กรณีศึกษาการพัฒนาผู้นำ กฟผ. 6 รุ่น ด้วยแนวคิด 3 ต. (ต่อเนื่อง ต่อเนื่อง และต่อเนื่อง) (1)


ขอแสดงความยินดีกับประธานรุ่น 2 อีกครั้ง

สวัสดีครับชาว Blog

ผมทำเรื่องการพัฒนาผู้นำในองค์กรต่าง ๆ มานานกว่า 30 ปี แต่องค์กรหนึ่งซึ่งผมชื่นชมและประทับใจ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งผมได้รับเกียรติจากผู้ว่าการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยถึง 3 ท่าน (3สมัย) ตั้งแต่ท่านผู้ว่าฯ ไกรสีห์ กรรณสูตร ต่อมาเป็นท่านผู้ว่าฯ สมบัติ ศานติจารี และปัจจัน คือ ผู้ว่าฯ สุทัศน์ ปัทมสิ ริวัตน์ ให้ผมได้มีโอกาสเข้าไปจัดหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้นำของ กฟผ. อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2548 นับจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวน 6 รุ่นแล้ว  

 

เรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจมาก คือ เมื่อได้เห็นลูกศิษย์ของผมก้าวหน้า เติบโตเป็นผู้นำขององค์กร กฟผ. ได้อย่างน่าชื่นชม โดยเฉพาะท่านผู้ว่าฯ สุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ลูกศิษย์ รุ่นที่ 2 ของผมซึ่งมีความสามารถมาก ในตอนนั้นก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานรุ่น 2 ด้วย ขณะที่เรียนกับผมท่านเป็นผู้อำนวยการฝ่าย แต่ในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปีก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าการฯ ผมยังจำบรรยากาศที่ได้เราได้เดินทางไปดูงานที่เมลเบิร์นด้วยกันได้ดี ท่านทำหน้าที่ผู้นำของรุ่นได้อย่างเหมาะสม ผมขอแสดงความยินดีกับผู้ว่าฯ สุทัศน์อีกครั้งหนึ่งและก็จะถือโอกาสนำเรื่องราวที่น่าสนใจของการมีโอกาสที่ได้ทำเรื่องการสร้างผู้นำของ กฟผ. มา Share กับทุก ๆ ท่านนี้ที่ต่อไปครับ

จีระ หงส์ลดารมภ์

 

หมายเลขบันทึก: 422060เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2011 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมประทับใจ Blog ที่ท่านผู้ว่าฯ สุทัศน์ส่งมาถึงผมหลังจากที่กลับจาก Study Tour (ปี 2549) ที่เมล์เบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในตอนนั้นกำลังอยู่ในช่วงที่กฟผ.อยู่ในกระแสของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ การ Privatization การไปดูงานในครั้งนั้นก็ทำให้ลูกศิษย์ของผมมีความรู้เพื่อประกอบการตัดสินใจสำหรับนโยบายในอนาคตได้เป็นอย่างดี และผู้ว่าฯ สุทัศน์ได้เล่าถึงประสบการณ์ดี ๆ ไว้ด้วย ผมจึงขอนำมาแบ่งปันที่นี่ด้วยครับ

จีระ หงส์ลดารมภ์

..................................................

จากคุณสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์

ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

Feedback จากผู้เข้าร่วมโครงการฯ (จาก Blog: กฟผ.ที่เมลเบิร์น)


จากคุณสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ เมื่อ ศ. 02 มิ.ย. 2549 @ 12:08 (37454)
 
สวัสดีครับ ดร.จีระ และสมาชิกใน Blog
     
หลังต้องรอค้างที่ Melbourne ต่ออีกคืนหนึ่ง (คืนวันอาทิตย์) เนื่องเที่ยวบินถูกยกเลิก  พวกเราสมาชิกโครงการฝึกอบรมผู้บริหาร กฟผ. SEDP2 ก็กลับถึงกรุงเทพโดยสวัสดิภาพ และตอนนี้แต่ละคนคงกำลังวุ่นวายกับภารกิจที่รออยู่ 
   
สำหรับผมเวลาสัปดาห์หนึ่งที่ออสเตรเลีย  ย้อนหลังกลับไปดู คิดว่าเพื่อนๆร่วมรุ่นแต่ละคน คงได้อะไรมาไม่น้อย  สองวันแรกที่ มหาวิทยาลัยเมลเบอร์น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของ ออสเตรเลีย อาจารย์แต่ละท่านเตรียมตัวมาดี เรื่องที่นำมาแลกเปลี่ยนก็นับว่า เป็นเรื่องที่ประยุกต์เอาไปใช้ที่ กฟผ. ได้    ไม่ว่าเรื่องการกำหนดและบริหารกลยุทธทั่วทั้งองค์กร  ที่ต้องกำหนดให้ สอดคล้องกับ ปัจจัยภายนอก ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ  สังคมและ เทคโนโลยี นอกเหนือจากปัจจัยแวดล้อมขององค์กรธุรกิจโดยทั่วไป เช่นคู่แข่ง ลูกค้า  คู่ค้า และอื่นๆ   สำหรับ กฟผ. ซึ่งอดีตเน้นไปทาง Operation excellence เรามุ่งไปทางรักษาความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้า โดยเอาตัวเองไปเทียบกับนานาชาติ เช่น เทียบกับอเมริกาเหนือ  ความสามารถทางเทคโนโลยี  ซึ่งหากเทียบกับประเทศในภูมิภาค เราถือเป็นผู้นำ  แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำความเข้าใจกับประชาชน  ในอนาคต กฟผ. อาจต้องปรับทิศทางไปทาง  Customer Intimacy คือเอาลูกค้าเป็นที่ตั้งมากขึ้น กรณี ลูกค้าของของ กฟผ. อาจต้องขยายความให้ครอบคลุมทั้ง Stake Holder ทั้งหมดของ กฟผ. ทั้งรัฐบาล  ผู้ใช้ไฟกลุ่มต่างๆ  องค์กรเอกชน  สื่อมวลชน  ชุมชนรอบๆหน่วยงาน กฟผ.  เป็นต้น
      
การบริหารบุคลากร ซึ่งต้องให้ความสำคัญต่อคนเก่งและดีที่องค์กรต้องการ ต้องรู้จักคัดเลือก  ดูแล ให้การตอบแทน ตลอดจนโอกาสในการสร้างความสำเร็จ  สร้างสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า Employee engagement  ให้ได้ ต้องเข้าใจและเรียนรู้ความแตกต่างของคนรุ่นต่างๆ และบริหารได้ถูกต้อง 
      
เรื่องความเป็นผู้นำและการบริหารการเปลี่ยนแปลง  ความแตกต่างระหว่าง  Leadership VS Management  ซึ่งเป็นเรื่องทราบกันดีอยู่แล้ว  แต่จุดสำคัญการเป็นผู้นำ จะสร้างได้อย่างไร  ซึ่งมีกรณีศึกษาหลายกรณี  แต่โดยพื้นฐาน ผู้นำต้องมีความสามารถในเรื่องของคน  สร้างองค์กรที่มีperformance ที่ดีซึ่งแน่นอนต้องจูงใจให้ ทีมสามารถผนึกกำลัง และทุ่มเทความสามารถอย่างเต็มที่ เพื่อความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ และเป้าหมายขององค์กรที่กำหนด  ผู้นำที่ดีต้องพร้อมสำหรับการประเมินอย่างเข้มข้น ทั้ง 360 องศา
 นอกจากนั้นก็ได้เรียนรู้ถึง ทิศทางพลังงานของโลก  การบริหารสิ่งแวดล้อม ซึ่งตลอดสองวัน พวกเราได้สอบถามและแลกเปลี่ยน กับอาจารย์ผู้สอนอย่างเข้มข้น  เรียกว่าใช้  4L ของ ดร.จิระ ในการเรียนรู้อย่างเข้มข้น
   
ต่อมาเราได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนเรื่อง Privatization ของรัฐวิคตอเรีย  ซึ่งเขาแปรรูปเป็นเอกชนเต็มตัว  ทั้งGenerator ,Transmission , Distribution ,Retailer  ล้วนเป็นเอกชนหมด  ได้พบและแลกเปลี่ยนข้อมูลจากหลายฝ่าย ตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐวิคตอเรีย  บริษัทที่ดูแลตลาดซื้อขายไฟฟ้า  บริษัทระบบส่ง   Mayer ของเมือง Latrobe ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของโรงไฟฟ้า และเหมือง ที่ป้อนไฟให้รัฐวิคตอเรีย  ผู้ลงทุนโรงไฟฟ้าเอกชน   สหภาพแรงงาน ทำให้ทราบข้อมูลหลายประการ เป็นประโยชน์ต่อ กฟผ. ในการปรับเปลี่ยนในอนาคต
    
 วัตถุประสงค์หลักของรัฐวิคตอเรีย ในการแปรรูปคือเศรษฐกิจอยู่ในช่วงเกิดวิกฤต รัฐจึงต้องการขายเพื่อลดหนี้  ผลของการขายเกือบทั้งหมดตกเป็นของบริษัทต่างประเทศ ทั้งจากสหรัฐ อังกฤษ  ฮ่องกง สิงคโปร์   ถ้าเป็นบ้านเราต้องโดนข้อหาขายสมบัติชาติแน่นอน   แต่เท่าที่ดูคนออสเตรเลีย ไม่ค่อยสนใจประเด็นนี้เท่าไร ชาตินิยมคงไม่ถึงกับเข้มข้นในประเด็นนี้ เท่าประเทศไทย  การแปรรูปของเขามีทั้งข้อดีข้อเสียให้ศึกษามากทีเดียว
     
ข้อดีที่เจ้าหน้าที่รัฐสรุป  นอกจากลดหนี้ของรัฐ  ก็คือราคาค่าไฟจากผู้ผลิตถูกลง  การปกครองของออสเตรเลียแบ่งรัฐๆ เมื่อเกิด Power Pool เกิดขึ้นเกิดการซื้อขาย ข้ามรัฐ ทำให้ราคาไฟฟ้า ที่เคยแตกต่างกันระหว่างรัฐ  ใกล้เคียงกันขึ้น นอกจากนั้นกำลังผลิตอยู่ในสภาพ Overcapacity จากเดิมที่แต่ละรัฐต้องสำรองของตน  เกิดการแข่งขันกันสูง ราคาค่าไฟจาก Generator จึงลดลง  แต่จะได้ยินเสียงบ่นจากผู้ลงทุนว่ากำไรน้อยมาก  และไม่มีใครสนใจจะลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่  อย่างไรก็ดีเมื่อตรวจสอบค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟตามบ้าน ยังคงไม่ถูกลง  ประมาณ 4.50 บาทต่อหน่วย  แต่ราคาของผู้ใช้ไฟรายใหญ่ เช่นอุตสาหกรรม  จะได้ค่าไฟถูกลง  ประมาณ 2 บาทต่อหน่วย  ตรงข้ามกับบ้านเราที่ค่าไฟระหว่างผู้ใช้ราคาไม่แตกต่างกัน 
    
ข้อเสียที่ชัดเจนที่สุดคือการตกงาน และผลกระทบต่อชุมชนเมือง Latrobe ซึ่งพนักงานลดลงจาก 20,000 คน เหลือเพียงราว 8,000 คน เนื่องจากทุกบริษัทต้องลดค่าใช้จ่าย เปลี่ยนไปใช้จ้างแบบ Outsource หมด  เมือง Latrobe ซึ่งเป็นเมืองที่ผู้คนเกือบทั้งหมด เกี่ยวข้องกับพลังงาน จึงได้รับผลกระทบมาก รัฐบาลซึ่งเป็นพรรคเสรีนิยม ปกครองรัฐวิคตอเรีย หลังดำเนินการแปรรูป  ต้องแพ้การเลือกตั้ง  สหภาพแรงงานอ้างว่าผลการแปรรูป ส่งผลกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน เนื่องจากตกงานมาก โดยผู้รับผลประโยชน์เป็นเพียงอุตสาหกรรม ที่ได้ค่าไฟถูกลง 
    
การแปรรูปดำเนินการไปโดยมีรัฐวิคตอเรีย เป็นผู้นำ  แต่รัฐอื่นๆ ยังคงอยู่ในขั้นตอนเพียง Co-patronization ยังไม่ขายเป็นเอกชน และผลกระทบทางการเมืองของรัฐวิคตอเรีย ทำให้หลายรัฐยังคงรีรอที่จะเดินหน้าแปรรูปตาม   ผลทำให้regulation  ระหว่างรัฐแตกต่างกัน  ผู้ลงทุนเอกชนที่รัฐวิคตอเรีย บ่นถึงปัญหาที่มี regulation หลากหลาย  ซับซ้อน ผู้ลงทุนรายหนึ่งบ่น ถึงราคาของ Generator ของรัฐนิวเซาท์เวล ซึ่งยังเป็นของรัฐ  และมีแหล่งถ่านหิน Black Coal ซึ่งคุณภาพดีกว่า Brown Coal ที่มีในรัฐวิคตอเรีย  เข้ามาทำสัญญาขายไฟราคาต่ำ  ทำให้ราคาไฟใน Pool ต่ำจนกำไรต่ำมาก
    
หลายคนถามถึงกิจการสายส่งซึ่งเป็นเอกชน  เวลาเวนคืนที่ดินทำสายส่ง  เมื่อยังเป็นของรัฐ  ใช้อำนาจรัฐดำเนินการ เมื่อเป็นเอกชน จะทำอย่างไร  ดูเหมือนของเดิมจะทำไว้ตอนเป็นของรัฐ  ขณะนี้ยังไม่มีโครงการใหม่ๆมาก จึงยังไม่ทราบว่าจะมีปัญหาหรือไม่  เพราะจะแล้วแต่ความยินยอมของเจ้าของที่ ว่าจะขายหรือไม่   ส่วนประเด็นขายบริษัทระบบส่ง ซึ่งเดิมใช้อำนาจรัฐเวนคืน ไม่มีคนคัดค้านประเด็นนี้เหมือนในบ้านเรา  ซึ่งชมรมผู้บริโภคหยิบจุดนี้ไปฟ้องศาลปกครอง ทำให้ บมจ.กฟผ ต้องกลับมาเป็น กฟผ. เช่นในเมืองไทย
    
ประเทศออสเตรเลียพลังงานไฟฟ้า เกือบทั้งหมดผลิตจาก ถ่านหิน ซึ่งเขามีสำรองใช้ได้เป็นหลายพันปี  ต้นทุนผลิตถ่านหินยังถูกมาก สอบถามดูต้นทุน เทียบกับถ่านลิกไนต์ที่แม่เมาะ ยังถูกกว่าเรามาก ประมาณครึ่งหนึ่งของราคาแม่เมาะ  แต่ปัญหาคือมลภาวะ  ปริมาณคาร์บอน ใกล้ถึงเพดานทีที่กำหนดให้แต่ละประเทศตาม Kyoto Protocol  รัฐจึงมีนโยบายส่งเสริมการผลิตด้วย Gas  และ พลังงานหมุนเวียน  แต่เท่าที่ดูมาตรการของรัฐยังไม่ Incentive มากนัก  ปัญหาเรื่องนี้ต่างกับบ้านเรา กว่า 70% ผลิตจากGas  มีปัญหาราคาแพง ลอยตัวตามน้ำมัน ข้างหน้าการลดสัดส่วนการผลิตจาก Gas คงต้องทำ  ทางเลือกก็คือ ถ่านหิน  ความร่วมมือกับ ออสเตรเลียในเรื่องนี้ จึงเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของเมืองไทย ด้านพลังงาน
   
วันนี้ขออนุญาต แลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้รับจากการไปศึกษาที่ออสเตรเลีย หนึ่งสัปดาห์ ยังขอไม่ออกความเห็นอะไร  แต่ผมรู้สึกว่าหนึ่งสัปดาห์เป็นสัปดาห์แห่งการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยม ไม่นับถึงโอกาสของผมที่ได้ฝึกฝนการพูด และแลกเปลี่ยนกับผู้คนในต่างประเทศ  โดยใช้ภาษาอังกฤษ  เพื่อนร่วมรุ่นของผมบางท่านบอกว่าเหมือนน้องๆ ไป Road Show ให้ กฟผ. ทีเดียว
   
ขอบคุณครับ  ดร.จีระ หวังว่าจะได้พบกับอาจารย์อีกเร็วๆนี้

เอาภาพบรรยากาศในครั้งนั้นมาฝากครับ

 

 

 

 

 

เอาภาพบรรยากาศในครั้งนั้นมาฝากครับ

 

อ่านแล้วได้แง่คิดในวงกว้างมากขึ้นค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท