เพลงอีแซว ตอนที่ 5 เกาะติดเวทีการแสดง งานแสดงเทศกาลสงกรานต์


ความงดงามของการจัดงานและการแสดงออกของเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่เคยลืมศิลปะการแสดงท้องถิ่นดั้งเดิม

เพลงอีแซว ตอนที่ 5

เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว

(งานแสดงเทศกาลสงกรานต์)

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

 

          เสียงโห่จากหนุ่มสาวชาวบ้านในอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ผมยังเป็นเด็กมาก อายุได้ 6-7 ปี ยังไม่ได้เข้าโรงเรียน น้าพาไปดูเขาเล่นสงกรานต์กันที่ลานกว้างในหมู่บ้าน ภาพที่เห็นเป็นการเล่นสนุก เล่นตี่จับ เล่นซ่อนหา เล่นมอญซ่อนผ้า เล่นลูกช่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นรำวง เล่นจับโยนบกกัน (ส่วนใหญ่ผู้ชายโดนจับโยนบก) พอตกบ่ายตะวันคล้อยมีการจัดตั้งด่านกักรถยนต์ที่แล่นผ่านบอกบุญ เพื่อที่จะนำเงินไปถวายวัดในวันรุ่งขึ้นเมื่อไปทำบุญที่วัด บางวันก็ได้ยินเสียงร้องเพลง มีเสียงร้องโห่ร้องรับและเล่นเพลงรำวงแบบชาวบ้าน รวมทั้งร้องเพลงพวงมาลัย เพลงฉ่อย
          เทศกาลสงกรานต์ในยุคนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองปล่อยให้หนุ่มสาวได้มาพบกัน หลังจากที่ได้ตรากตรำทำงานกันมาหนึ่งปี พอถึงเทศกาลขึ้นปีใหม่ไทย หนุ่มสาวได้มาเจอกันและได้ทำกิจกรรมร่วมกันหลายวัน (3 วัน-5 วัน) บางสถานที่มากกว่านี้ เสียงร้องโห่เป็นสัญญาณแห่งการเชิญชวนเรียกร้องให้มาพบกัน น้าสาวและน้าชายของผมแต่งตัวสวยงามออกไปเล่นสงกรานต์ (ไม่มีการเล่นสาดน้ำ) เขาจะไปเล่นสาดน้ำกันในวันสรงน้ำพระที่วัด บางวัดก็ทำบุญสงกรานต์ 3 วัน บางวัดอาจจะถึง 5 วัน หรือมากกว่านี้ ในวันสุดท้ายที่วัดจะมีพิธีสรงน้ำพระบนศาลาการเปรียญ พอสรงน้ำพระเสร็จ ประชาชนทั้งหมดที่มาร่วมงานจึงจะสาดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ต่อจากนั้นจึงจะมีการเล่นสาดน้ำสนุกสนานกัน แต่ก็ไม่รุนแรงเหมือนอย่างในปัจจุบัน
          ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่วัดแทบทุกแห่งจะจัดให้มีการทำบุญกระดูกผู้วายชน ได้แก่ ปู่ย่า ตายาย หรือรุ่นปู่ทวด ย่าทวด เรียกว่า “ทำศพรวมญาติ” มีการสละทุนทรัพย์ร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียง ตรงนี้เองทำให้ผมได้ดูเพลงอีแซวมาตั้งแต่เด็ก ๆ ในบางปีก็มีเพลงทรงเครื่อง การแต่งตัวสวยงามและเล่นเป็นเรื่องแบบละครแบบลิเก แต่ว่าร้องแบบเพลงฉ่อย มีเครื่องดนตรีไทยบรรเลงรับการร้องด้วย ที่ผมจำได้ว่า มีบางปีที่ทางวัดจัดหาเพลงมาเล่นทั้งกลางวันและกลางคืน ในยุคก่อนมีมหรสพเพียงเพลงอีแซววงเดียว ผู้คนก็มาดูเพลงกันเป็นจำนวนมาก ถ้าเล่นกลางวันมักจะเล่นที่บนศาลาการเปรียญ เพราะว่าคนดูจะได้มีร่มเงาไม่ร้อนแดด ส่วนตอนกลางคืนเพลงอีแซวจะเล่นบนเวทีลิเก (คณะกรรมการจะสร้างเวทีลิเกเอาไว้ทุกวัด) ภาพเก่า ๆ เหล่านี้จางหายไปจากการมองเห็นเสียแล้ว คงเหลือแต่ความทรงจำเพียงเลือนรางอยู่ในสมอง พอที่จะบอกเล่าได้แต่ไม่ละเอียดชัดเจนเสียแล้ว
          มาถึงรุ่นที่ผมทำหน้าที่เล่นเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ อย่างจริงจังก็เมื่อปี พ.ศ.2513 ได้มารู้จักกับครูเพลงและคนเล่นเพลงหลายท่าน ผมได้เรียนรู้แบบใจรัก ชอบ สนใจใฝ่หาถึงแม้ว่าเพื่อน ๆ เขาก็ไม่สนใจกัน
          โชคดีเป็นของผม เมื่อโอกาสเข้ามาหา มีผู้ใหญ่ คือ ท่านนายอำเภอดอนเจดีย์ ขอให้ผมไปเล่นเพลงประกวดกับอีก 10 กว่าคณะ ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จัดที่หน้าศาลากลาง (เก่า) จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2525 แล้วคณะเพลงอีแซวของอำเภอดอนเจดีย์ มีผมเป็นพ่อเพลง ได้รับรางวัลชนะเลิศ ความจริงเราขอประกวด 2 คืน เพลงอีแซว กับอีกคืนหนึ่งเป็นเพลงฉ่อย แต่คณะกรรมการขอให้ประกวดเพลงอีแซวเพียงอย่างเดียวอีกคืนหนึ่งจึงไม่ได้ไปประกวด
          โอกาสเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2535 เมื่อจังหวัดสุพรรณบุรีหาตัวแทนคณะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นตัวแทนไปเล่นเพลงฉ่อยในการอบรมยุวกาชาดเอเชียแปซิฟิก ที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี ผมทำหน้าที่ฝึกหัดเพลงฉ่อยให้กับนักเรียน 15 คนไปทำการแสดงเด็ก ๆ ภาคภูมิใจในความสำเร็จกลับมา
          โอกาสเข้ามาอีกครั้ง เมื่อจังหวัดสุพรรณบุรีจัดการประกวดร้องเพลงอีแซวนักเรียนบนเวทีในงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์และงานกาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี  22-28 มกราคม 2538 ผมได้เข้าร่วมประชุมวางแผนกับคณะกรรมการจัดกิจกรรมการแสดงบนเวที เมื่อเดือนตุลาคม 2537 ในวันนั้นผมมีวงเพลงอีแซวในโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 แล้ว แต่ที่อื่น ๆ ไม่ทราบชัดเจนว่ามีใครฝึกหัดกันบ้าง เพราะผมทำงานเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่ปลายปี 2534 แต่มาเป็นรูปธรรมก็ปี พ.ศ. 2535-2554 (ปีที่ผมจะเกษียณอายุราชการไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้)
          เด็ก ๆ ในวงเพลงได้มีโอกาสขึ้นไปแสดงบนเวทีในระดับจังหวัดเป็นครั้งแรก เมื่อพวกเขาลงจากเวทีมา ความฮึกเหิมเอาจริงเอาจังก็ติดตามตัวมาด้วย ทำให้วงเพลงอีแซวของโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ตั้งหลักได้อย่างเหนียวแน่นในปี พ.ศ. 2538 ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ปรับเปลี่ยนชื่อวงเป็น “วงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ”  ใช้ชื่อนี้มาจนถึงวันนี้ วงใดจะใช้ชื่อนี้บ้างก็ไม่ขัดข้องแต่ว่าควรเติมต่อเลขข้างท้ายชื่อเป็น 2 3 4 หรือ 5 จะได้รู้ลำดับที่มา
          เกาะติดเวทีในตอนที่ 5 นี้ การแสดงเพลงอีแซวในงานสงกรานต์ ผมขอนำเสนอภาพการแสดงในบางสถานที่เพื่อที่จะชี้ให้เห็นขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีไทยในแต่ละท้องที่ซึ่งต่างก็จัดกันอย่างสวยงาม เวทีการแสดงก็มีการตกแต่งกันอย่างวิจิตรบรรจง ผลงานการแสดงที่ผมได้มีโอกาสนำคณะเพลงอีแซวไปร่วมงานใกล้บ้างไกลบ้างตามศรัทธาที่ได้รับ มีการแสดงที่วัด การแสดงในองค์กร อบต. เทศบาลและหน่วยงานต่าง ๆ สิ่งที่ผมบอกกับเด็ก ๆ นักแสดงเมื่อกลับไปถึงโรงเรียนว่า “เก็บภาพแห่งความทรงจำในวันนี้เอาไว้เพื่อที่จะได้คิดถึงวันสำคัญของชาติในวันข้างหน้า หรือในวันที่ไม่มีสิ่งดี ๆ อย่างนี้ให้ดูอีกแล้ว”
          งานเทศกาลสงกรานต์ได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิม คือจารีตประเพณีที่เกิดจากความเชื่อความศรัทธา มาถึงยุคปัจจุบันเกือบที่จะกลายเป็นการละเล่นของวัยรุ่นที่มุ่งความสนุกสนานจนน่ากลัวว่า จะเกิดอันตรายต่อผู้ที่มาร่วมกิจกรรมและผ่านไปมา (หากจะยกเอาตำนานสงกรานต์มาเล่าเดี๋ยวก็มีคนขัดแย้งอีก)  น้ำที่เคยสาดจากขันน้ำโดยใช้มือวักดีดออกไปอย่างบรรจงเพื่อขอพรและอวยพรจากผู้สูงอายุ กลายมาเป็นการสาดน้ำด้วยอุปกรณ์แบบใหม่มิใช่เพื่อขอพรแต่เป็นไปตามค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนแปลง
         

          

         (งานเทศกาลสงกรานต์ ที่เทศบาลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล  จังหวัดนครปฐม 13 เมษายน 2553)  
          
        (เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ถนนเณรแก้ว คูเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี วันที่ 12 เมษายน 2552)
         

 

         
            (เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ บนเวทีในงานเทศกาลสงกรานต์ ทำบุญกระดูก รวมญาติ ที่วัดดอนไร่ วันที่ 16 เมษายน 2552)
ประวัติสงกรานต์ไทย (ตัดเอามาบางส่วน)
ชำเลือง  มณีวงษ์ / ประพันธ์    (10 เมษายน  2543)
            เอ่อ  เอ่อ เออ… เอ่อ เอิง เอ้อ … เอ่อ เอิ้ง เอย…
         ภัทรกัปสมัย นานเท่าไร     สุดจะนับ   
         พระสุริยันย้ายขยับ           ขึ้นลงรำไร     
         จักราศีหมุนเวียน              เปลี่ยนทุกไตรมาศ
         หนาวร้อนไม่อาจ              ปฏิเสธได้
         ลมฝนประพรม                 มาชโลมพื้นดิน
         ล้างรอยมลทิน                 ให้หมดกลิ่นไอ
         สิ้นเดือนสี่ปีเก่า                ของเราละหนา    
         เมื่อมาถึงเดือนห้า             เป็นปีใหม่ไทย    
            สิบสามเมษายน            ผู้คนกลับบ้าน
         ไปร่วมงานสงกรานต์        ทำบุญปีใหม่
         รดน้ำให้พ่อแม่                ให้คนแก่คนเฒ่า 
         อีกทั้งคนหนุ่มคนสาว        ใส่เสื้อลายไทย
         มีการละเล่นพื้นบ้าน          สนุกสนานเหลือล้ำ    
         ไม่ถือสาหาความ              สาดน้ำอบไทย    
            ไม่ถือสาหาความ           สาดน้ำอบไทย
         มือก็ถือขันน้ำ                  นำมารดสาว ๆ
         ฝ่ายหญิงนั้นเล่า               ก็สาดน้ำใส่ชาย
         ทั้งแป้งหอมกระแจะจัน      ใส่ขันน้ำมา
         บรรจงสาดที่กายา            ให้ชุ่มฉ่ำหัวใจ
         น้ำที่สาดลงดิน                 จนได้กลิ่นไอร้อน
         เมื่อสมัยแต่ก่อน                มีตำนานขานไข
         ขอชี้แจงให้แจ้งชัด            ตามประวัติสงกรานต์   
         นำเอามาเล่าขาน              เป็นตำนานของไทย   
            ประชาชนทั้งหลาย        ให้เอาน้ำพรหมดิน
         ถ้าหากว่าหัวของพรหมกบิล   หล่นลงเมื่อไหร่       
         จะได้เอาน้ำดับไฟ             ที่จะไหม้โลกา
         มาช่วยกันรักษา               แผ่นดินไว้
         ดับกระหายคลายร้อน        ตอนเมษา
         เอาความเย็นเข้ามาหา      เอาน้ำใจมาให้
         ได้ทำบุญทำทาน             ในวันสงกรานต์บ้านนา
         ได้รดน้ำคนชรา               ปู่ย่า ตายาย
         รับไว้เป็นประเพณี            ที่มีความสำคัญ  (เอิง เงอ เอ้ย)  ที่สำคัญ
         เรียกว่า  วันสงกรานต์      พื้นบ้านไทย (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) พื้นบ้านไทย 
         เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว มุ่งที่จะนำเสนอภาพเก่า ๆ ต่างสถานที่ในกิจกรรมเดียวกัน เพื่อย้อนกลับไปมองถึงความงดงามของการจัดงานและการแสดงออกของเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่เคยลืมศิลปะการแสดงท้องถิ่นดั้งเดิม

 

ติดตามเพลงอีแซว ตอนที่ 6 เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว (เทศกาลปีใหม่)

หมายเลขบันทึก: 418977เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2011 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท