จิตตปัญญาเวชศึกษา 156: หว่านเมล็ดพืช หวังผล (แต่อย่ารีบ!)


หว่านเมล็ดพืช หวังผล (แต่อย่ารีบ!)

เคยไหมครับ ที่เราจะพบว่าคำถามๆหนึ่ง วนเวียนเข้ามาในชีวิตของเราต่างกรรม ต่างวาระ เป็นคำถามเดิมๆ แต่เรามักจะมีคำตอบที่แตกต่างกันไป (ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร) ประเด็นอาจจะไม่อยู่ที่คำตอบที่เรามี แต่มันอยู่ที่คำถามมันไม่หายไปไหน และผุดปรากฏมา "ในวาระ" ของมัน

เกือบสามสิบปีมาแล้ว (wow! ไม่น่านับเลยตู!) ผมไปออกค่ายกับชมรมส่งเสริมสาธารณสุขมหิดล ตอนยังละอ่อนตาใสเป็นแบมบี้เขายังไม่งอก ตอนนั้นชมรมแบบนี้ของมหิดลไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่มีภาษา "เอียงๆซ้าย" อยู่เป็นกระสายเสมอ ยุคเพลงเพื่อชีวิต พิราบขาว ดอกไม้ บินหลา ติดอยู่ริมฝีปาก ชายขอบหัวใจ นั่นเป็นความทรงจำครั้งแรกของคำถามที่ว่านี้ปรากฏขึ้นเป็นปฐม

เรานั่งคุยกันท่ามกลางความสลัวและวับแวมของตะเกียงน้ำมันดวงเล็กที่วางอยู่กลางวงบนแคร่ไม้ไผ่ นั่งสนทนายามราตรีกันกลางแจ้งในพื้นที่โรงเรียนกลางป่า เป็นโรงเรียนนอกระบบ หลักสูตรเขียนเอง โรงเรียนก็สร้างเอง ชมรมฯอุตส่าห์หาเจอมาได้อย่างไรไม่ทราบ พวกเราเด็กๆก็ล้อมวงฟังรุ่นพี่พรรณนาถึงสิ่งที่เขาอยากจะได้ อยากจะทำ อยากจะให้เกิด เป็นอุดมคติของคนที่แก่กว่าเราไม่กี่ปี แต่ดูเหมือนเราจะห่างไกลจากพี่เขาเหลือเกินในแง่ประสบการณ์และการได้ใคร่ครวญอะไรในเชิงมหภาค ซึ่งตอนเราเรียนที่เตรียมอุดม เรื่องเหล่่านี้ไม่ได้เฉียดกรายเข้ามาในหัวแม้แต่น้อย

คำ "อยุติธรรม" คำ "เพื่อชีวิตทีี่มีความหมาย" หลุดออกมาในคำพูดบ่อย คำว่า "ต้อง..." ใช้กันแทบทุกประโยค แสดงถึงสถานการณ์อันคับแค้น วิกฤติ ในมุมมองของผู้พูดเป็นอย่างดี "เปลี่ยนแปลง" ดูจะเป็นทางออกเดียวที่จะยอมรับได้ ปฏิรูปดูจะช้าไปไม่ทันใจ มันจะต้อง "ปฏิวัติ" เท่านั้น มิฉะนั้นเราจะไม่มีทางเห็นสัมฤทธิผลที่เราอยากจะได้แน่นอน

พวกเรานั่งๆนอนๆ (ด้วยความ in) ก่ายกันไป ก่ายกันมาบนแคร่ตัวเดียวกันนั้น ได้ยินสิ่งที่ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยคิด ไม่เคยคิดจะคิดด้วย ก็ overwhelm มาก ตอนนั้นเองที่ "คำถาม" มันปริออกมาในหัว

"ทำไมเราต้องเห็นด้วย? ผลที่เราอยาก มันต้องเกิดต่อสายตาของเรา จึงจะนับความเป็นความสำเร็จเท่านั้นหรือ?"

และคิดต่อ

"ถ้าเรา--ไม่รีบจะเห็น-- ในโลกนี้ก็จะไม่มีปฏิวัติ.... มั้ง" เพราะที่จริง "การเปลี่ยนแปลง" นั้นเป็นนิจฺจํ ที่สุดประการหนึ่งแล้ว แต่เพราะเรารีบร้อน การ "เร่งบ่มให้สุก" โดยการเร้าปัจจัยที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ มันเหมือนกับการแกะสลักไม้ด้วยขวาน มันได้เป็นรูปเป็นร่างก็จริง แต่เราคุมน้ำหนักขวานได้ไม่เท่าเราคุมน้ำหนักเครื่องมือแกะสลักที่ประณีต ผลสุดท้ายก็คือ มันมีบิ่น แหว่ง เว้า ขาดบ้าง เกินบ้าง ไม่ได้เหมือนสิ่งที่เราฝันอยากจะได้ในตอนแรก เพียงเพราะ "เรารีบจะดู รีบจะเห็น" เท่านั้นเอง ตกลงมันสำคัญที่ "เรา" หรือสำคัญที่ "ความฝันของเรา" กันแน่?

ตอนนั้นจำได้ว่าหลุดปากถามพี่ผู้กำลังแถลงการณ์ (ไม่ใช่สนทนาซะทีเดียว เพราะพี่แก monopoly การพูดอยู่คนเดียว) ว่่า "เราทำไปเพราะเชื่อว่ามันดี มันจะมีผลในระยะยาว โดยไม่รีบได้ไหมพี่ แม้ว่าจะได้ผลตอนเราตายไป ก็ไม่เห็นเป็นไร?"

พี่ไม่ตอบ (หรือตอบว่าไรไม่รู้ จำไม่ได้ แสดงว่าตอบไม่โดนใจเรา)

นั่นเป็นวาระแรก

หลังจากนั้น พอเข้าปีสอง สาม ของศิริราช องค์ความรู้ทางการแพทย์ก็ท่วมท้นศีรษะความคิดจิตสำนึก ระดับกาแฟในกระแสเลือดก็ค้างเติ่งอยู่ที่ maximum แทบจะ 24/7 เจ้าคำถามนี้ก็จางไป ไม่ออกมากวนอะไรไปพักใหญ่

ก่อนสอบบอร์ดศัลยศาสตร์ ถูกชวนเป็นอาจารย์แพทย์ต่อ ขออนุญาตอาจารย์ไปคิด ถามพ่อแม่ว่าเอาไงดี ได้คำตอบเหมือนเดิมคือแล้วแต่ลูก พ่อแม่สนับสนุนเต็มที่ ยังไงก็ได้ ทั้งๆที่ก็รู้ว่าส่วนหนึ่งท่านอยากจะให้เรากลับไปอยู่ใกล้ๆท่าน แต่เพราะอะไรไม่รู้ อยากเป็นครูมาแต่ไหนแต่ไร...

(หมายเหตุ: จริงๆก็ไม่เชิง ผมมาคิดดูแล้ว ที่อยากจริงๆคืออยากพูดแล้วมีคนฟังมากกว่า เผอิญครูเป็นหนึ่งในอาชีพที่มันใช่)

ก็ไปค้นหา ใคร่ครวญ ว่าเป็นครูเนี่ย มันเป็นยังไง อะไรคือความสำเร็จ ตอนนั้นมันก็ตะหงิดๆอยากเป็นอยู่ แต่ขอใคร่ครวญนิดนึงว่าเราอยากเพราะอะไรหว่า วาระนั้นเองที่คำถามที่หายไปเป็นเวลา 10 ปีเต็มกลับมาโดยไม่ทราบสาเหตุ

"รู้ได้ไงว่าเป็นครูที่ประสบความสำเร็จ?" เงินเดือน? ตำแหน่งวิชาการ? ผลงานตีพิมพ์?..

ง่ายนิดเดียว ก็ต้องถามนิยามของครู ว่าครูคืออะไร? อะไรคือครู?

ครูก็ทำหน้าที่เสริม หล่อเลี้ยง ประคบประหงม ความรู้ ความดี ความงาม ความจริง ให้ลูกศิษย์ น่ะสิ ถ้างั้นตัวกำหนดความสำเร็จ (ทางอ้อม) สงสัยจะไม่ใช่อย่างที่คิดไว้ ถ้าจะดู indirectly ที่ "ลูกศิษย์" รึเปล่า งานของครูเนี่ย? ผลงานของเราก็คือลูกศิษย์นี่เอง ดูช้างดูหาง ดูนางดูแม่ ดูลูกศิษย์ก็คิดถึงครู มันเป็นเช่นนี้เอง

"อืม.... แล้วมันจะสัมฤทธิผลอะไรให้เราได้ "เห็น" จริงๆหรือ?"

ตอนคำถามนี้แว่บเข้ามา มันเหมือนปรากฏการณ์ deja vu เอ... เราเคยถามคำถามนี้มาแล้วนี่หว่า หึ หึ ภาพเก่าๆแทบจะปรากฏออกมาในความจำ (ผมมีความตลกอยู่อย่างหนึ่ง อาจจะเพราะชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ เลยชอบจำอะไรแบบภาพยนต์)

คำตอบตอนนั้น ก็ชัด (ในตอนนั้น) เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงแห่งสมองวิทยาศาสตร์กำลังเฟื่องฟู มันช่างเป็นตรรกะ เป็นเหตุเป็นผลชัดเจนเสียนี่กระไร พอเราเห็น route of success ชัด ก็ตอบตกลง OK สอบบอร์ดเสร็จก็กลับมาสอนต่อ รีบหาประสบการณ์ (อันขาดอยู่มาก) เป็นล่ำเป็นสัน แพทยศาสตรศึกษาเรื่องการประเมินก็ยิ่งเสริมความเชื่อให้มั่นใจ มั่นคงยิ่งขึ้น ตอนนั้นใครโชคดี (หรือโชคร้าย) มาราวน์กับผม ก็จะเจอไฟแรงมาก เพราะกำลังเตรียมตัวสอบ FM-GEM เพื่อจะไปต่ออเมริกา (plan แรก) สอบ GRE (ไม่อยากจะคุย ได้ 1700+ อิ อิ) เพราะ plan จะเรียน Ph.D. (อันนี้เป็นความฝันวัยเด็กเหมือนกัน) แต่จับพลัดจับผลู ดันไปได้เรียนอีกฟากฝั่งของแอตแลนติกแทน

ตอนนั้นไฟตรรกะแรงมาก (เดี๋ยวนี้ต้องเขียนว่า "แร็งงง" จึงจะได้อารมณ์) เข้ากระดานข่าวของ edepot.com มีหมวด inter-religious sections อื้อหือ ถกเถียงกันระหว่างศาสนาต่างๆ พุทธ lineages ต่างๆ atheist กับ theist ฯลฯ ยังจำได้ว่าอหังการ์ลงไปกวนเรื่อง "Any scientific proof of rebirth?" ในกระดานพุทธศาสนา ตามประสาแบมบี้่ (งอกเขาแล้ว)

กลับมาเป็นอาจารย์ (ซะที) หลังจากเรียนมาตลอด 39 ปี ทำงานๆๆไป วัดๆๆเด็กไปคำถามเดิมกลับมาอีกครั้ง (ครั้งหลังนี่ ดูเหมือนจะพอเข้าใจว่า "เขามาทำไม?" ชัดกว่าครั้งก่อนๆ) เนื่องจากว่าตอนนี้ระบบการบริหารกำลังเป็นโรคระบาด เหมือนห่าลงกินทุกวงการ การ declare KPI ผลแห่งความสำเร็จ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเขียนให้เป็น ไม่งั้นโครงการไม่ผ่าน บริหารไม่ออก วัดไม่ได้ (Only thing that is measurable is improvable) แต่ตอนนี้เราช้าลง มีเวลาขบเคี้ยว อม เลีย ละเมียดกับคำถามมากกว่าเดิม (benefit ของการเรียนสูงๆ คือ เราสามารถคิดช้าๆได้ โดยไม่มีใครกล้ามาเร่ง บอกให้คิดเร็วๆ ตอบเร็วๆ เหมือนที่เราเคยทำกับเด็กๆสมัยก่อน)

ยิ่งคิดก็ยิ่งพบว่า ไอ้ที่เราประกาศว่า "เราทำ" แล้วก็ "จึงเกิด" ยังงี้ๆๆ นั้น เรานี้แหมมันช่างอหังการ์ตัวพ่อเลยจริงๆ ทำไมหนอเราจึง claim ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เต็มเสียง ว่านั้นเป็น "ผลงานของเรา" โดยแท้แต่เพียงผู้เดียว?

หลังจากได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่อง outcome mapping ซึ่งเชื่อมโยงกับอิทัปปัจจยตา (เชื่อมเอาเอง ตามประสาครับ) ได้อย่างน่าทึ่ง ในการ identify direct partner + strategic partners เพราะ outcome นั้น ยิ่งเรื่องใหญ่ ที่เกี่ยวกับสังคม เกี่ยวกับคน เกี่ยวกับชีวิต มันไม่มีทางที่จะกำหนดเหตุปัจจัยทั้งหมดให้อยู่ภายใต้การควบคุมของเราเองได้

และเหนืออื่นใด การเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างน้ัน มันมี "จังหวะจะโคน" ของมันเอง ไม่ใช่สิ่งที่เราหรือใครคนใดจะกำหนด คำพูดที่ผมคิดว่า misleading มากที่สุดคำหนึ่งก็คือคำว่า "เรียนจบ" นี่เอง เพราะมันมีที่ไหนกัน เรียนจบ หึ หึ

ในการศึกษานั้น บางเรื่อง กว่าที่เราจะ "เข้าใจ" (ไม่ใช่ "จำได้" นะครับ) มันอาจจะใช้เวลาเกือบทั้งชีวิต (หรือทั้งชีวิต บางเรื่องก็หลายชาติกำเนิด) ไอ้ที่เราสอนๆ นักเรียนเรียนๆ แล้วมาวัดว่า "ได้ผล" กันสามปี สี่ปี ห้าปี หกปี เรากำลังคิดอะไรอยู่กันแน่?

และบัณฑิตที่จบออกไป 1 ปี 2 ปี 3 ปี 10 ปี เราคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของ "ผลงาน" ของเราหรือไม่? คำตอบก็คือ "เป็น" เพราะหลายๆที่มีการให้รางวัล "ศิษย์เก่าดีเด่น" กัน แต่แปลกนะ "ศิษย์เก่าเลวเด่น" ไม่มีใครพูดถึงเท่าไหร่???

ครู อาจารย์ พ่อแม่ สถาบัน ก็กังวลว่า ที่เรารับเด็กมาอยู่กับเราแล้ว เด็ก "จะเป็นยังไง" ก็เพราะยึดมั่นคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากเรา (แต่ถ้าไม่ดี คราวนี้ก็โทษกันอุตลุด) ถ้าคิดแบบนี้ ก็คงจะไม่ต้องสอนศีลธรรม สอนจริยธรรม เพราะเรายังไม่มี evidence-based ว่าสอนแล้วคนจะเป็นคนดี?? (เอ.... หรือว่าเขาเลิกสอนแล้วจริงๆหว่า ผมไม่เคยได้ยินลูกสาวเล่าเรื่องบทเรียนพวกนี้เลยเหมือนกันนะเนี่ย จนจะ ม.1 อยู่แล้ว)

ตอนหลังๆ ทั้งๆที่มีการวัด การประเมิน ระดับ high-tech สูตรสมการมากมาย ผมขอใช้วิธีนั่งคิดใคร่ครวญเอาเองว่า ผมพยายาม "หล่อเลี้ยง" เด็กๆให้เขางดงามตาม styles ของเขาเต็มที่แล้วหรือไม่ เอาเท่านั้นพอ อยากจะวัด ก็วัดกันไป แต่เรามีศรัทธาอยู่ว่าเมล็ดที่เราหว่าน มันไม่ไปไหนเสีย เพราะสมองมนุษย์มีความจุ 200 ปี ไม่มีลืมอะไร สักวันพอบริบทมันใช่ เมล็ดของเรามันจะงอกออกมาตามวาระของมัน หรือถึงมันจะงอกบูดๆเบี้ยวๆ นั่นก็คือสัจจธรรมประการหนึ่ง

คิดอย่างนี้คงจะไม่ผ่าน TQF หึ หึ

หมายเลขบันทึก: 423677เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2011 12:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

เป็นบันทึกเรื่องราวที่ดีครับ มีหลักวิชาการตามรูปแบบของผู้มีการศึกษา ความจริงของสรรพสิ่งอาจไม่เหมือนอย่างที่เราเห็น คิด ประเมิน วิจัย ฯลฯ ครับ "การศึกษาไม่มีที่สิ้นสุดครับ" ขอบคุณ"คุณหมอ"มาก ที่มีบันทึกดีๆแบ่งปันให้เราชาว gotoknow ได้อ่าน

สวัสดีครับคุณครูเฉลิมชัย Ico48

ยินดีที่รู้สึกดีครับและขอบพระคุณที่มาเยี่ยมเยียน อืม.. ยังมีกลิ่นอายหลักวิชาการเหลืออีกหรือครับ พยายามตัดแล้วนะเนี่ย หมู่นี้ไม่ค่อยอยาก "วิชาการ" สักเท่าไหร่ แต่ไม่สำเร็จแฮะ หึ หึ

ขอบพระคุณครับ มอบให้ทั้งภูเขาเลย ดีจัง

อาจารย์คะ การหวังผลแบบรีบๆ บางทีก็เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมรอบข้างด้วยรึเปล่าค่ะ เช่น  เด็กๆ มักจะถูกถามบ่อยๆ ว่า เมื่อไรจะเรียนจบ เมื่อไรจะทำงาน ถ้าเปลี่ยนคำถามว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างน่าจะเป็นคำถามที่ชวนคิดมากกว่า (ในความคิดหนูนะคะ) เมื่อเจอคำถามเร่งให้ออกผลแบบนี้ หากไม่เข้าใจกระแสก็เหมือนได้รับแรงดันมาบอกว่ารีบออกดอกออกผลเร็วๆ นะ

โลกภายในกับโลกภายนอกตัวเรามันติดต่อสื่อสารส่งอิทธิพลให้กันและกันตลอดเวลาครับมะปราง

  • อ่านแล้วคิดถึงคำพูดครูเก่า
  • อย่างมล.ปิ่น
  • บอกว่ากล้วยไม้ ออกดอกช้าฉันใด การศึกษา(สาขาอื่นด้วยไหม)เป็นไปฉันนั้น
  • ดีใจที่เจอครูแพทย์
  • ผมคงไม่ผ่านTQF แบบอาจารย์หมอ แงๆๆ ฮ่าๆๆ

ฮ่า ฮ่า ท่านอาจารย์ขจิต Ico48

ยังไม่ทราบชะตากรรมเหมือนกันว่าต้องทำไหม ไอ้ TQF อะไรเนี่ย เห็นแวบๆเขาว่าเอาไว้คัดคน คัดโปรแกรมที่ไร้คุณภาพออกไป วุ้ย ว้าย! น่าหวาดเสียวจริงๆ KPI จะถึงร้อยข้อไหมเนี่ย หึ หึ

หากสิ่งที่เราทำ จะผลิดอกออกผลมาในอีกร้อยปีให้หลัง ก็จะเป็นไรไป ขอให้มันออกเถอะ จะเร่งปุ๋ย เร่งธรรมชาติกันไปถึงไหน

ขอบคุณข้อคิดดีๆนี้ค่ะ..พ่อแบบ-แม่แบบ ของเด็กๆไม่ได้เกิดแต่เพียงการกำหนดมาตรฐานว่า ต้องเป็นอย่างนั้น..อย่างนี้ จึงจะวิเศษดีเลิศ..แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า แต่ละสถานะการณ์ของชีวิต พวกเขาจะใช้ฐานของจิตสำนึกดีๆ ปรับความสมดุลที่ลงตัวอย่างมีความสุขแก่ตนและผู้อื่นอย่างไร ?..

สวัสดีครับพี่นงนาท Ico48

ข่าวดีก็คือ แม้ว่าเราจะไปเปลี่ยนใครไม่ได้ตรงๆ แต่มนุษย์เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงมากที่สุด และมนุษย์มี common values คือคุณค่าบางอย่างที่เป็นสากลสองสามอย่าง เราเพียงแค่ทำ "สิ่งแวดล้อมจริง" ให้ดีที่สุด เพียงเท่านี้ จะมากจะน้อย คนที่เรารัก เราเป็นห่วง จะเห็น จะเรียนไปอย่างแน่นอน

ที่ยากก็คือ ทำสิ่งแวดล้อมจริงให้ดี นั้น ต้องอาศัย dedicate mind and will พอสมควร แต่ผลที่ได้ ถ้าคุ้ม ก็ไม่มีอะไรที่ยากเกินไป

ลูกชายกำลังเรียนเพาะเมล็ดพันธุ์ดอกไม้

ประสาเด็กรีบร้อน อยากเห็นดอกไม้ไวๆ

ทั้งที่หน้าซองก็อ่านแล้วว่ากี่วัน

แต่ยังดีที่รีบแล้ว ดูแลรดน้ำทุกวัน

..

บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ลูกมา ๑๐ ปี

ใช้ได้ค่ะในเรื่องที่เราฝึกเขาเรื่องในชีวิตประจำวัน

กิจกรรมต่างๆ ที่มีประโยชน์กับเขา

ไม่น่าเชื่อว่า..ผ่านมา ๗-๘ ปีถึงเห็นผลวันนี้

..

ส่วนลูกศิษย์ เราถูกจัดให้สอนคอร์สเดียว

เขาก็ไปต่อไหนต่อไหน ไม่ได้เห็นผลจากมือเราคนเดียว

มาเห็นอีกที..อ้าว..เป็นผู้จัดการธนาคาร..เข้ามาไหว้..ชื่นใจค่ะ

แต่ก็ไม่ได้เจอบ่อยๆ..เมล็ดพันธุ์ลูกศิษย์ที่จบออกไปทำงาน..

 

สวัสดีครับคุณครูกุลมาตา Ico48

เป็น moment of truths จริงๆครับ เวลาเราเห็นลูกหลานกลับมาหา ลูกศิษย์กลับมาเยี่ยม ปู่เห็นหลาน ทวดเห็นเหลน เราจะเห็น "เงาลางๆ" ที่เป็นผลงานของเรา ปะปนกับประสบการณ์อื่นๆอีกมากมาย แต่อย่างน้อย เราก็ได้ท้ิง "ร่องรอย" บางอย่างเหลือไว้บนโลกนี้ แม้ว่าจะไม่สามารถ "claim ทั้งหมด" แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้

บางทีผมก็เรียกว่า "เห็นความเป็นอมตะ" ของเราอยู่ แม้ว่าตัวเราจะจากไปในไม่ช้านี้

สวัสดีคะ ท่านอาจารย์

ทำให้แม่ต้อยก็รำลึกถึงตอนไปออกค่ายเช่นเดียวกัน

แต่การคิดเปลี่ยนในรุ่นนั้น ถึงกับ"ตาย" คาค่ายเลยนะคะ

ระลึกถึงเสมอคะ

 

 

สวัสดีครับแม่ต้อย Ico48

สงสัยผมก็ไม่กล้าเหมือนกันครับ ตอนนั้นยังละอ่อนมาก พี่ๆก็ดูขรึมขลังเปี่ยมอุดมการณ์ พูดอะไรเป็นปรัชญาเกินเราไปหลายลี้ เรียกว่าอยู่ในความรู้สึก in awe แค่ที่ถามไปก็ไม่ทราบว่าหลุดปากถามไปได้อย่างไรแล้ว หึ หึ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท