธรรมชาติ) และเศรษฐกิจชุมชนนำก็อาจพัฒนาทางเศรษฐกิจนำไปสู่การเพิ่มพลวัตรให้กับการค้าระหว่างประเทศในแง่มีอัตลักษณ์ตามภูมิปัญญาของท้องถิ่นซึ่งนำไปสู่อำนาจการต่อรองของประเทศเล็กๆประเทศนี  ภายใต้ความพอเพียงคือ พอประมาณ สมดุล ยั่งยืนและภูมิคุ้มกันที่ดีอันเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนซึ่งจะได้กล่าวในโอกาสต่อไป...

เว็บไซด์อ้างอิง

http://www.midnightuniv.org

http://www.tangnamo.com/community/com1.htm

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 42689เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2006 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ชอบบทความของผู้เขียนคะอ่านแล้วได้ความรู้ดีมาก และรู้สึกว่าฝีมือการเขียนก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆนะคะ เอาเป็นว่าจะคอยติดตามอ่านผลงานชิ้นต่อๆไปนะคะ
     ขอบคุณมากค่ะน้องติ๊ก แล้วจะพยายามพัฒนาการเขียนไปเรื่อยๆ นะ และก็จะตามอ่านบทความของน้องติ๊กเช่นกัน โดนเฉพาะบทความเกี่ยวกับให้กำลังใจ อ่านแล้วสบายใจดีจ้ะ

บทความที่ได้อ่านมานะครับ ก็รู้สึกได้ความรู้ดีมากเลยนะครับ เป็นแนวทางการศึกษา และพัฒนาการเรียนได้อีกด้วย น่าสนใจมากเลยครับ

เป็นบทความที่ดีมากเลยค่ะ เป็นแนวคิดและข้อมูล ในการเริ่มทำ thesis ของดิฉัน

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท