"Time management" key ของ Self care


หลังจากกลับจากทำงาน คุณเคยรู้สึกบ้างไหม.. รู้สึกเหมือนมีอะไรจะต้องทำตลอดเวลา ทำแล้วไม่ได้ผลอย่างที่หวัง..เหนื่อย...หากใครมีภาวะอย่างนี้

เข้าข่าย Burden  และถ้ามีอาการ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เข้าไปด้วย ก็กำลังจะ Burnout  แล้วคะ

ที่จริงแล้วงานทุกอย่างก่อให้เกิด Burnout ได้  แต่คนทำงาน Palliative care  ดูจะเป็นที่ถูกห่วงใยเป็นพิเศษ อาจเพราะงานต้องเห็นการพลัดพรากอยู่เป็นประจำ..ไหนจะเป็นงานที่เหมือนเส้นแบ่งงานสิ้นสุดไม่รู้อยู่ตรงไหน
ต่างจากการดูผู้ป่วยห้องฉุกเฉิน  ผ่านประตูออก ER ไปก็สำเร็จไปหนึ่งงาน

 

ที่จะบันทึกต่อไปนี้ เป็นข้อคิดที่ได้อาจารย์ Pantilat  ซึ่งเป็นตัวอย่างการดำเนินชีวิต Busy professor   เรียกว่าวันนึง ตารางเวลาแน่นทุกชั่วโมง บางครั้งต้องหอบอาหารเที่ยงจากบ้านมาเข้าประชุม  แต่มีชีวิตสมดุล ดูอาจารย์มีความสุขตลอดเวลา และพร้อมเผื่อแผ่คนรอบข้าง  ครอบครัวน่ารัก(ภรรยาอาจารย์ก็เป็น Attending staff)
ว่าจะปรับสมดุล สร้างเกราะป้องกันตัวจาก Stress และ Burnout อย่างไร

คำตอบคือ  "เมื่อเรารู้สึกว่าควบคุมเวลาของตัวเองได้"  กล่าวสั้นๆ คือ "Time management " นั่นเอง

 

ทำไมมันจึงสำคัญ..เมื่อเราจัดการเวลากับสิ่งที่ประดังประเดเข้ามาในแต่ละวันอย่างดีแล้ว  ก็จะมีเวลาเหลือสำหรับสิ่งต่อไปนี้มีงานวิจัยรองรับว่าลด Professional burden ได้
1. Time  สำหรับ Self reflection

2.Time สำหรับ  Group support

3.Time  สำหรับ Personal life

 

หลักการที่อาจารย์แนะนำ และทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ในการทำงาน ที่ฉันสรุป 3 C คือ

1.Concrete Goal : เป้าหมายที่ชัดเจน วัดได้ ประเมินได้  เพราะจะทำให้เรากำหนดตัวเองได้ว่า ทำถึงไหนที่ "พอ (และ)ดี" จุดที่ยากคือจะจัดการกับ เรื่องที่เข้ามา Interupt อย่างไร ต้องลำดับความสำคัญ
- ถ้าสิ่งนั้นสำคัญมาก  เช่น ญาติผู้ป่วยแสดงความไม่เข้าใจแผนการรักษา ให้จัดการทันที
- ถ้าสิ่งนั้นไม่จำเป็น เช่น คำวิจารณ์ที่ไม่สร้างสรรค์ ลบและลืมมันเสีย รวมถึงการคิดถึงอดีต อนาคตที่เราทำอะไรไม่ได้
- ถ้าก้ำกึ่ง  ให้กำหนดเวลาที่จะจัดการกับมันให้ชัดเจน และทำสิ่งที่ง่ายเสร็จเร็วที่สุดก่อน เพราะ Sens of finish ทำให้เราทำงานถัดไปอย่างมีความสุขขึ้น

บันทึกเกี่ยวกับการใช้ IT จัดการงานเอกสาร ตามหลัก i-POD?

2. Concentrate  :  การกำหนดเวลาทำทีละอย่าง และให้ความสนใจกับสิ่งนั้นเต็มที่
อย่างละไม่เกิน 1 ชั่วโมงสำหรับ paper work , ไม่เกิน 2 ชั่วโมงสำหรับการสนทนาเรื่องงาน หรือการทำข้อตกลง (รวมถึง Family meeting)
ตอนฉันมาใหม่ๆ รู้สึกแปลก ที่ต้องนัดจองชั่วโมงเพื่อเข้าพบอาจารย์ล่วงหน้า 1 สัปดาห์พร้อมหัวข้อที่จะคุย ( Meeting agenda)

..แต่ 1 ชั่วโมงนั้น อาจารย์จะให้ความสำคัญ และตั้งใจฟังเรามากๆ ไม่ว่าจะเรื่องปัญหาการเรียน การทำงานวิจัย
สิ่งที่ได้จากการราวน์  ไปจนถึงคำแนะนำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน  แม้จะพบได้ไม่บ่อยแต่ทุกครั้งที่ได้เข้าพบอาจารย์จึงรู้สึกคุ้มค่าและได้ประโยชน์

3.Colleagues : ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน  แม้ว่าจะอาวุโสน้อยกว่า  หรือเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาก็ตาม เพราะยิ่งเขาภาคภูมิใจในคุณค่างานตัวเองเท่าไหร่  ยิ่งมีศักยภาพ และ งานของผู้บริหารยิ่งเบาลงเท่านั้น เพราะไม่ต้องไปจี้ทุกจุด
หากต้องการให้ใครทำอะไรให้ จะไม่บอก"ให้ทำ"อะไร  แต่จะบอกว่า เรา "ต้องการสิ่งใด" เพราะจริงๆ แล้วเขาอาจมีวิธีการทำที่เหมาะสมกว่าสิ่งที่เราบอกให้ทำก็ได้
เช่น ครั้งหนึ่งขอให้คุณเลขา พิมพ์เอกสารให้  แต่แทนที่จะบอกประมาณ " ช่วยพิมพ์ให้หน่อยได้ไหมคะ" .. ก็บอก " ฉันจำเป็นต้องพิมพ์เอกสารฉบับนี้ คุณช่วยฉันหน่อยได้ไหม"...ปรากฎว่า คุณเลขา จูงมือไปเครื่องพิมพ์และแฟกซ์ พร้อมกับสอนวิธีการใช้อย่างละเอียด..จนอยากพิมพ์เมื่อไหร่ ก็ทำได้ทันที สะดวกมาก

 

ปล.  ที่จริงยังมีตัวอย่าง คนทำงาน Palliative ที่ดูมีความสุขล้นเหลือเผื่อแผ่คนรอบข้างอีกมาก  เช่น พี่กุ้งนาง อาจารย์เต็มศักดิ์  อาจารย์สกล ...(ขออนุญาตกล่าวถึงนะคะ)  หากเป็นไปได้จะเชิญมาแบ่งปัน Tip ทำอย่างไรไม่ให้ Burnout

 

สำหรับผู้เขียน..ยังแก้ปัญหาตัวเองไม่ตก ต้องขอ Bye
ใช้เวลาเขียนครบ 1 ชั่วโมงพอดี ขอไปพัก แล้วเตรียมทำงานต่อก่อนคะ T_T

คำสำคัญ (Tags): #burn out#self care#time management
หมายเลขบันทึก: 422564เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2011 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ ปัทมา

พอดียังไม่หิว เหลือบดูเวลาก็เที่ยงครึ่ง โรงอาหารคงจะแน่นปั๋ง ขอนั่งรอไปกินตอนบ่ายดีกว่า เปิด net มาก็เจอบทความนี้ จะเขียนตอบแต่แรกแล้วล่ะ ก็มาเห็น "พาดพิง" พอดีตอนท้าย หึ หึ

ผมชอบ concept ฝรั่ง (คล้ายๆ supervisor ของผมเหมือนกัน Prof Ben Bradley แต่นั่นเป็น immunologist) ที่ชีวิต หรืออย่่่างน้อย "การจัดการชีวิต" เขานั้น "ชัดเจน" จริงๆ เป็น concrete คือออกมาเป็นภาคปฏิบัติ ทำได้ และรู้ด้วยว่าทำยังไง ด้วยความชัดนี้เอง ทำให้เขามีความเจริญที่ออกมา "ชัดเจน" เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องในแง่วัตถุอย่างเดียว แต่สัมผัสได้ เห็นได้ แน่นอน นี่เป็นวัฒนธรรมอันน่าสรรเสริญและน่าสนใจมาก

มีกับดักเล็กน้อย อยู่ตามเบี้ยบ้ายรายทางของวิธีนี้ เช่น ในเรื่อง concrere goal อันที่สองนั้น ด้วยปรัชญาแห่งความชัด อะไรที่ไม่ชัด ก็จะถูก relegate หรือ demote ไปอยู่หลังๆทันที มากกว่านั้นก็คือ ignore ไม่สนใจ ตัดทิ้งไป แต่บางเรื่องผมยังคิดว่าไม่ว่าจะเป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว อนาคตที่ไม่แน่นอน และของที่พร่าๆ เบลอๆ ถึงแม้มันจะไม่ชัดขึ้นมาได้ แต่ถ้าเราใช้เวลากับมันบ้าง มักจะมีอะไรซ่อนเร้น แฝงอยู่ สุดท้าย แม้จะไม่ชัดขึ้นมา แต่เราก็จะรู้สึก worth our while ในเวลาที่เราได้ใช้ไป

สำหรับตัวผม "ชีวิต" คือ function เป็นการกระทำ เป็นการมีปฏิสัมพันธ์ ทั้งภายในและภายนอก และการได้ "มอง" ปรากฏการณ์เหล่านี้สำหรับผมเป็นการใช้ชีวิตที่เพลิดเพลิน

ดังนั้นมีสององค์ประกอบ คือ เรายัง "ทำ" อยู่ไหม และที่เราได้ทำ เรายัง "มอง" อยู่ไหม ตราบใดที่ทั้งสองประการ สององค์ประกอบยัง flow อยู่ ไม่ว่าจะเป็นงาน หรือเป็นอะไรก็ตาม ผมยัง "มีชีวิตและใช้ชีวิต"​ ที่ OK อยู่

ปรากฏว่าหลักการที่เป็น backup แบบนี้ ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหลายประการ

สิ่งแรกก็คือ เราจำกัดที่เราควบคุมได้ลงมาเหลือแต่สิ่งที่เราพอจะควบคุมได้จริงๆ (แม้ไม่ร้อยเปอร์เซนต์) เพราะว่าเราลดอะไรที่ฟุ่มเฟือย และจะมีปัญหาลงไปได้เยอะ อาทิ การที่คนอื่นจะใช้่ชีวิตอย่างไร คนอื่นๆจะทำอะไร คนอื่นๆจะคิดอย่างไร ถ้าเราเอาภาระเหล่านี้มาแบกเมื่อไหร่ ความมันจะบังเกิดขึ้นทันที

ฟังดูบางคนอาจจะคิดว่าคิดแบบนี้ไม่เหมาะจะเป็นครูอาจารย์นะ เพราะครูจะต้องไปสนใจชีวิตนักเรียนสิ ว่าเขาจะทำ จะคิด จะเชื่อ จะรู้อะไรบ้าง ผมก็ว่าจริงบางส่วนครับ แต่ "สนใจ" นั่นเป็นสิ่งที่ผมทำได้ (และก็ทำอยู่) แต่สุดท้ายแล้วที่เขาจะทำ จะคิด จะเชื่อ นั่นไม่ใช่งานของครูอีกต่อไป เราเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น

ประการที่สอง เราเพิ่มความเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรา "มองหา" ก็เลย "มองเห็น" อันนี้เสริมกับการลงมือกระทำ การมองหา ก็จะเริ่มเห็นสิ่งต่างๆ ความเข้าใจเป็นโอสถที่ดีเลิศสำหรับเยียวยาความทุกข์ได้อย่างน่าประหลาด ทั้งๆที่บางที ความทุกข์มันก็ยังอยู่ แต่พอเราเข้าใจ มันก็ค่อยๆบรรเทาลงไปเอง และที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ทันทีที่เราเริ่ม "มอง" ปรากฏการณ์ เราจะลดความ overwhelm ของความรู้สึกลงอย่าง dramatic ลดความฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด โทสะ อับอาย ฯลฯ มันเหมือนกับสมองส่วน "ปัญญา" ขยายศักยภาพมาดูแลสมองส่วน limbic system ไม่ให้ความรู้สึกมันตื่นเพริด กระเจิดกระเจิงออกไป

บางคนเรียก "มอง" นี้ในศัพท์ต่างๆไป อาทิ ภาวนา นั่งสมาธิ จงกรม ฯลฯ ไม่ขัดข้องครับ อยากจะเรียกอะไรก็เรียกไป

เอาแค่นี้้ เดี๋ยวจะยาวกว่าบทความต้นฉบับ

สวัสดีปีใหม่ครับ

ขอบคุณคะอาจารย์ พอจะสรุปอย่างนี้ได้ไหมคะ

ประการแรก "เอาใจใส่ (เรื่องคนอื่น) แต่ไม่เอามาใส่ใจ"

ประการที่สอง ทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนใช้อารมณ์ตัดสิน

อืม.. ก็ไม่เชิงเสียทีเดียว

ในการใคร่ครวญนั้น เราต้อง "ใส่ใจ" ลงไปพอสมควร จึงจะเกิด passion ซึ่งขอแปลว่า "ฉันทาคติ" อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพียงแต่เราพึงทราบว่ากิจกรรมบางอย่างนั้น สิ่งที่เราทำเป็นเพียงเหตุปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ผลลัพธ์สุดท้าย (ซึ่งเรายังคงสนใจ) เป็นเช่นไร เป็นสิ่งที่เราเองไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะ "ไม่แคร์" เพียงแต่เราจะ "ไม่นำมาเป็นอารมณ์ลบ" ซึ่งเป็นคนละความหมายกัน

ในส่วนที่สอง... ก็ยังไม่เชิงอีกเช่นกัน.. หึ หึ

ในทางปฏิบัติเราไม่อาจจะทำอะไร "ก่อน" อารมณ์ได้ สิ่งที่เราทำได้คือ "เท่าทันอารมณ์" และสุดท้ายสิ่งที่เราทำ ก็ยังเป็นสิ่งที่ "อารมณ์ approve" อยู่ดี แต่เป็นอารมณ์ที่ถูกสติชี้นำ บ้างอาจจะเรียกเป็น positive thinking ก็ได้ คือแม้ว่าอาจจะลำบากกาย ลำบากใจ แต่ก็ทำใจให้เป็นเรื่องบวก เช่น "จะได้เรียนรู้" หรือ "อาจจะมีอะไรดีๆเกิดขึ้น" ซึ่งเป็นเรื่องเจือปนอารมณ์ไม่น้อย

ฉะนั้น "เวทนา" หรืออารมณ์ปรุงแต่ง มันไม่เชิงเลวร้าย แต่พอเราทราบว่ามันปรุงแต่ง จากประสบการณ์เก่าบ้าง จากจิตตอนนั้นบ้าง (กำลังตก หรือกำลังลอย) พอเรา "เท่าทัน" เราก็จะ manage ได้ เท่าทันในที่นี้ก็ยังไม่เชิง "เข้าใจ" คือไม่จำเป็นต้องถึงกับเข้าใจก็ได้ แต่เราสามารถหยุดสังเกต และหักห้ามสิ่งที่จะทำด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ทั้งๆที่ไม่เข้าใจ แต่เราก็สามารถทำอะไรไปไม่สุ่มสี่สุ่มห้า

อาจจะเป็นเพราะเขียนสั้นๆไม่เป็น เพราะผมเขียนสั้นทีไร มันมีช่องว่างช่องโหว่เยอะ รู้สึกมันไม่ค่อยสื่อน่ะครับ

โดน โดนจังจัง ค่ะอาจารย์หมอเเต้ ชอบชอบอ่านบันทึกนี้เเล้วต้องบอกว่าหากใครสามารถทำได้ครบทั้ง 3c เเล้วละก้อรับรองว่า ได้รับความสุขเหลือเเหล่เผื่อเเผ่คนรอบข้างล้นเหลือค่ะ ส่วนตัวเอง เเหม! คงไม่ถึงกับเป็นตัวอย่างที่ดีเท่าไหร่นะคะ เอาเป็นว่าคิดว่าการทำงานpalliative care เป็นวิถีเเห่งบุญ เมื่อใดที่ได้เสพบุญก็รู้สึกอิ่มเอม จึงทำให้มีพลังที่จะทำอะไรในชีวิต ขอบคุณสำหรับบันทึกดีดีบันทึกนี้ค่ะ เมื่อไหร่จะได้กลับเมืองไทยคะ รีบกลับมานะคะ คิดถึงเสมอค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท