KM_Md_KKU มุมมองคนตัวเล็ก(8)>>>การประชุมสัมมนา KM Forum ครั้งที่ 6/2554 : KM ด้านแพทยศาสตรศึกษา เรื่อง “จริยธรรมสร้างได้”


“...ยากที่จะสอนให้คนดีพร้อม...แต่คนเป็นครู ยังไงก็ต้องทำ”

วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่ผู้เขียนโชคดีได้สัมผัสบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคณาจารย์ ณ ห้องประชุมวิทยสนเทศ CAI ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กลุ่มผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำทีมโดย รศ.ประนอม บุพศิริ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ 

 

Ico256โดยมี รศ.จิตเจริญ ไชยาคำ เป็นผู้นำการเรียนรู้

อาจารย์นำเทคนิคการสอนศิษย์โดยแทรกจริยธรรมในทุกช่วงจังหวะขณะสอน การสอนโดยเลือก VDO หนังเรื่องที่มีเนื้อหาที่สอดแทรกจริยธรรม ตามบทพูดของตัวละครมิได้ทำได้ง่ายๆ ผู้เขียนเคยเสียเวลาหลายวันในการสรรหา VDO หนังดีๆสักเรื่องมาประกอบการบรรยายซึ่งกระทำได้ยาก

ท่าน อ.จิตเจริญ ไชยาคำ เป็นอาจารย์ผู้ทุ่มเทกับการสรรหาบทเรียนดังกล่าว บทเรียนของอาจารย์เป็นตัวอย่างของเทคนิคการสอนโดยใช้ Student Center ด้วยการเติมเต็มในส่วนที่เด็กแต่ละคนขาด

“...ผมให้เด็กดูฟิล์ม เด็กคนไหนขาดเยอะ เติมให้เยอะ ขาดน้อย เติมให้น้อย...” อ.จิตเจริญกล่าว

นอกจากนั้น อาจารย์สอนให้เด็กเรียนรู้จากผู้อื่นแล้วหัดคิดวิเคราะห์ภายหลัง เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นระยะๆ การทำแบบฝึกหัด After Action Report ทำให้เห็นแนวคิด วิธีคิดของเด็กๆได้ในทันทีทั้งด้านวิชาการ ทัศนคติ เจตคติ และจริยธรรมในตนเอง  การเข้าเติมเต็มในส่วนที่เด็กขาดจึงทำได้ทันทีเช่นเดียวกัน

 

ผู้เขียนชื่นชม ผศ.นภา หลิมรัตน์ ผู้เข้ามามีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นให้กลุ่มสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างทั่วถึงแม้จะมีอาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากหลายภาควิชาฯและจากต่างสถาบันซึ่งมีความต่างทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ ช่องว่างระหว่างอาจารย์ผู้อาวุโสที่มากด้วยประสบการณ์ระดับ“คุณปู่-คุณย่า” กับนักศึกษารุ่น “หลาน” ลดน้อยลงเพราะมีกลุ่มอาจารย์รุ่น “คุณพ่อ-คุณแม่”หรือรุ่น“คุณน้า-คุณอา”เป็นตัวแทนถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกและพฤติกรรมของเด็กๆในช่วงวัยนักศึกษาดังกล่าวร่วมอุดช่องโหว่ให้ได้

ประเด็นสำคัญที่หยิบยกมาพุดคุยอย่างชัดเจนภายหลังการนำเสนอ Best Practice ของท่าน อ.จิตเจริญ คือประเด็นของการที่ “เด็กนักเรียนไม่เข้าเรียน” รวมถึง “เด็กนักเรียนเข้าห้องเรียนช้า” จนถึงระดับ “เด็กนักเรียน เข้าห้องเรียนช้า..แต่ยังไม่รู้สึกผิด...”  และ “นักเรียนไม่เคารพอาจารย์”

มุมมองเรื่องนี้ถูกหยิบยกมากล่าวในหลายประเด็น มีความหลากหลายของความคิดเห็นด้วยเป้าหมายเดียวกันคือ การวิเคราะห์หาสาเหตุการเข้าเรียนสายของเด็กๆ

เช่น

-      การกำกับ ควบคุมดูแลนักเรียนในห้องเรียนไม่ทั่วถึงเพราะมีจำนวนมาก

-      เด็กไม่อยากเรียนแพทย์

-      อยากเรียนแพทย์เพราะเป็นเพียงทางผ่านเพื่อไปใช้วิชาชีพที่หาเงินรายได้ที่สูงกว่า

-      อาจารย์สอนน่าเบื่อ เข้านั่งฟังบรรรยายก็หลับ ไปอ่านเอาเองก็ได้หรือลอกเลคเชอร์ของเพื่อนไปอ่านก็ได้

-      อ่านตามทีหลังก็ทัน

-      ปัจจุบันค่านิยม/ทัศนคติที่เปลี่ยนไป

-      Role Model ของอาจารย์เปลี่ยนไป

-      อาจารย์ที่มีภาระงานบริการด้วยทำให้บทบาทของครูผู้สอนที่สมบูรณ์แบบลดลง

-      การมีความแตกต่างในเกณฑ์ประเมินที่หย่อนหรือเอื้อมากไปในบางสถานการณ์ เป็นจุดอ่อนสำหรับเด็กที่ขาดความพร้อมในการเผชิญสถานการณ์ที่ยากขึ้นในชั้นปีถัดไป

-      การสอนแบบที่คิดว่า “นักศึกษาเป็นผู้ใหญ่แล้ว” ทำให้เกิดการปล่อยเด็กเป็นอิสระมากไป เป็นเหตุให้มิได้มีโอกาสสอดแทรกจริยธรรม จนกลายเป็นว่าเด็กๆขาดคุณธรรม จริยธรรมโดยไม่ตั้งใจ

-      เราประนีประนอมมาก เราเคยถูกดุตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ ทำให้เราไม่อยากดุน้อง กลายเป็นน้องขาดสิ่งที่ควรได้รับ

-      ยังพบการแต่งกายที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกกาลเทศะ

 

แนวทางการแก้ไข

-      การปฐมนิเทศที่ต้องบอกกติกา/ข้อตกลงกับเด็กไว้ก่อนการใช้จริง เช่น อาจารย์ผู้สอนอาจมีการสอบเก็บคะแนนระหว่างการสอนในชั่วโมง เป็นต้น

-      การ random เรียกชื่อของนักเรียน

-      ต้องเข้มงวด ฝึกฝนให้เด็กตระหนักเรื่องที่ควรรู้ เช่น รู้ว่าต้องทำอะไร หรือรู้ว่าควรทำอะไร

-      การทบทวนการประเมินผลของสถาบันสมทบต้องยึดมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

-      ความเด็ดขาดยังควรทำ แต่บางคราวตัวอาจารย์ก็ไม่กล้าให้เด็กตก

-      เราปล่อย ทำให้การตัดเกรดอ่อนลงมากๆ

-      การประเมินบัณฑิตเป็น individual

-      การกลับมาทบทวนการประเมิน Competencyในด้านต่างๆ

-      เรื่องของวินัยควรเข้มงวด

 

ผู้เขียนประทับใจมากในช่วงท้ายของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่คณาจารย์หลายท่านแสดงความคิดเห็นที่ตรงกันในเรื่องของการปรับวิธีคิดเรื่องการเรียนการสอน เช่น

-      ไม่ใช่เด็กเขาพูดไม่รู้เรื่อง... แต่เราน่ะต้องสอนให้ได้ มันเป็นหน้าที่

-      ครูต้องมี attitude ว่าเด็กสอนได้

-      เด็กทุกคนเรียนได้ สอนได้ แต่เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน

-      ยังไงก็ต้องปลุกครูให้ตื่น

-      Professional Behavior

-      วิธีการสร้างที่ดีที่สุดคือ Role Model, การสร้าง “สถาบันนิยม”

และประโยคเด็ดทิ้งท้าย จากท่าน อ.ประนอม บุพศิริ

“...ยากที่จะสอนให้คนดีพร้อม...แต่คนเป็นครู ยังไงก็ต้องทำ”

 

ผู้เขียนขอขอบพระคุณ ท่านอาจารย์จิตเจริญ ไชยาคำ ท่านที่ปรึกษา KM คณะแพทย์ มข.ที่ชักชวนให้ผู้เขียนได้พบกับประสบการณ์ที่ดีมากๆอีกวันหนึ่ง และขอขอบพระคุณคณาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านที่แบ่งปันความรู้ที่มีในตัวตนของทุกท่านอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ รศ.ประนอม บุพศิริ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ และ ผศ.นภา หลิมรัตน์ อาจารย์ภาควิชาชีวเคมี ผู้มีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ขอผลบุญคราวนี้ส่งผลให้บรรดาศิษย์ของครูทุกท่านประสบแต่ความสำเร็จในวิชาชีพ สมดังที่ทุกท่านห่วงใย

(ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่บันทึก "...จริยธรรมสร้างได้ต้องวิเคราะห์สาเหตุ..." จากท่านอ. JJ Ico256ค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #km md kku#บทบาทของครู
หมายเลขบันทึก: 426670เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2011 01:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ถ้ามีการ KM เช่นนี้ จะทำให้เกิดการกระตุ้นให้บุคลากรเราได้คิด แล้วนำสิ่งที่ถกกันไปปฏิบัติต่อ องค์กรเราน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆๆค่ะ

ชื่นชมกลุ่ม KM ที่หาวิธีดีที่สุดในการจัด KM forum ได้ตรงประเด็นค่ะและ...

ที่สำคัญมีเลขาฯ คือ คุณติ๋ว

น่าสนุกนะครับ ผมชอบประชุมสัมมนาการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรยากาศกัลยาณมิตร (ไม่ได้แปลว่าพูดหวาน แต่เป็นพูดกุศล) ยิ่งมี อ.JJ และพี่นภา (เจอะเจอกันหลายเวที) ยิ่งน่าจะได้อะไรหลากหลายมิติมาก

ผมยังเป็นฝ่าย pro-choice อยู่ อาจจะไม่ถูก sense ของฝ่ายวินัย แต่ก็เข้าใจในความปราถนาดีครับ การเรียนรู้อาจจะมีหลายวิธี ยิ่งสนทนากัน ยิ่งหยั่งรากผลิใบแตกฉานไปเรื่อยๆ

เรียน พี่แก้วค่ะ

การจัดให้มีKM ด้วยการสอดแทรกเข้าไปในกิจกรรมเดิมที่ทำกันอยู่ โดยที่ทำให้ผู้เข้าร่วมไม่รู้สึกเกร็งหรือไม่เป็นภาระที่เพิ่มเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ  เมื่อใดก็ตามที่ KMไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเพียงเครื่องมือปรับกระบวนการให้ทุกคนได้มีส่วนแสดงความคิดเห็นต่อยอดไปเรื่อยๆทีละคน เรียกว่าคิดและพูดกันอย่างทั่วถึง ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกสนุก ค่อยเป็นค่อยไป ต่อยอดกันไปเรื่อยๆ ไม่มีเบรคกันก็ไม่มีอะไรยากค่ะ

ผลลััพธ์ของความรู้ที่ร่วมกันแสวงหาและจัดเก็บชัดเจนขึ้น เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายยิ่งน่าจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกคนค่ะ

หัวใจสำคัญนั้นคือ ตั้งประเด็นในเรื่องนั้นๆให้ได้ชัดในแต่ละครั้ง ผู้เข้าร่วมจะไม่หลงประเด็นค่ะ...และที่สำคัญคือ เทคนิคดีๆที่ได้รับทราบในครั้งนี้มีการลองนำกลับไปทดลองใช้เอง ได้ผลอย่างไร... กลับมาเล่าให้กันฟังในคราวหน้า น่าจะยิ่งสนุกค่ะ

...ผลลััพธ์ที่ได้ในจุดเริ่มต้นนี้แม้ยังไม่มากมายอะไรแต่เชื่อว่าถ้าทำอย่างต่อเนื่อง...เราจะได้สนุกในระยะยาวค่ะ

งานที่ปรากฏที่ผ่านมาเป็นผลงานของทีมค่ะ ...ไม่ใช่ติ๋ว...  เรียกว่าเราเริ่มเล่นเข้าขากันมากขึ้นโดยไม่ต้องมีการกะเกณฑ์บทบาทมากมายค่ะ ทุกคนทำโดยไม่ยึดติดรูปแบบมากนัก ยืดหยุ่นสูงโดยหวังเพียงให้กลุ่มได้สิ่งที่อยากได้ตามเป้าหมายขอกลุ่มเท่านั้นค่ะ...เรียกว่า ใช้ KM เป็นเครื่องมือจริงๆค่ะ

หากในทีมมีตัวตั้งเรื่อง ตัวกระตุ้น ตัวเก็บ และตัวประสาน/ถ่ายทอด สิ่งที่กลุ่มอยากได้จะปรากฏโดยผู้ร่วมไม่รู้ตัวค่ะ

ขอบคุณพี่แก้วมากๆนะคะที่ให้กำลังใจเสมอมา ทำให้ติ๋วทำงานไม่เหน็ดเหนื่อยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

 

เรียนพี่ติ๋วกราบขอบพระคุณครับ งานนี้ดีมากมาก เพราะมี อาจารย์ จาก อุดร และ หนองคาย มาแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ ครับ

เรียน ท่านอ.Phoenix ค่ะ

ติ๋วเห็นด้วยค่ะที่ว่าบรรยากาศที่เป็นกัลยาณมิตรมิใช่บรรยากาศการพูดจาหวานแต่พูดเป็นกุศลทำให้สนุกในการร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กัน

การพูดจาเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นการนำเนื้อหาหรือประสบการณ์ที่พบมาเล่าสู่กันฟัง มุมมองของการเล่าหรือต่อยอดอาจมีทั้งด้านดีหรือไม่ดีมาเสนอซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในการมองอย่างรอบคอบหลายๆมุม จึงควร "มองเจตนาการเล่าเป็นมุมบวกเป็นหลัก" มองว่าผู้เล่ามีเจตนาที่ดี หวังที่จะพัฒนาหรือปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อให้ผู้เล่าสบายใจที่จะเล่าเพราะผู้ฟังเข้าใจ...การเล่าเรื่องดังกล่าวจึงเป็นกุศลจริงๆค่ะ

การเป็น pro-choice หรือไม่นั้นติ๋วว่าสำคัญที่คนใกล้ตัวและผู้เกี่ยวข้องเข้าใจเท่านั้นน่าจะพอ อาจารย์มีเอกลักษณ์และผลงานที่เป็นตัวตนของอาจารย์ชัดเจนจึงทำให้บทบังส่วนที่อาจารย์พูดว่า"sense ของฝ่ายวินัย"ไปได้ค่ะ

ติ๋วจำได้ว่าตอนเป็นนักศึกษาถูกสอนให้พร้อมที่จะเข้าช่วยผู้ป่วยได้ทันทีเมื่อประสบเหตุฉุกเฉินบน ward ดังนั้นจึงต้องแต่งกายที่รัดกุมเสมอเมื่อไปทำงาน อีกทั้งป้องกันอันตรายจากการยั่วยุทางอารมณ์ของผู้พบเห็น โดยเฉพาะลงเวรตอนดึกๆด้วยค่ะ การใส่รองเท้าเดินแต๊กๆๆ หรือลากรถยาเสียงดังก็เป็นสิ่งที่ถูกตักเตือนเพราะผู้ป่วยต้องการการพักผ่อนยามดึก... บางคราวสิ่งเหล่านี้ถูกมองข้ามไป ไม่ได้ถูกนำมาสอนอธิบายเหตุผลเพิ่มเติมให้เด็กเข้าใจ เด็กๆจึงอาจจะไม่ทำในสิ่งที่ควรทำค่ะ

ในส่วนของเด็กๆนั้นปัจจุบันมีแบบอย่างหลากหลายจริงๆค่ะ คณาจารย์เป็นแบบอย่างทางเลือกหนึ่งที่เด็กเลือกที่จะทำตามหรือไม่ทำตามค่ะ ... เคยพบลูกที่ไม่สูบบุหรี่ทั้งๆที่พ่อสูบบุหรี่ทุกวันเพราะเขาไม่อยากเป็นเหมือนพ่อในส่วนนี้ก็มีค่ะ... จะอย่างไรก็ตามก็ต้องวกกลับมาที่วัฒนธรรมองค์กรของตนอีกนั่นแหละค่ะ ว่าอยากให้เด็กๆของเราเป็นอย่างไร

...การพูดคุยกันในวันนั้น เป็นมองและวิเคราะห์ผลลัพธ์ของวิธีการสอนแบบเก่าที่ผ่านมาค่ะ...  ผลลัพธ์ที่ทำให้ศิษย์บางคนเห็นความสำคัญของเงินหรือค่าตอบแทนมากกว่าหัวใจของผู้ปฏิบัติที่พึงกระทำต่อมนุษย์ด้วยกันหรือกระทำให้สังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และคณาจารย์กำลังจะพยายามหาทางทำให้ดีขึ้น

 ... การเรียนรู้มีหลายวิธีจริงๆค่ะ...สุดแท้แต่ใครจะมีเทคนิคอย่างไร จึงควรนำมาเล่าแบ่งปันต่อยอดกันก็จะสนุก เกิดการผลิดอก แตกใบ และหยั่งรากดังที่อาจารย์กล่าวค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ

ด้วยความเคารพ

เรียน ท่านอ.JJ ค่ะ

คราวหน้าคงได้บรรยากาศของการเล่าว่า สิ่งที่ได้จากการเล่าเทคนิคของอาจารย์ และ"เทคนิคการแก้ปัญหาการไม่เข้าเรียนของเด็กๆ" ในคราวนี้ถูกนำไปปรับใช้ ได้ผลอย่างไรบ้างหรือไม่... ต่อยอดคราวนี้เพื่อให้เกิดเรียนรู้ทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่อง

คราวหน้าคงสนุกมากขึ้นค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท