10. การประเมินบุคคลด้วยการสอบข้อเขียน : การสอบภาค ก.


10. การประเมินบุคคลด้วยการสอบข้อเขียน : การสอบภาค ก.

 

 

 

"การประเมินบุคคลด้วยการสอบข้อเขียน  :  การสอบภาค ก."

 

          จากการที่ผู้เขียนได้เขียนบันทึก เรื่อง “เครื่องแบบพิธีการของพนักงานราชการ พ.ศ. 2552”  และมีผู้เขียนถามในกระทู้ เกี่ยวกับเรื่อง การสอบบรรจุพนักงานราชการ กับการสอบบรรจุข้าราชการ นั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร?  ผู้เขียนได้อ่านบทความของ คุณภมรพรรณ  วงศ์เงิน ซึ่งเขียนเรื่อง  “การประเมินบุคคลด้วยการสอบข้อเขียน  :  การสอบภาค ก. ในหนังสือกระแสคน  กระแสโลก  จึงเห็นถึงความแตกต่างของการสอบพนักงานราชการและการสอบบรรจุข้าราชการ ที่จะสามารถนำมาเป็นคำตอบให้กับ  พนักงานราชการ (บางคน) ที่เกิดความสงสัย  เคลือบแคลงในการสอบบรรจุของทั้ง 2 ประเภท  เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง  ผู้เขียนจึงขอนำบทความของคุณภมรพรรณ  วงศ์เงิน มาชี้แจงให้กับพนักงานราชการได้ทราบ  ดังนี้  :

          การสอบในภาครัฐที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยนั้น  ก็คือ  การสอบภาค ก. ซึ่งเป็นการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ  ซึ่งดำเนินการโดย ก.พ. เป็นการประเมินบุคคลด้วยการสอบข้อเขียนถือว่าเป็นการประเมินบุคคลในขั้นตอนแรก  หากแต่ยังมีทั้งการประเมินความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง  (ภาค ข.) และการประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค.) อีกเช่นกัน

         สำหรับการสอบข้อเขียนในการประเมินภาคความรู้ความสามารถทั่วไป  (ภาค ก.) เป็นแบบวัดความสามารถทั่วไป (General Ability Tests)  ซึ่งจะวัดความสามารถทางสมองขั้นพื้นฐาน  เช่น  ภาษา  ตัวเลข  และทักษะการใช้เหตุผล  ทักษะเหล่านี้มีความจำเป็นและเป็นพื้นฐานสำหรับความสำเร็จในหลาย ๆ ตำแหน่งงาน

          อนึ่ง  การสอบข้อเขียนในการประเมินภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ซึ่ง ก.พ. เป็นผู้ดำเนินการนั้น  เป็นแบบทดสอบที่วัดความสามารถทางสมอง  ซึ่งจะช่วยเป็นตัวทำนายถึงศักยภาพและความสามารถในการเรียนรู้หรือพัฒนาต่อเพื่อให้เกิดความสำเร็จในอาชีพ  อีกทั้งการใช้แบบทดสอบข้อเขียนในลักษณะเช่นนี้จะช่วยให้การดำเนินการสอบเกิดความคล่องตัวมากขึ้น  โดยเฉพาะกับการสอบเข้ารับราชการที่มีผู้สมัครเป็นจำนวนนับแสนราย  ถือว่าเป็นการคัดกรองในเบื้องต้นโดยใช้การสอบข้อเขียน

          หากกล่าวถึงหลักสูตรการสอบความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ของ ก.พ. ที่ได้กำหนดไว้ในหนังสือเวียนสำนักงาน ก.พ. จะมีรายละเอียดของหลักสูตรและวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งประเภททั่วไป  ระดับปฏิบัติงานและตำแหน่งประเภทวิชาการ  ระดับปฏิบัติการ  ดังนี้  :

          การทดสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ให้ใช้วิธีการสอบข้อเขียน  ซึ่งประกอบด้วย

  • วิชาความสามารถทั่วไป  :  ทดสอบความสามารถทางด้านการคิดคำนวณ  การประยุกต์ใช้ความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์เบื้องต้น  การวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของจำนวนหรือปริมาณ  การแก้ปัญหาเชิงปริมาณและข้อมูลต่าง ๆ อีกทั้ง  ทดสอบ  ความสามารถด้านเหตุผล  การคิดหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงของคำ  ข้อความหรือรูปภาพ  การหาข้อยุติ  หรือข้อสรุปอย่างสมเหตุสมผลจากข้อความ  สัญลักษณ์  สถานการณ์หรือแบบจำลองต่าง ๆ

  • วิชาภาษาไทย  :  ทดสอบความเข้าใจภาษา  ความสามารถในการอ่านและการทำความเข้าใจกับบทความหรือข้อความที่กำหนดให้แล้วตอบคำถามที่ตามมาในแต่ละบทความหรือข้อความ  รวมทั้งการสรุปความและตีความ  อีกทั้ง  ทดสอบ  การใช้ภาษา  การเลือกใช้คำหรือกลุ่มคำ  การเขียนประโยคได้ถูกต้องตามหลักภาษาและการเรียงข้อความ

          จากหลักสูตรการสอบข้อเขียนในภาค ก. นั้นจะเห็นได้ว่า  ไม่ได้มุ่งเน้นการวัดเนื้อหาที่ซับซ้อนหรือเชิงเทคนิค  แต่เป็นการวัดเนื้อหาความรู้ขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เท่านั้น  อย่างไรก็ตามการเข้าบรรจุรับราชการของไทยนั้น  นอกจากจะต้องสอบภาค ก. แล้วยังมีการสอบในภาค ข. และ ภาค ค. อีกด้วย

          หากกล่าวถึงการสอบในภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข.) นั้น  คือ  การทดสอบความรู้ความสามารถที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่  โดยเฉพาะตามที่ระบุในกรอบการกำหนดตำแหน่ง  โดยส่วนใหญ่อาจใช้วิธีการประเมินจากการสอบข้อเขียน  การสอบปฏิบัติ  หรือวิธีอื่นใดก็ได้ที่สามารถประเมินความรู้ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตำแหน่งนั้น ๆ

                และขั้นตอนสุดท้ายของการสอบเข้ารับราชการ  ก็คือ  การสอบในภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค.) ซึ่งเป็นการประเมินบุคคลเพื่อพิจารณาความเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่จากประวัติส่วนตัว  ประวัติการศึกษา  ประวัติการทำงาน  จากการสังเกตพฤติกรรมที่ปรากฏของผู้เข้าสอบและจากการสัมภาษณ์  ซึ่งการสัมภาษณ์จะเป็นวิธีการประเมินในภาค ค. ที่นิยมใช้กันมาก โดยในขณะสัมภาษณ์จะพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ เช่น ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานในหน้าที่  ความสามารถ  ประสบการณ์  บุคลิกภาพ  การพูด  อุปนิสัย  อารมณ์  ทัศนคติ  จรรยาบรรณ  คุณธรรม  จริยธรรม  การปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงาน  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  ปฏิภาณไหวพริบ  เป็นต้น  นอกเหนือจากการสัมภาษณ์แล้ว  อาจใช้เครื่องมืออื่น ๆมาประกอบการพิจารณาด้วย  เช่น  แบบทดสอบด้านจิตวิทยาซึ่งเป็นแบบทดสอบที่ประเมินพฤติกรรม  คุณธรรมหรือค่านิยมของบุคคลนั้นด้วย

                การประเมินบุคคลด้วยการสอบข้อเขียนภาค ก. ซึ่งเป็นการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ  ดำเนินการโดย ก.พ. นั้น นับเป็นสนามสอบที่ใหญ่มากทีเดียวเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สมัครนับแสนราย การคัดกรองคนด้วยการใช้แบบทดสอบในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นนั้น  จึงถือว่าเป็นเครื่องมือขั้นแรกในการร่อนตะแกรงหาคนที่สามารถทำนายถึงพฤติกรรมและศักยภาพในการทำงาน นอกจากนั้นหากบุคคลใดสามารถผ่านตะแกรงแรกเข้ามาแล้วก็ต้องเข้าประเมินต่อในภาค ข. และภาค ค. ซึ่งเป็นเสมือนประตูด่านสำคัญเช่นกัน

                อย่างไรก็ตามการจะสร้างระบบราชการที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ข้าราชการเป็นบุคลากรที่สำคัญยิ่ง ที่ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ ดังนั้น ไม่ว่าบุคคลใดที่ได้เข้ามาสู่ระบบราชการแล้ว  ต้องปฏิบัติงานแบบมืออาชีพ  ต้องปรับปรุงและพัฒนาแนวคิดและพฤติกรรมการปฏิบัติงานอยู่เสมอ  เพื่อให้ระบบราชการไทยเข้มแข็งและเป็นฐานที่แข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น  ในการที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่เวทีแห่งสังคมโลกอย่างสง่างามและภาคภูมิ...

 

ที่มา  :  ภมรพรรณ  วงศ์เงิน  หนังสือกระแสคน  กระแสโลก  สำนักงาน ก.พ.

หน้า  113 – 116  เล่ม  5  กันยายน  2553

(เปิดโลกความรู้  พัฒนาทุนมนุษย์)

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ วันที่  8 – 14  พฤษภาคม 2552

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 416791เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2010 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท