เพลงอีแซว ตอนที่ 6 เกาะติดเวทีการแสดง งานแสดงเทศกาลปีใหม่


ภาพเก่า ๆ เหล่านี้จะช่วยบอกเรื่องราว วิธีการในการจัดตกแต่งเวที รูปแบบของการแสดงในแต่ละสถานที่

เพลงอีแซว ตอนที่ 6

เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว

(งานแสดงเทศกาลปีใหม่)

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

 

           ในปีหนึ่ง คนไทยได้ฉลองเทศกาลปีใหม่กันหลายครั้ง ปีใหม่ของไทย ปีใหม่ของพี่น้องชาวจีน และปีใหม่ของสากลที่นับ วันที่ 1 มกราคม ของทุกปีเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ เป็นวันเริ่มต้นกระทำในสิ่งที่ดี ลดละเลิกกระทำในสิ่งที่เป็นผิดพลาดพลั้งเผลอ ลืมความหลังเก่า ๆ ที่มีความขัดแย้งกันอยู่ในใจ คิดไปในทางลุ่มหลง ขาดสติ ขาดความรอบคอบ มองดีเป็นร้าย ทั้งที่เจตนาไม่เจตนา ก่อนที่ผมกรรมนั้นจะย้อนกลับมาถึงตัว เปลี่ยนมาเป็นความรักสมัครสมานสามัคคี มองโลกในแง่ดีมีคุณค่าต่อมวลมนุษย์ นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมีคุณค่าเกิดประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวมอย่างยิ่ง

           วันที่มีความสำคัญที่สุดของเทศกาลปีใหม่ คือ วันที่ 31 ธันวาคม ในวันนี้จะมีทั้ง 2 ปีมาพบกันตรงรอยต่อแห่งกาลเวลา ครึ่งคืนแรกเป็นปีเก่า วันที่ 31 ธันวาคม ส่วนอีกครึ่งคืนหลังต่อมาเป็นปีใหม่ 1 มกราคม นาทีระทึกใจเมื่อตอนที่เราได้ร่วมกันนับถอยหลังจาก 10 เป็น 9 8 7 6 4 5 4 3 2 1 และ 0 เสียงไชโยโห่ร้องต้อนรับปีใหม่ดังลั่น ด้วยความปลื้มปีติยินดีทั่วกัน “สวัสดีปีใหม่” เป็นอย่างนี้ทุกรอบปฏิทินหมุนเวียนเปลี่ยนไป ปีแล้วปีเล่า ไม่ว่าจะเนิ่นนานสักแค่ไหนเราก็ยังมีความสุขกับคำว่า “ปีใหม่” วันที่เป็นความทรงจำของคนทั่วทั้งโลก (สากลนิยม) คำว่า “ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่” ชวนให้คิดถึงอดีตปีเก่าที่ผ่านไป ต้อนรับปีใหม่ด้วยความสดชื่นเข้ามาแทนที่

           การจัดงานกิจกรรม “ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่” นิยมจัดกันในช่วง วันที่ 31 ธันวาคม หรืออาจจะมีบางสถานที่จัดกันในวันที่ 28, 29, 30 ธันวาคมก็มี สุดแล้วแต่ว่าองค์กรนั้นจะสะดวกเหมาะสมหรือไม่ แม้แด่ครอบครัวเล็ก ๆ ยังมีการรวมกลุ่มกันเฉพาะสมาชิกในครอบครัว (พ่อแม่ลูก) จัดงานต้อนรับปีให้กับชีวิตครอบครัว นับว่าเป็นสิงที่ดี เป็นการเริ่มต้นดำเนินชีวิตหรือเริ่มต้นทำงานที่อบอุ่น ความจริงการกระทำความดีทำได้ทุกวันทุกเวลา ไม่ต้องรอฤกษ์ก็ทำความดีได้

           วงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ มีโอกาสได้ไปร่วมงาน ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ หลายสถานที่ ในปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ (พ.ศ.2552-2554) ด้วยความปรารถนาดีของท่านผู้มีอุกปการคุณให้ความเมตตาศิลปินนักแสดงเพลงพื้นบ้าน บางสถานที่พวกเราได้ทำการแสดงบนบ้านเรือนไทยที่สวยงาม ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความเป็นไทย ที่เต็มไปด้วยศิลปะเก่า ๆ ท่านผู้ชมนั่งรับประทานอาหารแบบนั่งกับพื้น มีตั่งวางอาหารแทนโต๊ะอาหารอย่างในปัจจุบัน บางสถานที่มีการจัดเลี้ยงอาหารและมีการจับสลากของขวัญให้แก่ท่านที่มาร่วมงาน บางสถานที่จัดการแสดงเอาไว้หลายรายการ มีการแสดงหลายรูปแบบเหมาะสำหรับผู้ที่มาร่วมกิจกรรมทุกวัย ได้รอชมกันอย่างพร้อมเพรียง

           ภาพที่ผมนำเสนอในตอนที่ 6 เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว เป็นเวทีการแสดงเพลงอีแซว ในงานส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เฉพาะบางสถานที่ ที่มีความสวยงามตามวัฒนธรรมไทย ขนบประเพณีของท้องถิ่นนั้น ๆ ผมและเด็ก ๆ ในวงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ มีความประทับใจ ผู้แสดงมีความสุขเมื่อได้ไปร่วมกิจกรรม เจ้าของงานได้ประโยชน์ที่คุ้มค่า สิ่งที่สำคัญคือ บันทึกแห่งความทรงจำที่ต้องเก็บเอาไว้ระลึกถึงในอนาคตซึ่งภาพเก่า ๆ เหล่านี้จะช่วยบอกเรื่องราว วิธีการในการจัดตกแต่งเวที รูปแบบของการแสดงในแต่ละสถานที่และความนิยมได้เป็นอย่างดีครับ

        

        

         (ภาพการแสดงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่เรือนไทยคุ้มลำน้ำท่าจีนหม่อมไฉไล อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม)

        

        

         (ภาพการแสดงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ในงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2552 ที่เทศบาลบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี)

        

          

         (ภาพการแสดงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่ราชาธิวาชราชวรวิหาร ถนนสามเสน ซอย 9 กรุงเทพฯ วันที่ 31 ธันวาคม 2552)

          

        

         (ภาพการแสดงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ นนทบุรี เมื่อวัที่ 28 ธันวาคม 2553)

          

        

        

          (ท่านสด แดงเอียด อธิบดีกรมศาสนา  มอบของที่ระลึกให้นักแสดงเพลงอีแซว  บนเวทีต้อนรับปีใหม่แบบวิถีพุทธ ที่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร สามเสน กรุงเทพฯ วันที่ 31 ธันวาคม 2553)

เพลงอีแซว อวยพรปีใหม่ 2554 (บางส่วน)

ชำเลือง  มณีวงษ์  ประพันธ์บทร้อง (เขียนบทร้อง 25 ธันวาคม 2549) ฉบับปรับปรุง

             มาส่งท้าย  ปีเก่า          ร่วมกับหนุ่มสาว  สุพรรณ 
         มาส่งท้าย  ร่วมกัน           ก่อนถึงวัน  สิ้นปี 
         หมดกันที  ปีเก่า               เรื่องเศร้า ๆ หมองหม่น
         ทั้งความเจ็บ  ความจน      ที่ทุกคน  เคยมี
         ในรอบของ  หนึ่งปี           เขานับกันที่  สิบสองเดือน
         สามร้อย  หกสิบห้าวัน       ไม่คลาดเคลื่อน  สิบสองเดือน พอดี
         ถ้าหนู อธิษฐานได้            ขอกราบไหว้  บนบาน
         อยากมีความสุขสักปีละวัน ไม่ต้องการ  มากกว่านี้
         ขอแค่นี้ ถ้าให้ได้              จะไปรับที่ใคร  เล่าผู้ชม  
         เก็บเอาความ  ทุกข์ตรม    ไปทับถม  ที่อื่นที 
            ถอยกลอน กันลงมา      ย้อน  กลับ
         เอาความทุกข์  ไปกับ       กาล เวลา
         ความสุข ความทุกข์         คลุก เคล้ากัน   
         ต่างเข้ามา พัวพัน            ไม่  ห่างหา
         อยากจะเก็บ  ความเศร้า   ไปกับปีเก่า  เสียก่อน
         เหมือนปิดประตู ใส่กลอน  เมื่อตอนสิ้น  ธันวา
         สองพันห้าร้อย ห้าสิบสาม  รีบปิดความ  สับสน
         ทั้งเศรษฐกิจ  ก็ร่วงหล่น    น้ำมัน  ขึ้นราคา
         อีกทั้งราคา ทองคำ          ไม่มีน้ำ  ไม่มีนวล       
         ราคาขึ้น  ไปจวน             จะถึงสอง  หมื่นห้า
         เจ้าช่อ มะกอก                 ดอกจำปา        
         จะเปลื่ยนจาก กลอนลา    ไปเป็น  กลอนไล
            อยากให้ความ  เศร้า ๆ  ไปกับปีเก่า  ทั้งหมด 
         อยากเห็นความ  สวยสด   มาพร้อมกับ   ปีใหม่ 
         ใกล้จะสิ้น  ปีเก่า              เวลาที่เรา   รอคอย
         ความสุข  เล็ก ๆ น้อย ๆ    เปลี่ยนมา  เปลี่ยนไป
         ไม่มีการ์ด อวยพร            เมื่อตอนสิ้น ปีเก่า
         ไม่มีของ ใส่กระเช้า         นำเอาของ  มาให้
         ไม่มีภาพ  อำนวยพร        ไม่มีกลอน  อ้อล้อ
         ไม่มีบัตร  ส.ค.ส.             ไม่มีใครห่อ  ของให้
         ไม่มีโบนัส  ใส่ซอง           ไม่มีของ  ชำร่วย        
         ไม่มีผ้านวม  สีสวย          จับฉลาก  ยกให้
         ไม่มีของ รางวัล              ไม่มีงาน  ฉลอง  
         มีแค่ 2 มือ ประคอง          แล้ว อธิษฐานใจ   
         หนึ่งรอบวง โคจร             ของพระ  สุริยัน
         สามร้อย หกสิบห้าวัน        ผัน  เปลี่ยนไป
         เอาความทุกข์  โศกเศร้า   ไปกับปีเก่า  หมดสิ้น  
         เริ่มต้นนับ  ปฏิทิน            วัน ละใบ           
            ประสิทธิ์สิ้น สิ่งที่คิด      ด้วยอิทธิฤทธิ์  มงคล   
         ขอให้ประสบ  มรรคผล     ไม่เจ็บไม่จน  ตลอดไป 
         ขออวยพร คนหนุ่มสาว     ขอให้เขา  แคล้วคลาด
         อยู่เป็นกำลัง  ของชาติ      เมื่อเติบใหญ่
         ขออวยพร  คุณผู้ชาย       ให้สุขใจ  จริง ๆ
         ขออวยพร คุณผู้หญิง       ให้มีสุข  สดใส
         ขออวยพร คนชะแร          อย่าให้  แก่ชรา
         ขอสั่งห้าม ยาบ้า               อย่าได้กลับ มาใหม่
         ขออวยพร ให้ลูก              จงเป็นที่รัก ของพ่อแม่ (เอิง เงอ เอ๊ย) ของพ่อแม่
         ขออวยพร ให้คนแก่ ๆ      จงอยู่เป็นร่ม โพธิ์ไทร (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) ร่มโพธิ์ไทร

 

ติดตามเพลงอีแซว ตอนที่ 7 เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว (เทศกาลลอยกระทง)
หมายเลขบันทึก: 419013เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2011 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท