เล่าจาก เกาะสุขสันต์ ในดินแดนแห่งการเรียนรู้ NKM5 (2)


“ความรู้สึกของท่านที่นี่ จะสะท้อนไปถึงทีมงานและผู้ป่วยของผมที่โน่น (ธาตุพนม)”

เล่าจาก เกาะสุขสันต์ ในดินแดนแห่งการเรียนรู้ NKM5 (1)

         วันที่ 23 พ.ย. 2553  วันที่สอง ของมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ วันนี้เป็นวันที่ทีมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม   ต้องเตรียมตัวหน่อย เพราะเป็นวิทยากรในห้อง เกาะสุขสันต์ ในดินแดนแห่งการเรียนรู้ ก็เลยตกลงกันว่าจะไปรอที่ห้องตั้งแต่ session แรกที่เก้าโมงเช้าเลย จะได้ไม่ต้องงงกับสถานที่ และอุปกรณ์ต่างๆในห้อง  พอหมดเวลาพักที่ 10.15 นาที เราก็รีบจัดเตรียมอุปกรณ์ทันที โดยพี่ตุ๊กตากับน้องเข็มเตรียมป้ายห้อยคอที่ทำมาล่วงหน้าจากโรงพยาบาล ไว้แจกให้ผู้ร่วมกิจกรรม ผมนำ notebook ไป set ที่จอ พร้อมกับลองเปิดคลิปที่เตรียมมา  น้องอ๊อฟกับพี่เล็กเตรียมเวที ที่มีป้ายไวนิลเนื้อเพลงซ้ายขวา ขาตั้งไม  กลองฉิ่ง  ระหว่างที่กำลังเตรียมอุปกรณ์กันอยู่นั้น กำลังใจคนสำคัญของเครือข่าย KM DM ก็เดินเข้าห้องมาทักทายกันอย่างตื่นเต้น มี ดร.วัลลา ตันตโยทัย และ นพ.นิพัธ กิตติมานนท์ จาก รพ.พุธชินราช ที่เพิ่งจบจากการการเป็นวิทยากรที่ ประภาคารเกื้อกูล พร้อมกับพี่สาว 2 อ้อ พี่อ้อ เปรมสุรีย์ และพี่อ้อ รัชดา ก็ตามมาติดๆ  จนดูแล้วเป็นทีมงานใหญ่เลยทีเดียว

ทีมงานทั้งหมด กับ ดร.วัลลา ตันตโยทัย  ทีมงานให้กำลังใจ จากทีม รพ.พุทธชินราช (ภาพจาก fb ดร.วัลลา)

            ห้องเปิดที่เวลา 10.50 น.  คนแรกทีก้าวเข้าห้องมา เป็นป้าแดง และทีม รพร.ท่าบ่อ คุณอุ้มบุญ ยโสธร ที่ชูไม้ชูมือ ส่งเสียงทักทายกันแบบออกนอกหน้า ว่ากองเชียร์มาแล้ว พร้อมกับแจ้งว่าคนรอเข้าห้องเยอะมาก แสดงว่าคนสนใจจริงๆ  ซึ่งพอได้ยินดังนั้นพวกเราเริ่มยิ้มออก  ผมรู้สึกดีใจมากกับคำทักทายพร้อมกำลังใจของทีมป้าแดง (ลึกๆก็กังวลว่าจะไม่มีคนเข้าห้องครับ)

ภาพกองเชียร์ที่น่ารัก จาก รพร.ท่าบ่อ

ภาพจากblogคุณ อุ้มบุญ ครับ

            ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้ามาในห้องแบบเร็วมาก ทุกคนต่างก็ถอดร้องเท้านั่งเรียงเป็นแถว ดูเป็นระเบียนน่ารักมากครับ  ผมนับได้ประมาณ 70 กว่าคน  ซึ่งหลังจากที่แต่ละคนในห้องได้รับป้ายแขวนคอแล้ว และกำลังงงว่าคืออะไร  เราก็แจ้งว่าป้ายคอที่แจกมีความหมายตลอดการร่วมกิจกรรมนี้เลยทีเดียว 

           น้องอ๊อฟเริ่มให้ทุกคนได้ทำสันทนาการร่วมกัน ตั้งแต่ทดสอบการตบมือเป็นจังหวะ  การเล่นเกมส์เสือสิงห์กระทิงแรด   เกมส์มาตามนัด จนทุกคนเริ่มหัวเราะ ลดการเกร็งทั้งทีมพวกเราผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้พอสมควร

          ผมก็เริ่มแนะนำกิจกรรมว่า วันนี้เรามาจำลองสถานการณ์ การทำงานที่โรงพยาบาล โดยให้ทุกคนลองร่วมสมมติว่าเป็นผู้ป่วยเบาหวานความดัน ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย และกำลังไปรับบริการที่โรงพยาบาล และคิดตามว่าน่าจะมีบรรยากาศอย่างไร (พร้อมๆกับดูสไลด์ บรรยากาศการมาโรงพยาบาลของผู้ป่วย)  สิ่งที่เห็นและเกิดขึ้นตลอดเวลาและเป็นเรื่องปกติของผู้ป่วย คือความเครียด ความกังวล  ส่วนบุคลกรผู้ให้บริการก็ดูวุ่นวาย  จริงจัง และดูเครียดพอๆกันกับผู้ป่วย ในบรรยากาศเดิมๆ ที่เป็นอยู่ แทบทุกวัน  

           หลังจากนั้น ผมเริ่มถามว่า ผู้ป่วยเบาหวานทุกคน พร้อมที่จะเรียนรู้กับพวกเราหรือยัง ทุกคนยังดูงงๆอยู่  ดังนั้นน้องอ๊อฟเลยได้โอกาส ให้ทุกคนหลับตา สูดหายใจ ลองสมมุติตัวเองจากคนที่สุขภาพดี ลองมาเป็นนักเรียนเบาหวานดูสักวัน พอให้ลืมตา  ผมก็ถามไปที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย 3 คำถามที่ต้องตอบ (และเตี๊ยมกันไว้แล้วตอนหลับตา)

 “คุณคือใคร”         ตอบ  นักเรียนเบาหวาน

“มาทำไม”           ตอบ    มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

“ใครสั่งมา”       ตอบ  ใจสั่งมา  

       เมื่อทุกคนพร้อมเพรียงจากการให้เล่น เกมส์มาตามนัด  เกมส์ฝนตกฟ้าร้อง เกมส์หมีหนีบหอย ทุกคนก็ได้ยืนขึ้น พร้อมๆกับบริหารร่างกายและกำหนดลมหายใจเข้าออกกับเพลง ดั่งดอกไม้บาน (เสถียรธรรมสถาน)  ไปพร้อมกันกับทีมวิทยากรและผู้ป่วยจริงจากคลิปวีดิโอ   เมื่อเพลงจบทุกคนนั่งลง น้องอ๊อฟได้เชิญชวนให้ทุกคนร่วมร้องเพลงกับทีม โดยดูเนื้อเพลงจากป้ายหน้าเวทีหรือดูจากเนื้อเพลงที่พิมพ์แจกไว้ในป้ายห้อยคอก็ได้  เราร้อง เพลงเบาหวานเบาใจ  ต่อด้วย เพลงดันสูง ดลใจ  อย่างละ 2 รอบ   หลังจากนั้นพี่ตุ๊กตาก็สวมบทบาทพยาบาลผู้ให้ความรู้ เข้าสอนทันทีตามเนื้อเพลงที่ให้ไว้ อย่างละเอียด

        พอพี่ตุ๊กตาสอนไปสักครู่  ผมก็แทรกขึ้นมาว่าทุกท่านสงสัยหรืออยากถามอะไรหรือเปล่า เพราะการสื่อสารทางเดียวที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ เป็นสิ่งที่พวกเราบุคลากรทางการแพทย์ถนัดกันอยู่แล้ว คือสอนและสั่ง(สอนความรู้และสั่งการรักษา)  แต่ทุกท่านรู้สึกอย่างไร น่าเบื่อหรืออึดอัดหรือเปล่า เพราะผมสังเกตได้ว่าบางคนเริ่มหาว  พอบอกแบบนี้ไปทีมเราก็เลยได้รับคำถามเกี่ยวกับเรื่องโรคเบาหวานความดันและเรื่องการปฏิบัติตัวตามมามากมายทีเดียว

       จนกระทั้งหมดคำถามและเริ่มมองหน้ากันไปมา ผมก็กระตุ้นการ ลปรร. ในห้องด้วยคำถามที่ว่า การเรียนรู้ที่ผ่านมาขาดอะไร เริ่มมีเสียงกองเชียร์ดังมาว่า “ขาดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของผู้ป่วย”   ผมจึงอธิบายต่อว่า เราใช้กระบวนการ KM ในการทำงานประจำด้วยหลักคิดที่ว่า คนที่รู้ที่สุดไม่ใช่หมอ แต่คือคนไข้  ถ้าเราเชื่อและให้เกียรติความรู้ว่ามีอยู่ในทุกคน เราก็จะพบว่ามีผู้ป่วยมีความรู้ปฏิบัติ ความรู้ประสบการณ์เยอะที่สุด เพราะเค้าคือคนที่ป่วยจริง ที่สำคัญพวกเรากลับมีความรู้แบบผู้เชี่ยวชาญในบางเรื่องเท่านั้น  

       ผมเล่าให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในห้อง ว่ากระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนมเปลี่ยนไป  เมื่อได้เข้าใจถึงหัวใจของการจัดการความรู้คือ “การจัดการความสัมพันธ์”  เราพบว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับผู้ป่วย ทำให้เกิดการเปิดใจเรียนรู้ไปด้วยกัน กล้าบอกเล่าในสิ่งทีทำโดยโดยไม่ต้องกลัวถูกผิด สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันตลอดเวลา  ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ ทีเรียกกันว่าให้สุขศึกษาโดยบุคลากรทางการแพทย์ จึงถูกปรับเปลี่ยนเป็นผู้ป่วยสอนกันเอง ทั้งจากผู้ปฏิบัติดี ผู้ปฏิบัติไม่ดี (good model หรือ poor model) โดยมีเราเป็นเพียงตัวกระตุ้นและให้ข้อมูลทางวิชาการเสริม  ซึ่งเนื้อหาจะโดนกว่าที่เราคอยยัดเยียดให้ตามหน้าที่ครับ

      เช่นเดียวการปรับเปลี่ยนวิธีการให้ความรู้ด้วยเพลง  การลดความเครียดด้วยเกมส์  เราใช้หลัก 3ส.  (สุข สนุก และได้สาระ) มาเป็นตัวสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้น ทั้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ป่วย หรือระหว่างผู้ป่วยด้วยกัน หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ด้วยกันเอง มันทำให้ทุกคนได้ผ่อนคลาดความเครียด ลดความเบื่อหน่ายจากบรรยากาศของการเจ็บป่วยในโรคที่เรื้อรัง

         ตอนสุดท้ายของกิจกรรม ของเกาะสุขสันต์ ทุกคนได้ร่วม AAR ด้วยการเขียนคำตอบ จาก 2 คำถาม ลงในหัวใจสีชมพูที่เราเตรียมไว้ให้ในป้ายห้อยคอ  เพื่อส่งคืนมาให้เราเป็นการตอบแทนก่อนจาก   “ความรู้สึกของท่านที่นี่ จะสะท้อนไปถึงทีมงานและผู้ป่วยของผมที่โน่น (ธาตุพนม)

         คำถามแรก “ท่านรู้สึกอย่างไรกับกิจกรรมนี้” และคำถามที่สอง ท่านได้เรียนรู้อะไรจากการเข้าร่วมกิจกรรม  หลังจากนั้นเพื่อเป็นการส่งท้าย เราได้เปิดคลิปภาพการร้องเพลงของผู้ป่วยในคลิกโรคเบาหวาน ความดันของโรงพยาบาล ซึ่งมีเนื้อร้องแบบคาราโอเกะอยู่ด้วย ซึ่งในรอบนี้สังเกตได้ว่าหลายๆคน สามารถร้องเพลงไปด้วยได้อย่างง่ายดาย  น่าประทับใจมากเลยครับ

 

หัวใจที่ผู้คนในห้องมอบให้ครับ (อ่านอีกทีตอนกลับถึงที่ทำงานแล้ว)   ปิดงานด้วยการไปเชียร ดร.วัลลา ตันตโยทัย ที่มาเป็นศิราณี ตอบคำถามเกี่ยวกับการทำ COP

 ภก.เอนก  ทนงหาญ  ผู้เล่าเรื่องครับ 

คำสำคัญ (Tags): #nkm5#thcph#รพร.ธาตุพนม
หมายเลขบันทึก: 412062เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2010 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอให้คุณเอนกเข้ามาบันทึกเรื่องเล่าบ่อยๆ หน่อยนะ

ป้าแดง รพร.ท่าบ่อ ชมผ่าน face book ของ เครือข่าย magnet hospital ว่าดีมากเลยค่ะ

เอนก..น่าอ่านมากเลย สีสรร สวยงาม...มีฝีมือจริงๆค่ะ

อยู่ในทีมรพร.ท่าบ่อ (คนที่น่ารักที่สุด)ที่มีโอกาสได้ไปร่วมเชียร์ภก.เอนก ได้เห็นตัวเป็นๆ แล้วทึ่งในความสามารถค่ะ ดีใจแทนชาวธาตุพนมนะคะที่มีคนดี มีความสามารถอยู่ด้วยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท