ค่างาน ค่าเงิน (Broadband)


ค่างาน ค่าเงิน (Broadband)

"ค่างาน ค่าเงิน (Broadband)"

เว็บไซด์ CIPD (The Chartered Instutute of Personnel and Development) องค์กรวิชาชีพด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลชื่อดังของอังกฤษที่มีสมาชิกกว่า 130,000 คน บอกไว้ว่า องค์กรที่มีบุคลากรมากกว่า 50 คน ควรมีการประเมินค่างานและองค์กรที่มีบุคลากรมากกว่า 250 คน ต้องมีการประเมินค่างาน

ค่างานที่ CIPD กล่าวถึง คือ การประเมินค่าของ "ตำแหน่งงาน" ในองค์กร ค่างานจึงไม่ใช่ผลงานของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ในทางตรงกันข้าม ค่างาน คือ การพิจารณาและตีค่าหรือราคา "งาน" หรือ "ตำแหน่งงาน" โดยไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลแต่อย่างใด

ค่างานในความหมายของ CIPD จึงไม่ใช่ผลผลิตหรือค่าของผลงานที่ใครคนใดคนหนึ่งสร้างขึ้น แต่หมายถึง ความสำคัญของตำแหน่งงานนั้นที่มีต่อองค์กร ตำแหน่งใดสำคัญกว่าตำแหน่งนั้นก็มีค่างานสูงกว่า

ลองหลับตาแล้วคิดถึงภาพองค์กรใดองค์หนึ่ง ท่านคิดว่าตำแหน่งผู้จัดการจะมีราคาสูงกว่าตำแหน่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหรือเปล่า หากคำตอบ คือ สูงกว่า ท่านได้ทำการประเมินค่า "ตำแหน่งงาน" แล้ว และวิธีที่ท่านใช้ตอบอาจเป็นวิธีประเมินค่างานโดยรวมของตำแหน่ง (whole job analysis) หรือประเมินตำแหน่งแบบจับคู่ (match job)

การประเมินค่างานมีหลายวิธี วิธีดูภาพรวมของตำแหน่งเปรียบเทียบกันก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่ถ้าจะให้การประเมินค่างานถูกต้องมากขึ้น และในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีตำแหน่งงานหลากหลาย ก็มีวิธีที่วิเคราะห์ตำแหน่งโดยแยกองค์ประกอบออกเป็นส่วน ๆ แล้วให้คะแนนแยกตามองค์ประกอบหรือไม่ก็ได้

งานเท่ากัน เงินเท่ากัน (equal pay for equal work) คุ้นเคยกันในราชการพลเรือนไทย ตั้งแต่ปี 2518 ปีที่ระบบจำแนกตำแหน่งแบบซีเริ่มใช้ ระบบนี้เน้นการประเมินค่า "ตำแหน่งงาน" เพื่อใช้ในการกำหนดราคา หรือบัญชีอัตราเงินเดือน ในความเห็นของ คุณอลินี เป็นฐานรากของการมีบัญชีเงินเดือน "บัญชีเดียว"

งานที่มีค่าคะแนนเท่ากัน ต้องได้เม็ดเงินเดือนเท่ากันเสมอ

เมื่อตีค่า "ตำแหน่งงาน" ไว้แล้ว ก็ต้องเลือกสรรคนให้เหมาะกับงาน (put the right man to the right job) ฉะนั้น จึงต้องกำหนดตำแหน่งให้มีหลายระดับเพื่อสะท้อนค่างานของตำแหน่งให้ถูกต้อง คนควรอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หากคนไม่เหมาะกับตำแหน่งหรือตำแหน่งไม่เหมาะกับคน ก็ควรต้องเปลี่ยนตำแหน่งของเขาหรือเธอคนนั้น

แนวคิดของ Broadbanding ที่ปรับใช้ในระบบจำแนกตำแหน่งและระบบเงินเดือนตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ทำให้คุณอลินี คิดถึงวลีที่ว่า "equal pay for work of equal value หรือ เงินเท่ากันเมื่อคุณค่าของงานเท่ากัน" เพิ่มขึ้นอีกคำเพราะ Broadbanding เพิ่มเติมมุมมองเกี่ยวกับศักยภาพหรือสมรรถนะ (Competency) ของ "คน" ไว้ในระบบตำแหน่งบนความเชื่อ (มั่น) ว่า คนเก่งสร้างงานได้และเพื่อความคล่องตัวทางการบริหาร องค์กรจึงควรจัดตำแหน่งที่ตามบทบาทของงานมากกว่าการตีค่างานโดยละเอียด

ระดับ 3 ระดับ 4 และระดับ 5 ล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ก็รวบให้เหลือเพียงระดับเดียวเรียกว่า Band ลดความสำคัญของตัวเลขซี เพิ่มความสำคัญของบทบาทผู้ปฏิบัติงาน

เพราะ Broadbanding เน้นศักยภาพหรือสมรรถนะบุคคลมากกว่าค่างานเพียงอย่างเดียว ระบบตำแหน่งตามแนวคิดของ Broadbanding จึงไม่ได้มีบัญชีเงินเดือนบัญชีเดียว แต่บัญชีเงินเดือนอาจมีหลากหลายได้จนอาจถึงกับมีบัญชีเงินเดือนรายบุคคลก็ได้

ราชการพลเรือนคงยังไม่ก้าวไปไกลขนาดนั้น

อาจเพราะเรายังขาดความเชื่อถือในผู้บังคับบัญชาว่าทุกคนจะพิจารณาตามศักยภาพและสมรรถนะรวมถึงค่างานของลูกน้องอย่างแท้จริง

ระบบตำแหน่งใหม่จึงเน้นการจัดกลุ่มตำแหน่งตามลักษณะงานซึ่งเปิดโอกาสให้ข้าราชการได้เรียนรู้และเพิ่มสมรรถนะและนำไปสู่การจัดทำบัญชีเงินเดือนที่หลากหลายตามลักษณะงาน

บัญชีเงินเดือนต้องมีหลายบัญชี เหตุผลหลัก คือ เพราะตลาดแรงงานจ่ายตำแหน่งงานต่าง ๆ ไม่เท่ากัน

เพียงแต่ความยืดหยุ่นในการเทียบกับอัตราตลาดเราจะเลือกเทียบรวม ๆ เป็นกลุ่มประเภทตำแหน่ง เช่น กลุ่มตำแหน่งประเภทวิชาการ กลุ่มตำแหน่งประเภททั่วไป หรือจะเทียบเป็นรายสายงาน เช่น สายวิศวกร สายงานแพทย์ ก็ได้

การประเมินค่างานบอกถึงคุณค่าของตำแหน่งในเชิงเปรียบเทียบกับตำแหน่งอื่น ๆ ภายในองค์กร แต่การจ่ายเงินเดือนต้องมองอัตราตลาดภายนอกองค์กร

แนวคิด Broadbanding ก็ยังมีการตีราคางาน แต่ให้ความสำคัญของภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนมากขึ้นกว่าระบบตำแหน่งและบัญชีเงินเดือนแบบเดิม

หากราชการพลเรือนมุ่งสร้างความคุ้มค่าในการจ่ายเงินเดือน ราชการพลเรือนต้องคำนึงถึงอัตราตลาดของแต่ละลักษณะงาน

ในระบบตำแหน่งแบบ Broadbanding ตำแหน่งหลายสายงานแม้มีค่างานต่ำกว่าก็อาจถูกรวบไว้ในช่วงชั้นเดียวกันเพื่อความยืดหยุ่นทางการบริหารและการเพิ่มศักยภาพของบุคคลแต่ไม่ได้หมายความว่าทุกสายงานจะต้องได้รับเงินเดือนเท่ากัน ถ้าตลาดจ่ายต่างกัน

ดังนั้น ภาคราชการพลเรือนไทย ก็อาจมีบัญชีเงินเดือนที่แตกต่างกันตามสายงานได้และนั่นจะทำให้ภาคราชการพลเรือนเทียบเคียงกับอัตราตลาดได้ใกล้เคียงยิ่งขึ้น

ค่าเงินสะท้อนอัตราตลาด และค่าเงินก็ยังสะท้อนค่างานเหมือนเดิม...

ที่มา : อลินี ธนะวัฒน์สัจจะเสรี หนังสือกระแสคน กระแสโลก สำนักงาน ก.พ.

หน้า 52 - 55 กันยายน 2553

เปิดโลกความรู้ พัฒนาทุนมนุษย์

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 10 - 16 ตุลาคม 2551

หมายเลขบันทึก: 415467เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2010 20:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2016 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท