การตัดสินใจรักษาหรือไม่รักษา ไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้ป่วยเพียงอย่างเดียวซะแล้ว ...


ถ้าพูดถึงเรื่องคิวฉายแสงที่ศูนย์มะเร็งอุดรฯ สำหรับผู้ป่วย ญาติ และผู้ที่อยู่ในวงการ จะทราบกันดีว่าเป็นคิวทองจริงๆ คือจำนวนผู้ป่วยมีมาก รังสีแพทย์มีน้อย เจ้าหน้าที่ทางรังสีรักษาก็มีน้อย เครื่องฉายแสงของเรามีเพียง ๒ เครื่อง ทำให้เรารับผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ได้จำกัด เนื่องจากระยะเวลาการรักษาด้วยรังสีนั้น ผู้ป่วยแต่ละรายต้องได้รับการฉายรังสีติดต่อกัน ๕ วัน พัก ๒ วัน ต่อสัปดาห์เป็นเวลาประมาณ ๖-๘ สัปดาห์ ทำให้เมื่อรับผู้ป่วยรายใหม่เข้ามา ผู้ป่วยเก่าที่ยังคงฉายไม่ครบก็ยังอยู่ เครื่องฉายแสงแต่ละเครื่องจะรับผู้ป่วยได้จำกัด ทำให้เมื่อรับได้จำกัดแต่มีผู้ป่วยจำนวนมากที่โรงพยาบาลในเครือข่ายทั้ง ๙ จังหวัดในภาคอีสานเหนือส่งตัวมา จึงต้องมีการนัดคิวฉายแสงค่ะ และคิวฉายแสงก็จะยาวออกไปเรื่องๆเมื่อมีจำนวนผู้ป่วยที่ส่งตัวมาในแต่ละวันมากขึ้น และด้วยเหตุที่คิวฉายแสงยาวนี้เองทำให้พยาบาลหน้าห้องตรวจต้องให้ข้อมูล อธิบาย ตอบคำถามกับผู้ป่วยและญาติในแต่ละครั้งนั้นต้องใช้เวลานานพอสมควรค่ะ
 
หนึ่งเกริ่นเรื่องคิวฉายแสงมาซะยืดยาว เพราะเมื่อวาน (๒๑/๑๒/๕๓) มีเหตุการณ์ที่ทำให้หนึ่ง งง อึ้ง แปลกใจ หลากหลายมากเลยทีเดียวค่ะ คือ หนึ่งพบกับผู้ป่วยและญาติรายนึง หนึ่งขอเรียกผู้ป่วยท่านนี้ว่าคุณยายนะคะ คุณยายท่านนี้ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก ที่ได้คิวนัดฉายแสง (คิวทองที่ใครๆก็อยากได้) คือเมื่อวานนี้ ผู้ป่วยและญาติก็มาตามนัดปกติค่ะ หยิบบัตรคิวอย่างดี ชั่งน้ำหนัก วัดสัญญาณชีพ ตามปกติ น้องหมุย พยาบาลในแผนกเรียกผู้ป่วยมาซักประวัติเพื่อทำแฟ้มฉายรังสี ทำแฟ้มเรียบร้อย กำลังจะส่งผู้ป่วยไปตรวจสอบสิทธิ์และเจาะเลือด และให้คำแนะนำเรื่องระยะเวลาการรักษา ปรากฏว่า หลังจากคุณตารับโทรศัพท์ คุณตา(สามีของผู้ป่วย)ที่นั่งอยู่ข้างๆก็บอกว่า "ไม่รักษา จะกลับบ้านแล้ว ยากหลาย มีหลานเล็กๆที่บ้านไม่มีใครดู ถ้าให้ยายมาอยู่โรงบาลใครจะเอาหลาน" น้องหมุยพยายามอธิบายถึงผลดีผลเสียของการรักษาและไม่รักษา แต่ดูท่าทางคุณตาไม่สนใจจะพาคุณยายกลับท่าเดียวเลยค่ะ แต่คุณยายดูเหมือนจะอยากรักษา ในที่สุดคุณตาก็เป็นฝ่ายชนะ ลุกขึ้นดึงมือคุณยายเดินออกจากแผนกไป (ทำเอาน้องๆพยาบาลทุกคนที่ได้ยินถึงกับอึ้งไปเลยค่ะ งงมากที่อยู่ๆก็จะไม่รักษาซะงั้น ทั้งที่มีแต่ผู้ป่วยอยากได้คิวฉายรังสีเร็วๆทั้งนั้น นี่ถึงคิวแล้ว กำลังจะได้ตีเส้นฉายแสงอยู่แล้ว แต่ไม่ได้รักษาเพราะสามีผู้ป่วยไม่ให้รักษาเนี่ยนะ) น้องหมุยมาเล่าให้หนึ่งฟังว่าเจอเคสแบบนี้ หนึ่งเลยขอคุยก่อนที่จะให้คุณตาคุณยายกลับบ้านไปค่ะ โทรเข้ามือถือ(เบอร์ที่คุณยายให้ไว้ตอนซักประวัติค่ะ) บอกว่าขอให้กลับมาก่อนและต้องมีการเซ็นต์เอกสารหากผู้ป่วยจะปฏิเสธการรักษาค่ะ แหะๆ คุณตาคุณยายก็เดินกลับมาอีกครั้ง หนึ่งเลยชวนไปคุยในห้องให้คำปรึกษา
เมื่อการพูดคุยผ่านไประยะนึง หนึ่งจึงพบว่าคุณตาและคุณยายเวลาไปไหนจะไปด้วยกันตลอดค่ะ คุณยายจะเป็นคนขี้หลงขี้ลืม ทำให้คุณตาเป็นห่วงและปล่อยไปคนเดียวไม่ได้ เวลาคุณยายป่วยคุณตาก็จะเข้าไปในห้องตรวจด้วยทุกครั้งเพื่อฟังคุณหมอแนะนำค่ะ แต่พบว่าคุณตาและคุณยายยังไม่รู้ว่าตอนนี้คุณยายป่วยเป็นโรคมะเร็ง คุณตาบอกหนึ่งว่าก่อนหน้านี้ประมาณสี่เดือน คุณยายมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน ทำให้ตกใจมากและไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แพทย์ขูดมดลูกให้ แล้วนัดฟังผล หลังขูดมดลูกอาการเลือดออกก็หายไป วันฟังผลคุณตาและคุณยายบอกว่าหมอไม่ได้แจ้งผลอะไร ไม่ได้บอกว่าป่วยเป็นโรคอะไร แต่ให้ตรวจหลายอย่าง เจาะเลือด ฉีดสี ส่องกล้อง CT scan เป็นต้น และเขียนใบส่งตัวพร้อมฟิล์มและผลการตรวจต่างๆให้มาศูนย์มะเร็งอุดรฯ .. คุณยายบอกว่า ก็สงสัยเหมือนกันว่าถ้าไม่ได้เป็นอะไรทำไมต้องส่งตัวมาศูนย์มะเร็งด้วย แต่หมอเค้าก็ไม่ได้บอกอะไร นึกว่าส่งตัวมาให้ตรวจเช็คเฉยๆ
อีกปัญหาสำคัญที่คุณตาและคุณยายบอกว่า "ยากหลาย" คือหลานตัวน้อยอายุ ๒ ขวบที่คุณยายเลี้ยงมาตั้งแต่เกิด (หนึ่งถามถึงแม่ของหลานคุณตาบอกว่าแม่ไม่เลี้ยง หลานเกิดมาไม่แข็งแรง ต้องเข้าโรงพยาบาลตั้งแต่เล็กๆมาตลอด) หลานคนนี้ตอนนี้ติดคุณยายคนเดียว ไม่เอาคนอื่นเลยแม้แต่คุณตาหรือแม่แท้ๆก็ไม่ยอมอยู่ด้วย ถ้าไม่เห็นหน้าคุณยาย หลานจะร้องไห้ไม่หยุด คุณตา คุณยายเป็นห่วงหลานมาก และที่บอกว่ายากหลายคือการฉายแสงต้องฉายนานเป็นเดือนกว่าๆ คุณตากับคุณยายบอกตรงกันว่าถ้าต้องนอนโรงพยาบาลคงไม่ได้แน่ แต่หนึ่งก็มีทางเลือกให้อีกทางค่ะ คือการฉายแสงแบบไป-กลับ คุณตา คุณยายเริ่มหยุดคิด เมื่อหนึ่งสอบถามว่าจะมีหนทางไหนที่จะช่วยให้คุณยายได้รับการรักษา และหลานก็ไม่ขาดความรักความอบอุ่นจากคุณยายด้วยหรือไม่ คุณตาเสนอว่า ถ้าคุณตาเป็นคนขับรถพาคุณยายมา และพาหลานมาด้วย พอฉายแสงเสร็จก็พากันกลับ น่าจะเป็นไปได้มากกว่า หนึ่งก็คิดว่า น่าจะเป็นไปได้ค่ะ แต่แล้วจู่ๆก็มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น คุณตาขอออกไปรับโทรศัพท์ข้างนอก คุณยายคุยกับหนึ่งต่อ ไม่นานนักคุณตากลับเข้ามาด้วยสีหน้าเคร่งเครียด มีอาการลุกลี้ลุกลน ไม่เหมือนตอนแรกที่คุยกันค่ะ ดูเหมือนรีบๆไม่ค่อยอยากคุย ไม่ค่อยอยากทำอะไรแล้ว ในที่สุดคุณตาก็บอกมาว่าลูกสาว(แม่ของหลาน)โทรมาบอกว่าหลานตัวน้อยของคุณตาคุณยายร้องไห้ไม่ยอมหยุดตั้งแต่ตื่น ทำให้คุณตาอยากกลับบ้านแล้วค่ะ ยืนยันว่าวันนี้ขอกลับบ้านก่อน วันหน้าค่อยมารักษา ไปดูหลานก่อน หันไปมองคุณยายว่าถ้าอยากรักษาก็อยู่ไปคนเดียวนะ(ประชดคุณยาย) จะกลับแล้ว แล้วก็ลุกเดินออกไปเลยค่ะ...
หนึ่งเริ่มเข้าใจแล้วค่ะ ว่าทำไมคุณตาถึงแสดงกิริยาที่ค่อนข้างก้าวร้าวเมื่อน้องหมุยอธิบายเรื่องโรคมะเร็งและการรักษา
เหตุเพราะคุณยาย(ตัวผู้ป่วย) และคุณตา(ญาติผู้ดูแล) ไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนรับการรักษานี่เองทำให้ไม่ว่าจะอธิบายอะไรยังไงคุณตาก็ไม่รับฟังใดๆ
สรุปเคสคือคุณตาจะขอกลับบ้านก่อนในวันนี้ ส่วนคุณยายใจจริงนั้นอยากอยู่รักษาเลยเพราะเข้าใจแล้วว่าคิวฉายแสงยาวมาก การดำเนินไปของโรคก็ยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ และต้องการรักษาให้เรียบร้อย แต่คุณยายบอกหนึ่งว่า ไม่อยากผิดใจกับคุณตา ทำให้คุณยายตัดสินใจขอกลับบ้านไปพร้อมคุณตาก่อน แต่คุณตาคุณยายจะกลับมาใหม่เมื่อเคลียร์ปัญหาทางบ้านเรียบร้อยแล้วค่ะ
สิ่งที่หนึ่งได้เรียนรู้จากกรณีนี้
๑.การบอกความจริง โดยเฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็ง ที่ต้องรับการรักษาระยะยาวนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำตั้งแต่การรับฟังผลชิ้นเนื้อ (ควรมีการเข้ารับคำปรึกษาก่อนและหลังการตัดชิ้นเนื้อ) เพื่อผู้ป่วยได้เตรียมตัวมารับการรักษาที่ต้องใช้ระยะเวลารักษายาวนานต่อเนื่อง
๒.อย่าเพิ่งด่วนตัดสินบุคคลเพียงเพราะกิริยาก้าวร้าวในการพบกันครั้งแรกเพียงแค่นั้น ทุกคนทุกครอบครัว มีบริบทที่แตกต่างกัน การกระทำ คำพูด กิริยา เพียงแค่ช่วงเวลาที่เราพบเจอนั้น อาจไม่ใช่ในสิ่งที่เป็น (ในกรณีนี้วูบแรกที่หนึ่งได้ยินคุณตาไม่ยอมให้คุณยายรักษาทั้งที่คุณยายอยากรักษา หนึ่งรู้สึกติดเครื่องหมายกากบาทที่หน้าคุณตาไว้ก่อนเลยค่ะ แหะๆ แต่เมื่อได้พูดคุยและรับรู้ความเป็นมาเป็นไปของทั้งคุณตาและคุณยาย ก็พอจะเข้าใจถึงความรักที่คุณตาและคุณยายมีต่อกัน เพียงแค่อาจยังทำตัวไม่ถูก อาจยังอยู่ในระยะปฏิเสธเมื่อรับรู้ข่าวร้าย ฯลฯ)
๓.อย่านำความคิดของตนเองที่คิดว่าสิ่งนี้น่าจะสำคัญควรทำก่อน สิ่งนั้นน่าจะรอได้ มาตัดสินแทนผู้ป่วย บางครั้งสิ่งที่เจ้าหน้าที่คิด ตัดสินว่าสำคัญ อาจสำคัญก็จริงแต่ผู้ป่วยอาจมีเรื่องที่สำคัญเร่งด่วนยิ่งกว่าที่ต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อน สิ่งที่เราควรทำคือ ให้ข้อมูลทั้งข้อดี ข้อเสีย สถานที่ติดต่อ วันเวลาที่ติดต่อได้ ให้กำลังใจ แสดงความเข้าใจ และรับฟังปัญหา ให้เวลา ให้โอกาสผู้ป่วยและญาติตัดสินใจ
การรักษาโรคมะเร็ง ต้องรีบรักษาก็จริง แต่กรณีนี้หากรีบรักษาแล้วกลับไปบ้านพบว่า หลานตัวน้อยอันเป็นที่รักดังแก้วตาดวงใจของทั้งคุณตาคุณยายเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา หรือหากรีบรักษาซะวันนี้แต่ต้องผิดใจกับคุณตา สามีอันเป็นที่รักที่อยู่กินร่วมทุกข์ร่วมสุข ไปไหนไปกัน มานานหลายสิบปี เกิดปัญหาครอบครัวในภายหลัง ก็คงไม่คุ้มแน่ๆค่ะ
ขอเป็นกำลังใจให้คุณยาย คุณตา และครอบครัว ก้าวผ่านพ้นช่วงเวลาสำคัญนี้ไปได้ด้วยดี พร้อมรับการรักษาเมื่อไหร่กลับมาหาเราอีกครั้งนะคะ ^^

 

ขอขอบคุณ

ภาพประกอบจาก internet

กรณีศึกษา คุณตา คุณยาย

ทุกๆท่านที่แวะมาอ่าน ให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะ ร่วมแสดงความคิดเห็นค่ะ ^^

หมายเลขบันทึก: 415879เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2010 00:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีปีใหม่ค่ะพี่ครูกาญ

ขอบคุณมากๆค่ะสำหรับพรปีใหม่ที่มาพร้อมกับดอกทานตะวันสวยๆ ^^

สวัสดีปีใหม่ค่ะคุณธนิตย์

ขอบคุณมากๆค่ะสำหรับการ์ดปีใหม่

น้ำตกเจ็ดสาวน้อยหนึ่งยังไม่เคยไปเลยค่ะ สวยงามมากๆ ^^

กว่าจะได้คิวฉายแสงนั้น ยากจริงๆค่ะ คุณหนึ่ง...แต่การที่จะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวตัดสินใจรับการฉายแสงนั้นมันก็ยากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลยนะคะสำหรับผู้ป่วยบางราย เคยมีผู้ป่วย local recuurent CA colon เชียร์ให้ไปฉายแสง ได้คิวแล้ว แต่ก็ตัดสินใจยกเลิกเสียงั้นน่ะค่ะ...เห็นด้วยที่มีหลายปัจจัยมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ป่วยค่ะ ทั้งความพร้อมของครอบครัว ภูมิหลังชีวิตของผู้ป่วยเอง หรือแม้แต่กระบวนการบริการของสถานบริการเองก็ตามค่ะ...เคยมีผู้ป่วยหลายรายบอกว่าอยากจะยกเลิกการรักษาเสียให้รู้แล้วรู้รอด เพราะเมื่อมาตามนัดฉายแสงก็ถูกบอกเลื่อนแล้วเลื่อนอีกหลายต่อหลายครั้ง ยิ่งเป็นผู้ป่วยที่ต้องเดินทางมาจาดกต่างจังหวัดด้วยแล้ว...ท้อแท้ไปก็มากค่ะ...เป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วย รวมทั้งคุณหนึ่งและทีมงานด้วยนะคะ...

สวัสดีค่ะพี่ไพรินทร์

ขอบคุณมากค่ะสำหรับกำลังใจ^^

สำหรับกรณีที่มีการเลื่อนนัดฉายแสงนั้นอาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณีค่ะ เช่นเครื่องฉายแสงเกิดขัดข้องจากระบบไฟฟ้าและต้องรอช่าง หรือรอสั่งอุปกรณ์บางอย่างมาจากต่างประเทศ หรืออาจต้องเลื่อนนัดกรณีรังสีแพทย์ต้องเดินทางไปประชุมที่ต่างจังหวัดด่วน เป็นต้น ทางศูนย์มะเร็งอุดรฯจึงต้องขอเบอร์โทรฯที่จะสามารถติดต่อได้เอาไว้ทุกครั้งที่เราให้บัตรนัดกับผู้ป่วยไปค่ะ หากสามารถโทรแจ้งได้ทัน ผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลาในการเดินทางมา แต่หากเบอร์โทรติดต่อที่ให้ไว้ไม่สามารถติดต่อได้จริงๆ เราจะส่งเป็นไปรษณียบัตรไปเลื่อนนัดค่ะ (ซึ่งอาจล่าช้าได้เหมือนกัน แต่ก็ดีกว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลยค่ะ ^^) ทุกๆปัญหาที่พบเรานำมาปรับปรุงและพัฒนาเพื่อผู้ป่วยได้รับบริการที่ดีที่สุดค่ะ ^^

มาถึงวันนี้ หนึ่งและน้องๆในแผนกดีใจมากที่เห็นคุณตาพาคุณยายกลับมาขอรับการฉายแสงแล้วค่ะ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท