แพทย์แต่งดำ กับ อนิจจัง


ความจริงอาจเป็นไปได้ว่า ปัญหานี้ คือ การติดเชื้อแบคทีเรียที่กำลังลุกลามลึกลงไปถึงกล้ามเนื้อ และมีโอกาสปลิดชีพคนไข้ได้มากถึงร้อยละ ๗๐ ศัพท์เฉพาะทางการแพทย์สำหรับภาวะนี้คือ necrotising fasciitis

Version:1.0 StartHTML:0000000167 EndHTML:0000015022 StartFragment:0000000457 EndFragment:0000015006

โลกเป็นอนิจจัง ช่างเป็นคำที่คุ้นหู เสียนี่กระไร

 

แต่ในชีวิตจริง เสียงคุ้นหูนี้ อาจไม่ได้ก้องกังวานลึกลงไปถึงหัวจิตหัวใจของคนเราสักเท่าใด

คนจำนวนไม่น้อยจึงคิด ตัดสินใจและกระทำประหนึ่งว่า โลกเป็นนิจจัง

 

แพทย์ที่บอกกับคนไข้ว่า รอยแดง บวมปวด ร้อน บนฝ่าเท้าที่ลามขึ้นมาแข้ง น่อง ไม่มีอะไรมากไปกว่า การติดเช้ือแบคทีเรียบนผิวหนัง ยาปฎิชีวนะเอาอยู่แน่

 

ความจริงอาจเป็นไปได้ว่า ปัญหานี้ คือ การติดเชื้อแบคทีเรียที่กำลังลุกลามลึกลงไปถึงกล้ามเนื้อ และมีโอกาสปลิดชีพคนไข้ได้มากถึงร้อยละ ๗๐ ศัพท์เฉพาะทางการแพทย์สำหรับภาวะนี้คือ necrotising fasciitis

 

ถ้าจะแยกแยะให้ได้ว่า ตกลงคนไข้จะเป็นอย่างแรกหรืออย่างหลัง ต้องอาศัยการตัดชิ้นเนื้อตั้งแต่ชั้นผิวหนังลึกลงไปถึงกล้ามเนื้อมาตรวจ และอาจต้องตัดมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง ทุกตำแหน่งที่ตัดชิ้นเนื้อก็จะทิ้งแผลเป็นเอาไว้ไม่มากก็น้อย

 

เท่านี้ เชื่อว่าคนไข้หลายรายก็ยังพอรับไหว แต่ถ้าฟังต่อไป ว่าแล้วหากเป็นอย่างหลังจริง จะรักษาอย่างไร คำตอบคือ ต้องตัดเนื้อทั้งหมดที่ติดเชื้อออก ซึ่งอาจหมายถึงตัดเท้า หรือตัดขาที่ทั้งท่อนเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้

 

เป็นไงครับ เมื่อฟังถึงตรงนี้ คนไข้จำนวนหนึ่งก็จะหัวใจเต้นรัว เกิดอาการมึนหัวเพราะกลัวการตัดอวัยวะ กลัวความพิการ ที่จะตามมา

 

สำหรับคนหนุ่มสาวที่ยังโสด คนที่เพิ่งสร้างครอบครัว คนที่เป็นเสาหลักเดียวของครอบครัว การที่ต้องกลายเป็นผู้พิการ อาจหมายถึงการตกงาน การหย่าร้าง แฟนเปลี่ยนใจ ลูกเต้าต้องลำบาก ฯลฯ

 

กลับมาที่คนไข้สมมติรายนี้ คนไข้อาจถามหมอว่า แล้วโอกาสที่จะเป็นโรคร้ายนี้มีเท่าใด ถ้าคำตอบคือ ร้อยละ ๕ ถามว่า คนไข้จะตัดสินใจอย่างไร หรือจะให้หมอตัดสินใจแทน ให้ญาติตัดสินใจแทน

 

หมอควรจะยอมให้คนไข้หรือญาติตัดสินใจเองทั้งหมดดีมั๊ย หมอทำหน้าที่เพียงชี้แจงด้วยความรู้ที่มีก็พอแล้ว เพราะถึงที่สุด ผู้รับผลสุดท้ายคือคนไข้และครอบครัว ไม่ใช่หรือ

 

หรือจรรยาบรรณบอกว่า หมอควรตัดสินใจแทน เพราะหมอรู้ดีที่สุด ซึ่งก็คงถูกเพียงครึ่งเดียว นั้นคือความรู้ที่กล่าวมาแต่ต้น แต่คงไม่มีหมอคนใดกล้าฟันธงว่า โอกาสติดเชื้อร้ายแรงนั้น เพียงร้อยละ ๕ ไม่เป็นมากหรอก ลองรักษาทางยาไปก่อน เพราะหมอก็ไม่แน่ใจอยู่ดีว่า ชะตากรรมจะคลี่ตัวออกมาอย่างไร อาจเป็นไปได้ว่าการลองนี้ สุดท้ายกลายเป็นการทิ้งนาทีทองให้ผ่านไป จนการติดเชื้อร้ายแรงลามถึงขั้นตัดอวัยวะก็รักษาชีวิตไว้ไม่ได้ หรือหากจะรักษาชีวิตไว้ก็ต้องตัดอวัยวะ มากกว่าถ้ารีบตัดสินใจเสียแต่ต้น

 

คำว่า ร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ แปลว่าอะไร จึงจะนับว่าเหมาะสม

 

มีงานวิจัยในสหรัฐฯ พบว่า แพทย์มักตัดสินใจได้ถูกต้องมากกว่าคนไข้/ญาติ เพราะการตัดสินใจของแพทย์เป็นไปด้วยอารมณ์ที่นิ่งกว่า ด้วยความรู้และประสบการณ์มากกว่า

 

อย่างไรก็ดี คำว่า "มากกว่า" "นิ่งกว่า" สื่อความหมายในเชิงเปรียบเทียบ ไม่ได้หมายความว่า การตัดสินใจของแพทย์ถูกต้องแน่นอนเสมอไป

 

มีกรณีมากมายที่ชวนให้สังคมตั้งคำถามแรงๆกับการตัดสินใจของแพทย์ที่อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนไข้เป็นหลัก เนื่องด้วยแพทย์ถูกโน้มน้าวด้วยผลประโยชน์แอบแฝง(ค่าตอบแทนจากการสั่งยาเยอะๆ ได้ค่าผ่าตัดซึ่งเป็นกอบเป็นกำมากกว่าการสั่งยา ได้โอกาสไปเที่ยวต่างประเทศพร้อมครอบครัวฟรีโดยบริษัทยาสนับสนุน ฯลฯ)

หรือแม้แพทย์ยึดประโยชน์ของคนไข้เป็นหลัก แต่ ณ จังหวะการตัดสินใจในบางครั้งบางคราว แพทย์ก็ไม่อยู่ในสภาพพร้อมทางอารมณ์และร่างกายเพราะเหนื่อยมาทั้งคืนหลังจากอยู่เวรชนิดไม่ได้งีบแม้อึดใจเดียว แพทย์อาจตัดสินใจเพราะแพทย์ยังฝังใจกับการสูญเสียคนไข้รายก่อนที่ทำให้ตนผิดหวัง หรือทำให้ตนมั่นใจว่าตัดสินใจถูก แพทย์อาจตัดสินใจในขณะที่อารมณ์ไม่นิ่งเพราะตนเองก็กำลังเผชิญกับวิกฤตในชีวิต ณ ห้วงเวลานั้น ฯลฯ

 

นี่แหละครับ ความเป็นอนิจจัง ในชีวิตการทำงานของแพทย์ ในชีวิตของคนไข้ที่ฝากความหวังไว้กับแพทย์ ไว้กับเทคโนโลยี่ทางการแพทย์อันดูเหมือนน่าอัศจรรย์ใจ

 

ในชีวิตจริง เชื่อว่า คนไข้จำนวนมากยอมรับความผิดพลาดจากการตัดสินใจของแพทย์แม้ว่าผลที่ตามมาอาจเลวร้ายเกินกว่าคาดคิด แต่ด้วยศรัทธาในความปรารถนาดีของแพทย์ที่แสดงออกอย่างจริงใจด้วยความพยายามของแพทย์ที่จะอธิบายเรื่องราวต่างๆเพื่อชวนให้คนไข้/ญาติได้ร่วมคิด ได้พยายามอย่างสุดวิสัยที่จะเยียวยาความผิดพลาดที่ตามมา ได้แสดงความเสียใจ ด้วยคำ"หมอเสียใจ" "หมอขอโทษ ที่...."

 

ว่ากันว่า ภาษากายของคนเรานั้นปิดบังกันยาก คนไข้/ญาติย่อมสัมผัสสิ่งนี้ได้

 

ประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมด ยังจำกัดอยู่ในขอบเขต ของตัวบุคคล(แพทย์ คนไข้/ญาติ) เพื่อพยายามเผชิญกับความเป็นอนิจจังในการดูแลคนไข้

 

แต่เราต่างรู้ดีว่า บุคคล ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างอิสระจากบริบทอันประกอบด้วยองคาพยพอีกมากมาย เช่น ระบบการตอบแทนแพทย์ ระบบการติดตาม ประเมินการทำงานของแพทย์ ทีมงานในรพ. ปริมาณแพทย์ต่อภาระงาน การแทรกแซงของธุรกิจยาและเครื่องมือแพทย์ต่อการตัดสินใจ ต่อการแสวงหาความรู้ของแพทย์ ฯลฯ

 

ไว้ค่อยว่ากันต่อไปนะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 419155เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2011 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนท่านอาจารย์หมอ

  • คุณยายแวะมาทักทายก่อนเข้านอนค่ะ
  • ราตรีสวัสดิ์นะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท