เยาวชนร่วมเดินเคาะประตูบ้านเพื่อป้องกันและยับยั้งเอดส์


ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โรคเอดส์ทำให้ชุมชนเล็ก ๆ อย่างชุมชนบ้านเกาะเรียน-ปากพลี รวมกลุ่มเยาวชน แกนนำเยาวชนเพื่อเคาะประตูบ้านทุกครัวเรือนในชุมชนเพื่อบอกกล่าวให้ตระหนัก และเสนอปัญหาโรคเอดส์สู่ทุกครัวเรือนพร้อมการประชาสัมพันธ์การแก้ปัญหาในระดับชุมชนด้วยตนเอง

     ภูมิใจ และดีใจมากที่เยาวชนบ้านเกาะเรียน-บ้านปากพลี ได้จัดทำกิจกรรมดี ๆ แม้จะผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว ผมเป็นเพียงคนหนึ่งซึ่งเป็นคนนอก และมีโอกาสได้เข้าไปทบทวนเขาเหล่านั้น เพื่อเป็นการเสริมพลัง และสร้างความไว้ใจคนนอกให้เกิดขึ้น และกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ชุมชนนี้โดนทำร้ายจากนักพัฒนาฯ มาแล้วครั้งหนึ่งตามการรับรู้ของเขา การถ่ายทอดออกไปนี้ ผมจึงเป็นเพียงสื่อกลางให้เท่านั้น คุณูปการใด ๆ ที่เกิดขึ้นยกให้เยาวชน และคนเกาะเรียน-ปากพลีทั้งหมด และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกถอดออกมาเป็นตัวหนังสือโดยทีมเยาวชนเอง ทั้งสรุปเอง ทั้งพิมพ์เอง ตามลักษณะจตุปุจฉา

โครงการการเดินรณรงค์เคาะประตูบ้านป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์
ชุมชนบ้านเกาะเรียน-บ้านปากพลี ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง

โดย สายชล   ขวัญปลอดและทีมงานกลุ่มเยาวชนชุมชนบ้านเกาะเรียน- บ้านปากพลี
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเยาวชน สถานีอนามัยบ้านเกาะเรียน ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง

ทำไม ?   ต้องมีการจัดทำโครงการการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์   
     โรคเอดส์เป็นสถานการณ์ของปัญหาที่สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อสังคม เศรษฐกิจและสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ของมวลมนุษย์  มีผู้ติดเชื้อเอดส์เพิ่มขึ้นมากเป็นทวี โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา ไม่เว้นแม้ประเทศที่พัฒนาแล้ว  เพราะเหตุที่ระบบสาธารณสุขไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ขาดกำลังคนที่เพียงพอต่อการจัดการกับปัญหา รวมถึงการขาดองค์ความรู้ที่แท้จริง  ขาดแนวร่วมในการขับเคลื่อนในระดับรากหญ้าของเหล่าสมาชิกในชุมชน และในหลาย ๆ กรณี ก็มักจะขาดความเอาใจใส่อย่างจริงจังในการปฏิบัติงานของบุคลากรจากทุกภาคส่วน จึงส่งผลให้ประชาชนในท้องถิ่นไม่สามารถจัดการกับการระบาดของโรคเอดส์ที่รุกคืบหน้าสู่ครัวเรือนได้  เป็นความพ่ายแพ้ของสังคมร่วมกันที่ไม่อาจขับเคลื่อนไปข้างหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้  ด้วยสถานการณ์โรคเอดส์ที่เป็นอยู่และมีอยู่จริง การปฏิเสธหรือการไม่ใส่ใจต่อสถานการณ์โรคเอดส์ของชุมชน จะยิ่งสร้างปัญหาทับซ้อนขึ้นมาอีก จนยากที่จะเยียวยาหรือขจัดออกไปได้ หรือลดขนาดของปัญหาลงได้  สิ่งเดียวที่สังคมในชุมชนพอจะทำได้   คือเรียนรู้อย่างถ่องแท้ที่จะอยู่กับปัญหาที่กล่าวไว้ข้างต้น แล้วค่อย ๆ สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ทางปัญญา เพื่อรอความสำเร็จของการสร้างภูมิคุ้มกันทางร่างกายที่กำลังศึกษากันอยู่ ซึ่งคงจะสำเร็จได้โดยใช้เวลาอีกนานมาก การกระตุ้นเตือนให้สังคมสร้างกระบวนการเพื่ออยู่กันได้กับโรคเอดส์ จึงน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในปัจจุบันนี้
     ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โรคเอดส์ทำให้ชุมชนเล็ก ๆ อย่างชุมชนบ้านเกาะเรียน-ปากพลี รวมกลุ่มเยาวชน แกนนำเยาวชนเพื่อเคาะประตูบ้านทุกครัวเรือนในชุมชนเพื่อบอกกล่าวให้ตระหนัก และเสนอปัญหาโรคเอดส์สู่ทุกครัวเรือนพร้อมการประชาสัมพันธ์การแก้ปัญหาในระดับชุมชนด้วยตนเอง ด้วยเหตุเพราะสมาชิกที่เป็นเยาวชน จำนวน 2 คน ได้เสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโรคเอดส์ (ไม่นับรวมจำนวนผู้ที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดอีกเป็นจำนวนมาก) และรู้ดีว่าทุกครอบครัวในชุมชนกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ นี่คือแรงกดดันที่ทำให้เยาวชนในชุมชนเล็ก ๆ กลุ่มเล็ก ๆ อย่างพวกเรา พยายามรวมตัวเพื่อเรียนรู้ไปสู่การปฏิบัติในการแก้ปัญหาของชุมชนบ้านเกิดอันเก่าแก่ด้วยตนเอง ตามแนวทางการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนภายใต้การสนับสนุนองค์ความรู้การสร้างเครือข่ายของสถานีอนามัยบ้านเกาะเรียน  การสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมของสภาลานวัดตะโหมด  การช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกของภาคการเมืองเทศบาลตำบลตะโหมด  การให้กำลังใจอย่างอบอุ่นและต่อเนื่องของผู้อาวุโสในชุมชนและการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการโครงการของกองทุนโลก (Global Found)   สามารถทำให้เยาวชนอย่างพวกเราแสดงออกเพื่อนำเสนอขบวนการเรียนรู้ที่ทุกคนในชุมชนจะต้องเข้าใจและนำไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในระดับครัวเรือน อาจเป็นการจุดประกายความฝันเพื่อเริ่มต้นของการขับเคลื่อนพลังเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ส่งผลสู่การเปลี่ยนแปลงต่อสถานการณ์โรคเอดส์ในระดับประเทศต่อไป

ความคาดหวังของเยาวชนกับการแก้ปัญหาโรคเอดส์มีอะไรบ้าง
     1. เพื่อให้กลุ่มเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ไปเผยแพร่แก่บุคคลอื่น ๆ ในชุมชนได้
     2. เพื่อให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์และสามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยในชุมชนได้

มีการดำเนินงานกันอย่างไร
     1.  คัดเลือกสมาชิกกลุ่มแกนนำ โดยการคัดเลือกจากเยาวชนในชุมชนที่มีความสนใจ  มีความพร้อมและเสียสละเวลามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้  โดยแรกกลุ่มเยาวชนไม่ค่อยให้ความสนใจเพราะไม่เห็นความสำคัญและมองปัญหาเรื่องโรคเอดส์เป็นเรื่องไกลตัว  ต่อมาในระยะหลังมีผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเป็นสมาชิกในชุมชน  ก่อให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเหล่านั้นจากสมาชิกในชุมชน  ดังนั้นทางกลุ่มแกนนำจึงได้มีการรวมกลุ่มกันอีกครั้งเพื่อหาคำตอบให้กับคำถามจากสมาชิกในชุมชน  โดยรวบรวมแกนนำเยาวชนและหาแนวร่วมในการดำเนินโครงการและจัดทำโครงการดังกล่าว
     2.  ประชุมกลุ่มแกนนำเพื่อระดับความคิด ค้นหาปัญหาเกี่ยวกับโรคเอดส์และแนวทางในการแก้ไขปัญหา  มื่อรวบรวมกลุ่มแกนนำเยาวชนที่สนใจได้แล้ว  ทางกลุ่มก็ได้มีการนัดพบปะกลุ่มโดยนัดพบปะสมาชิกเดือนละ  1   ครั้ง   ที่สถานีอนามัยบ้านเกาะเรียน  เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  ระดมความคิด   รวบรวมปัญหา  และแนวทางในการดำเนินโครงการ  โดยมีเจ้าหน้าที่ในสถานีอนามัยบ้านเกาะเรียนเป็นที่ปรึกษา  และทางแกนนำเยาวชนได้เชิญชวนสมาชิกในชุมชนให้เห็นความสำคัญและเข้าร่วมเป็นสมาชิกในการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น  ทำให้ทางกลุ่มเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งและมีความพร้อมในการดำเนินการเพิ่มมากขึ้น
     3.  ประสานงานกับแกนนำระดับอำเภอ มีการนัดประชุมทีมงานระดับอำเภอ  ตำบล  และตัวแทนกลุ่มเยาวชนเข้าประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานตามโครงการและเพื่อแบ่งงานการดำเนินงานของแต่ละส่วนเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงานและในขั้นตอนนี้เองที่ประสบกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานเนื่องจากตัวแทนระดับอำเภอไม่ได้ให้ความร่วมมือในการประสานงาน และไม่ได้นำข้อมูลข่าวสารที่รับมาบอกกล่าวและเผยแพร่แก่ทีมงานทำให้การประสานงานระหว่างทีมระดับตำบลกับระดับอำเภอติดขัดส่งผลให้การดำเนินงานโครงการล่าช้า
     4.  ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางทีมงานระดับตำบลกับทีมเยาวชนได้ประสานงานขอความร่วมมือกับหน่วยงานในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลตำบลตะโหมด สถานีอนามัยบ้านเกาะเรียน  โดยให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง  ๆ  ดังนี้
        เทศบาลตำบลตะโหมด -ให้การสนับสนุนโต๊ะ  เก้าอี้  และอุปกรณ์ในการอบรม, -นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลตะโหมดให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดการอบรม และเดินรณรงค์, -รถยนต์นำขบวนในการ เดินรณรงค์,
        สถานีอนามัยบ้านเกาะเรียน -ให้สถานที่ในการจัดอบรม, -ข้อมูลทางด้านวิชาการ, -เจ้าหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในด้านต่าง  ๆ
     5.  จัดทำโครงการ  โดยอบรมให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์และยาเสพติด  โดยมีเนื้อหาในการให้ความรู้และกิจกรรมระหว่างการอบรมดังนี้
        5.1 ความคาดหวังของเยาวชนกับโรคเอดส์และยาเสพติดและ การพัฒนาสิ่งแวดล้อม  โดยการบรรยายจากวิทยากร
        5.2 การแก้ปัญหาโรคเอดส์  โดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสมาชิกที่เข้ารับการอบรม
        5.3 ความคิดเห็นและการกระทำของคนภายในชุมชนโดยทั่วไปต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ   โดยการบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสมาชิก
        5.4 วิธีการควบคุม  ป้องกันโรคเอดส์และยาเสพติด  โดยการบรรยายจากวิทยากรและสอบถามความคิดเห็นจากผู้เข้ารับการอบรม
        5.5 ความรู้เรื่องเอดส์และเพศศึกษา   เช่น
              - โรคเอดส์ติดต่อทางอะไรบ้าง  เช่น  เพศสัมพันธ์  เข็มฉีดยา  เลือด
              - เพศศึกษา  จากการสำรวจพบว่าเยาวชนส่วนใหญ่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร จากสาเหตุต่างๆ ดังนี้  อยากลอง,  ตามเพื่อน , ตามแฟชั่น,  มีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน , ความใกล้ชิด   
              - วิธีป้องกันเอดส์  เช่น  ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์  ไม่สำส่อนทางเพศ  ผัวเดียว  เมียเดียว  ไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร  ตรวจเลือดก่อนแต่งงาน
        โดยแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม  โดยให้กลุ่ม เยาวชน แบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะได้รับโจทย์คำถาม หนึ่งคำถาม โดยให้สมาชิกภายในแต่ละกลุ่มแสดงความคิดเห็น โดยการเขียน แสดงความคิดเห็นและส่งตัวแทนออกมานำเสนอในแต่ละหัวข้อ โดยมีหัวข้อต่างๆ ดังนี้
              กลุ่มที่ 1 จงบอกสาเหตุให้ติดเชื้อเอดส์และยาเสพติด
              กลุ่มที่ 2 ท่านได้อะไรบ้างจากการเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้
              กลุ่มที่ 3 จงบอกผลกระทบของผู้ติดเชื้อเอดส์
              กลุ่มที่ 4 โรคเอดส์ติดต่ออย่างไรบ้าง และมีวิธีการอย่างไร
              กลุ่มที่ 5 จงบอกโทษของยาเสพติดและวิธีป้องกัน
         กิจกรรมการเดินรณรงค์  โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
              - เวลา 08.00 น – 09.00น. สมาชิกกลุ่มเยาวชนแกนนำเยาวชน ท่านแขกผู้มีเกียรติ ทยอยกันมาที่ประชุมพร้อมลงทะเบียน
              - เวลา 09.00น.ประธานในพิธีการเปิดโครงการรณรงค์ ฯ คือคุณชานนท์   ภัยชำนาญ ประธานสภาเทศบาลตำบลตะโหมดมาถึงที่ประชุม
              - เวลา 09.15 น. นายอัชชา  ทองหยู ประธานแกนนำเยาวชนบ้านปากพลี ได้กล่าวต้อนรับท่านประธานในพิธีและกล่าวรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์การดำเนินโครงการเคาะประตูบ้านป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์โดยมีพื้นที่ดำเนินการ
              - เวลา 09.30น. ประธานในพิธี คุณชานนท์  ภัยชำนาญ ได้กล่าวเปิดการอบรม
              - อบรมให้ความรู้โดยวิทยากรคุณเชาวลิต    เลณูพันธ์  ในเรื่อง โรคเอดส์ติดต่อกันอย่างไร?     อย่างไรไม่ติดเอดส์ ?  ใครบ้างที่ควรตรวจหาเชื้อโรคเอดส์?  โรคเอดส์มีกี่ระยะ?  โรคเอดส์รักษาให้หายได้หรือไม่?   จะป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเอดส์ได้อย่างไร?
         จากนั้นวิทยากรได้สรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์และยาเสพติดที่มีผลในระดับชุมชนและความคาดหวังของคณะวิทยากรคณะทำงานให้ความรู้ในวันนี้เพื่อเผยแพร่สู่การปฏิบัติเพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในชุมชนอย่างยั่งยืน                             
              - เวลา  10.30 น  การบรรยายเรื่องผลกระทบของโรคเอดส์ในระดับชุมชน    โดยพระอาจารย์ท่านพระครูสังฆรักษ์วิชาญ วัดตะโหมด    เป็นองค์ความรู้ที่สะท้อนแบบมีส่วนร่วมของผู้เข้ารับการอบรมดังนี้  คือ  ผลกระทบต่อผู้ป่วย    ผลกระทบต่อชาติศาสนา  ผลกระทบต่อภาครัฐ  ผลกระทบต่อชุมชน  ผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง  และผลสรุปจากอบรมให้ความรู้ของพระอาจารย์สะท้อนจากเวทีประชุมสามารถทราบถึงแนวคิดของกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมว่ามีความพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาโรคเอดส์ในชุมชนที่ทับถมอยู่ในครัวเรือน พร้อมที่จะช่วยแก้ปัญหาอันใหญ่ยิ่งของชุมชนและประเทศชาติได้
              - เวลา 11.30 น. จัดกิจกรรมกลุ่มให้ผู้เข้ารับการอบรมแบ่งกลุ่ม ออกเป็น 5 กลุ่ม เขียนป้ายชื่อกลุ่มตั้งสโลแกนกลุ่ม ในการเดินรณรงค์
              - เวลา12.00 น.พักรับประทานอาหารเที่ยง
              - เวลา 13.00 น.เตรียมริ้วขบวนเดินรณรงค์เคาะประตูบ้านป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์
              - เวลา 13.15 น. ประธานในพิธีคือคุณชนะ    เขียวจีน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลตะโหมด มาถึงในพิธี ประธานคณะทำงานโครงการ  กล่าวรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรม จากนั้นประธานได้ตัดริบบิ้นปล่อยริ้วขบวน
         ขบวนเดินรณรงค์เคาะประตูบ้านป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ของหมู่ที่ 2 บ้านเกาะเรียน ประกอบด้วยชุมชนบ้านเกาะเรียน -  ปากพลี ซึ่งนำริ้วขบวนโดย นายกเทศมนตรีคุณชนะ   เขียวจีน  คุณประพาส   ชนะสิทธิ์ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลตะโหมด คุณบำเพ็ญ  ขวัญปลอด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 บ้านเกาะเรียน คณะ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยบ้านเกาะเรียน  นำขบวนโดยรถประชาสัมพันธ์ของเทศบาลตำบลตะโหมด ติดตามด้วยขบวนกลองยาวสร้างสีสันให้ริ้วขบวน
         กิจกรรมในริ้วขบวนมีการถือป้ายประชาสัมพันธ์  แจกแผ่นพับ  ตัวแทนกลุ่มเยาวชนทั้ง 5 กลุ่ม สัมภาษณ์ แบบสอบถามความรู้เรื่องโรคเอดส์แก่ประชาชน 2 ข้างทาง จำนวน  30  ฉบับ ระยะทางการเดินรณรงค์ประมาณ 2 กิโลเมตร สร้างบรรยากาศอันสนุกสนานทั้งริ้วขบวนและประชาน 2 ข้างทางเป็นอย่างยิ่ง
              - เวลา 14.45  น ริ้วขบวนเยาวชนได้กลับมารวมตัวกันที่ สถานีอนามัยบ้านเกาะเรียน มีกิจกรรมสันทนาการ ร้องเพลง เล่นเกมส์ต่างๆ เพื่อผ่อนคลาย สร้างบรรยากาศระหว่างเยาวชน แกนนำโครงการ ฯ และเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยบ้านเกาะเรียน
              - เวลา  15.45 น. คณะทำงานโครงการและตัวแทนเยาวชนที่ได้รับเลือกได้กล่าวสรุปกิจกรรมทั้งวัน พร้อมเสนอปัญหาอุปสรรค ต่าง ๆ จากการทำงานร่วมกัน โดยสรุปต้องจัดกิจกรรมร่วมกันบ่อย ๆ และดึงส่วนราชการเข้ามาร่วมให้มากกว่านี้และครั้งต่อไป มีมติให้จัดแบบเข้าค่ายเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน โดยให้คณะทำงานโครงการ ฯ แกนนำเยาวชนตกลงในเรื่องรูปแบบการเข้าค่าย และประสานเรื่องงบประมาณดำเนินการครั้งต่อไป
              - เวลา16.15 น. ที่ปรึกษาโครงการ ฯ คือคุณอนุกูล   ทองมี หัวหน้าสถานีอนามัยบ้านเกาะเรียน ได้กล่าวชื่นชมในกิจกรรมที่เยาวชนได้ร่วมแรงร่วมใจจัดกันในวันนี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับประชาชนในชุมชนของเราและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับสถานีอนามัยหรือการบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข  ที่ได้กลุ่มพลังเล็กๆ ในระดับรากหญ้าที่มีศักยภาพลุกขึ้นมากระตุ้นเตือนภัยเอดส์ของชุมชนที่ตนเองมีส่วนรับผิดชอบอยู่ สถานีอนามัยในฐานะที่ปรึกษาหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากลุ่มเยาวชน  แกนนำเยาวชน  น่าจะมีโครงการ กิจกรรมที่ดีอย่างนี้อีก และพร้อมที่จะเป็นสื่อเพื่อไปบอก เพื่อที่จะไปเล่าให้กับองค์กรอื่น ๆฟังถึงความดีงาม แนวคิด อุดมการณ์ของเยาวชนบ้านเกาะเรียน – ปากพลี
              - เวลา  16.30น. แกนนำ เยาวชน ที่ปรึกษา ผู้สังเกตการณ์ ร่วมร้องเพลง คำสัญญา เพื่อปิดการดำเนินโครงการ

ข้อจำกัดของการดำเนินงานตามโครงการคืออะไรบ้าง เป็นอย่างไร
     จากกระบวนการทำงานของกลุ่มเยาวชนพบว่าสมาชิกในกลุ่มมีความคิดเห็นแตกต่างในด้านแนวทางการดำเนินงาน  การเข้าร่วมกิจกรรมการดำเนินงาน   ส่งผลให้การดำเนินงานค่อนข้างล่าช้า  รวมทั้งการประสานงานระหว่างแกนนำของทีมงานเอดส์ระดับอำเภอขาดความต่อเนื่อง   เนื่องจากมีความคิดเห็นในการดำเนินงานแตกต่างกันและบวกกับเวลาในการประสานงานมีอยู่อย่างจำกัดเนื่องจากต่างคนต่างมีภารกิจ และไม่ได้นำข้อมูลข่าวสารมาเผยแผ่แก่ทีมงานในระดับตำบล และจากการดำเนินงานการเกี่ยวกับโรคเอดส์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวนมากก่อให้ เกิดปัญหาเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณ

ได้ความรู้และประโยชน์ที่ได้รับไปใช้อย่างไรบ้าง
     ผลจากการดำเนินโครงการรณรงค์เคาะประตูบ้านป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์สามารถสร้างแกนนำ เกิดเพื่อนพ้อง ทีมงานและเครือข่ายขับเคลื่อนพลังเยาวชนที่อยู่ในชุมชนโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์สู่ชุมชน ก่อให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ในรูปแบบของชุมชนที่ภาคการเมืองท้องถิ่นในอำเภอตะโหมด ให้ความสนใจไม่ว่า จะเป็นเทศบาลตำบลตะโหมด  องค์การบริหารส่วนตำบลคลองใหญ่  สภาลานวัดตะโหมด  สถานีอนามัยบ้านเกาะเรียนและสถานีอนามัยที่ใกล้เคียง  ในงานสาธารณสุขของท้องถิ่นมากขึ้น    ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวในโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับบุคคลในชุมชนและสังคมโดยการซักถามและหาความรู้จากแหล่งความรู้ไม่ว่าจะเป็นจากกลุ่มแกนนำ  แกนนำเยาวชน  เจ้าหน้าที่สาธารณสุข  และสื่อต่าง  ๆ  โดยการนำมาแลกเปลี่ยนในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสมาชิกในชุมชน  โดยก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายและสร้างความสามัคคีพร้อมเพรียงในชุมชนส่งผลให้ชุมชนเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและแกนนำเยาวชนมีองค์ความรู้ที่หลากหลาย สามารถนำไปใช้ในการป้องกันตนเองและบุคคลรอบข้างให้มี สุขภาวะทั้งยังเผยแผ่ความรู้ที่ตนเองมีอยู่แก่บุคคลในชุมชนและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  โดยส่งผลให้ชุมชนเป็นชุมชนที่ปลอดจากโรคและเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและก่อให้เกิดกิจกรรมและชมรมต่าง ๆ ในชุมชน  ไม่ว่าจะเป็นชมรมการออกกำลังกาย  ชนรมผู้สูงอายุ  ชมรมผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  โดยมีสมาชิกของกลุ่มแกนนำและกลุ่มเยาวชนเป็นสมาชิก และเป็นผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งชมรม โดยใช้ความรู้และประสบการณ์จากการจัดทำโครงการดังกล่าวข้างต้นเป็นแนวทางการดำเนินงานก่อตั้งชมรมต่างๆ

แหล่งข้อมูลทั่วไป
- สถานีอนามัยบ้านเกาะเรียน
- ศูนย์ประสานงานเกี่ยวกับโรคเอดส์ระดับอำเภอ
- ศูนย์ประสานงานเกี่ยวกับโรคเอดส์ระดับตำบล
- สภาลานวัดตะโหมด
- ห้องสมุดพระบรมราชชนนีวัดตะโหมด
- เวทีแลกเปลี่ยนความรู้ของกลุ่มแกนนำและกลุ่มเยาวชน
- เวทีแลกเปลี่ยนความรู้ของสมาชิกในชุมชน
- ชมรม อสม.สถานีอนามัยบ้านเกาะเรียน
แหล่งข้อมูลบุคคล
- นายอนุกูล  ทองมี  หัวหน้าสถานีอนามัยบ้านเกาะเรียน
- นายชลิต  เกษรสวัสดิ์  นักวิชาการสาธารณสุข 5 สถานีอนามัยบ้านเกาะเรียน
- นางสุชาดา  โสดแก้ว  เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน 5 สถานีอนามัยบ้านเกาะเรียน
- พระครูสังฆรักษ์วิชาญ  วัดตะโหมด
- นายชนะ  เขียวจีน  นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลตะโหมด
- นายอนุชา  หนูนุ่น  นักวิชาการสาธารณสุข 5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง

หมายเลขบันทึก: 4158เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2005 01:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท