ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๖๓. จินตนาการทักษะครูเพื่อศิษย์ ๔. สอนน้อย เรียนมาก


          สอนน้อย เรียนมาก (Teach Less, Learn More) เป็นอุดมการณ์ด้านการศึกษาของประเทศสิงคโปร์  อ่านได้ที่นี่

          ไม่ได้หมายความว่าครูทำงานน้อยลง   ครูกลับต้องทำงานหนักขึ้น เพราะต้องคิดหาวิธีให้นักเรียนเรียนได้มากขึ้น   โดยครูสอนน้อยลง   ครูหันไปทำหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้ ชักชวนนักเรียนทบทวนว่าในแต่ละกิจกรรมของการเรียนรู้ นักเรียนได้เรียนรู้อะไร   และอยากเรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นอีก

          หนังสือ 21st Century Skills : Rethinking How Students Learn บทที่ ๕ ชื่อ The Singapore Vision : Teach Less, Learn More  เล่าว่าแนวคิดนี้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๗   โดยเป็นส่วนหนึ่งของ “วิสัยทัศน์ ๔” ของสิงคโปร์   อันได้แก่ (๑) วิสัยทัศน์ระดับประเทศ  (๒) วิสัยทัศน์ด้านการศึกษา  (๓) วิสัยทัศน์ด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน  และ (๔) วิสัยทัศน์ในการจัดให้มี professional learning communities เป็นเครื่องมือปฏิรูปการศึกษา

          โปรดสังเกตว่าการปฏิรูปการศึกษาของสิงคโปร์เป็นกระบวนการที่มีทั้ง top down และ bottom up   PLC (professional learning communities) คือกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงโดย CoP ของครู ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากหน้างาน หรือ bottom up

          นอกจาก “สอนน้อย” แล้ว ที่สำคัญกว่านั้นคือ สอนเท่าที่จำเป็น   ครูต้องรู้ว่าตรงไหนควรสอน ตรงไหนไม่ควรสอนเพราะเด็กเรียนได้เอง โดยครูออกแบบกิจกรรมให้เด็กเรียนจากกิจกรรม (PBL – Project-Based Learning)   แล้วครูชวนเด็กทำ AAR หรือ reflection ว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง   และยังไม่ได้เรียนรู้อะไรบ้าง   ครูจะเข้าใจอัตราความเร็วของการเรียนรู้ของเด็กที่หัวไวไม่เท่ากัน   และที่สำคัญยิ่งคือ ให้เด็กบอกว่าอยากเรียนรู้อะไรบ้าง   สำหรับครูเอามาออกแบบการเรียนรู้ต่อ

          นักเรียนจะรู้จากพฤติกรรมของครู ว่าครูเอาใจใส่นักเรียนเป็นรายคน   และเอาใจใส่อนาคตของเด็กแต่ละคน   ต้องการอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้เพื่ออนาคตของศิษย์ทุกคน

          ในสภาพการเรียนเช่นนี้ นักเรียนจะตื่นตัว และต้องเตรียมตัวเรียนตลอดเวลา   จะไม่มีเวลาเฉไฉไปทำเรื่องไม่เหมาะไม่ควร   รวมทั้ง ครูต้องออกแบบการเรียนรู้ให้บรรยากาศการเรียนรู้ของชั้นหรือของกลุ่มมีลักษณะควบคุมพฤติกรรมกันเอง ให้ต้องช่วยกันทำกิจกรรมให้สำเร็จโดยสมาชิกทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน   ไม่มีคนถูกทอดทิ้งหรือแยกกลุ่ม   เป็นการเรียนรู้ที่ student engagement สูงมาก   หรืออาจเรียกว่า Learners-Directed Learning

          ในสภาพที่ครูใช้เวลาสอนน้อย ใช้เวลาออกแบบการเรียนรู้มาก ใช้เวลาทบทวนผลการเรียนรู้มาก เท่ากับครูต้องเรียนรู้วิธีทำหน้าที่ครูของตนอยู่ตลอดเวลา   เพราะครูไม่รู้ว่าวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับให้ศิษย์เรียนรู้มากทำอย่างไร   ครูจึงต้องจับกลุ่มกัน ลปรร. จากประสบการณ์ตรงของตน ในกิจกรรมที่เรียกว่า PLC ซึ่งก็คือ Community of Practice ของครูนั่นเอง

          ผู้บริหารต้องคอยจับเอาประเด็นเรียนรู้สำคัญๆ จาก PLC เอาไปจัดระบบโรงเรียน  ระบบเขตพื้นที่การศึกษา  และระบบของ สพฐ. ให้เอื้อต่อการเรียนรู้แนว “สอนน้อย เรียนมาก”

          เมื่อครูมีการเรียนรู้มาก จากงานของตน ครูย่อมเก่งขึ้น ได้รับการยอมรับสูงขึ้น และได้รับการตอบแทนต่างๆ ตามมา

 

 

วิจารณ์ พานิช
๓ ธ.ค. ๕๓
      

หมายเลขบันทึก: 421673เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2011 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบเรียนท่านอาจารย์หมอค่ะ

        ข้อเขียนของท่านอาจารย์ทำให้ครูตาได้แนวทางในการจัดการศึกษาในทศวรรษที่ 21 ซึ่งต้องมุ่งเน้นที่การออกแบบการเรียนรู้ให้น่าสนใจ  น่าติดตาม  น่าเรียน  เพื่อให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดได้  ทำได้  แก้ปัญหาได้  และนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเองในสังคมปัจจุบันได้ 

       ดังนั้นการสอนแบบนี้ครูต้องทำงานหนัก  (ทั้งออกแบบการจัดการเรียนรู้  เตรียมสื่อ เตรียมสถานะการณ์  เตรียมแหล่งเรียนรู้ เตรียมใบงาน เตรียมประเด็นคำถามเพื่อจุดประกาย  กระตุ้นต่อมใฝ่เรียนรู้ของเด็ก ๆ ให้แตกฉาน) ครูตาคิดว่า...พอทำได้ในส่วนของปัจเจกบุคคล  แต่ในองค์รวมหรือทั้งระบบคิดว่ายากมาก  ครูส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมการสอนแบบเดิม ๆ  ยังคิดออกแบบการสอนไม่เป็น  ขาดทักษะการตั้งคำถาม

          หน่วยงานพยายามจัดครูให้เข้าอบรม "ปรับการเรียน  เปลี่ยนการสอน" (ทำมานานมากกว่า 10  ปี) แต่กลับเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายสำหรับครูส่วนมาก(ครึ่งต่อครึ่ง)เมื่ออบรมเสร็จก็ขาดการนำไปใช้จริงในห้องเรียน....ครูตาคิดว่าเป็นเรื่องสูญเปล่า.....แต่ถึงอย่างไรก็ต้องทำไป      โดยไม่หวังผลเลิศ....ค่อย ๆ ปรับไปเปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ เนิบหนาบ..คิดเสียว่า "สักวันหนึ่งจะดี"  สักวันไหนหนอ......(อ่อนใจนะคะ)  ทำให้คิดว่าหากมีการประเมิน(ระบบประกันคุณภาพภายใน/ภายนอก) กันอย่างจริงจัง ไม่เป็นพวกเป็นพ้อง ตำหนิ  แก้ไข  ไม่ผ่านต้องมีหน่วยเหนือมาช่วยปรับปรุง  แก้ไข   อย่างจริงจัง  และตรวจประเมินใหม่จึงจะผ่านและรับรองมาตรฐานได้  (เคยเห็นส่งเอกสารไป  แล้วปรับแก้ให้ผ่าน) 

            การพัฒนาการศึกษาของรัฐบาลแต่ละยุค  ก็ได้ผลดีในสถานศึกษาส่วนน้อย คือ โรงเรียนในฝัน   โรงเรียนดีใกล้บ้าน   และโรงเรียนดีประจำตำบล ซึ่งมีไม่กี่โรงเรียนในประเทศไทย แต่ก็ยังขาดการพัฒนาอย่างเป็นระบบในแต่ละสถานศึกษาค่ะ

 

      

            

        

             

           

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท