เกษตรกรเอเชียคือผู้แพ้รายใหญ่ในองค์การการค้าโลก


"การที่กลุ่มประเทศอาเซียนสนับสนุนการเปิดเสรีการส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตร เท่ากับเป็นการทำร้ายเกษตรกรรายย่อยในประเทศตนเองในที่สุด" วอลเดน เบลโล เขียน

          การห้ามใช้ระบบโควต้า และเงื่อนไขที่เรียกกันว่ามาตรการด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIMs) เช่น ข้อบังคับให้ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (Local Content Requirements) เป็นวิธีการที่จะจำกัดมิให้มีการใช้นโยบายทางการค้า นำทางการพัฒนาประเทศให้เป็นอุตสาหกรรม เช่น ที่เกาหลีและมาเลเซียทำ และก็ประสบผลสำเร็จ และก็ประสบผลสำเร็จมาแล้วสำหรับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ปิโตรเคมี และเภสัชกรรม

          ในแนวเดียวกัน ข้อตกลงด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIPs) ที่เข้มงวดและทารุณ ก็มุ่งปกป้องสิทธิการผูกขาดของอุตสาหกรรมไฮเทคของสหรัฐอเมริกา และขจัด การพัฒนาอุตสาหกรรมโดยลอกเลียนแบบ  ซึ่งหมายถึงการพัฒนาที่อยู่บนรากฐานของระบบการแพร่กระจายเทคโนโลยีแบบหลวม ๆ เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกอีกนั่นแหละที่รุดหน้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรมมาได้ด้วยความปราดเปรื่องในการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ พอ ๆ กับความแคล่วคล่องในการทอผ้าและเย็บเสื้อสำเร็จรูป และประสบความสำเร็จเป็นเลิศในการใช้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว

          สหรัฐอเมริกาไม่ปิดบังความจริงที่ว่า ข้อตกลงขององค์การการค้าโลกเกี่ยวกับบริการต่าง ๆ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเจาะตลาดใหญ่ ๆ ในเอเชียที่มองว่ามีศักยภาพที่จะขยายใหญ่มหาศาลให้แก่ธุรกิจบริการทางการเงินของประเทศตน เช่น ธนาคารบริการเอกชนทั่วไป ธุรกิจประกันภัย เป็นต้น

          ส่วนข้อตกลงว่าด้วยการเกษตร เกิดขึ้นมาจากการที่ธุรกิจการเกษตรของสหรัฐอเมริกาต้องการค้นหาตลาดที่จะเทขายสินค้าธัญญาหารและเนื้อสัตว์ที่ตนมีอยู่เหลือเฟือ เพราะรัฐอุดหนุนอย่างหนักหน่วงให้เกษตรกรผลิตขึ้นมา ตลาดชนชั้นกลางที่เติบโตขึ้นในเขตรอบมหาสมุทรแปซิฟิก มีความสำคัญยิ่งต่อแผนของกระทรวงการเกษตรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังหาทางที่จะขยายการส่งออกสินค้าเกษตรในเอเชียตะวันออก

          หลังจากใช้เวลาตระเวนเจรจากับรัฐบาลเอเชียต่าง ๆ อยู่หลายปี เพื่อให้เปิดตลาดให้แก่สินค้าเกษตรของสหรัฐอเมริกา การรณรงค์ของฝ่ายธุรกิจเกษตรของสหรัฐฯ ก็ประสบชัยชนะอันยิ่งใหญ่ เมื่อได้ข้อตกลงว่าด้วยการเกษตรออกมาภายใต้ข้อตกลงแกตต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อตกลงนี้ระบุห้ามใช้ระบบจัดสรรโควตาสินค้าเกษตร และบังคับให้ทุกประเทศ เปิดตลาดขั้นต่ำ นำเข้าสินค้าธัญญาหารและเนื้อสัตว์จากต่างประเทศจำนวนหนึ่ง

          เกษตรกรรมจะเป็นจุดเน้นของการเจรจาการค้าระดับโลก แต่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกยังมีความเห็นแตกแยกกันอยู่ว่า จะสนับสนุนการเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตรให้มากขึ้นอีกหรือไม่ ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คัดค้านการเปิดเสรีมากขึ้นกว่าปัจจุบัน เพราะว่าจะมีผลให้ชาวนารายย่อยของตนต้องสูญพันธุ์อย่างแน่นอน กล่าวกันว่าสาเหตุที่ญี่ปุ่นสนับสนุนจุดยืนของสหภาพยุโรปที่ผลักดันให้เปิดการเจรจารวมทุกภาคใหม่ ก็เพื่อให้มีความยืดหยุ่นพอที่จะป้องกันแก้ต่างให้แก่การเกษตรของประเทศตนได้ เพราะการเจรจาที่ครอบคลุมทุกด้านจะช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถแลกเปลี่ยนการยินยอมในบางเรื่อง กับการไม่ยอมในเรื่องอื่นได้ เช่น ยอมลดกำแพงภาษีด้านอุตสาหกรรมแลกกับการยืนอัตราภาษีสินค้าเกษตร 

          ส่วนกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับกลายเป็นอยู่คนละข้างกับญี่ปุ่น เพราะเข้ากลุ่มกับประเทศ กลุ่มแคร์นส์ (Cairns Groups) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรทั้งใหญ่และเล็ก และทั้งพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ที่รวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งรวมถึงอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จุดยืนของกลุ่มแคร์นส์ คือการเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตรให้กว้างขวางและรวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยการเพิ่มปริมาณการเปิดตลาดขั้นต่ำ ยุติการอุดหนุนการส่งออก และลดการอุดหนุนการผลิตที่ทำกันอยู่ในซีกโลกฝ่ายเหนือ

          ที่น่าสนใจคือ ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมาอยู่ข้างเดียวกับสหรับอเมริกาไปโดยปริยาย เพราะสหรัฐฯ ได้ผนึกแนวร่วมกับกลุ่มแคร์นส์ในการกดดันให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เปิดตลาดเพิ่ม พร้อมกับกดดันให้สหภาพยุโรปยุติการอุดหนุนรายได้โดยตรงให้แก่เกษตรกรยุโรป ตัวอย่างที่แสดงถึงมาตรฐานซ้อน 2 ระดับอย่างชัดเจนคือ การที่สหรัฐฯ ยืนกรานปกป้องรูปแบบการอุดหนุนรายได้โดยตรงแก่เกษตรกรของตนเองอย่างแข็งขัน ในขณะที่ผลักดันให้คนอื่นเลิกการกระทำดังกล่าว แต่กลุ่มแคร์นส์ก็ไม่พร้อมที่จะท้าทายกรุงวอชิงตันในประเด็นนี้

          จุดยืนของรัฐบาลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องการให้มีการเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตรในซีกโลกเหนือเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจส่งออก และธุรกิจแปรรูปสินค้าพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันปาล์มในมาเลเซีย กลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันมะพร้าวของฟิลิปปินส์ และพ่อค้าข้าวคนกลางที่ตั้งฐานอยู่ในกรุงเทพมหานครไม่กี่ราย เกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านี้ ที่มิได้รวมตัวเป็นกลุ่มก้อน และไม่มีพลังทางการเมือง จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบทางลบจากจุดยืนนี้ เพราะว่าการเปิดตลาดส่งออกเพิ่มให้แต่ผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำมันปาล์ม และน้ำมันมะพร้าวในประเทศซีกโลกเหนือ จำต้องแลกกับการเปิดตลาดของประเทศเหล่านี้ให้มีการนำเข้าข้าวและข้าวโพดมาขายแข่งกับผลิตผลของเกษตรกรรายย่อยภายในประเทศเอง

          ชาวนาไทยเองก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าใดจากการที่ประเทศไทยส่งออกข้าวเพิ่ม ผู้ได้ประโยชน์คือพ่อค้าส่งออกในกรุงเทพฯ การทำการเกษตรรายย่อยในเอเชีย แม้ว่าดูเหมือนไร้ประสิทธิภาพในด้านต้นทุนต่อหน่วยการผลิต แต่สามารถผลิตได้ผลตอบแทนสุทธิ เพราะว่าการเกษตรลักษณะนี้มีบทบาทหลายด้าน คือ ช่วยพิทักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยประกันความมั่นคงด้านอาหารในสภาวะผันผวนของการค้าในโลก ช่วยส่งเสริมการพัฒนาสังคมชนบท เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และช่วยสร้างเสริมทิวทัศน์และสภาพแวดล้อมที่ดีงาม

          การเกษตรมิได้เป็นเพียงภาคการผลิตหนึ่งของเศรษฐกิจ แต่เป็นวิถึชีวิตของคนหลายล้านคนในเอเชียตะวันออกทั้งเฉียงเหนือและใต้ ซึ่งกำลังถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากการเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตรให้มากขึ้นกว่าเดิมตามแนวทางขององค์การค้าโลก ผู้ที่สนับสนุนการค้าเสรีเชื่อว่า การเปิดเสรีจะทำให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ไม่สามารถที่จะแสดงให้เห็นได้ว่าประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อผู้ที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเสรี คือ เกษตรกรรายใหญ่ในสหรัฐฯ และยุโรป ผู้ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐอย่างเต็มที่ไม่ว่าการเจรจาจะคลี่คลายไปอย่างไร ผลที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือการล้มละลายของเกษตรกรรายย่อย และการเคลื่อนย้ายแรงงานของคนชนบทระลอกใหญ่เข้าสู่เมือง

          เช่นเดียวกับประเทศเอเชีย ภาพโดยรวมแล้ว เกษตรกรรายย่อยของเอเชียจะเป็นผู้แพ้ครั้งใหญ่ในเกมการเปิดเสรีทางการค้าในระดับโลก

ที่มา : บทบาทไทยไนเวทีเศรษฐกิจโลก โดย ศุภชัย พานิชภักดิ์,กระทรวงพาณิชย์,2544  
หมายเลขบันทึก: 42657เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2006 21:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากค่ะ

ได้ความรู้ และมีสาระมากค่ะ

เป็นบทความที่มีประโยชน์มากครับ จะเข้ามาอ่านบ่อยๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท