เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน


เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน
Community-Based Educational Technology and Innovation
Development and Management

เทคโนโลยีการศึกษาชุมชนและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน เป็นการผสมผสานทรัพยากร ภูมิปัญญา และทุนศักยภาพของชุมชนและท้องถิ่น เข้ากับวิทยาการและเทคโนโลยี ทั้งในระดับท้องถิ่นและของโลก เพื่อการพัฒนาระบบปฏิบัติการและบริหารจัดการตนเองของชุมชน ให้ชุมชนและสมาชิกในชุมชน นับแต่ระดับปัจเจก ครอบครัว การรวมกลุ่มแบบต่างๆ ตลอดจนกลุ่มการรวมตัวเป็นชุมชนความสนใจด้วยประเด็นที่มีร่วมกัน ให้มีความสามารถทางการปฏิบัติและเรียนรู้ เพื่อดำเนินการสิ่งต่างๆอันก่อให้เกิดสุขภาวะสาธารณะของชุมชนดังที่พึงประสงค์ แก้ปัญหาข้อจำกัดต่างๆของปัจเจกและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อเกิดสัมฤทธิผล ประหยัดและสมเหตุสมผล สร้างโอกาสและเพิ่มพูนศักยภาพเพื่อการบรรลุจุดหมายในแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทางเลือกใหม่ๆของสังคมไทยและสังคมโลก สอดคล้องและกลมกลืนกับเงื่อนไขความพร้อมในบริบทของชุมชนและความเป็นท้องถิ่น รวมทั้งไม่จำกัดโอกาสของคนในรุ่นอนาคต ทำให้ชุมชนเป็นหน่วยการเรียนรู้และปฏิบัติการเชิงสังคมเพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีพลวัตร อีกทั้งสร้างเสริมความเป็นชุมชน ความเป็นประชาคม ให้มีความเข้มแข็งและจัดการตนเองได้อย่างสอดคล้องกับพัฒนาการของสังคมภายนอกได้อยู่เสมอ เคลื่อนไหวมิติสังคมวัฒนธรรม การสื่อสาร ความรู้ การปฏิรูปเชิงโครงสร้างและระบบสังคมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และสร้างความเป็นพลเมืองประชากรที่ดีให้แก่สังคม เพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาวะของสังคมและเพิ่มโอกาสริเริ่มความสร้างสรรค์สิ่งต่างๆเพื่อนำความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดังที่พึงประสงค์ร่วมกันได้มากยิ่งๆขึ้น

เทคโนโลยีการศึกษาชุมชน ประกอบด้วยแนวคิด ทฤษฎี ระบบภูมิปัญญา ความรู้ ระบบหนังสือ ระบบข้อมูลและทรัพยากรความรู้เพื่อท้องถิ่น การจัดการอย่างมีส่วนร่วม การสร้างความร่วมมือและพัฒนาเครือข่ายการจัดการ เครือข่ายการสื่อสารและการแบ่งปันเรียนรู้ เครื่องมือ วิธีการ กลไกและอุปกรณ์เพื่อขยายขีดความสามารถทางปัญญา การเรียนรู้ และการปฏิบัติในการแก้ปัญหาและมุ่งบรรลุจุดหมายดังที่พึงประสงค์ด้วยการพึ่งศักยภาพของปัจเจกและวิถีปฏิบัติของชุมชนเป็นหลัก ทั้งนี้ โดยมุ่งเน้นการผสมผสานภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นของชุมชนเข้ากับวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของประเทศและของโลกให้มีความเหมาะสม มีความสมดุลทั้งมิติความทันสมัยทางรูปแบบและวิถีปฏิบัติบนฐานความรู้พอเพียง ส่งเสริมวัฒนธรรมและระบบภูมิปัญญาของชุมชน สร้างปฏิสัมพันธ์และจัดความสัมพันธ์ที่เหมาะสมของปัจเจกและชุมชนกับความเป็นมนุษย์ ตลอดจนสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งเงื่อนไขความเป็นท้องถิ่นและกระแสโลกาภิวัตน์

นวัตกรรมการศึกษาชุมชน เป็นสิ่งที่ได้รับการพัฒนาเพื่อใช้ดำเนินการและปฏิบัติการอย่างเป็นระบบเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสำคัญ ๓ ประการที่บูรณาการไปด้วยกัน คือ การแก้ปัญหาที่ต้องการได้ การเป็นโอกาสก่อเกิดกระบวนการเรียนรู้ของปัจเจกและชุมชนให้ได้เพิ่มพูนศักยภาพในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตนเองให้ทัดเทียมกับความจำเป็นของสังคมอยู่เสมอ และการได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นในชุมชนเพื่อปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆด้วยวิธีคิดและวิธีการใหม่ๆอันก่อให้เกิดผลดี เพิ่มพูนความแตกต่างหลากหลายให้ยืดหยุ่นพอเพียงมากขึ้นต่อการขยายตัวอันซับซ้อนของสังคมและความจำเป็นบนทางเลือกต่างๆ รวมทั้งสร้างความแตกต่างได้มากกว่าวิธีการดังที่เคยใช้และดำเนินการกันอยู่ทั่วไป ทั้งในเชิงระบบปฏิบัติ สิ่งของเครื่องใช้ ปัจจัยการดำเนินชีวิต เทคโนโลยีและวิธีบริหารจัดการทางการปฏิบัติต่างๆของชุมชน เช่น เวทีการเรียนรู้ชุมชน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้ชุมชน เครือข่ายสร้างความรู้และคลังความรู้ออนไลน์ สื่อและความรู้เพื่อหลักสูตรการเรียนรู้ท้องถิ่น เครือข่ายการท่องเที่ยวเรียนรู้เกษตรกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เครือข่ายถอดบทเรียนและเสริมศักยภาพการจัดการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาท้องถิ่น เครือข่ายวิจัยและปฏิบัติการสังคมท้องถิ่น หนังสือการ์ตูนท้องถิ่นพัฒนาการอ่าน เหล่านี้เป็นต้น

สภาวการณ์และความจำเป็นด้านการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ในระดับชุมชน

ปัจจุบัน สังคมไทยและสังคมโลกได้ขยายตัวอย่างซับซ้อน อีกทั้งมีการติดต่อและเชื่อมโยงถึงกันอย่างใกล้ชิดทุกด้าน ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ตลอดจนสร้างแรงกดดันและกระตุ้นให้เกิดความจำเป็นทางด้านการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของประชาชน เพื่อดำเนินชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆ เพิ่มพูนขึ้นเป็นจำนวนมหาศาล ความรู้และสิ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้ในระบบก็เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ความรู้และข่าวสารในชีวิตประจำวันก็เพิ่มมากขึ้นทั้งปริมาณ คุณภาพ และความรวดเร็ว การพัฒนาระบบการศึกษาเรียนรู้ ตลอดจนการสร้างความเคลื่อนไหวทางการศึกษาเรียนรู้ในชุมชน จึงมีความจำเป็นทั้งต่อสภาวการณ์ปัจจุบันของสังคมและในอนาคต

ขณะเดียวกัน กิจกรรมสังคมวัฒนธรรมที่มีบทบาทต่อการพัฒนาการเรียนรู้และให้ประสบการณ์เชิงการเรียนรู้แก่ประชาชน สื่อ เวทีการเรียนรู้ของชุมชน ตลอดจนเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน ก็มีพัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งสามารถแพร่กระจาย สร้างโอกาสเข้าถึง และมีบทบาทเป็นองค์ประกอบหนึ่งในชีวิตประจำวันของประชาชนและชุมชนมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ การพัฒนาศักยภาพในการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ชุมชน จึงเป็นวิถีชุมชนและศักยภาพใหม่ของชุมชน ทั้งชุมชนในชนบทและชุมชนในสังคมเมือง ที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับความเป็นท้องถิ่นและโลกาภิวัตน์ ในอันที่จะสามารถเรียนรู้และเลือกสรรการเปลี่ยนแปลง ด้วยการจัดการตนเองอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับพัฒนาการทางด้านต่างๆของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา

บทบาทและความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน

บทเรียนของชุมชนและกลุ่มริเริ่มกิจกรรมเชิงการเรียนรู้ต่างๆ โดยเฉพาะจากเวทีคนหนองบัว [เวทีคนหนองบัว,เรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว]และเครือข่ายบล๊อกเกอร์ที่ทำงานชุมชนเชิงพื้นที่ของ GotoKnow ทำให้มีประสบการณ์ที่สามารถสรุปบทเรียนให้เห็นบทบาทความสำคัญและสร้างแนวดำเนินงาน ด้าน เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน เป็นเบื้องต้นได้บางประการดังต่อไปนี้ :

๑. การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ความเป็นชุมชน ปัจจุบัน สังคมไทยและสังคมโลกได้เกิดการขยายตัวอย่างหลากหลายซับซ้อนและเปลี่ยนผ่านตนเองในมิติใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อนหลายประการด้วยกัน ที่สำคัญคือ การขยายตัวของความเป็นสังคมเมืองพร้อมไปกับการล่มสลายของวิถีชุมชนแบบชนบท การเปลี่ยนผ่านขนาดครอบครัวจากครอบครัวขยาย มีสมาชิกประกอบด้วยคนหลายรุ่น ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ลูก หลาน เหลือเพียงครอบครัวเชิงเดี่ยวที่มีขนาดเล็กลงและอยู่ด้วยกันเพียงพ่อแม่ลูก รวมทั้งการก่อเกิดหน่วยครอบครัวแบบใหม่ การก่อเกิดชุมชนแบบใหม่ๆทั้งชุมชนบ้านจัดสรรในสังคมเมือง ชุมชนการทำงานและการทำธุรกิจซึ่งจะเต็มไปด้วยประชากรแฝงที่ไม่ได้อยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านในท้องถิ่นนั้นๆ แต่เคลื่อนย้ายเข้าสู่ชุมชนเพียงในตอนกลางวันเพื่อธุรกิจการงานด้วยกัน แล้วก็เคลื่อนย้ายออกกลายเป็นชุมชนอันสงบเงียบในเวลากลางคืนซึ่งเป็นแบบแผนการขยายตัวของสังคมเมืองอีกแบบหนึ่งในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การรวมกลุ่มอยู่ด้วยกันของผู้คนกลุ่มใหญ่ในแหล่งประกอบการธุรกิจและในองค์กรการทำงาน ซึ่งอาจจะกินเวลาเป็นส่วนใหญ่ของชีวิตกระทั่งจัดว่าเป็นชุมชนอีกชนิดหนึ่งแตกต่างจากลักษณะการอยู่รวมกันเป็นชุมชนอย่างในอดีต การเคลื่อนย้ายของพลเมืองระหว่างประเทศ การแต่งงานข้ามประเทศและสร้างครอบครัวระหว่างพลเมืองต่างสังคมซึ่งก่อให้เกิดพลเมืองและมิติใหม่ๆของความเป็นชุมชนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางอายุประชากรสู่สังคมสูงวัยมากขึ้นและกลุ่มประชากรเด็กกับกลุ่มคนในวัยหนุ่มสาวลดลง ซึ่งสภาวการณ์เหล่านี้ได้เกิดขึ้นในขอบเขตทั่วโลก ทำให้การเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัจเจกภาพและการเรียนรู้ความเป็นชุมชนแตกต่างไปจากอดีตมาก 

ขณะเดียวกัน ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนทรัพยากรทางสังคมและปัจจัยพื้นฐานเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีก็มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เหล่านี้ ทำให้กระบวนการเรียนรู้เพื่อได้สถานะความเป็นพลเมืองของสังคมในทางปฏิบัติ ตลอดจนสามารถสร้างความเป็นชุมชนและพัฒนาวิถีชีวิตชุมชน เพื่อเป็นโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆให้เหมาะสมกับเงื่อนไขแวดล้อมที่จำเป็น ซึ่งสภาวการณ์และความจำเป็นที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากนั้น หลายสิ่งสังคมไทยตลอดจนสังคมต่างๆของโลกไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน กระบวนการเรียนรู้เพื่อการจัดการตนเองในเงื่อนไขใหม่ๆเหล่านี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เช่น การปฏิสัมพันธ์สร้างความเป็นชุมชนผ่านสื่อแบบต่างๆ โดยเฉพาผ่านมือถือ มัลติมีเดีย และอินเตอร์เน็ต ซึ่งชุมชนในสังคมเมืองรวมทั้งปัจเจกจากทุกแห่งของโลก สามารถใช้ช่องทาง Social media สื่อสารและเรียนรู้ความเป็นตนเองพร้อมกับพัฒนาความเป็นชุมชนในขอบเขตต่างๆได้ โดยไม่ต้องมีความเป็นเชื้อชาติ ไม่ติดกับข้อจำกัดความเป็นเพศชายหญิง ความแตกต่างระหว่างรุ่น ความแตกต่างทางสังคมเศรษฐกิจและบทบาททางสังคม เหล่านี้เป็นต้น

สังคมวัฒนธรรม ตลอดจนกระบวนการทางสังคมที่มีพัฒนาการสืบเนื่องไปกับวิทยาการและเทคโนโนโลยีในลักษณะดังกล่าวนี้ ชุมชนจำเป็นต้องมีโอกาสพัฒนาการเรียนรู้ให้สามารถเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาวิถีปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ชุมชน จะเป็นวิธีหนึ่งของการจัดการตนเองดังกล่าวนี้ของชุมชนได้

๒. การพัฒนาทักษะเทคโนโลยี สามารถดำเนินงานเทคโนโลยีการศึกษาชุมชนเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตทางด้านเทคโนโลยีการศึกษาเรียนรู้แก่ประชาชนในชุมชน เช่น พัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ พัฒนาคุณจริยธรรมในการใช้สื่อและเทคโนโลยีให้มีความหมายต่อการพัฒนาชีวิตตนเองและเป็นความดีงามต่อผู้อื่นในสังคม การพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และวิธีคิดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม (Learning and Educational Technology Literacy) การพัฒนาอุดมคติต่อการใช้หรือบริโภคเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม มีความรับผิดชอบ สื่อสะท้อนความสำนึกต่อส่วนรวมอันเป็นค่านิยมใหม่ๆทั้งของสังคมไทยและสังคมโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ชุมชน โดยเฉพาะองค์กรท้องถิ่น รวมทั้งกลุ่มอาสาต่างๆในชุมชน เช่น เครือข่ายครูโรงเรียน อสม กลุ่มประชาคมการเรียนรู้ สามารถที่จะริเริ่มดำเนินการเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ประชาชนได้มีทักษะเทคโนโลยี เพื่อร่วมสร้างสุขภาวะชุมชนและพัฒนาทักษะการดำเนินชีวิตได้อย่างสอดคล้องกับความจำเป็นใหม่ๆของโลกแห่งการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

๓. การสร้างอัตลักษณ์ของชุมชน เป็นระบบและวิธีการที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ สร้างความรู้ สร้างปฏิสัมพันธ์เพื่อหล่อหลอมความสำนึกร่วมและความเป็นตัวของตัวเองของชุมชนและกลุ่มปัจเจก ซึ่งทำให้ความเป็นสุญญากาศของชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะในชนบท รวมทั้งในชุมชนที่เกิดใหม่ในเงื่อนไขต่างๆของสังคมในปัจจุบัน มีความเป็นหน่วยทางสังคมที่เห็นความมีพื้นฐานร่วมกันดีขึ้น สามารถเกิดความไว้วางใจและสื่อความคิดความเข้าใจ สร้างชุมชนเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุขได้มากยิ่งๆขึ้น ตัวอย่างเช่น ชุมชนอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นชุมชนที่ก่อตั้งและยกระดับเป็นอำเภอเมื่อกว่า ๖๐ ปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นชุมชนในชนบทที่ไม่สามารถเข้าถึงและสื่อสารกับโลกภายนอกให้เห็นถึงการดำรงอยู่ได้มาก่อนเหมือนกับชุมชนอีกเป็นจำนวนมากของประเทศซึ่งเหมือนกับเป็นสุญญากาศในโลกของความรู้

แต่เมื่อ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งผู้เขียน ซึ่งเป็นลูกหลานคนหนองบัว ได้ร่วมมือกันใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเขียนบล๊อกสร้างความรู้และบันทึกรวบรวมข้อมูลทุกชนิดที่เข้าถึงได้จัดเก็บไว้ในระบบจัดการความรู้ผ่านบล๊อกของ GotoKnow ในที่สุด ก็ทำให้ชุมชนหนองบัวสามารถมองเห็นและเข้าถึงได้จากหลายแห่งของโลก สื่อสารและเชื่อมโยงลูกหลานคนหนองบัวเพื่อเคลื่อนไหวสิ่งต่างๆด้วยกันตามที่ต้องการได้จากทั่วโลก ซึ่งกล่าวได้ว่า ชุมชนหนองบัวมีข้อมูลและความรู้หลายด้านเกี่ยวกับตนเองที่เข้าถึงได้ผ่านอินเตอร์เน็ตมากที่สุดในจังหวัดนครสวรรค์และพร้อมสรรพกว่าอีกหลายชุมชนอำเภอของทั่วประเทศ จึงเป็นบทเรียนที่สะท้อนให้เห็นได้ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ชุมชน จะสามารถเป็นศักยภาพการจัดการตนเองอีกอย่างหนึ่งของชุมชนและกลุ่มปัจเจกที่มีจิตสาธารณะ ให้สามารถช่วยกันทำประสบการณ์ชุมชนและสิ่งที่เป็นความเป็นตัวของตัวเองของชุมชน ในชุมชนอีกเป็นจำนวนมากของประเทศ ให้เป็นระบบความรู้และสื่อการเรียนรู้ รวมทั้งร่วมสร้างอัตลักษณ์ที่สะท้อนชีวิตจิตใจของชุมชน  ด้วยวิธีการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน ซึ่งสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มได้อย่างกว้างขวาง

๔. การพัฒนาปัจเจกภาพและความเป็นพลเมืองในสังคมและสิ่งแวดล้อมเทคโนโลยี เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ชุมชน จะสามารถมีบทบาทต่อการให้ประสบการณ์ชีวิตต่อประชาชนและพลเมือง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต่อการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงให้มีความเหมาะสม เกิดความสมดุลในเงือนไขแวดล้อมจำเพาะของชุมชนและต่อสังคมในวงกว้าง เตรียมวิธีคิด วิถีชีวิต ทักษะชีวิต ตลอดจนทักษะปฏิบัติต่างๆต่อสังคมซึ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีในทุกมิติของกิจกรรมชีวิต ให้แก่ชาวบ้านและประชาชนพลเมือง ร่วมมือกับผู้นำชุมชนและองค์กรท้องถิ่นในการให้ประสบการณ์เชิงสร้างสรรค์ต่อเทคโนโลยี มีรสนิยมและวิถีบริโภคที่พึงประสงค์ต่อเทคโนโลยี สามารถสร้างความสมดุลและพัฒนาโครงสร้างการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมบนปัจจัยทางเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม มีเหตุผลพอเพียงและไม่แปลกแยกกับโลกความเป็นจริง เหล่านี้เป็นต้น

๕. การปฏิบัติการเชิงสังคมเพื่อพลังจัดการตนเองของชุมชน เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ชุมชน เป็นระบบจัดการตนเองของปัจเจกและชุมชน ที่สร้างโอกาสให้ชุมชนสามารถมีพลังเคลื่อนไหวชีวิตความเป็นส่วนรวม อีกทั้งเป็นวิธีช่วยดึงศักยภาพของปัจเจก ตลอดจนกลุ่มการรวมตัวกันในรูปแบบต่างๆของประชาชน ให้มีความสามารถเพียงพอในอันที่จะปฏิบัติการเชิงสังคมและเคลื่อนไหวสิ่งดีนำการเปลี่ยนแปลงต่างๆให้กับสังคม ชุมชนและสังคมส่วนรวมจะมีความหลากหลายของทางเลือก อีกทั้งสามารถระดมพลังความร่วมมือ เพื่อจัดการสิ่งต่างๆด้วยกันด้วยกระบวนการเรียนรู้และปฏิบัติการที่พอเพียง

๖. การสื่อสารความรู้และสร้างการไหลเวียนทางข่าวสารชุมชน เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ชุมชน จะช่วยให้ประสบการณ์ ความรู้ ตลอดจนข้อมูลความสามารถที่จำเป็นต้องได้เข้าถึงร่วมกันของชุมชน สามารถมีวิธีบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ พึ่งตนเองในการปฏิบัติการทางความรู้และสร้างกลยุทธทางการสื่อสารเรียนรู้ได้อย่างครอบคลุมกับความจำเป็นใหม่ๆได้มากขึ้น ทั้งเพื่อสร้างการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายชุมชนให้ทั่วถึง การสร้างความต่อเนื่องและหลากหลาย การสร้างความจำเพาะ ซึ่งองค์ประกอบที่จำเป็นเหล่านี้ของชุมชนที่จำเป็นต้องเรียนรู้ จะทำได้ยากหรือทำไม่ได้ด้วยวิธีที่ขาดการจัดการโดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ชุมชน

๗. การสื่อสารกับโลกภายนอกของชุมชน เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ชุมชน จะทำให้ชุมชนต่างๆของประเทศมีช่องทางในการเชื่อมต่อกับสังคมและโลกภายนอกด้วยกระบวนการทางความรู้ จึงสามารถเป็นกลไกและเครือข่ายสื่อเสริมกำลังขายผลสิ่งดีของชุมชน ขณะเดียวกัน ก็สามารถเลือกสรรการปฏิสัมพันธ์กับภายนอก ทำให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดการพัฒนาการเรียนรู้ที่พอเพียง มีข้อมูลข่าวสารเพื่อการตัดสินใจและจัดการตนเองสนองตอบต่อความจำเป็นต่างๆทั้งภายในและภายนอกชุมชนได้อย่างเหมาะสมดีขึ้น

๘. การพัฒนาสังคมประชากรศึกษาในบริบทใหม่ของโลกปัจจุบันและในอนาคต เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ชุมชน จะเป็นแหล่งจัดการความรู้ทางสังคมที่ช่วยให้ปัจเจกและชุมชนสามารถเรียนรู้เพื่อเผชิญแรงกดดันทางด้านต่างๆของสังคมทั้งในบริบทท้องถิ่นและในบริบทโลกาภิวัตน์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมมากขึ้น เช่น กลุ่มประชากรและพลเมืองย้ายถิ่นในรูปแบบต่างๆจะสามารถพัฒนาแหล่งข้อมูลข่าวสารเพื่อเลือกสรร เตรียมตัว หรือตัดสินใจวางแผนเกี่ยวกับชีวิตตนเอง ตลอดจนครอบครัวเครือญาติได้อย่างเหมาะสมดีขึ้น ผู้ย้ายถิ่นและอยู่อาศัยนอกชุมชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก สามารถติดต่อสื่อสารและสร้างปฏิสัมพันธ์กับชุมชนบ้านเกิดของตนเอง เชื่อมโยงให้เกิดความใกล้ชิดกับบ้านเกิดและสร้างความเป็นชุมชนในความหมายใหม่ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เหล่านี้เป็นต้น ระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชนจะทำให้ชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ จัดการมิติสังคมประชากรศึกษาที่เชื่อมโยงกับชุมชนในเงื่อนไขและความจำเป็นใหม่ๆในลักษณะนี้ได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน

๙. การบริหารจัดการกระบวนการมีส่วนร่วมในเวทีชุมชน เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ชุมชน เป็นเครื่องมือและวิธีบริหารจัดการเวทีชุมชน ตลอดจนกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อจัดการความเป็นสาธ่ารณะต่างๆของชุมชน ให้มีประสิทธิภาพและบรรลุจุดหมายที่ต้องการร่มกันได้ดีขึ้น ประชาชนและผู้นำชุมชนจำเป็นต้องได้มีการพัฒนาการเยนรู้และสามารถบริหารจัดการด้วยการพึ่งตนเองอย่างเหมาะสม พอเพียง และสมเหตุสมผล ไม่สูญเสียภูมิปัญญาและไร้ความความสามารถในการนำการเปลี่ยนแปลงด้วยการพึ่งพิงสังคมภายนอกทางเทคโนโลยีจนไม่สามารถพึ่งตนเอง ซึ่งกระบวนการเรียนรู้และบริหารจัดการเทคโนลยีและนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ชุมชนจะช่วยเพิ่มพูนศักยภาพดังกล่าวให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี

๑๐. การพัฒนาระบบส่งเสริมกิจกรรมครอบครัวและชุมชน เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ชุมชน จะสามารถพัฒนาขีดความสามารถของครอบครัวและชุมชนในการสร้างประสบการณ์ที่ดีเพื่อการพัฒนาชีวิต สามรถจัดกลุ่มและกระบวนการเรียนรู้ในละแวกเพื่อนบ้าน ในกิจกรรมวัฒนธรรมประเพณี ในกิจกรรมงานทำบุญ ให้สามารถสืบทอดสิ่งดีงามจากพื้นฐานดั้งเดิมของชุมชน พร้อมกับสามารถบูรณาการประสบการณ์ที่มีคุณค่าและมีความหมายจากโลกภายนอก เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมดังกล่าวได้ นำไปสู่การปฏิรูปกิจกรรมและพื้นฐานชีวิตชุมชน ให้เป็นแหล่งสร้างสุขภาวะชุมชนแล่ะก่อเกิดสุขภาวะสาธารณะร่วมกันได้เป็นอย่างดีมากยิ่งๆขึ้น

นอกจากนี้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน สามารถพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาคสาธารณะของชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนในมิติใหม่ๆที่จำเป็นสำหรับชุมชนและเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน เช่น

  • พัฒนาแนวนโยบาย กฎหมาย และกฏเกณฑ์เพื่อการปฏิบัติภายในชุมชน ในการใช้เครื่องเสียงและระบบเสียง การควบคุมความดังของเสียงที่เป็นผลดีต่อสุขภาพการได้ยินและสุขภาวะทางเสียง รวมทั้งส่งเสริมแนวทางการใช้ให้มีบทบาทต่อการสื่อสาร กระจายความรู้ และไหลเวียนข้อมูลข่าวสาร เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน
  • การพัฒนาระบบและมาตรการเกี่ยวกับสื่อ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในชุมชน สิ่งบันเทิง ที่เอื้อต่อการพัฒนาความเป็นชุมชน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสื่อ รวมทั้งเทคโนโลยีการศึกษาในชุมชนท้องถิ่น ที่ส่งเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ที่บูรณาการมิติชุมชนอย่างสมดุล
  • การพัฒนาระบบทรัพยากรส่วนรวมของชุมชนด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการเรียนรู้ชุมชน เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งในการจัดการชุมชนแห่งการเรียนรู้ พัฒนาวัฒนธรรมการอ่าน วัฒนธรรมหนังสือ และการสร้างความรู้จากครอบครัวและชุมชน
  • พัฒนารูปแบบและนำเสนอวิธีใช้เทคโนโลยีและสื่อเพื่อการจัดงานต่างๆของชุมชน ลดการใช้จ่ายและความสิ้นเปลืองแต่สามารถสร้างรสนิยมตลอดจนสร้างการมีความหมายต่อความเป็นชุมชน พัฒนาวิธีเคลื่อนไหวกิจกรรมสังคมวัฒนธรรมอย่างมีพลัง ตลอดจนการพัฒนาชีวิตที่ดีของปัจเจกและชุมชน
  • พัฒนาทักษะครอบครัว ชุมชน กลุ่มเยาวชน และการรวมกลุ่มของชาวบ้าน ในการเลือกสรรสื่อ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเรียนรู้ เข้าสู่ครอบครัว ชุมชน และวิถีชีวิตของตนเอง
  • พัฒนาศักยภาพองค์กรท้องถิ่น อบต เทศบาล ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาคราชการและภาคเอกชนในท้องถิ่น ให้มีระบบจัดการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพในการประยุกต์ใช้เพื่อบริหารจัดการความเป็นส่วนรวมของชุมชน เช่น การจัดเวทีประชุมชาวบ้าน การจัดกิจกรรมสาธารณะของชุมชน การพัฒนาทักษะการพูดในชุมชน พัฒนาทักษะการสื่อสารกับสังคมผ่านสื่อ การใช้เทคโนโลยีดิจิตัลและมัลติมีเดียในการจัดการความรู้เพื่อสื่อสารกับโลกภายนอกของชุมชน การถอดบทเรียนและจัดการความรู้เข้าสู่ระบบสื่อข้อมูลในอินเตอร์เน็ต

เหล่านี้เป็นต้น

๑๑. การพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ชุมชน เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ชุมชน จะสามารถจัดวางระบบการเรียนรู้และทำให้แหล่งทรัพยากรทางความรู้ ตลอดจนแหล่งประสบการณ์ทางสังคมในชุมชน มีระบบบริหารจัดการเพื่อได้ความรู้และความคิดสำหรับเป็นปัจจัยแวดล้อม ส่งเสริมและเอื้อต่อความริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่างๆร่วมกันของชุมชนมากยิ่งๆขึ้น เช่น ทำให้พิพิธภัณฑ์ชุมชนและแหล่งภูมิปัญญาชุมชน มีวิธีให้ความรู้ สื่อสาร และนำเสนอข้อมูลเพื่อการศึกษาเรียนรู้แก่ชุมชน ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายกลุ่มต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นองค์ประกอบที่ช่วยพัฒนาความเป็นชุมชนให้สามารถเป้นแหล่งเที่ยวท่องเชิงการเรียนรู้ สร้างศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชนให้มีวิธีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน รวมทั้งจัดการเชิงธุรกิจชุมชนด้วยการใช้ความรู้และเทคโนโลนีการจัดการเรียนรู้เข้าไปเสริมได้ดีขึ้น

๑๒. การพัฒนาระบบความรู้และคลังข้อมูลภาคพลเมืองของชุมชน เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ชุมชน จะสามารถเชื่อมโยงพลังการมีส่วนร่วมอันหลากหลายของปัจเจกและกลุ่มความสนใจที่มีในชุมชน ให้สามารถสร้างความรู้และบริหารจัดการความรู้เพื่อสนองตอบต่อความจำเป็นและสนองตอบต่อจุดหมายที่ต้องการของชุมชนที่อยู่ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งอยู่ในความจำเป็นที่ภาคประชาชนมีความจำเป็นและสามารถดำเนินการด้วยการพึ่งตนเองได้ ทำให้ชุมชนสามารถสร้างคลังความรู้และระบบข้อมูลที่ไม่เคยมีมาก่อนในระบบที่เป็นทางการ

๑๓. การเสริมศักยภาพและพัฒนาความเข้มแข็งในการบริหารจัดการตนเองของท้องถิ่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ชุมชน จะสามารถเป็นเครื่องมือและวิธีบริหารจัดการความรู้และข้อมูลข่าวสารขององค์กรท้องถิ่นเพื่อบรรลุจุดหมายต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาอันกิดจากข้อจำกัดทางด้านบุคลากร ตลอดจนการพึ่งตนเองในการปฏิบัติการและเคลื่อนไหวการเรียนรู้ทางสังคมได้ดีมกาขึ้น กลไกและกระบวนการต่างๆในการพัฒนาเครือข่ายชุมชน ตลอดจนการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจะสามารถดำเนินการได้อย่างมีความหมาย บูรณาการกับฐานความรู้ และนำเอามิติการเรียนรู้เข้าไปบูรณาการกับกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วม ตลอดจนเป็นการพัฒนาประชาชนและนำพลังการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วยวิธีการทางความรู้

ในท่ามกลางความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรอบด้าน ชุมชนต่างๆมีความจำเป็นต้องมีทักษะและความสามารถเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ จัดการความรู้ สร้างประสบการณ์ทางสังคมในขอบเขตที่หลากหลาย เตรียมความพร้อมและสร้างศักยภาพของประชาชนพลเมืองเพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง มีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาวะสาธารณะของชุมชน ซึ่งวิทยาการและเทคโนโลยี ตลอดจนความรู้ต่างๆที่ช่วยให้บรรลุความจำเป็นดังกล่าว เป็นปัจจัยที่จำเป็นมากที่สุดอย่างหนึ่ง แต่การขาดวิธีจัดการที่มุ่งความเป็นชุมชนสำหรับการอยู่ร่วมกัน จะทำให้ปัจเจกบางส่วนมีความสามารถอยู่รอดและส่วนรวมจะพัฒนาไปได้ไม่เท่ากัน ก่อให้เกิดช่องว่างทางความรู้ในสังคมเพิ่มมากขึ้นและยิ่งทำให้คนส่วนใหญ่ในชุมชนท้องถิ่นเสียโอกาสพัฒนาตนเองให้ทัดเทียมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ขณะเดียวกัน ระบบภูมิปัญญาและเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนซึ่งเป็นพื้นฐานอันเข้มแข็งก็จะขาดวิธีจัดการเพื่อให้ชุมชนสามารถเผชิญการเปลี่ยนแปลงรอบด้านได้อย่างเหมาะสม ชุมชนก็จะยิ่งขาดพลังความริเริ่มและสูญเสียศักยภาพการพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับความจำเป็นในอนาคตดังที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น

เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน จึงเป็นแนวทางการพัฒนาระบบและกลวิธีปฏิบัติการเคลื่อนไหวการเรียนรู้ของชุมชนในวิถีใหม่ๆ ด้วยการบูรณาการทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาเรียนรู้ในระดับชุมชนอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างศักยภาพการจัดการความรู้และการบริหารจัดการตนเองของชุมชน ให้สอดคล้องกลมกลืนกับสภาพการณ์ทางสังคมเทคโนโลยีและพัฒนาการทางด้านต่างๆของสังคมไทยและสังคมโลก สร้างเสริมความเป็นพลเมืองในบริบทประชาสังคม รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพการมีส่วนร่วมการพัฒนาของปัจเจกและชุมชน ให้สังคมสามารถบรรลุจุดหมายการพัฒนาทางด้านต่างๆในทางเลือกใหม่ๆได้มากยิ่งๆขึ้น.

.....................................................................................................................................................................

หมายเหตุ :

๑. สังเคราะห์บทเรียนจากเวทีคนหนองบัว [เวทีคนหนองบัว,เรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว]และเครือข่ายบล๊อกเกอร์ GotoKnow และนำเสนอเป็นเบื้องต้นเนื่องในวันมาฆะบูชากับวันแห่งความรักปี ๒๕๕๔ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ สาขาการจัดการการศึกษา (นานาชาติ) และโครงการหลักสูตร Alternative Education Studies ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

๒. กรณีตัวอย่าง : นวัตกรรมการศึกษาชุมชนและการบูรณการเทคโนโลยีการศึกษาชุมชน เพื่อออกแบบ พัฒนาระบบการให้ประสบการณ์ทางเรียนรู้ และบริหารจัดการสถานการณ์การเรียนรู้ ในแนวทางใหม่ๆที่สะท้อนการผสมผสานโอกาสการพัฒนาและความทันสมัยที่พอเพียง โดยมีพื้นฐานทางภูมิปัญญาและเทคโนโลยีของชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง

     ๒.๑ ศูนย์การเรียนรู้วิถีชีวิต ระบบสังคมวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของสังคมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือพระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง จังหวัดขอนแก่น ใน ภาวะสุขสงบฉับพลัน ผ่านศิลปะและพระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น </stron

หมายเลขบันทึก: 426127เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2011 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • เอาหนังสือมาฝาก
  • เสร็จแล้ว น้องผึ้งจาก gotoknow ทำให้
  • คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ
  • ดาวน์โหลดไฟล์ PDF
  • ชอบเรื่องของอาจารย์
  • เอาไปประยกต์ใช้ในเรื่องชุมชนโดยเฉพาะที่น้ำทรัพย์ได้เลยครับ

ขอแสดงความยินดีด้วยเป็นอย่างมากครับอาจารย์
รวมทั้งขอปรบมือให้น้องผึ้งกับทีม GotoKnow
ที่ช่วยอาจารย์ให้ได้ทำคู่มือจัดกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษนี้ออกมา
อาจารย์มีผลงานและความรู้ทางการปฏิบัติที่ได้ผลดีเป็นของจริงมากมาย
แต่ด้วยการมุ่งทำให้แก่สังคมด้วยชีวิตจิตใจ
หากขาดคนช่วยสนับสนุนทำประสบการณ์ให้เป็นสื่อวิชาการออกมาด้วย
กว่าจะมีโอกาสทำออกมาได้ก็คงจะอีกนาน หรืออาจจะไม่ได้ทำเลย
เพราะความจำเป็นใหม่ๆก็จะเข้ามาอีกอยู่เสมอๆ
เลยขอปรบมือให้อย่างจริงใจครับ เป็นผลงานแห่งความรัก
และเป็นหมายเหตุวันแห่งความรักปีนี้ที่ดีครับ

ขอบพระคุณดอกไม้จากพี่ใหญ่ครับ เมื่อวานก่อนไปดูงานศิลปะของกมล ทัศนาญชลี ศิลปินระดับโลกชาวไทย ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ ระหว่างที่ชม ก็เห็นงานหลายชิ้นที่เห็นปั๊บก็คิดถึงพี่ใหญ่ทันที

                        

                        

เลยขอนำมาฝากเสียเลยนะครับ เป็นภาพที่เล่นกับจังหวะของแสงและเงาของศิลปินระดับโลกเลยละครับ นำมากำนัลเพื่อความเบิกบานแจ่มใสในวันมาฆะบูชา และได้ความงดงามในวันแห่งความรักมากยิ่งๆขึ้นครับ

ขอบคุณดอกไม้จากอาจารย์ขจิตครับ
มีความสุขในวันแห่งความรักนะครับอาจารย์

ขอบคุณดอกไม้จากอาจารย์ศิลา ภูชยา
ขอให้ได้ความเบิกบานแจ่มใส
ในวันแห่งความรักมากๆครับ

"....ชุมชนการทำงานและการทำธุรกิจซึ่งจะเต็มไปด้วยประชากรแฝงและประชากรที่เคลื่อนย้ายเข้าสู่ชุมชนในตอนกลางวันซึ่งเป็นเวลาทำงานและเวลาธุรกิจ แล้วเคลื่อนย้ายออกกลายเป็นชุมชนอันสงบเงียบในเวลากลางคืน การรวมกลุ่มอยู่ในแหล่งประกอบการธุรกิจและในองค์กรการทำงานเป็นเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตซึ่งทำให้มีความหมายต่อการพัฒนาวิถีชีวิตตลอดจนระบบค่านิยมต่างๆทางสังคมเกิดขึ้นไปด้วยเหมือนเป็นชุมชนอีกชนิดหนึ่ง..."

กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลครับ
บันทึกนี้เป็นบทสังเคราะห์และถอดบทเรียนเพื่อนำเสนอเป็นเบื้องต้นเกี่ยวกับ 'เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน' ส่วนใหญ่ประมวลผลจากบทเรียนของเวทีคนหนองบัว ซึ่งคิดว่าจะทำให้เห็นแนวการริเริ่มระบบการทำงานใหม่ๆที่ช่วยจะให้ชุมชนและองค์กรท้องถิ่นสามารถผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการความรู้ เพื่อเพิ่มพูนความสามารถจัดการตนเองด้วยวิธีการความรู้และการเคลื่อนไหวการเรียนรู้ของปัจเจกและชุมชน ให้มีโอกาสริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่างๆออกจากตนเองได้มากยิ่งๆขึ้น ต้องถือว่าเป็นคุณูปการแก่สังคมส่วนรวมจากชุมชนบ้านนอกอย่างหนองบัวของเรานะครับ

เมื่อ 20 - 22 มิ.ย. 54 โรงเรียนหนองบัวรับการประเมินคุณภาพภายนอก รอบ 3 (สมศ.) โรงเรียนได้นำข้อมูล เวทีคนหนองบัว

จัดเป็นบอร์ดนำเสนอข้อมูลท้องถิ่น และได้มีโอกาสนำเสนอความเป็นมาให้คณะกรรมการด้วยวาจา รู้สึกภาคภูมิใจแทนนักเรียน

และชุมชนหนองบัวจังที่มีคนนำร่องการศึกษาในท้องถิ่นให้ขยายวงกว้างออกไป

สวัสดีจ้าครูน้อง

เป็นการบันทึกและบอกกล่าวกิจกรรมความเคลื่อนไหวเล็กๆแต่ก็มีความหมายดีมาก ในแง่ที่เป็นความสืบเนื่องจากสิ่งต่างๆที่พวกเราคนหนองบัวได้ทำให้กับท้องถิ่นและร่วมเป็นเครือข่ายส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียนเพื่อลูกหลานคนหนองบัว รวมทั้งร่วมเป็นแรงสนับสนุนจากข้างนอกให้กับหมู่เพื่อน น้องๆ และเพื่อนครูคนทำงานเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ให้กับเด็กๆหนองบัวและคนรุ่นใหม่ของสังคม ขอแสดงความยินดีและร่วมเป็นกำลังใจกับท่าน ผอ.วินัย คณะครู นักเรียน เครือข่ายผู้ปกครอง และทุกท่านด้วยคน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท