วันนี้ได้มีโอกาสเข้าไปร่วม ลปรร ในโครงการ เรื่อง เล่าเร้าพลังสานสายใจใส่สายยางของ PCU ซึ่งได้จัดขึ้นเนื่องจากพบปัญหาการชง BD (Blendera) ให้แก่ผู้ป่วยที่บ้าน
- ผู้เข้าร่วมพูดคุยในวันนี้ ประกอบด้วย แพทย์และพยาบาลจาก PCU / ผู้ช่วยพยาบาลพยาบาลจากหอผู้ป่วย ผู้ตรวจการพยาบาล หัวหน้าหอผู้ป่วย โภชนากร เภสัชกร บรรยากาศเริ่มด้วยพยาบาลจากหน่วย PCU เล่าปัญหาที่พบให้ผู้เข้าร่วม กิจกรรมทราบ พร้อมยกตัวอย่าง Case ผู้ป่วยที่พบให้พวกเราฟัง จำนวน 3 ราย คือ
- รายที่ 1 แพทย์สั่งการรักษาโดยให้ BD 1:1 400 cc x 4 มื้อ เมื่อพยาบาล PCU ไปตรวจเยี่ยม พบว่าผู้ดูแลชง BD ให้ในสัดส่วน 10 ช้อน ต่อน้ำ 400 cc ซึ่งน้อยกว่าปริมาณที่ควรได้รับจริง (ปริมาณที่พยาบาลคำนวณได้คือ 14.5 ช้อน/มื้อ) เมื่อ สอบถาม ผู้ดูแลให้คำตอบว่า โภชนากรของโรงพยาบาล ได้สอนและให้เอกสารแล้ว แต่หาย ข้อมูลที่พยาบาลทางหอผู้ป่วยให้ก็หาย จำไม่ได้ เห็นฉลากหน้าซองของ BD เขียนว่า 8 ช้อนตวง ผสมน้ำ 160 cc x 4 มื้อ ก็จะชงตามนั้น แต่ผู้ดูแลจำได้ว่าเคยชง BD ในน้ำ 400 cc. จึงชง BD 8 ช้อนตวง ในน้ำ 400 cc. พบว่าใสกว่าปกติที่เคยชงให้ จึงเพิ่ม BD อีก 2 ช้อนเป็น 10 ช้อน พบว่า BD มีความเข้มข้นขึ้น จึงชงอย่างนั้นเรื่อยมา พยาบาล PCU ที่พบปัญหาได้คำนวณ BD ตามสูตรที่แพทย์สั่งการรักษา ปรากฎสัดส่วนที่ถูกต้องคือ 14.5 ช้อนตวง ต่อน้ำ 400 cc. จึงอธิบายให้ผู้ดูแลทราบใหม่พร้อมเขียนสัดส่วนของ BD ที่ต้องชงให้ด้วย หลังจากนั้นไม่นาน ผู้ป่วยเริ่มมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น
- รายที่ 2 แพทย์ สั่งการรักษาโดยให้ BD (1.2 : 1) 300 x 4 มื้อ ( สัดส่วนที่ถูกต้องเท่ากับ 12 ช้อนตวง ต่อน้ำ 300 cc./มื้อ ) ใหม่ ๆ เมื่อผู้ป่วยกลับไปถึงบ้าน ผู้ดูแลชง BD ได้ถูกต้อง แต่พอเห็นฉลากที่หน้าซอง BD เขียนว่า 8 ช้อนตวง ผสมน้ำ 160 cc. ผู้ดูแลจึงคิดคำนวณเองโดยเทียบบัญญัติไตรยางศ์ได้สัดส่วนเป็น 14 ช้อน ผสมน้ำ 300 cc. ทำให้ผู้ป่วยได้อาหารเกินความต้องการ จึงพบว่าผู้ป่วยมีน้ำหนักมากเกินไป
- รายที่ 3 ผู้ป่วยเคยได้รับ BD มาตลอด ครั้งสุดท้ายต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ด้วยปัญหาการถ่ายเหลว และปอดอักเสบ เมื่อจำหน่ายทางหอผู้ป่วยไม่ได้ส่งญาติไปเรียน เนื่องจากผู้ป่วยเคยได้ BD ประจำอยู่แล้ว แต่ได้ให้คำแนะนำวิธีการชงกับญาติ (ซึ่งไม่ใช่ผู้ดูแลประจำ) เมื่อกลับถึงบ้านญาติได้อธิบายสัดส่วนการชงตามฉลากที่หน้าซอง BD เขียนว่า 8 ช้อนตวง ผสมน้ำ 160 cc. ผู้ดูแลประจำเห็นแล้วว่าไม่ใช่สัดส่วนที่เคยให้ แต่ไม่เอะใจด้วยคิดว่า แพทย์คงเปลี่ยนสูตรใหม่ให้ผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยถ่ายเหลว จึงทำให้มีการชงตามฉลากหน้าซอง BD เหมือนกัน
สรุป ทุกรายที่พบให้ความสำคัญกับฉลากที่ หน้าซอง BD มากกว่าคำแนะนำหรือเอกสารที่ได้รับ ซึ่งไม่ตรงกับแผนการรักษาของแพทย์
§ หลังจากทราบปัญหาแล้ว พยาบาลที่หอผู้ป่วยก็ให้ความคิดเห็นว่า........ทำไมผู้ดูแลไม่โทรศัพท์มาถามนะ ในเมื่อเราก็ให้เบอร์โทรศัพท์ไปกับผู้ดูแลแล้ว........... โภชนากรเห็นด้วย พร้อมบอกว่า ทางโภชนากรก็ให้เบอร์โทรศัพท์ของตนไปด้วยเช่นกัน
******ก็เพราะผู้ดูแลไม่ทราบนะซิว่าตนเข้าใจผิด.....โดยทั่วไปแล้วหน้าซองยา คือ การบอกวิธีรับประทานของผู้ป่วย ถ้าเป็นอย่างนี้ เขาจะโทรศัพท์หาเราทำไม
§ ถ้าอย่างนั้น เราต้องขอความร่วมมือจากแพทย์ล่ะซิว่า หลังจาก order สูตร BD แล้ว ขอช่วยท่านคำนวณสัดส่วน การชง BD ตามสูตรที่สั่ง ด้วย
******ต้องคิดก่อนว่า การที่เราจะขอความร่วมมือจากแพทย์มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ในเมื่อปัจจุบันนี้ลำพังเฉพาะให้ท่านตรวจยังไม่ทันเลย ถ้าเราจะขอช่วยโภชนากรคำนวณให้ โดยดูข้อมูลเดิมว่า ส่วนใหญ่แพทย์สั่ง BD สูตรอะไรมาก แล้วนำสูตรนั้นมาคำนวณเพื่อประสานงานกับเภสัชกร/เจ้าหน้าที่หน่วยคอมพิวเตอร์เพื่อปรับโปรแกรมการสั่ง BD จะดีกว่าหรือไม่
******ได้เลยค่ะพี่ ส่วนใหญ่แพทย์จะสั่งประมาณ 4 สูตร คือ BD 1 : 1 , 1.2 :1………….นอกนั้นก็จะมีรายละเอียดอีกเยอะ เช่น เพิ่มโปรตีน
******พวกที่มีรายละเอียด เราทำแบบเดียวกับการสั่งอาหารเฉพาะโรคได้มั้ย แยกต่างหากเพื่อให้แพทย์เติม.......ได้ค่ะพี่
******จังหวะเดียวกัน เภสัชกรก็ตอบว่า “ถ้าอย่างนั้น โภชนากรคำนวณสูตรต่างๆได้แล้ว นำมาให้หนูได้เลยค่ะ หนูจะประสานงานกับหน่วยคอมฯเอง เมื่อเสร็จแล้วเราสามารถแจ้งเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินการได้เลยโดยผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์”......ดีเลย ถ้าอย่างนั้นทุกฝ่ายก็เริ่มดำเนินการ
****** “พี่ค่ะ”โภชนากรกล่าวต่อ “หนูคิดว่า หนูจะปรับการให้บริการของงานโภชนาการใหม่ หลังจากหนูสอนผู้ดูแลเสร็จแล้ว อีกประมาณ 3 วัน หนูจะโทรศัพท์ติดตามผลว่าเขามีปัญหาหรือไม่” ......... “ดีเลยค่ะ เป็นการทำงานเชิงรุก แทนการตั้งรับ (รอให้เขาถาม) หากว่าหนูติดตามแล้วพบว่ามีปัญหา อย่าลืมแจ้ง PCU ด้วยนะคะ เพื่อทาง PCU จะได้ตามไปเยี่ยมบ้าน….. “ได้ค่ะพี่”
******“พี่ค่ะ” ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถาม “ถ้าไม่ใช่ case 30 บาท หากโภชนากรติดตามพบจะให้แจ้งใครคะ”.......... “ อ้อ ก็แจ้งโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้านซิคะ เดี๋ยวพี่จะนำรายชื่อหน่วยงานต่างๆให้น้องว่าหมู่บ้านไหนมีโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใดบ้าง แล้วน้องก็สื่อสารให้เขาทราบด้วยวิธีไหนก็ได้ ดีมั้ยคะ”
****** “ สำหรับ PCU พี่ขอว่า หากต่อไปน้องพบปัญหาอะไรก็แล้วแต่ ขอน้องช่วยแจ้งให้ทางหอผู้ป่วยทราบด้วยจะดีมั้ยคะ เพื่อทางหอผู้ป่วยจะได้ทราบปัญหาและนำไปหาโอกาสพัฒนาต่อไป ขณะเดียวกันน้องก็รวบรวมปัญหาทั้งหมดในแต่ละช่วงเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เหมือนอย่างวันนี้ด้วย”...... “ดีค่ะพี่”
****** “พี่ครับ” แพทย์กล่าว ผมเห็นด้วยกับการ feedback ให้ทางหอผู้ป่วย แล้วผมจะพัฒนาส่วนนี้ให้เข้าไปอยู่ในคอมพิวเตอร์ เพื่อสะดวกต่อการติดตามผลและข้อมูลคงอยู่”...... “ดีเลยค่ะ ขอบคุณอาจารย์มากนะคะ”
สรุปแนวทางแก้ไข
§ ให้ทางโภชนากรคำนวณสูตร BD ที่แพทย์ใช้ในการรักษามากที่สุด ออกมาเป็นจำนวนช้อนตวง กรณีแพทย์ต้องการ BD เฉพาะโรค ให้พิมพ์แยกต่างหาก
§ โภชนากรส่งสูตรที่คำนวณได้ให้ทางเภสัชกร เพื่อประสานกับทางคอมพิวเตอร์ในการปรับโปรแกรมใหม่
§ เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยควรได้ประสานงานกับทางโภชนาการเพื่อทราบข้อมูลรายละเอียดของ BD สำหรับการเน้น แนะนำผู้ป่วยก่อนกลับบ้าน
§ ทางพยาบาล PCU เมื่อตรวจเยี่ยมผู้ป่วยแล้ว พบปัญหา จะมีการแจ้งกลับให้หอผู้ป่วยทราบ
§ โภชนากร จะมีการปรับการให้บริการ โดยเพิ่มระบบการติดตามเยี่ยมผู้ป่วยทางโทรศัพท์ เพื่อทราบปัญหาและให้คำแนะนำ พร้อมทั้งแจ้ง Case ที่มีปัญหาให้ทาง PCU ทราบ ส่วนกรณี Case ที่ไม่ใช่ผู้ป่วย 30 บาท หากพบปัญหาจะมีการส่ง Case ให้โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้านช่วยติดตามเยี่ยมบ้านให้