เล่าเรื่องวรรณคดีไทย กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร


กาพย์เห่เรือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร มีลักษณะเป็นวรรณคดีนิราศเพราะมีลักษณะที่สำคัญ คือ มีการเดินทางจากที่หนึ่ง ไปยังอีกที่หนึ่ง มีการจากนางผู้เป็นที่รัก มีการคร่ำครวญพรรณนาความรู้สึกระลึกถึงนางที่จากมา มีการชมธรรมชาติระคน กับการคร่ำครวญ และมีการเปรียบเทียบอารมณ์กวีกับตัวเอกในวรรณคดีตรงตามความเห็นของนักวรรณคดีเกี่ยวกับลักษณะของหนังสือนิราศ

              เห่ชมกระบวนเรือประกอบด้วยโคลง 1 บท กาพย์ยานี 14 บท เป็นการกล่าวถึงเรือกระบวนพยุหยาตราทั้งเรือพระที่นั่ง เรือพระบรมวงศานุวงศ์ เรือขุนนางข้าราชการ เรือกระบวนในพยุหยาตรา ได้แก่ เรือครุฑจับนาค (ครุฑยุดนาค) เรือไกรสรมุข เรือศรีสรรถชัย เรือสุพรรณหงส์ เรือชัย เรือคชสีห์ เรือราชสีห์ เรือม้า เรือสิงห์ เรือนาควาสุกรี เรือมังกร เรือเลียงผา เรืออินทรี ทรงพรรณนาความวิจิตรงดงามของเรือต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้ง แสดงให้เห็นถึงแสงยานุภาพของกระบวนเรือพยุหยาตรา

                เห่ชมปลา ชมนก และชมไม้ มีลักษณะคล้ายนิราศ โดยสอดแทรกการรำพึงรำพันถึงนางอันเป็นที่รัก ในชมปลา ประกอบด้วยโคลง 1 บท กาพย์ยานี 14 บท ได้นำปลา 17 ชนิด  ได้แก่  นวลจันทร์  ตะเพียน  ปลาทุก  หางไก่  แมลงภู่  คางเบือน  กระแห  น้ำเงิน  ปลาสร้อย  หวีเกศ  แปบ  เนื้ออ่อน   แก้มช้ำ  ปลากราย  ปลาเสือ  แขยง   เป็ฯการชมความงามของปลาชนิดต่างๆ เปรียบเทียบกับความงามของนาง  และ ระลึกถึง

                เห่ชมไม้  ประกอบด้วยโคลง 1 บท  กาพย์ยานี  12  บท ทรงพบเห็นดอกไม้ และพรรณไม้  17  ชนิด  ดังนี้  นางแย้ม  สุกรม  ลำดวน  จิก  จำปา  สายหยุด  แต้ว  จวง  ประยงค์  พุทธชาด  แก้ว  พุดจีบ  บุนนาค  กาหลง  พิกุล  เต็ง  มะลิวัลย์  นำมาพรรณนาชมพรรณไม้ดอกไม้ชนิดต่างๆ  ถึงความหอมจากกลิ่นดอกไม้เปรียบเทียบความงามของนางและความระลึกถึงงานฝีมือที่นางเคยทำให้เก็บไว้เชยชม  โดยพรรณนาอย่างซาบซึ้ง

                เห่ชมนก  ประกอบด้วยโคลง  1  บท  กาพย์ยานี  12 บท  เป็นการชมนกชนิดต่างๆ  10  ชนิด  ได้แก่ นกยูง  สาลิกา  แก้ว แขกเต้า  โนรี   สร้อยทอง  นางนวล  ไก่ฟ้า  ดุเหว่า  สัตวา  มาพรรณนาความเดียวดายของตนเองที่ไม่ต้องการจากนางอันเป็นที่รักเปรียบเที่ยบความงามของนางและความระลึกถึงนางเมื่อครั้งที่อยู่เคียงกัน

                การพรรณนาการเดินทางนั้นดำเนินเรื่องได้สัมพันธ์กับเวลา  1  วัน  คือ  เวลาเช้า  ชมกระบวนเรือ  เวลาสาย  ชมปลา  เวลาบ่าย  ชมไม้  เวลาเย็น  ชมนก  เวลาค่ำ  บทเห่ครวญถึงนางอันเป็นที่รัก 

                นอกจากนี้ ยังมีบทเห่เรือกากี  ประกอบด้วยโคลง 3 บท  กาพย์ยานี  28  บทซึ่งตัดตอนมาจากเรื่อง  กากี  ตั้งแต่ตอนพญาครุฑลอบมาหานางกากีในประสาท  เป็นบทเกี้ยวพาราสีของครุฑ  และบทตัดพ้อต่อว่าของนางกากี  จบลงด้วยบทเห่สังวาสและเห่ครวญ  เป็นบทบรรยายความรักความอาลัยที่กวีต้องจากนางมา  ประกอบด้วยโคลง 4 บท  กาพย์ยานี  28  บทแล้วจบลงด้วย  สวะเห่  อันเป็นบทขับชนิดหนึ่ง

                ศรีธันว์  อยู่สุขขี (2546, หน้า  30) กล่าวเล่าเรื่องในวรรณคดีไทยกาพย์เห่เรือ  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรกล่าวว่า  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงบรรยายถึงความงามของกระบวนเรือพรรณนาธรรมชาติที่ทรงพบเห็นระหว่างทางมีต่อนางโดยความเศร้าก็ดี  ความทุกข์ทรมานทั้งหลายก็ดี  สิ่งที่ชวนให้ระลึกถึงนางก็ดี  ล้วนเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงรู้สึกด้วยพระทัยจริง เป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นประสบการณ์ของพระองค์เองทั้งสิ้น  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไม่ทรงบรรยายชีวิตผู้คนชาวอยุธยาซึ่งทำมาหากินอยู่ในบ้านเมืองตามปกติ  แต่ทรงบรรยายถึงชีวิตที่ต้องเดินทาง  ซึ่งเป็นชีวิตที่น่าสนใจไม่น้อย ต่อมากวีในสมัยหลัง  นิยมใช้คำประพันธ์ประเภทกาพย์เห่เรือตามแบบของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร

 


 

อ้างอิง 

ศรีธันว์ อยู่สุขขี. (2546). เล่าเรื่องวรรณคดีไทย กาพย์เห่เรือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร.

                   กรุงเทพฯ : แม็ค.

 

หมายเลขบันทึก: 416501เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2010 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2012 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คืออยากรู้ว่าวรรณคดีไทยเรื่องไหนบ้างที่แต่งด้วยคำประพันธ์คล้ายกับกาพย์เห่เรือค่ะ ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท