ลงแขกดำนา... ความเอื้ออาทรที่กำลังจะเลือนหาย


ลงแขกดำนา โรงเรียนวัดดักคะนน ชัยนาท

ภาพสองมือน้อยที่หอบหิ้วมัดกล้า พร้อมเสียงหัวเราะของเด็กๆ นับร้อย ต่างจูงมือผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน เดินย่ำโคลนลงแปลงนาที่อิ่มน้ำ เพื่อเรียนรู้และเข้าใจการ “ลงแขก ดำนา” ประเพณีแห่งวิถีชุมชนรุ่นปู่ย่า ที่นับวันจะเริ่มเลือนลางจางหายไปจากสังคมไทยตามลมหายใจของพ่อแก่แม่เฒ่าเสียทุกขณะ แต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านตำบลธรรมามูล และโรงเรียนวัดดักคะนน จังหวัดชัยนาท ที่อยากให้บุตรหลานได้เรียนรู้ และเห็นคุณค่าของประเพณีการลงแขก ดำนา วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่ครั่นโบราณ ซึมซับถึงกระบวนการผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารอันหล่อเลี้ยงผู้คนในดินแดนแม่น้ำสามสายมาช้านาน จึงคิดจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น

         ธวัชชัย เอี่ยมจิตร์ กำนันตำบลธรรมามูล กล่าวถึงกิจกรรมนี้ว่าเป็นการต่อยอดโครงการสถานีทดลองพันธุ์ข้าว ภายใต้โครงการแคมป์สนุกคิดกับชินคอร์ปปีที่ 10 ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์หันตรา และมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี วิทยาเขตสิงห์บุรี ทำการทดลองและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวบนพื้นที่นากว่า 4 ไร่ของบ้านดักคะนน ซึ่งผลจากโครงการดังกล่าวทำให้เกิดแหล่งเรียนรู้ใหม่ในชุมชนที่เปรียบเสมือนห้องเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่ ของเด็กๆ ได้เรียนรู้ประวัติการทำนา และวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน  ซึ่งการลงแขกดำนาในครั้งนี้ถือว่าเป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็กๆ ที่ได้ลงแขกดำนาเป็นครั้งแรก โดยมีพี่ป้าน้าอา และผู้ใหญ่ใจดีเป็นพี่เลี้ยงคอยสอนวิธีการดำนาและให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด ถือเป็นกุศโลบายอันแยบยลเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยและการสืบทอดวิถีชีวิตชุมชนโดยอาศัยกิจกรรมทางวัฒนธรรมเป็นสื่อกลาง

          “การลงแขก ดำนา เป็นประเพณี วัฒนธรรมของชาวนาภาคกลาง เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในสังคมชาวนาโดยไม่ต้องใช้เงินจ้าง ถือว่าเป็นการรักษาไว้ ซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงาม เพื่อสืบทอดไปถึงลูกถึงหลาน และเป็นตัวอย่างให้ลูกหลานชาวธรรมามูลได้เห็น และวันนี้พวกเราทั้ง 10 หมู่บ้าน ในตำบลธรรมามูล พร้อมคณะครู และนักเรียนโรงเรียนวัดดักคะนน พร้อมใจกันจัดขึ้นเพื่อให้ประเพณีการลงแขกดำนา ยังอยู่คู่สังคมชนบทไทย"  กำนันธวัชชัยย้ำ

          วัชรินทร์ ชื่นชมบุญ นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนวัดดักคะนน หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวด้วยรอยยิ้มและใบหน้าเปื้อนโคลนว่า เป็นกิจกรรมที่สนุกและได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะไม่เคยทำนามาก่อน ซึ่งการดำนาครั้งนี้ได้รับความรู้จากลุงๆ ป้าๆ ที่ต่างสอนว่าการปักต้นกล้าที่ดีต้องทำอย่างไร ระยะห่างเท่าไหร่ต้นกล้าจึงจะเจริญเติบโตดี  การลงแขกดำนา ทำให้ตนรู้ถึงความสามัคคีของคนสมัยก่อนที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน ได้รู้ถึงคุณค่าของข้าว และความเหนื่อยยากของชาวนาว่ากว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเม็ดต้องมีขั้นตอนอย่างไร ทำให้เข้าใจความหมายของคำว่า “หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน” มากขึ้น

          “ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โยจามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโธ ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง สังฆานุภาเวนะ วินาสะเมนตุฯ” บทสวดในพิธีทำขวัญข้าวหลังการเก็บเกี่ยวที่ค่อยๆ แผ่วเบาและเริ่มเลือนหายไปตามเวลา กำลังจะกึกก้องอีกครั้งด้วยสองมือของเยาวชนรุ่นใหม่บ้านดักคะนน ตำบลธรรมามูล จังหวัดชัยนาท ที่เรียนรู้และเข้าใจถึงสังคมกสิกรรมตามวิถีชุมชนของตน ที่วันนี้สองมือจะถือเพียงมัดต้นกล้า และเท้าจะย่ำดินลุยโคลนกันอย่างสนุกสนาน ไม่กลัวแดดหรือกลัวเปื้อนดินโคลนในแปลงนา แต่ทั้งหมดนี้กำลังเป็นอนาคตแห่งการอนุรักษ์ประเพณีการลงแขก ดำนา ที่วันนี้ชาวตำบลธรรมมามูลได้สานเจตนารมณ์รุ่นปู่ย่า ไว้แก่เด็กๆ  เหล่านี้แล้ว

 

หมายเลขบันทึก: 424704เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2011 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท