ทำขวัญนาค 15 (หมอทำขวัญนาคกับบทบาทหน้าที่ในสังคม)


สิ่งใดเป็นสิ่งที่ดี มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อสังคมควรที่จะเลือกเก็บรักษาเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ได้สัมผัสกลิ่นไอของวัฒนธรรมไทยต่อไป

ทำขวัญนาค 15

(หมอทำขวัญนาคกับบทบาทหน้าที่

ในสังคม)

โดย ชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547

        นับตั้งแต่ผมได้รับมอบหมายพิธีทำขวัญนาค จากพ่อคุณวัน มีชนะ (ตาวัน มีชนะ) โดยท่านครอบครูมาให้ ทำให้ผมได้เรียนรู้และประกอบพิธีได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบ ตามที่ครูของผมสอนมา คำกล่าวตรงนี้ ต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า หมอทำขวัญนาคทุกท่าน มีการดำเนินขั้นตอนและการประกอบพิธีในรูปแบบที่คล้ายกันแต่ไม่เหมือนกันเสียเลยทีเดียว อาจมีข้อแตกต่างกันไปบ้างในส่วนย่อย ๆ ซึ่งก็ต้องแล้วแต่ว่าหมอท่านนั้น ๆ ได้เรียนรู้มาจากครูท่านใด คือ หมอแต่ละท่านก็มีที่มาจากต้นฉบับของท่าน และเมื่อเวลาผ่านไปอาจมีการจดจำและซึมซับจากหมอที่ร่วมงานกันได้ข้อมูลเข้ามาแทรกอีกบ้างก็เป็นขั้นตอนของการพัฒนาและผสมผสานกัน

        โดยภาพรวม ๆ แล้ว หมอทำขวัญนาคและพิธีทำขวัญนาคจะมีเป้าหมายอย่างเดียวกันคือ เป็นการให้กำลังใจผู้ที่จะบวชหรือเจ้านาคได้มีสติ มีสมาธิ มีความเข้มแข็งและมีความสงบ มีความพร้อมที่จะเข้าสู่ทางสงบร่มเย็น แต่ก่อนที่จะถึงขั้นตอนสุดท้ายที่เรียกว่า เชิญขวัญ หมอทำขวัญก็จะได้หยิบยกเอาเรื่องราวของบิดา มารดา ผู้ที่ให้กำเนิดมากล่าว ยกเอาตำนานที่เกี่ยวข้องและมีคุณค่ามากล่าวไปจนถึงแนะนำสิ่งที่พ่อนาคควรที่จะได้รับรู้ในภาระหน้าที่ของพระสงฆ์มากล่าว

                      

        ผมขอนำเอาประสบการณ์ที่ผมได้เห็น ได้ประสบมาตลอดเวลาตั้งแต่ผมจำความได้ วันนี้ผมกำลังจะมีอายุครบ 60 ปี ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ถ้าจะย้อนไปทบทวนความทรงจำในอดีตที่ผมได้เห็นสมัยที่คุณตา (พ่อคุณวัน มีชนะ) ท่านทำหน้าที่เป็นหมอทำขวัญนาคและช่วงที่ผมรับหน้าที่ต่อจากพ่อคุณ ใน 2 ช่วงอายุคน พิธีทำขวัญนาคมีความแตกต่าง มีการเปลี่ยนแปลงในบางสิ่งบางอย่างไปตามกาลเวลา ผมยังคงใช้บทร้องเก่าและมีการผสมผสานบ้างตามสมควร

        บทบาทและหน้าที่ของหมอทำขวัญนาคในสังคม เมื่อครั้งที่พ่อคุณวัน มีชนะเป็นหมอทำขวัญนาค พ่อคุณเคยเล่าให้ผมฟังว่า “หมอทำขวัญในยุคนั้น มีบทบาทหน้าที่ในงานบวชตั้งแต่วันเตรียมการไปจนถึงฉลองพระบวชใหม่เสร็จ” หมอทำขวัญจะไปถึงบ้านงานตั้งแต่เวลา 07.00 น. เพื่อทำพิธีถวายข้าวพระภูมิเจ้าที่โดยตั้งเครื่องถวายไว้กับไม้ไผ่ผ่า 3 ซีกแล้วขดให้เป็นแท่นสามเหลี่ยมรองรับเครื่องสังเวยได้ การถวายข้าว (ให้ข้าวพระภูมิ) จะต้องทำก่อน 11.00 น. (ก่อนเพลง) ต่อจากนั้นก็จะตัดกระดาษสีเป็นแผ่น ๆ และทำเครื่องห้อยแขวนในบริเวณพิธีทำขวัญนาค กระดาษทุกแผ่นจะถูกเจาะด้วยสิ่วขนาดต่าง ๆ ให้เป็นภาพเกี่ยวกับงานบวชแล้วนำไปทากาวติดกับไม้แปเพดานและข้างฝาบ้าน

        งานบวชพระในสมัยก่อนเป็นความเชื่อและศรัทธาที่เห็นได้ชัดเจน แสดงถึงความสัมพันธ์ ความผูกพันของญาติพี่น้องในครอบครัวตลอดจนประชาชนในท้องถิ่นที่มารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เป็นความอบอุ่นใจและเชื่อในผลบุญที่ทุกคนจะได้รับในการมาร่วมงานบวชลูกหลานของตน หมอทำขวัญในยุคก่อนจะเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนในชุมชนมาก หมอทำขวัญเป็นผู้กำหนดขั้นตอน เวลา และพิธีการต่าง ๆ ทั้งหมด พ่อคุณบอกว่า “บางงานหมอทำขวัญนาคหลายคน กว่าจะทำขวัญนาคเสร็จใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงก็มี” ตัวเจ้านาค พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่น้องประชาชนก็นั่งรับฟังกันโดยสงบ ในสมัยก่อนบางงานก็ไม่มีเครื่องขยายเสียง ไม่มีวงดนตรีบรรเลงรับหมอทำขวัญนาค เรียกว่าร้อง พูดกันด้วยเสียงสด ๆ ท่วงทำนองเป็นธรรมวัตรและเพลงไทยเดิม พอรุ่งเช้าเข้าสู่พิธีอุปสมบท หมอทำขวัญต้องทำหน้าที่แนะนำนาคก่อนที่จะเข้าอุโบสถ จนถึงเวลาฉลองพระบวชใหม่ หมอทำขวัญทำหน้าที่อาราธนาศีล นำกล่าวถวายข้าวพระและสิ่งของจนเสร็จพิธีส่งพระกลับวัด บทบาทของหมอทำขวัญจะอยู่กับงานตั้งแต่เริ่มต้นไปจนเสร็จงานบวชพระ

        มาในยุคที่ผมทำหน้าที่เป็นหมอทำขวัญ เหตุการณได้เปลี่ยนแปลงไป หมอทำขวัญในระยะหลังมีบทบาทเฉพาะในการประกอบพิธี ให้ข้อคิดและคำแนะนำเจ้านาคตั้งแต่ตอนอาบน้ำ จัดสถานที่ทำขวัญนาค การหันหน้าไปในทิศที่ไม่มีผีหลวงจับ (ความเชื่อในการกระทำพิธี) ผมจะไปถึงงานเวลาประมาณ 12.30 น.หรือบางงานก็ล่ากว่านั้นเล็กน้อยในกรณีที่ทำขวัญนาคบ่าย 13.00 น. แต่ถ้าเป็นในบางสถานที่ที่ลงกำหนดทำขวัญนาคเอาไว้ 16.00 น. หรือบางงานก็กำหนดทำขวัญนาคตอนค่ำ เวลา 18.00 น. ผมจะเดินทางไปถึงงานก่อนเวลาปฏิบัติหน้าที่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง เมื่อถึงช่วงเวลาทำขวัญนาค เรียกพ่อนาคหรือเจ้านาค บิดา มารดาและญาติมานั่งในบริเวณพิธี เริ่มทำขวัญนาค เวียนเทียน เบิกบายศรี ในตอนท้ายของพิธีจะเรียกเจ้านาคมาขอสมาญาติโดยพร้อมเพรียงกัน บางสถานที่ก็ขอสมาเพียงครั้งเดียวโดยใช้ด้ายสายสิญจน์โยงจากหลักบายศรีไปยังญาติทุกท่านแล้วให้นาคกราบขอสมาเฉพาะผู้ที่อาวุโสที่สุดคนเดียว แต่ในบางสถานที่ก็จัดการขอสมาเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มละ 5-10 ท่าน แต่ในบางสถานที่ก็มีพิธีคล้องพวงมาลัยให้กับนาคก่อนที่จะมีพิธีทำขวัญนาค และในบางสถานที่ก็จะมีพิธีผูกข้อมือรับขวัญให้เจ้านาคหลังจากเสร็จพิธีทำขวัญนาค ซึ่งหมอทำขวัญจะต้องอยู่เป็นผู้นำหรือส่งต่อให้กับพิธีกรของท้องถิ่นด้วย เพราะในแต่ละชุมชนจะไม่เหมือนกัน

        จะอย่างไรก็ตามในแต่ละท้องถิ่น จารีตประเพณีอาจแตกต่างกันบ้าง และจะมีการให้ความสำคัญต่อพิธีทำขวัญแตกต่างกัน ส่วนขั้นตอนหมอทำขวัญเป็นผู้กำหนดจึงต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงบ้างเพื่อให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ โดยใช้ความโดดเด่นของตนเป็นใบเบิกทาง มีการผสมผสานทำนองร้องต่าง ๆ ที่สามารถสอดรับเข้ากันได้ เพื่อให้เกิดความหลากหลายและเกิดประโยชน์ในการนำเสนอผลงาน

        

        

        ไม่ว่าจะในยุคใด บทบาทหน้าที่ของหมอทำขวัญ เป็นการกระทำพิธีให้เกิดสิริมงคลและเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่เป็นนาค ถ้าจะพูดถึงความนิยมในการทำขวัญนาค โดยเฉพาะในสังคมเมืองก็ยังคงมีอยู่ แต่ผู้ที่เข้าร่วมพิธีไม่มากอย่างในสมัยก่อน มีเพียงเจ้านาค พ่อ แม่ของนาคและญาติพี่น้อง พิธีทำขวัญนาคในเมืองมักจะเป็นในช่วงค่ำ ประมาณ 19.00 น. ส่วนสังคมในชนบทยังคงมีลักษณะคล้ายคลึงกับในอดีตที่ผ่านมาอยู่มาก การกระทำพิธีมักจะเป็นในช่วงบ่าย อุปกรณ์ในพิธีจะต้องมีบายศรีต้น นิยมทำด้วยดอกไม้สด ใบตองสดเย็บแบบสวยงาม สำหรับเพลงที่หมอทำขวัญใช้ในการร้องทำขวัญนาค มีทั้งเพลงไทยเดิม เพลงแหล่และเพลงลูกทุ่ง มีหมอทำขวัญทั้งชายและหญิงโดยมีหมอผู้ชายเป็นผู้ประกอบพิธี

         บทบาทของหมอทำขวัญในยุคปัจจุบันอาจลดลงไปบ้าง แต่ถ้าพูดถึงความสำคัญ พิธีทำขวัญนาคยังคงมีคุณค่าต่อสังคมมิได้ยิ่งหย่อนลงไปจากเดิมเลย เพียงแต่ความศรัทธายึดมั่นในพิธีของของบุคลสังคมในยุคปัจจุบัน อาจจะไม่เป็นไปอย่างในอดีตที่ผ่านมา ด้วยสิ่งเร้าที่เข้ามาแทนที่และด้วยเหตุผลอย่างอื่น “สิ่งใดเป็นสิ่งที่ดี มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อสังคมควรที่จะเลือกเก็บรักษาเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ได้สัมผัสกลิ่นไอของวัฒนธรรมไทยให้พิธีกรรมสามารถอยู่ในสังคมและร่วมยุคมสมัยได้ต่อไป”

 

ติดตามอ่านเรื่อง “ทำขวัญนาค 50 ตอน” http://portal.in.th/kwannak/pages/13087/

                                                    http://www.portal.in.th/blogtobook/pages/13297/

หมายเลขบันทึก: 413343เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2010 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท