การควบคุม การกำกับ การกำกับติดตาม การกำกับดูแล และการกำกับดูแลสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษา ตอนที่ 3


2. วัตถุประสงค์ของการกำกับดูแลสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษา

โดยปกติแล้ว การจัดตั้งองค์การหรือส่วนราชการใด ย่อมมีการระบุอำนาจหน้าที่ขององค์การหรือส่วนราชการนั้นไว้ อำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้พร้อมกับการตั้งองค์การหรือ     ส่วนราชการนั้นจัดเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดซึ่งองค์การหรือส่วนราชการนั้นต้องรับผิดชอบดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จ อำนาจหน้าที่นี้เรียกว่า “ภารกิจหลัก (Mission)” หรือ “ภารกิจที่กำหนดให้ (Assigned Mission)” สำหรับส่วนราชการนั้นจะมีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ เช่นกรณีของกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 40 เกี่ยวกับการส่งเสริมและการกำกับดูแลการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท กำหนดนโยบาย แผนและมาตรฐานการศึกษา สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา ส่งเสริมและประสานงานการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการกีฬาเพื่อการศึกษา รวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

กรณีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับ     ที่ 3) พ.ศ.2542 มาตรา 66 - 67 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ คุ้มครองดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมายโดยจัดสรรงบประมาณหรือบุคลากรให้ตามความจำเป็นและสมควร

สำหรับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นองค์การมหาชนนั้น พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พ.ศ.2543 มาตรา 7 - 8 กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการและดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนที่มีศักยภาพสูงทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มีอำนาจหน้าที่หลักในการดำเนินการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นความเข้มข้นของการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนที่มีศักยภาพสูงทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จัดทำหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน สื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนสำหรับใช้ในสถานศึกษา ดำเนินการและส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา และให้บริการพิเศษทางด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

การกำกับดูแลที่เกิดขึ้นตามบทบัญญัติของกฎหมายก็เพื่อให้องค์การหรือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลได้ปฏิบัติหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การหรือหน่วยงาน และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้บรรลุผล ซึ่งหมายถึงดำเนินการตาม “ภารกิจหลัก”หรือ “ภารกิจที่กำหนดให้” ให้ประสบผลสำเร็จนั่นเอง

นอกจากการกำกับดูแลให้บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว ยังมีการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย สอดคล้องกับนโยบาย และมติคณะรัฐมนตรีอีกด้วย จะเห็นได้จากกรณีการกำกับดูแลองค์การบริหารส่วนตำบล พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 มาตรา 90 กำหนดให้นายอำเภอมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ มาตรา 92 กำหนดวิธีปฏิบัติหากปรากฏว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ให้นายอำเภอดำเนินการสอบสวนโดยเร็ว

กรณีของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พ.ศ.2543 มาตรา 39 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกำกับดูแลการดำเนินการของโรงเรียนให้เป็นไปตามกฎหมายและให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโรงเรียน นโยบายของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับโรงเรียน

สำหรับสถานศึกษาของรัฐในเขตพื้นที่การศึกษานั้น มีภารกิจหลักในการเป็นหน่วยปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาอนุบาลถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายให้กับประชาชนในเขตบริการของสถานศึกษานั้น ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการกำกับดูแลสถานศึกษา ก็คือ การดูแลให้สถานศึกษาทุกแห่งจัดบริการการศึกษาในขอบเขตความรับผิดชอบของตนให้เป็นไปตามนโยบาย กฎ ระเบียบ เกณฑ์ หรือมาตรฐานที่รัฐกำหนด  หรืออาจกล่าวได้ว่าการกำกับดูแลสถานศึกษาเป็นการควบคุม (ด้วยวิธีการเฉพาะ)ให้สถานศึกษาจัดการศึกษาทั่วถึงและมีคุณภาพให้แก่ประชาชนในเขตบริการ รวมทั้งการให้สถานศึกษาบริหารจัดการเป็นไปตามกฎหมาย สอดคล้องกับนโยบาย มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ  กล่าวโดยสรุปการกำกับดูแลสถานศึกษา ก็เพื่อให้การจัดการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาทั่วถึง มีคุณภาพ และทำให้การบริหารและจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

วิพล นาคพันธ์

๒๓ มกราคม ๒๕๕๔

อ่านบันทึก "การควบคุม การกำกับ การกำกับติดตาม การกำกับดูแล และการกำกับดูแลสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษา ตอนที่ 1" ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/wiphon/422745

อ่านบันทึก "การควบคุม การกำกับ การกำกับติดตาม การกำกับดูแล และการกำกับดูแลสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษา ตอนที่ 2" ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/wiphon/422746

อ่านบันทึก "การควบคุม การกำกับ การกำกับติดตาม การกำกับดูแล และการกำกับดูแลสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษา ตอนที่ 4" ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/wiphon/422749

อ่าน "ข่าวสารของวิพล นาคพันธ์" ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/wiphon/toc

หมายเลขบันทึก: 422747เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2011 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท