ความหวังที่วันที่ใกล้ฝั่งของนางดาที โดย จันทราภา จินดาทอง


ความหวังที่วันที่ใกล้ฝั่งของนางดาที
โดย จันทราภา จินดาทอง นักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก            

           แม้มือของหญิงชราวัย 78 ปีจะสั่นเทาไปตามสังขาร แต่แววตาที่เรืองรองด้วยความหวัง กับรอยยิ้มที่ฉายอยู่ในหน้า หลังจากได้พูดคุยกับทีมสำรวจปัญหาและข้อเท็จจริงตามโครงการขยายองค์ความรู้และเครือข่ายเพื่อการจัดการปัญหาประชากรที่มีสถานะบุคคลและสิทธิในพื้นที่อำเภออุ้มผาง[1] ทำให้ยายดาทีดูอ่อนเยาว์ลงอย่างไม่น่าเชื่อ

          โครงการขยายองค์ความรู้และเครือข่ายเพื่อการจัดการปัญหาประชากรที่มีสถานะบุคคลและสิทธิในพื้นที่อำเภออุ้มผางระยะที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2553 โดยทำการอบรมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำสถานีอนามัยบ้านโมโกร และบ้านหนองหลวง จำนวน 10 คน เพื่อให้ทราบถึงการจำแนกสถานการณ์ปัญหาและการกำหนดกลุ่มประชากรที่มีปัญหาด้านสถานะบุคคลและสิทธิ รวมถึงวิธีการเก็บข้อเท็จจริงโดยใช้แบบสอบถาม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาฐานข้อมูลในการจัดการประชากรที่มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิในพื้นที่อำเภออุ้มผาง

          การอบรมจะแบ่งเป็นการให้ความรู้ภาคทฤษฏีในวันแรก วันที่สองเป็นการลงสำรวจกรณีศึกษาในพื้นที่จริง ซึ่งได้แยกทีมผู้เข้าอบรมและวิทยากรเป็น 2 ทีม ลงพื้นที่ตำบลหนองหลวงและตำบลโมโกร ตามที่ผู้อบรมเป็นคนคัดเลือก และนำผลการอบรมมาสรุปร่วมกันในวันที่สาม

        เรื่องราวของนางดาทีเป็นกรณีศึกษาที่นำเสนอโดยนางรวีวรรณ ล่องทอง เจ้าหน้าที่ประจำสถานบริการสาธารณสุขชุมชน(สสช.)บ้านแม่กลองคี หมู่ที่ 3 ตำบลโมโกร นางรวีวรรณเล่าว่า รู้จักกับนางดาทีมานานแล้ว ในฐานะที่ นางดาทีเป็นหมอตำแยที่มีฝีมือและมีประสบการณ์มายาวนานคนหนึ่งประจำหมู่บ้าน และยังเป็นผู้มีความสามารถในการนวด จับเส้นรักษาโรคปวดเมื่อยได้ ซึ่งตามหลักแล้ว สสช.สามารถส่งรายชื่อขึ้นทะเบียนเป็นพนักงานผดุงครรภ์โบราณและได้รับค่าตอบแทน แต่นางดาทีไม่มีเอกสารทางทะเบียนจึงไม่อาจดำเนินการได้

          เมื่อทีมงานลงพื้นที่ไปยังบ้านของนางดาที ได้พบกับบุตรสาว หลาน และน้องชายซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านแม่กลองคี และได้ทราบข้อเท็จจริงจากปากคำของบุคคลดังกล่าวว่า นางดาทีหรือชื่อในทะเบียนบ้านของลูกคือ นางบือบละ เป็นหญิงปกาเกอญอที่เกิด เติบโตและอาศัยอยู่ที่บ้านแม่กลองคี หมู่ที่ 3 ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ด้วยระยะทางที่ห่างไกลจากที่ว่าการอำเภออุ้มผางราว 30 กิโลเมตรในสมัยก่อน ประกอบเป็นพื้นที่สีแดง มีกองกำลังผกค.ตรึงกำลังอยู่เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากชายแดนพม่าเพียง 5 กิโลเมตร พ่อและแม่ของยายดาทีจึงไม่ได้แจ้งเกิดบุตรทั้ง 8 คน (มีบุตรรวม 12 คน เสียชีวิตไปแล้ว 4 คน)

        ต่อมาเมื่อเจริญเติบโตขึ้น พี่น้องของยายดาทีแยกย้ายกันไปมีครอบครัวและขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรได้ทั้งหมด ช่วงที่น้องชายร่วมพ่อแม่คนหนึ่งได้เป็นผู้ใหญ่บ้านแม่กลองคี ราวปี พ.ศ. 2524 ยายดาทีจึงเดินทางไปขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน คนที่สำนักทะเบียนอำเภออุ้มผางในสมัยนั้นบอกว่า นางดาทีแก่แล้ว ไม่ต้องทำบัตร หาอยู่หากินไปเรื่อย ๆ ตำรวจไม่จับหรอก นางดาทีจึงไม่ไปยื่นเรื่องอีกเลยนับแต่นั้น

        ชีวิตของนางดาทีคงจะดำเนินต่อไปและไม่มีความคิดที่จะใช้ประโยชน์จากการมีบัตรประจำตัวประชาชน กระทั่งมีลูกที่ได้สัญชาติไทยตามบิดาทั้งหมดเติบโตขึ้น ลูกคนหนึ่งของนางดาทีย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่จังหวัดลำปาง ทำให้นางดาทีมีความคิดอยากจะเดินทางไปเยี่ยมหลานของตนเอง แต่ไม่กล้าเดินทางข้ามจังหวัดเพราะไม่มีบัตร

        ทีมวิทยากรที่ร่วมลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงที่บ้านของนางดาที ประกอบด้วย อาจารย์ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุลและคุณลืนหอม สายฟ้า ให้ความเห็นตามข้อเท็จจริงของนางดาทีว่า น่าจะยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรได้เลย จึงได้โทรนัดหมายกับทางสำนักทะเบียนอำเภออุ้มผาง

        วันที่ 9 ธันวาคม 2553 นางดาทีกับน้องชายที่เคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน และลูกชายที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน(อสม.) เดินทางมายังที่ว่าการอำเภออุ้มผาง ในวันนั้นนางดาทีมีแววตาที่ยังตื่นกลัว ไม่แน่ใจที่จะยื่นคำร้อง แต่เมื่อคณะวิทยากรและผู้เข้าอบรมทั้งหมด เดินทางมาร่วมเป็นกำลังใจ นางดาทีจึงมีท่าทีผ่อนคลายพร้อมกับยิ้มอย่างมีความหวัง ปลัดฝ่ายทะเบียนอำเภออุ้มผาง ชี้แจงว่า สามารถยื่นคำร้องได้และขอให้รวบรวมพยานบุคคลโดยนัดหมายในวันที่ 20 ธันวาคม 2553

        20 ธันวาคม 2553 นางดาทีพร้อมพยานเดินทางมายื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านของบุตรชาย ทางสำนักทะเบียนได้รวบรวมเอกสารและสอบปากคำพยานเป็นที่เรียบร้อย ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของนายทะเบียน

        นางดาทีเป็นอีกบุคคลที่สะท้อนภาพปัญหาของคนกลุ่มที่มีข้อเท็จจริงเป็นคนไทย แต่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎรซึ่งยังคงพบเจออยู่แทบทุกพื้นที่ที่ห่างไกลและทุรกันดาร ความหวังของนางดาทีแม้จะเป็นหวังในวันใกล้ฝั่งก็ยังดีกว่าถึงฝั่งโดยไม่ได้สถานะที่พึงจะมีของตนเอง

                                               

 



[1] โครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ,คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, โรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก, สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ และโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคล

หมายเลขบันทึก: 425504เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2011 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เขียนเก่งนี่ น่าอ่านและมีประโยชน์ควรติดตาม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท