โครงการลูกอ่อนหนอนหนังสือกลุ่มชาติพันธุ์ : มูลเหตุของปฏิบัติการอ่านสร้างสุขภาวะ


การปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านนี้สำคัญ เป็นพื้นฐานของการสร้างคน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างขาดเสียไม่ได้

 

แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แค่สี่เดือนของการดำเนินโครงการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ลูกอ่อนหนอนหนังสือกลุ่มชาติพันธุ์เมืองสามหมอก ที่ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. แต่ผลที่งอกงามจากการทำงานครั้งนี้เสมือนเป็นแรงใจให้ผมกับเด็กๆทำงานต่อไป เพราะรู้ว่าเรื่องการปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านนี้สำคัญ และเป็นพื้นฐานของการสร้างคน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างขาดเสียไม่ได้

 

ทาง สโมสรผู้นำเยาวชนเพื่อการศึกษาและพัฒนาชุมชน  (สยชช.) จังหวัดแม่ฮ่องสอน เราได้สำรวจพบสภาพปัญหาและความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เราพบว่า แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีผู้รู้หนังสือน้อยมาก ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดนี้เป็นผู้ไม่รู้หนังสือ เด็กปฐมวัยส่วนใหญ่ใน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเด็กกลุ่มชาติพันธุ์[1] ซึ่งมีวิถีชีวิตอาศัยอยู่กับพ่อแม่ และญาติพี่น้อง ซึ่งขาดทั้งทักษะการอ่าน และขาดหนังสือที่เหมาะสมแก่เด็กปฐมวัย

ผมสังเกตว่า พ่อแม่มักจะเลี้ยงเด็กปฐมวัยเหล่านี้ ตามความเคยชิน และความเชื่อทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบทอดกันมา ซึ่งไม่เคยมีเรื่องการส่งเสริมการอ่านมาก่อน 

ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อสื่อสมัยใหม่ เช่น โทรทัศน์เข้ามา มีเด็กปฐมวัยจำนวนมากขึ้นถูกเลี้ยงอยู่กับสื่อโทรทัศน์ซึ่งเต็มไปด้วยเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมแก่พวกเขา เช่น ความรุนแรง ค่านิยมทางเพศผิดๆ การกระตุ้นเร้าตลอดเวลา มากกว่าสื่อที่เสริมสร้างสมาธิและจินตภาพเช่นหนังสือ กล่าวได้ว่า ถ้าไปสำรวจ ในแต่ละบ้านจะพบรายการโทรทัศน์รวมทั้งวีซีดีที่ส่งผลด้านลบต่อพัฒนาการของเด็กง่ายกว่าจะพบหนังสือดีๆที่ส่งผลต่อพวกเขาสักเล่ม

 

 แต่ก็นั่นแหละครับ ปัญหาก็มีเหตุปัจจัยหลายประการ อาทิ ปัญหาเรื่องการจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงที่รัฐไทยกระทำต่อเด็กและชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ การศึกษา รวมทั้งการส่งเสริมการใช้ภาษาไทยบนพื้นที่สูงที่รัฐบริหารจัดการลงไปนั้นนั้นมีนัยยะของการบริหารแบบรวมศูนย์  เพื่อใช้อำนาจครอบงำ (domination) ให้คนเหล่านี้ง่ายต่อการปกครอง และกลายเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศไทย ที่เอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตของภาคเศรษฐกิจสังคมและกลุ่มคนไทยในเมือง

ที่ผ่านมาการใช้อำนาจของรัฐผ่านการส่งเสริมการศึกษา (รวมทั้งส่งเสริมการอ่านภาษาไทย) ได้รับทั้งการสมยอม และการต่อต้าน (อย่างเงียบๆ)จากชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยที่รัฐทำได้เพียงปะป้ายเหมารวมพวกเขาต่อไปว่าเป็นพวกที่ไม่สนใจจะรู้หนังสือ ขี้เกียจ ไม่ยอมรับการพัฒนา แทนที่จะมีการศึกษาอย่างลุ่มลึก  อย่างรอบด้าน และอย่างมีส่วนร่วม

 

เหลียวซ้ายแลขวา เหลียวหน้าแลหลังอยู่แม่ฮ่องสอนทำงานอยู่แม่ฮ่องสอนมาหกปี ก็ไม่เห็นมีภาคประชาชนมาจับเรื่องนี้จริงจัง ผมคิดว่างานนี้ไม่ทำไม่ได้แล้ว จึงได้เสนอโครงการนี้ต่อแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สส.วอ.) ของ สสส.  ทีแรกคิดว่าจะไม่ผ่านพิจารณาแล้วเพราะเป็นคนชอบไปแย้งกับ reviewer หลังจากเสนอไปแล้ว ล่วงไปหลายเดือนกว่าจะมีการตอบมาว่าผ่าน ก็มีเวลาทำงานสี่เดือนในเฝสแรก ตอนนี้เพิ่งเขียนรายงานสรุปโครงการไป เป็นการทำงานสี่เดือนแรกใน 8 หมู่บ้าน 7 กลุ่มชาติพันธุ์ ในเขตอำเภอปางมะผ้า , อำเภอเมือง , และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

กระบวนการและผลจะเป็นอย่างไรนั้น ไว้ติดตามบันทึกตอนต่อไปนะครับ

 


[1] ประชากรในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มี 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ คนไทยเชื้อสายไทใหญ่ หรือคนไต เป็นกลุ่มที่อยู่บนพื้นที่ราบ และเป็นประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัด และ ชาวไทยภูเขา ส่วนใหญ่จะอาศัยและประกอบอาชีพอยู่บนพื้นที่สูงมีจำนวนใกล้เคียงกับคนเชื้อสายไทยใหญ่ โดยชาวไทยภูเขาจะอยู่ในทุกอำเภอ มีทั้งหมด 576 กลุ่มบ้าน ประกอบด้วย 8 เผ่า ได้แก่ กะเหรี่ยง, ลาหู่ , ม้ง, ลีซู, จีนยูนนาน (จีนฮ่อ) , ปะโอ (ตองสู), ละเวื้อ (ลัวะ) , ปะดอง (กะเหรี่ยงคอยาว)

 

หมายเลขบันทึก: 419017เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2011 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โครงการดีครับ ขยายให้กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ จะดีมากเลยครับ

ขอบคุณครูหยุยที่ให้กำลังใจครับ

มากไปกว่านั้นคือผมได้แรงบันดาลใจมาจากท่านสมัยที่ทำโครงการครูข้างถนนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท