ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๗๔. ชีวิตที่ไม่สมบูรณ์


ผมตีความว่าคนที่เชื่อในชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ ความเป็นจริงที่ไม่สมบูรณ์ มีชีวิตที่เลื่อนไหลสร้างสรรค์ได้ดีกว่า


          อ่านหนังสือ The Idea of Justice ที่เขียนโดย Amartya Sen แบบเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง   เพราะหนังสือเล่มนี้อ่านยากมาก   แต่ก็ได้แนวคิดเรื่องความสมบูรณ์ หรือความถูกต้องหมดจด   ว่าผมเป็นคนที่ไม่เคยเชื่อเรื่องนี้   รวมทั้งไม่เคยคิดว่าตนเองทำอะไรได้ดีแบบสมบูรณ์   ผมเชื่อว่าที่ทำได้นั้น ดีในระดับหนึ่ง   โดยยังมีโอกาสทำให้ดีกว่าได้เรื่อยไป

          ในบทที่ ๔ เรื่อง Voice and Social Choice  หัวข้อย่อย Social Choice as a Framework for Reasoning   เขียนถึงหลักการ ๗ ข้อ ที่ผมตีความเอาเองว่า เป็นหลักการแห่งการเดินทางของชีวิตผู้คน หรือการเดินทางพัฒนาสังคมก็ได้   ดังต่อไปนี้

     ๑. มุ่งดำเนินการหรือคิดเชิงเปรียบเทียบ มากกว่าดำเนินการตามความเชื่อที่ชัดเจนหยุดนิ่งตายตัว
     ๒. ตระหนักในความจริงว่ามีหลักการหรือทฤษฎีที่แตกต่างหลากหลายและขัดแย้งหรือแข่งขันกัน
     ๓. ยอมให้มี หรือส่งเสริมให้มี การทบทวน (re-examination)
     ๔. ยอมให้มีการแก้ปัญหาเพียงบางส่วนไปก่อน
     ๕. ให้มีความหลากหลายของการดำเนินการและการตีความ
     ๖. เน้นการตีความหาเหตุผล หรือถกเถียงด้วยถ้อยคำที่สร้างความชัดเจน
     ๗. จัดให้มีการประชุมสาธารณะเพื่อทำความเข้าใจ และโต้เถียง

          อ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่า (ไม่ทราบว่าเข้าข้างตัวเองหรือไม่) ตนเองกำลังเดินตามแนวทางนี้   ซึ่งก็คือแนวทางแห่งการเรียนรู้นั่นเอง

          ผมเป็นคนไม่ยึดมั่นในทฤษฎีหนึ่งทฤษฎีใดอย่างตายตัว   ไม่ยึดมั่นในความเชื่อแบบใดแบบหนึ่งอย่างตายตัว   เพราะยิ่งนับวันก็ยิ่งได้พบเห็น ได้ทำความเข้าใจ สิ่งที่ตนไม่รู้ไม่เข้าใจอีกมากมาย   ทำให้ยิ่งนับวันก็ยิ่งเชื่อว่า ในโลกนี้ไม่มีสิ่งที่สัมบูรณ์หรือสมบูรณ์แบบ

          มีคนที่ผมยกย่องนับถือว่าเป็นอัจฉริยะ เรียนหนังสือเก่ง เข้าใจเรื่องต่างๆ ได้เร็วและแม่นยำ  รวมทั้งความจำดีเป็นเลิศ   จึงได้รับเกียรติต่างๆ ในฐานะคนเรียนเก่งเป็นเลิศ   ท่านผู้นี้รังเกียจ (ดูถูก) ความไม่แม่นยำ ไม่ชัดเจน   กล่าวได้ว่าท่านเป็น perfectionist คือไม่ว่าเรื่องอะไรต้องถูกต้องเป๊ะเสมอ   รวมทั้งรังเกียจ (ดูถูก) คนที่มีความไม่แม่นยำในความเข้าใจเรื่องต่างๆ ด้วย   ท่านผู้นี้มีตัวจริง   และเป็นครูสอนชีวิตที่มีค่ามากของผม   ขอเรียกท่านผู้นี้ว่า ท่าน ก   

          ผมใช้ชีวิตของท่านผู้นี้สอนตัวผมเองโดยเปรียบเทียบกับชีวิตของอีกท่านหนึ่ง   ที่ชีวิตการศึกษาด้อยกว่าท่าน ก อย่างเทียบไม่ติด   แต่ก็เก่งระดับที่เรียนจบวิชาชีพที่เรียนยาก ได้  แต่ก็เป็นที่รู้กันว่ามีความแม่นยำไม่ดีเลิศ  หรือบางครั้งมีความคิดที่เกินๆ ขาดๆ   แต่เป็นคนที่อัธยาศัยดี เข้ากับคนง่าย ร่วมมือกับคนง่าย   และชอบทำงานตอบโจทย์ต่างๆ ที่ยังรู้ไม่ชัดเจน   ขอเรียกท่านผู้นี้ว่า ท่าน ข

          เมื่ออายุ ๖๐ ปีเท่ากัน ท่าน ก มีชื่อเสียงในวงจำกัด   และไม่เคยมีผลงานระดับที่สร้างสรรค์สูงเลย   ในขณะที่ ท่าน ข ได้รับการยกย่องและรางวัลต่างๆ สูงสุดเท่าที่นักวิชาการจะพึงได้  

          ผมตีความว่า ท่าน ก อยู่กับความแม่นยำ ถูกต้อง มาตรฐาน   ซึ่งที่จริงไม่มี   ความถูกต้องหรือมาตรฐานมันเลื่อนไหล   ถ้าเราไม่สร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นเอง หรือร่วมวงในการสร้างมาตรฐานใหม่   เราก็จะเป็นคนที่นานๆ ไป อยู่กับมาตรฐานที่ล้าหลัง   และยิ่งกว่านั้น เป็นคนที่ไม่มีผลงานสร้างสรรค์

          ในขณะที่ ท่าน ข แม้ว่าจะรู้จักมาตรฐานเดิมแบบไม่ค่อยแม่นยำ   แต่ก็เชื่อว่าไม่มีมาตรฐานที่หยุดนิ่ง   จึงทำงานแบบร่วมมือกับคนอื่นในการสร้างความรู้ใหม่ๆ   เนื่องจากบุคลิกที่เข้าคนง่าย ไม่เย่อหยิ่งถือตัว   จึงมีความร่วมมือมาก ผลงานมาก

          ผมตีความว่าคนที่เชื่อในชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ ความเป็นจริงที่ไม่สมบูรณ์ มีชีวิตที่เลื่อนไหลสร้างสรรค์ได้ดีกว่า

 

วิจารณ์ พานิช
๒ ม.ค. ๕๔
        

 


 

หมายเลขบันทึก: 423239เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2011 08:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

     กระผมก็มีความเชื่อว่า โดยความเป็นไปของสรรพสิ่งต่างๆที่เราเข้าไปยึดและเกี่ยวข้องในทุกวันนี้ มันคือโลกแห่งความเป็นไปของสรรพที่ ถักทอเป็นสายใยอย่างซับซ้อน หากเราพิจารณาถึงความเป็นไปแห่งสรรพสิ่ง ที่นับวันจะซับซ้อนขึ้น ยิ่งปัญญาของเราส่วนใหญ่ยังไม่มากพอที่จะเห็นความเป็นไป อย่างครอบคลุมแค่ปัญญาระดับสมมุติก็ยังยาก นี่ยังไม่นับปัญญาที่อย่างหนึ่งที่ความเป็นไปแห่งปุถุชนยังเข้าไม่ถึงมันจะมากมายแค่ไหน ธรรมดาของโลกเราในมุมมองกระผม "มันเป็นความจริงที่ไม่สมบูรณ์ และมีความสมบูรณ์ที่ไม่มีอยู่จริง" มันคือความเป็นไปของโลกที่เปลี่ยนไปตามเหตุและปัจจัย ทั้งสถาน ที่เวลา เศรษฐกิจ สังคม ความเชื่อ กฏระเบียบ ความคิด ความอยากและอื่นๆอีกมากมาย โลกจึงต้องการกระบวนทัศน์ที่ไม่สุดโต่งไปในทางเบียดเบียนและเรียนรู้ที่จะพึ่งพา และทำหน้าที่กันโดยธรรม เพื่อให้สังคมโดยรวมสันติสุข

ด้วยความเคารพครับผม

   นิสิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท