คุณภาพการศึกษาควรมาจากตรงไหน


เห็นคุณครูทุกโรงเรียนหน้าดำหน้าแดงกับการติวเข้มนักเรียนกันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการสอบ O – Net  เห็นแล้วน่าอนาถใจกับเด็กไทยจริง ๆ   อนาคตเด็กไทยจะเป็นอย่างไร…

                นโยบายการสร้างมาตรฐานการศึกษาให้กับสถานศึกษาในประเทศไทยให้อยู่ในระดับเดียวกันด้วยวิธีการสอบโดยใช้ข้อสอบเดียวกัน  ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวคิดที่ดีที่คิดจะพัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพอย่างทัดเทียมกันทั้งประเทศ   แต่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิบัติของผู้ที่นำนโยบายนี้มาใช้ในการตัดสินอะไรบางอย่างบางครั้งนำไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อเอื้อประโยชน์สำหรับพวกพ้องหรืออะไรก็ตามแต่ แล้วผู้เขียนจะอธิบายให้ทราบในตอนท้ายนี้

                การนำนโยบายยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาโดยการติวเข้มก่อนการสอบนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นสิ่งดี เพราะนักเรียนได้ผ่านหูผ่านตาข้อสอบที่ไม่เคยพบเห็น  ได้รู้ในสิ่งที่ครูไม่เคยสอน  ครูสอนไม่ทัน    นักเรียนเข้าสอบก็จะทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง  แต่อย่างน้อยก็เบาใจสำหรับครูผู้สอนไปบ้างละ  ต้องทำได้นิดหน่อย  ผู้บริหารโรงเรียนก็สบายใจขึ้นว่าครูสนใจเอาใจใส่เด็ก  ผลสัมฤทธิ์คงจะดีขึ้นแน่นอน

             มีสิ่งที่นำมาใช้อย่างผิด ๆ ก็คือผู้บริหารใช้วิธีการบังคับครูโดยกำหนดให้ผลสัมฤทธิ์จากการสอบนั้นเป็นตัวกำหนดในการพิจารณาความดีความชอบ ให้ ๒ ขั้น ให้ ขั้นครึ่งบ้าง   ถ้ามองแง่ดีก็ดี  แต่มองในแง่ร้ายก็ร้ายเหมือนกัน  เพราะเด็กแต่ละรุ่น แต่ละคนมันเหมือนกันไหมละ  ผู้เขียนคนหนึ่งละที่พบเห็นความแตกต่าง ๆ ของเด็กในแต่ละรุ่น แต่ละปี  บางปีสอนนิดเดียวเขาก็รู้ทะลุปรุโปร่ง  บางปีสอนแทบตาย ใช้หลายวิธีนักเรียนก็ไม่รู้เรื่อง   ดังนั้นใครที่คิดจะหวังขั้นพิเศษ เกิดได้สอนเด็กเรียนช้าเป็นพิเศษในปีนั้นรับรองอดขั้นพิเศษแน่นอนหากนำเกณฑ์นี้มาพิจารณาด้วย                

ก็ขอฝากผู้บริหารประเภทนี้(คงมีไม่มาก)คิดลึก ๆ หน่อย

                แล้วเราจะทำอย่างไรให้เด็กเรามีคุณภาพโดยไม่ต้องมาติวเข้มพิเศษกันเป็นช่วง ๆ  หรือว่าเราเลิกสอนเนื้อหากันแล้วใช้วิธีการติวดีกว่าไหม  เพราะทุกโรงเรียนเป็นแบบนี้กันหมดแล้ว

ผู้เขียนคิดว่าปัญหาต่าง ๆ มาจากครูที่ขาดคุณภาพ ขาดความรับผิดชอบ ขาดความสำนึกในหน้าที่

ขาดคุณภาพอย่างไร ก็ตรงที่เมื่อเป็นครูแล้ว ความคิดอย่างหนึ่งคือสอนก็ได้เงิน ไม่สอนก็ได้เงิน ดังนั้นการจะมุ่งมั่นคอยพัฒนาตนอยู่เสมอนั้นมีน้อยเต็มที ครูก็เลยไม่ค่อยเติมความรู้ให้กับตนเอง

จึงไม่รู้จะสอนอะไร   และที่ขาดความรับผิดชอบและสำนึกในหน้าที่นั้น ก็ดูจากการปฏิบัติตนของครูเองนั่นแหละ  บางคนขายของ  บางคนมีงานนอกมากมาย  บางคนก็ไม่มาสอน และที่เห็นกันมากคือมัวแต่ทำผลงานเสนอเป็นชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ เชี่ยวชาญพิเศษ  พวกนี้แหละไม่มีเวลามาสอนหรอก  แค่เครียดกับงานตัวเองก็หนักหนาแล้ว แล้วจะหวังอะไรกับงานสอน  (ไม่ใช่ทุกคน

คนที่ดีมีคุณภาพก็เยอะ)    หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ลองมองย้อนกลับกันบ้างนะอย่าโยนบาปไปให้เด็กด้านเดียว....

คำสำคัญ (Tags): #บุรีรัมย์7
หมายเลขบันทึก: 424698เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2011 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ให้พูดตามตรง (จากใจจริงๆครับ) หากเรามองย้อนกลับไปในอดีตที่มีการให้เรียนซ้ำชั้น สำหรับนักเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์การเลื่อนชั้น ผมว่ายังงั้นให้ประโยชน์กับการพัฒนาคน(ผู้เรียน) ได้มากกว่าการที่เรามาสอนโดยมุ่งเน้นที่ผลสัมฤทธิ์ ซึ่งหากผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนไหนตกหรือต่ำกว่า โรงเรียนอื่นผู้บริหารบางคนกลับเอามาเป็นอารมณ์กับลูกน้องจนเกิดความเครียดไปตามๆกัน  สุดท้ายก็มาลงที่การติวให้นักเรียน ใช้เวลาเท่าที่จะจัดให้ได้   มากน้อยก็ว่ากันไปตามเวลาที่เอื้ออำนวย (ยิ่งถ้าโรงเรียนไหนมีกิจกรรมในภาคเรียนที่ 2 เยอะแถม ครูน้อยอีกล่ะตายเห็นๆ) อัดความรู้เข้าไปครับ  โดยที่ไม่รู้ว่าจะได้มากน้อยแค่ไหน  ใครอยากให้นักเรียนสอบได้ก็พยายามอย่างเต็มที่ ไอ้พวกที่ไม่สอนก็เฉย หมดเวลาราชการ(หรือยังไม่หมดก็ตาม) หาทางออกจากโรงเรียนให้จงได้ ใกล้ๆจะพิจารณาขั้นโน่นแหละถึงจะกลับบ้านค่ำบ้างดึกบ้าง  สอนสัปดาห์ละ 10 คาบ  บ่นเหนื่อยยังกะสอน 1,200 คาบต่อวัน  ใครหน้าไม่หนาพอก็นั่งฟังนางละครแสดงบทบาทไป  สรุป ก็ได้ความดีความชอบไป  ส่วนที่ทุ่มเทให้กับอนาคตของชาติก็ทำต่อไปเถอะ (คำที่ได้ยินประจำคือ ปีหน้าตรูไม่ทำก็ได้...เหนื่อยว่ะ) กลายเป็นว่าเป็นการสืบทอดวิชามารกันไปเลย

อีกพวกคือพวกนั่งโต๊ะ  ชอบสั่งครับพวกนี้ตรูไม่สนว่าอะไรจะเป็นยังไง ผลสัมฤทธิ์ต้องดีขึ้นให้ได้ พวกนี้ทฤษฎีเยอะครับ เข้าใจนักเรียนและผู้ปกครองได้เป็นรายกรณีไป ใครมาหาเป็นครูต้องรับกรรมเสมอๆ ไม่ได้คิดเล้ยว่าเด็กบางคนมันกล้าที่จะตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จกับผู้ปกครองได้ด้วย (กรณีนี้สงสัยจะเรียนมากับครูในกรณีแรก) ผู้ปกครองมาทีละ 10 กว่าคนเลยครับ ครูรับมืออยู่คนเดียวเลยครับ ต้องคุยกันอย่างน้อยๆ3ชั่วโมงขึ้นไปครับถึงจะรู้ว่าเด็กหลอกบรรพบุรุษมัน (คอแห้งหมดน้ำเป็นโอ่งเลย) แต่ยังไงครูก็ยังต้องรับผิดชอบนักเรียนอยู่ดี  

พวกที่สาม ครูพวกนี้จะเป็นประเภทจิปาฐะครับงานนอกงานในฉันยุ่ง ฉันรู้ ฉันมีเอี่ยวด้วยตลอด (ลูกอยู่บ้านโดนรถชนขาหักยังไม่รู้เลย) ไปงานตลอด รู้จักเขาไปหมด ทำงานยิ่งกว่าแผนกลูกค้าสัมพันธ์ คงจะลืมไปว่าเป็นบริษัทรับเครมประกันไม่ใช่โรงเรียน แล้วก็ทำผลงานครับชำนาญการพิเศษ ทำมา 3 ปีแล้ว ยังไม่เห็นส่งซะที

อีกพวกเป็นพวกรอบจัด ตอนเช้าๆจะเห็นขับรถฝุ่นตลบเข้าโรงเรียนประจำ (กลัวไม่ทันลงชื่อเดี๋ยวโดนขีดเส้นแดง) ตกเย็นหาตัวไม่เจอครับ ถึงบ้านตัวแต่บ่าย 3 โมง(เร็วจริงๆ โรงเรียนเลิก 4 โมงครึ่ง บ่าย 3 ถึงบ้านแล้ว) เร็วกว่านาฬิกาอีก

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงด้านเดียวนะครับ แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นกันหมดทุกคนประเทศไทยยังมีคนดีอยู่เยอะขอแนะนำ พระบรมราโบวาทและพระราชดำรัส  นี้ครับ

     "ในบ้านเมืองเราทุกวันนี้ มีเสียงกล่าวกันว่า ความคิดจิตใจของคนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อม ความประพฤติที่เป็นความทุจริตหลายอย่างมีท่าทีจะกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปพากันยอมรับ และสมยอมให้กระทำกันได้เป็นธรรมดา สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมัวลงไป เป็นปัญหาใหญ่ที่เหมือนกระแสคลื่นอันไหลบ่าเข้ามาท่วมทั่วไปหมด จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการฝืนคลื่นที่กล่าวนั้น
            ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใด ๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่า ชั่วเสื่อมเราต้องฝืนต้องต้านความคิด และความประพฤติทุกอย่าง ที่รู้สึกว่าขัดต่อธรรมะ เราต้องกล้า และบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่า เป็นความดีเป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ให้ได้จริง ๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้น ๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ"


 

 

ขอบคุณมากค่ะสำหรับความคิดเห็น เป็นประโยชน์มากเลยทีเดียว ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันนะคะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท