ความรู้และปัญญาสร้างสรรค์รวมหมู่ : ปรากฏการณ์ที่จะพบและสร้างขึ้นได้เฉพาะในวิจัยแบบ PAR


เมื่อเกือบ ๓๐ ปีมาแล้วในขณะเป็นนักเรียนศิลปะของโรงเรียนเพาะช่างและเป็นยุคก่อนที่จะมีน้ำยาลบขาวซึ่งต่อมาเรียกว่า น้ำกระดาษ หรือ กระดาษน้ำ-ลิควิตเปเป้อร์-Liquid Paper ผู้เขียนได้ตกเป็นกลุ่มตัวอย่างให้การสัมภาษณ์ของทีมเก็บข้อมูลรับทำวิจัยและพัฒนาน้ำยาลบขาวในขณะที่นั่งกินข้าวในโรงอาหารของโรงเรียนเพาะช่างกับเพื่อนๆ

การวิจัยดังกล่าวเป็นการวิจัยเชิงทดลองและสำรวจ เครื่องมือวิจัยเป็นตัวอย่างน้ำยาลบขาวซึ่งในเวลานั้นยังใช้พู่กันป้ายและกระดาษสีขาวสำหรับพิมพ์ดีดแบบทั่วไป ข้อมูลที่ต้องการคือทรรศนะของผู้ใช้และข้อคิดเห็น โดยเฉพาะของคนทำงานศิลปะ เพื่อวิเคราะห์และปรับปรุงคุณภาพของนวัตกรรมใหม่ที่จะเข้ามาแทนยางลบในยุคนั้น วิธีเก็บข้อมูลใช้แบบสัมภาษณ์และการทดลองใช้ โดยต้องการคำตอบบนข้อตกลงเบื้องต้นว่าหากใช้น้ำยาลบขาวแล้วผู้ใช้จะมีความเห็นอย่างไร

การสัมภาษณ์ส่วนแรกก็ให้ตอบคำถามว่าปัญหาทั่วไปของการใช้ยางลบและการลบงานขีดเขียน ตลอดจนงานพิมพ์แบบต่างๆบนกระดาษนั้น ผมมีความเห็นดังคำถามที่พนักงานเก็บข้อมูลจะอ่านคำถามของนักวิจัยตามประเด็นต่างๆว่าอย่างไร พอทราบว่าเป็นเรื่องอะไรผมก็พยายามชี้แจงว่าผมเรียนศิลปะ อีกทั้งเป็นสาขาจิตรกรรมสากลซึ่งน่าจะเป็นสาขาที่คุ้นเคยและเชี่ยวชาญกับเรื่องกระดาษกับเครื่องมือขีดเขียนมากที่สุดอีกด้วย

แต่นักเรียนศิลปะและโดยเฉพาะสาขาที่เน้นการวาดรูปอย่างที่ผมเรียนนั้น เขากลับเน้นการพัฒนาทักษะที่จะไม่ลบ บางเทคนิคนั้น เช่น การเขียนสีน้ำนั้น เรื่องการลบและการใช้สีขาวดึงแสงเงาให้เด่นอย่างที่ทีมวิจัยกำลังจะสัมภาษณ์ผมนั้น ลืมไปได้เลย เพราะงานศิลปะเขาใช้การเว้นในสิ่งที่ไม่ต้องการ ไม่ใช่ทำไปก่อนแล้วลบออก กระนั้นก็ตาม หากมีการปฏิบัติไปแล้วและต้องการเปลี่ยนแปลง ดังเช่นในเทคนิคสื่อสีน้ำมัน สีฝุ่น และสีโปสเตอร์ ก็จะไม่เน้นการลบอีกเช่นกัน เพราะจะใช้วิธีเขียนให้องค์ประกอบจัดวางสีสันแสงเงาต่างๆให้ลงตัวไปได้ทั้งหมด เน้นฝึกทักษะวางแผน ทำงานแก้ปัญหาให้ลงตัวในหัว และความแม่นยำในการคิดเป็นภาพ

หากใช้วิธีอธิบายแบบโธมัส คูน(Thomas Kuhn) นักประวัติศาสตร์พัฒนาการวิทยาศาสตร์ของโลกที่นำเสนอทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงระดับกระบวนทรรศน์ (Paradigm Shift) เพื่ออธิบายคลื่นความเปลี่ยนแปลงได้ยาวกว่าทฤษฎีคลื่นความเปลี่ยนแปลงคอนดร้าเตียฟของนักวิชาการรัสเซีย อีกทั้งมีพลังอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมของมนุษย์ได้ดีกว่าทฤษฎีวิวัฒนาการ ของ ชาร์ล ดาวิน แล้วละก็ ก็ต้องกล่าวว่า การลบและการใช้สีขาวเพื่อลบชิ้นงานศิลปะในยุคนั้น ไม่อยู่ในกระบวนทัศน์และกรอบวิธีคิดของการทำงานศิลปะเอาเสียเลย อย่าให้ตอบเลย เพราะไม่มีประสบการณ์ที่จะตอบ และขอแนะนำให้ไปเดินสัมภาษณ์ในสาขาอื่นที่พอจะมีการทำงานในลักษณะที่ต้องการอยู่บ้าง แต่พนักงานเก็บข้อมูลก็ขอร้องผมว่าให้นึกย้อนกลับไปตอนเด็กๆ เลยยิ่งไปกันใหญ่ เพราะการเรียนชั้นประถมต้นของผมนั้น ผมใช้กระดานชะนวนและลบด้วยน้ำกับเศษผ้าชิ้นเล็กๆ ต่อมายุคเริ่มใช้กระดาษ ก็ใช้ยางวงมัดก้นดินสอ และนิ้วจิ้มน้ำลาย ทำไมต้องให้ผมจินตนาการไกลขนาดนั้น มันจะเป็นข้อมูลที่ดีได้อย่างไร แต่เขาก็ขอร้องเพราะเป็นการทำงาน ที่สุดก็ต้องนั่งตอบแบบสัมภาษณ์ไปด้วยความอึดอัดและขัดแย้งอยู่ในใจตลอดเวลา แต่ก็พออดทนให้ความร่วมมือไปได้

หลังตอบส่วนแรกแล้วก็เป็นส่วนที่สอง แต่ก่อนตอบก็เป็นการทดลองให้ใช้น้ำยาตัวอย่างป้ายบนกระดาษ ซึ่งแห้งเร็วและกลายเป็นสีกลมกลืนกับสีเดิมของตัวอย่างกระดาษที่นำมาเป็นเครื่องมือการวิจัยด้วย จากนั้น ก็ถามว่ากระดาษที่ลบแล้วเป็นอย่างไร ผมก็บอกว่ามันเป็นคลื่น กระดาษที่ผิวสะดุดเป็นคลื่นอย่างนี้แม้เพียงเล็กน้อยก็ต้องทิ้งหรือเปลี่ยนเอาไปทำงานอย่างอื่น ไม่เหมาะสำหรับนำมาวาดรูป

พนักงานเก็บข้อมูลก็กำชับว่าไม่ได้ให้ดูที่ความเรียบหรือความขรุขระของกระดาษแต่ให้ดูที่สีของหมึกขาวที่ป้ายลงไปว่ากลมกลืนกับกระดาษมากน้อยเพียงใด อีกทั้งอย่านึกถึงกระดาษวาดรูป ให้นึกถึงกระดาษพิมพ์ดีด ผมตอบไปว่ากลมกลืนดี แต่ในใจก็รู้สึกกดดันมากว่าการวิจัยนี้มีคำตอบให้ตัวเองอยู่แล้วว่าจะต้องเป็นอย่างไร จะคิดและพูดไปทางอื่นไม่ได้หรือไม่เป็นสิ่งที่สนใจ ต้องกำกับและตีกรอบให้พูดอย่างที่ตนเองต้องการเหมือนเพียงทำพิธีให้เป็นการพูดผ่านคนอื่นเพื่อให้เป็นหลักฐานตอบสนองความคิดตนเองแต่ให้ความรับผิดชอบของผู้อื่นมาช่วยกันตนเองให้มีระยะห่างออกไปเท่านั้น อีกทั้งรู้ดีกว่าผมเสียอีกว่าจะต้องตอบอย่างไร มองอย่างวิธีคิดของ มิเชล ฟูโกต์ ก็ต้องกล่าวว่าวิธีการอย่างนี้เป็นเหตุผลทางการเมืองมากกว่าจะเป็นเหตุผลทางวิชาการ

พอเสร็จส่วนที่สองและถามส่วนที่สามก็ยิ่งสนุกกันไปใหญ่ เพราะเมื่อผ่านการทดลองใช้แล้ว ก็เป็นแบบสัมภาษณ์ส่วนของการประเมินความพอใจ โดยถามเกี่ยวกับว่า พอใจมากน้อยเพียงใด หากทำออกมาขายจะใช้หรือไม่ รอบแรกก็ตอบไปตามความเป็นจริงคือ ไม่ใช้ ไม่พอใจ เพราะคนศิลปะไม่ได้ถูกสอนให้ลบและแก้ไข แต่ถูกสอนและฝึกฝนตนเองให้มีความแม่นยำ อ่านสิ่งที่จะเขียนให้ขาดและทำงานตรวจสอบก่อนทำจริงไปหลายรอบนับแต่การทำงานในหัว การเสก๊ตช์ การทำงานสตั๊ดดี้ การทำโมเดลและปรับปรุงแก้ไขเป็นทีมกับครูอาจารย์และการติชมของผู้ชมกลุ่มต่างๆ การลบไม่อยู่ในสารบบวิธีคิดเอาเสียเลย ตรงกันข้าม การใช้ยางลบกับสีขาวกลับเป็นสัญลักษณ์ของการทำงานความคิดที่ไม่ลงตัวและแก้ปัญหาเปลี่ยนสิ่งที่จะต้องลบให้เป็นความสร้างสรรค์อย่างไม่ต้องลบทิ้งไม่ได้ แต่ในที่สุดก็ต้องกลับไปสมมุติตนเองให้เป็นผู้ใช้ ผมก็เลยต้องแก้ปัญหาโดยตอบว่าไม่ทราบไปทุกข้อ

ต่อมาเมื่อทำงาน ผมก็สังเกตเห็นหลายครั้งว่า หากให้นักศึกษา กลุ่มผู้ให้ข้อมูลการวิจัย หรือกลุ่มผู้เข้าอบรมตอบแบบสอบถามเป็นรายบุคคลแล้วประมวลข้อมูลให้อภิปรายหาข้อสรุป จากนั้นก็เก็บข้อมูลมาวิเคราะห์และแปรผลด้วยนักวิจัย กับการให้ประเด็นที่เหมือนกันหรือคล้ายกัน แต่ให้ระดมความคิดและอภิปรายสร้างบทสรุปเป็นกลุ่มร่วมกันบทเวที จากนั้น ก็เก็บรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ ทั้งสองวิธีนี้ จะให้ข้อมูลและบทสรุปขั้นต้นที่มีความแตกต่างกัน เมื่อนำเอาวิธีการสองแบบดังกล่าวนี้ให้นักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกทำเป็นกิจกรรมการศึกษาเรียนรู้แล้วอภิปรายกัน ก็มักให้ผลที่แตกต่างกันออกมาเช่นกัน

ผมนำเอาข้อสังเกตและความสงสัยใคร่รู้หลายอย่างเหล่านี้มาทบทวน ศึกษาค้นคว้าและตรวจสอบกับรายงานวิจัยเพื่อได้ความเข้าใจและหาวิธีอธิบายที่เหมาะสมให้ได้อยู่นานพอสมควร แต่ก็ได้พบสิ่งที่ต้องการมากมาย โดยประมาณปี ๒๕๓๐ ก็ได้อ่านงานของ ฟริตจ๊อป คาปร้า (Fritjoff Kapra) ในงาน Turning Point ทั้งต้นฉบับการพิมพ์ของเขาและที่แปลเป็นไทยโดยพระคุณเจ้าพระไพศาล วิสาโล ว่า จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ และงานของกลุ่มทฤษฎีเกสตัลต์ (Gestalt Theory) โดยเฉพาะ เคิร์ต เลวิน (Kurt Lewin) ซึ่งเป็นงานแนวจิตวิทยาแนวมนุษยนิยมและวิทยาศาสตร์สังคมของโลกฝ่ายเสรีนิยม ก็ได้เค้าโครงวิธีคิดและเห็นแนวจำแนกได้อย่างชัดเจนเด็ดขาดว่า 'ผลจากองค์รวมความเป็นทั้งหมดของสิ่งต่างๆนั้น ไม่ใช่เพียงผลรวมจากการนำเอาส่วนย่อยของสิ่งนั้นมารวมกัน'

ต่อมาอีกนับสิบปีกระทั่งถึงทุกวันนี้ ก็ทำให้ผู้เขียนต้องกลับไปศึกษางานในแนวบูรณาการและข้ามศาสตร์ ข้ามพรมแดนความแยกส่วน นับแต่ว่าด้วยกายกับจิตใจ วัตถุกับจิตใจ รูปธรรมและนามธรรม พื้นที่กับรูปทรงและความว่าง สถานที่และอวกาศ การแสดงตนทางวัตถุวิสัยและการให้ความหมายไปตามบริบท รวมทั้งแนวคิดกับการปฏิบัติ และความรู้กับปรากฏการณ์ทางสังคม

แล้วทั้งหมดก็พบว่าสิ่งที่ได้กล่าวถึงในข้างต้นนั้นสะท้อนอยู่ในงานแนวที่มุ่งศึกษาการเรียนรู้เพื่อรวมตัวกันสร้างระบบสังคมและพัฒนาชุมชนการจัดการตนเองแบบต่างๆของปัจเจกในบริบทใหม่ๆหลังยุคสังคมเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมที่มีคำสำคัญเหล่านี้อยู่คือ Collective, Community-Based, Collaboration, Participation, Group Practice เป็นอาทิ ทั้งการวิจัย กระบวนการเรียนรู้ การปฏิบัติการเชิงสังคม การทำงานศิลปะ ตลอดจนปรากฏารณ์ต่างๆที่มีคนและปัจจัยเชิงสังคมวัฒนธรรมเข้าไปเป็นองค์ประกอบ

ความรู้สาธารณะและภูมิปัญญาสร้างสรรค์แบบรวมหมู่

สิ่งที่เป็นการอธิบายและชี้ให้เห็นธรรมชาติของความรู้ในโลกความเป็นจริงบางประการว่า การคิดและสร้างความคิดเห็น ตลอดจนการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆแม้เป็นเรื่องส่วนรวมเรื่องเดียวกัน แต่ผลการวิเคราะห์และข้อสรุปจากการให้กลุ่มผู้ให้ข้อมูลตอบเป็นรายบุคคล กับตอบแบบระดมความคิดเป็นกลุ่มด้วยสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในการจัดการที่แตกต่างกัน จะให้ผลออกมาไม่เหมือนกัน อีกทั้งปัจจัยแวดล้อม สถานที่ และบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ก็ส่งผลให้การตอบและผลการวิเคราะห์ข้อมูลออกมาไม่เหมือนกัน เช่น การตอบและให้ข้อมูลเรื่องน้ำท่วมเป็นรายบุคคลกับเป็นกลุ่ม กับการตอบแบบสัมภาษณ์และการระดมสร้างคำตอบเป็นกลุ่ม ในหน้าแล้งกับหน้าฝนและมีน้ำท่วม เหล่านี้ การให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงอาจจะออกมาแตกต่างกัน เพราะเมื่อพิจารณาผลการให้ข้อมูลและการสนองตอบต่อประเด็นคำถามในฐานะเป็นปรากฏการณ์นั้น การคิดและตอบให้ข้อมูลการวิจัยคนเดียว จะขาดองค์ประกอบของสถานการณ์ความเป็นจริงทางสังคมและความเป็นชุมชนไปถึง ๒ มิติคือ ภาวะความสมดุลของการปฏิบัติให้สอดคล้องกับการรู้จักตนเองและการรู้จักคนรอบข้าง กับภาวะความสมดุลของการปฏิบัติตามความคาดหวังของปัจเจกกับความรู้ ความเชื่อ และการยอมรับกรอบปฏิบัติของสังคมและชุมชนระดับต่างๆ

ตัวอย่างเช่น เมื่อคิดคนเดียวในนามตนเองและอิสระออกจากสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องหรือแยกออกจากบริบทความเป็นจริงของสังคม ปัจเจก ครอบครัว และประชาชนที่เป็นสมาชิกของสังคมที่มีทรรศนะต่อการศึกษาเรียนรู้ ก็มักจะไม่เห็นด้วยกับการเล่นเส้นสายให้ลูกหลานและเด็กๆเข้าโรงเรียน ไม่เห็นด้วยกับโรงเรียนกวดวิชา ไม่เห็นด้วยกับการจัดการศึกษาแบบแยกส่วนและเรียนเข้มข้นเพียงวิชาที่ใช้แข่งขันเพื่อการศึกษาและทำงานที่ได้เปรียบผู้อื่น ไม่เห็นด้วยกับสถานศึกษาที่พัฒนาตนเองไม่เด่นดังระดับประเทศ ระดับนานาชาติ และระดับโลก และอีกมากมาย

ทว่า เมื่อต้องปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้เพื่อลูกหลานตนเอง และเมื่อตนเองต้องเข้าไปเกี่ยวข้องผูกพัน ก็จะพบความเป็นจริงไปอีกแบบ เช่น ผู้ที่ให้ทรรศนะในลักษณะดังกล่าวที่สุดก็ส่งลูกหลานเรียนกวดวิชาแทบทุกคน ยิ่งไปกว่านั้นก็มุ่งแข่งขันมากที่สุดในการส่งลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ เรียนโรงเรียนนานาชาติ เรียนต่างประเทศ ยอมเสียเงินทองเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนโรงเรียนและให้ได้เข้าเรียนโรงเรียนที่ดีที่สุดของจังหวัด ของประเทศ และของโลก อีกทั้งหากเมื่อเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงและพบว่าไปไม่ไหว เมื่อเป็นลูกหลานของเราเอง ก็จะยอมรับความเป็นจริง เพียงขอให้เป็นคนดีและพอพึ่งตนเองได้ อยากได้โรงเรียนและหน่วยงานสาธารณะที่ปฏิบัติต่อตนเองและลูกหลานแบบเห็นอกเห็นใจถ้อยทีถ้อยอาศัย แท้จริงแล้วกลับไม่ได้ต้องการสิ่งที่ระบุเมื่อคิดคนเดียวและแสดงออกเมื่ออิสระออกจากสถานการณ์นั้นๆ

หากเราเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะคนเดียวกับหลายคน ก็จะปรากฏผลทางการปฏิบัติแตกต่างกัน ในงานวิจัยปรากฏการณ์ทางสังคมและการวิเคราะห์พฤติกรรมความเป็นองค์กรเป็นจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ ต่างก็บ่งชี้ว่าไปในแนวเดียวกันว่า เมื่อปัจเจกรวมกลุ่มกันมากกว่า ๒ คนขึ้นไปนั้น สภาวะความเป็นชุมชนและความเป็นสาธารณะจะก่อเกิด พร้อมกับภาวะผู้นำแบบเอกเทศและสิ่งที่เคยปรากฏทางการปฏิบัติบนความเป็นปัจเจกจะสูญเสียหรือลดลงไป ดังนั้น ความรู้สาธารณะและภูมิปัญญาความสร้างสรรค์แบบรวมหมู่ จึงเป็นการทำงานความรู้คนละชนิดและคนละระดับกับความรู้ที่ค้นพบในระดับปัจเจกหรือจากผลรวมที่ให้ปัจเจกให้ข้อมูลรายบุคคลในสถานการณ์ที่ขาดมิติความเป็นกลุ่มก้อนและชุมชน

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาความมีจิตสาธารณะในแง่ที่เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะ สร้างปัจเจกภาพและพัฒนาการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของพลเมือง ตลอดจนการปฏิบัติการทางสังคมเป็นกลุ่มก้อนหรือเป็นชุมชน บนกระบวนการวิจัยแบบ PAR จึงมีนัยสำคัญต่อการเป็นวิธีการทางความรู้ที่บูรณาการอย่างกลมกลืนไปกับการเกิดปรากฏการณ์ทางสังคม ทำให้เกิดมิติความเป็นสาธารณะ พลังความสามัคคีและการรวมหมู่ และมิติความเป็นชุมชน(Communityness) ที่จะเข้าถึงและสัมผัสได้ในสถานการณ์จำเพาะของการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมหรือการวิจัยแบบ PAR เท่านั้น 

ประเด็นส่วนรวมหลายแบบ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการอยู่ร่วมกันบนฐานทรัพยากรและในเงื่อนไขแวดล้อมที่จำเป็นร่วมกันแบบต่างๆ จำเป็นมากที่จะต้องใช้วิถีความรู้และวิธีวิจัยปฏิบัติการเชิงสังคมแบบนี้.

หมายเลขบันทึก: 422073เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2011 12:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

ได้มีโอกาสเข้ามาอ่านบันทึกดี ๆ เช่นนี้ ไม่ผิดหวังเลยค่ะ

นอกจากได้ความรู้เกี่ยวกับการวิจัยแบบ PAR แล้ว ยังไ้ด้ทราบถึงประวัติศาสตร์ของการทำน้ำยาแต้มสีขาว ซึ่งในรุ่นหลัง ๆ นี้ กลายเป็นของใช้จำเป็นไปแล้วค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

(^__^)

สวัสดีครับคุณคนไม่มีราก
เดี๋ยวนี้ผมก็ใช้ครับ อีกทั้งเดี๋ยวนี้เขาทำเป็นปากกาหมึกขาวที่ใช้ได้ทั้งเขียนรูปและเขียนหนังสืออีกด้วย
ทำไมผมจึงรู้สึกเหมือนกับมีใครเคยบอกผมว่าคุณคนไม่มีรากกำลังไปทำปริญญาเอกอยู่ที่จุฬาฯเลยนะครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ดิฉันมีโอกาสไปเที่ยวหนองบัว ต.ห้วยถั่วใต้

เป็นบ้านของน้องที่ทำงานด้วยกัน

ไปชมเขาวิดสระจับปลา คุยกับชาวนา คุยถึงเกษตรอินทรีย์

ชาวนาบอกว่า ถ้ามัวทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ได้กินหรอก/ไม่ได้เงินด้วย

และเสียเวลา เขาทำนาเป็นร้อย ๆ ไร่ค่ะ

สวัสดีครับคุณ nana ครับ

ตามประสบการณ์และฐานชีวิตของเขาก็คงจะเป็นความจริงอยู่มากนะครับ วงจรเศรษฐกิจของการทำนาและการทำเกษตรนั้น ขั้นตอนผลิตที่อยู่ในมือของชาวนาและเกษตรกรนั้นเล็กน้อยมากในระบบและวงจรการผลิตครับ เกษตรกรและชาวนารายย่อยทำเกษตรอินทรีย์คนเดียวโดยไม่มีการจัดการอย่างอื่นให้เป็นระบบ อีกทั้งกลไกและการสนับสนุนอื่นๆทั้งของภาครัฐและเอกชนไม่เข้าไปเสริมกัน ก็เชื่อว่าไปไม่ไหวหรอกครับ

ที่บ้านแม่ผมและบ้านผมเองนั้น ปลูกผัก ผลไม้ ปลอดสารพิษ กินเอง และพึ่งตนเองได้มากขึ้นเรื่อยๆครับ แต่ก็ต้องใช้เวลานาน อีกทั้งพื้นฐานชีวิตของเราแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน จะให้คนอื่นๆทำตามอย่างก็คงไม่ได้ ทำเพื่อช่วยกันให้เรียนรู้และพึ่งตนเองในการแก้ปัญหาต่างๆที่ดีได้ด้วยตนเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่แปรไปสู่การปฏิบัติอย่างไรนั้นก็คงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของเขาหรือเปล่านะครับ การเรียนรู้เรื่องทำมาหากินและการดำเนินชีวิตนั้นต้องให้เวลาค่อยเป็นค่อยไปเหมือนกันนะครับ สักระยะหนึ่งก็อาจจะได้ทรรศนะใหม่ๆที่ต่างไปจากเดิมก็ได้กระมังครับ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท